เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์-- องค์การที่ไม่แสวงหากำไร ที่ผลักดันให้ลาวต้องไม่ตัดสินลงโทษประหารชีวิตนักโทษยากเสพติดท้องแก่ชาวอังกฤษคนหนึ่ง ได้วิจารณ์กระขบวนการยุติธรรมของลาวอย่างรุนแรงเกี่ยวกับคดีนี้ โดยกล่าวหาว่าศาลลาวเป็น "ศาลเตี้ย"
นายไคลฟ์ สแตฟฟอร์ด สมิธ (Clive Stafford Smith) ทนายความชาวอเมริกัน ผู้อำนวยการองค์การ "รีพรีฟว์" (Reprieve) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ต่อสู้คัดค้านการลงโทษประหารชีวิตทั่วโลก ได้กล่าวหาว่าระบบศาลของลาวไม่อนุญาตให้ซามันธาได้ต่อสู้คดีเพื่อปกป้องตนเอง ไม่อนุญาตให้เธอได้ปรึกษาเป็นการส่วนตัวกับที่ปรึกษาทางกฎหมายที่มีอิสระ ปฏิเสธสิทธิ์ของจำเลยที่จะได้ถูกไต่สวนและแก้ต่างให้แก่ตัวเอง แต่กลับให้เธอเซ็นเอกสารเพื่อสารภาพผิด
ผู้อำนวยการของรีพรีฟว์ กล่าวว่าถ้าหากทางการอังกฤษให้ซามันธา จำคุกต่อไปตามการตัดสินของ "ศาลเตี้ย" (Kangaroo Court) ของลาว ก็จะเป็นการ "ช็อก" คนทั้งประเทศ
"หากเรียกขบวนการทางกฎหมายในลาวว่า Kangaroo Court ก็ยังอาจจะเป็นการล่วงเกินครอบครัวจิงโจ้ (ในออสเตรเลีย) เสียด้วยซ้ำ" นายสมิธกล่าว
"เราจะให้ความชอบธรรมแก่การโยนคนๆ หนึ่งเข้าห้องขัง ได้อย่างไร เมื่อเราไม่เคยได้รู้แม้กระทั่งความจริงที่เป็นพื้นฐานเกี่ยวกับคดีนี้" นักกฎหมายคนเดียวกันกล่าว
ซามันธา โอโรบาเทอร์ (Samantha Orobator) วัย 20 ปี สาวท้องแก่ที่ถูกศาลลาวตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในความผิดฐานมีเฮโรอีนในครอบครองปริมาณมาก ถูกส่งตัวกลับถึงกรุงลอนดอนแล้วในวันศุกร์ (7 ส.ค.) ซึ่งเวลาช้ากว่าในกรุงเทพฯ 7 ชั่วโมง เพื่อจำคุกต่อที่นั่นตลอดเวลาที่เหลืออยู่
เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษกล่าวว่า ซามันธาจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ทั้งหมด จำคุกในประเทศ
ซามันธาเดินทางจากท่าอากาศยานวัดไตของลาว ไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของไทย และต่อเครื่องไปอังกฤษ ถึงท่าอากาศยานฮีธโรว์ (Heathrow) โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจรออยู่ ก่อนจะถูกนำตัวขึ้นรถตู้ส่งไปยังเรือนจำฮอลโลเวย์ (Holloway) ทางตอนเหนือกรุงลอนดอน
ซามันธาสวมหมวกถักสีขาว ท่าทางร่าเริงมีกำลังใจ ขณะถูกนำตัวออกจากสนามบิน สำนักข่าวเอเอฟพีกล่าว
เธอให้การรับสารภาพต่อศาลในนครเวียงจันทน์ เกี่ยวกับการลักลอบขนเฮโรอีน และ อาจจะถูกตัดสินประหารชีวิต หากเธอไม่ได้ตั้งครรภ์ และ เนื่องจากมีกำหนดคลอดในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เจ้าหน้าที่ลาวได้ยินยอมส่งมอบนักโทษอื้อฉาวผู้นี้ แก่เจ้าหน้าที่อังกฤษในนครเวียงจันทน์ เพื่อนำกลับไปจำคุกต่อในบ้านเกิดตามสัญญาแลกเปลี่ยนนักโทษที่สองประเทศเตกลงกันเพียง 3 เดือนก่อนหน้านั้น
ซามันธา โอโรบาเทอร์ ถูกจับในเดือน ส.ค.2551 ในนครเวียงจันทน์ ขณะที่จะขึ้นเครื่องบินเข้ากรุงเทพฯ มุ่งไปยังออสเตรเลีย เจ้าหน้าที่ลาวตรวจพบเฮโรอีนน้ำหนักรวม 680 กรัม แบ่งบรรจุในแคปซูลเล็กๆ
ตามกฎหมายลาว หากผู้กระทำผิดมีเฮโรอีนในครอบครอบเกิน 500 กรัม จะต้องถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิต แต่รัฐบาลลาวได้ให้หลักประกันแก่รัฐบาลอังกฤษก่อนหน้านี้ว่า จะไม่มีการตัดสินประหารชีวิตนักโทษคนนี้ เนื่องจากเธอกำลังตั้งครรภ์ ถึงแม้จะยังไม่มีการเปิดเผยว่า ตั้งท้องได้อย่างไรและใครเป็นบิดาของเด็ก
นายคราส ไบรอันต์ (Chris Bryant) รัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การส่งตัวซามันธากลับหมายความว่า เธอจะได้คลอดลูกในอังกฤษ อยู่ใกล้ชิดกับญาติๆ และอยู่ภายใต้การคุ้มครองด้านสุขภาพของอังกฤษ
"นี่เป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย ไม่ต้องกล่าวถึงทารกที่ยังไม่ได้เกิดเลย" นายไบรอันต์กล่าว
นายเจน โอโรบาเทอร์ มารดาของซามันธา ให้สัมภาษณ์ในเดือน พ.ค.ปีนี้ว่า ลูกสาวของเธอไม่ได้ถูกล่วงละเมิดทางเพศใดๆ ระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำลาว แต่ก็ไม่ทราบว่าเธอตั้งครรภ์ได้อย่างไร
อังกฤษกับลาวได้เซ็นความตกลงแลกเปลี่ยนนักโทษที่ถูกตัดสินแล้ว ในเดือน พ.ค. ระหว่างการเยือนกรุงลอนดอนอย่างเป็นทางการของ นายทองลุน สีสุลิด รองนายกฯ และ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศลาว
เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยกล่าวว่า จะต้องใช้ระยะเวลานานในการแลกเปลี่ยนนักโทษ สองฝ่ายจึงได้เซ็นบันทึกความจำฉบับหนึ่งอนุญาตให้ส่งตัวซามันธากลับประเทศได้ก่อน โดยคำนึงถึงความพร้อมในการเดินทางเนื่องจากกำลังตั้งครรภ์แก่.