xs
xsm
sm
md
lg

สภาทนายฯ ฟ้องศาลปกครองระงับ65โครงการลงมทุนมาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาทนายความฯผนึกเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ฟ้องกราวรูด 8 หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติลงทุนในเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด 19 มิ.ย.นี้ ขอศาลปกครองกลางคุ้มครองชั่วคราวสั่ง 65 โครงการระงับการดำเนินการใดๆ จนกว่าศาลจะตัดสินคดี ด้านเอกชนไม่สนเดินหน้าถมทะเลทำท่าเรือใหม่อีกพันกว่าไร่

นายศรีสุวรรณ จรรยา กรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้สภาทนายฯ ได้รับมอบอำนาจจากสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับพวกจากเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก 40 ราย ให้ยื่นฟ้องเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) , คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, รัฐมนนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ฐานกระทำการไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่รัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 67 และ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 กำหนดไว้ ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจเดือดร้อนเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้

นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า ในวันที่ 19 มิ.ย. นี้ สภาทนายฯ และพวก จะยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่ง 1) เพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) 2) ให้การพิจารณาอนุญาตโครงการกลับมาดำเนินการตามมาตรา 67 (2) รัฐธรรมนูญฯ 2550 ใหม่ 3) ให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เร่งออกกฎระเบียบการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) ของประชาชนในชุมชนภายใน 30 วันหลังจากศาลมีคำสั่ง 4) ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสั่ง 65 โครงการลงทุนในเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด ยุติการดำเนินการใดๆ ไว้ก่อนจนกว่าจะดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 ให้ครบถ้วน

“เหตุที่ฟ้องรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ด้วยนั้น เพราะตามพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ รัฐมนตรีซึ่งรักษาการตามพ.ร.บ.และคณะกรรมการฯ ต้องออกหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ แต่เวลาล่วงมากว่าปี 6 เดือน กลับไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 25 (2) พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ เป็นเหตุให้ EIA ของโครงการผ่านอย่างรวดเร็ว และไม่ได้ทำ HIA ด้วย” กรรมการสภาทนายความฯ กล่าว

สำหรับการจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 67 รัฐธรรมนูญฯ 2550 ที่ล่าช้านั้น นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า เรื่องนี้กำลังพิจารณากันอยู่ว่าจะฟ้องร้องนายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) หรือไม่ โดยนัดหารือกับองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมในวันที่ 23 มิ.ย.ที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ เนื่องจาก ทส. มีคำสั่งให้มีการยกร่างกฎหมายการจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เดือนมี.ค. 51 แล้ว และทางองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สถาบันการศึกษา ก็จัดเวทีรับฟังความเห็น พร้อมกับประมวลข้อเสนอส่งให้กรมส่งเสริมฯ และกรมส่งเสริมฯ เสนอเรื่องไปยังปลัด ทส. ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 51 แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ แทนที่ปลัด ทส. จะเสนอเรื่องให้รัฐมนตรีนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมครม.และส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นก่อนนำเข้าสู่สภา

“ทำไมถึงมีการเตะถ่วงเรื่องนี้ไว้ มีการอ้างว่าข้อเสนอยังไม่ครอบคลุม” นายศรีสุวรรณ กล่าว

กรรมการสภาทนายความฯ กล่าวต่อว่า จากการลงพื้นที่จ.ระยอง พบว่า เวลานี้ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างเดินหน้าโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการถมทะเลใหม่เพื่อสร้างเป็นท่าเทียบเรือและคลังเก็บสารเคมี ประมาณ 1,400 ไร่ ประกอบด้วย พีทีทีแทงค์ พื้นที่กว่า 300ไร่ ท่าเรือเอเชียเทอร์มินอล 121 ไร่ มาบตาพุดแทงค์ 136 ไร่ ไทยแทงค์ในพื้นที่เดียว 181 ไร่ และพีทีทีแอลเอ็นจีอีก 575 ไร่ ในจำนวนนี้มี 3 โครงการ ที่ EIA ผ่านการพิจารณาแล้ว คือ พีทีทีแอลเอ็นจี มาบตาพุดแทงค์ และไทยแทงค์ การเร่งก่อสร้างโครงการนี้เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ชาวบ้านต้องการฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้มีคำสั่งระงับโครงการไว้ก่อน

สำหรับท่าเรือมาบตาพุด จ.ระยอง กนอ.ได้ถมทะเล เมื่อปี 2543 เพื่อเป็นท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ปัจจุบันเป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ผลจากการถมทะเลก่อให้เกิดผลกระทบต่อชายหาดของระยอง ซึ่งชาวบ้านได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองระยอง และศาลมีคำพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายประมาณ 400 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ในระหว่างการอุทธรณ์

นายศรีสุวรรณ กล่าวถึงการดำเนินการของนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก นำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอให้ ครม. มีมติส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาหาแนวปฏิบัติกรณีที่องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้จัดตั้งว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้างนั้น เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สภาทนายฯ และเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ต้องรีบยื่นฟ้องร้องคดีดังกล่าวต่อศาลเพื่อให้เป็นกรณีพิพาทในชั้นศาล

“คณะกรรมการกฤษฎีกาฯ จะได้ระมัดระวังในการตีความหรือให้ความเห็นต่อรัฐบาล เพราะมีคดีความอยู่ในชั้นศาล ถ้าไม่รีบทำอาจจะมีการให้ความเห็นที่ไม่รอบคอบ เข้าข้างรัฐบาล” นายศรีสุวรรณ กล่าว

กรรมการจากสภาทนายความฯ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบรายชื่อโครงการลงทุนในเขตมาบตาพุด พบว่า ในจำนวน 65 โครงการนั้น เป็นการลงทุนของเครือปตท. กว่า 20 โครงการ และอีกประมาณ 14 – 15 โครงการ อยู่ในเครือปูนซีเมนต์ไทย ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้ลงทุนหลัก

ทางด้านนายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า เครือข่ายฯพยายามจะให้มีการชะลอโครงการไว้ก่อน จนกว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ จึงต้องฟ้องและให้ศาลมีคำสั่งให้หน่วยงานรัฐทั้งหมดปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรม มาตรา 67

วานนี้ (10 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมโรงเรียนเทศบาลมาบตาพุด นายสมพงษ์ โสภณ นายกเทศมนตรี เมืองมาบตาพุด นำคณะอนุกรรมการการแก้ไขปัญหาลดและขจัดมลพิษในการจัดทำแผนพื้นที่ประกาศเขตควบคุมมลพิษ ทั้ง 7 คณะ เข้าร่วมฟังความคิดเห็นและความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมจำนวนมากและแสดงความเห็นหลากหลายโดยเฉพาะเรื่องกลิ่นเหม็นจากโรงงาน การลักลอบขนย้ายกากอุตสาหกรรมไปทิ้งในที่สาธารณะ การลอบทิ้งน้ำเสียตามที่สาธารณะไหลลงสู่ทะเล และอากาศเป็นพิษ

นายสุทธิ กล่าวว่า เทศบาลเมืองมาบตาพุดได้กำหนดสถานที่ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นจาก 31 ชุมชนมาบตาพุด ครั้งแรกที่โรงเรียนวัดห้วยโป่ง เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีประชาชนจาก 6 ชุมชนเข้าร่วม และครั้งที่ 2 วันที่ 9 มิ.ย.ที่โรงเรียนเทศบาลมาบตาพุด จาก 5 ชุมชน

ครั้งที่ 3 วันที่ 16 มิ.ย. โรงเรียนบ้านมาบตาพุด วันที่ 16 มิ.ย. จาก 7 ชุมชน ครั้งที่ 4 วันที่ 18 มิ.ย. บริเวณวัดโสภณ จาก 4 ชุมชน ครั้งที่ 5 วันที่ 23 มิ.ย. โรงเรียนวัดโขดหิน จาก 3 ชุมชน ครั้งที่ 6 วันที่ 25 มิ.ย. โรงเรียนวัดตากวน จาก 6 ชุมชน และครั้งที่ 7 จะเป็นการรวบรวมทั้ง 31 ชุมชน จัดเวทีใหญ่ ในวันที่ 21 ก.ค. 52

หลังจากนั้น จะนำความคิดเห็นของประชาชน 31 ชุมชน มารวบรวมปัญหาทั้งหมดและวิเคราะห์ตามกรอบของกฎหมายสิ่งแวดล้อมเขตควบคุมมลพิษ โดยยกปัญหาที่ประชาชนประสบความเดือดร้อนทั้งหมด จัดทำเป็นบัญชีแหล่งกำเนิดมลพิษร่วมกับพี่น้องประชาชน เพื่อวางมาตรการจัดทำแผนฯเพื่อเสนอให้จังหวัด พร้อมกับเสนองบประมาณให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดทำแผนลดและขจัดมลพิษต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น