xs
xsm
sm
md
lg

๔ ปีคดีสังหาร“เจริญ วัดอักษร” บทพิสูจน์น้ำยาตำรวจไทย-ดีเอสไอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจริญ วัดอักษร
30 ธันวาคม 2551 ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีสังหาร เจริญ วัดอักษร แกนนำกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก – กุยบุรี ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก – หินกรูด ร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูดตั้งแต่ พ.ศ. 2538 สืบเนื่องมาจนถึงการเปิดโปงการออกเอกสารสิทธิโฉนดที่ดิน 53 ไร่โดยมิชอบในที่สาธารณะคลองชายธง


ก่อนถึงวันพิพากษาคดี กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก – กุยบุรี ซึ่งติดตามกระบวนการยุติธรรมมาตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ ได้ตั้งวงสนทนาสรุปประเด็นในการติดตามกระบวนการยุติธรรมในคดีนี้ ซึ่งจัดขึ้นที่วัดสี่แยกบ่อนอก สถานที่ตั้งศพของนายเจริญ วัดอักษร ในวันพุธที่ 24 ธันวาคม 2551 นี้

กลุ่มรักท้องถิ่นฯ ได้สรุปรวบรวมกระบวนการดำเนินคดีตั้งแต่ชั้นสืบสวนสอบสวนที่อยู่ในมือตำรวจท้องที่ ไปจนถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ อัยการ และกระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาล โดยพบประเด็นข้อสงสัยในกระบวนการยุติธรรมหลายประการที่จงใจที่จะจำกัด บิดเบือนแนวทางรูปคดี ผ่านการตัดตอนและออกแบบมาตั้งแต่ต้น จนไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้

ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงและข้อสังเกตที่กลุ่มรักท้องถิ่นฯ มีต่อกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นตำรวจจนกระทั่งเมื่อส่งฟ้องศาล สามารถประมวลได้ตามลำดับความรับผิดชอบของหน่วยงานด้านยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

**** ฝีมือตำรวจสอบสวน “คดีธรรมดา”

ผู้รับผิดชอบคดีในเบื้องต้น คือตำรวจในพื้นที่ ,ตำรวจภาค 7 ,กองปราบ,สันติบาล,ตำรวจป่าไม้,ตำรวจสอบสวนกลาง ในชั้นแรกเจ้าหน้าที่ได้ตั้งประเด็นการสอบสวนในลักษณะที่ครอบคลุมค่อนข้างกว้าง ตั้งแต่ประเด็นความขัดแย้งส่วนตัว, ปัญหาเรื่องชู้สาว, ปัญหาเรื่องการเมืองท้องถิ่น, ปัญหาเรื่องที่สาธารณะ แต่ภายหลังจากการสืบสวนคดีไประยะหนึ่ง มีความพยายามที่จะสรุปประเด็นการตายว่ามาจากความโกรธแค้นส่วนตัว

ส่วนประเด็นที่มีความเชื่อมโยงกับการสูญเสียผลประโยชน์ของกลุ่มทุนใหญ่และกลุ่มอิทธิพลที่บุกรุกที่สาธารณะ, กลุ่มอิทธิพลที่พยายามครอบครองที่สาธารณะและกลุ่มข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการออกเอกสิทธิ์ในที่ดินสาธารณะ ต่างไม่ได้รับการนำมาพิจารณาสืบสวนขยายผล เสมือนว่ามีกรอบจำกัดในการสืบสวนไว้ล่วงหน้า ดังเช่นที่มีรัฐมนตรีบางคนออกมาชี้นำสังคมในทันทีที่เจริญตายว่า “ไม่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้า”

ในท่ามกลางกระแสกดดันจากชุมชนและสังคม ในที่สุดตำรวจก็สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 4 รายคือ

1. นายเสน่ห์ เหล็กล้วน 2. นายประจวบ หินแก้ว 3. นายธนู หินแก้ว (อดีตผู้สมัครสส.) 4. นายมาโนช หินแก้ว (สจ.ประจวบฯ) แต่ปรากฏว่า กลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม กลับเป็นเพียงกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นครอบครัวเดียว ที่ประกอบด้วยมือปืน 2 คน ซึ่งรับสารภาพโดยอ้างว่ากระทำการด้วยความโกรธแค้นส่วนตัวเท่านั้น และผู้ใช้จ้างวาน ที่ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และได้รับการประกันตัวไปในทันที

ตลอดเวลาเกือบ 10 ปี ที่กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรี มีความขัดแย้งกับกลุ่มทุนโรงไฟฟ้าและผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นที่ภักดีกับโรงไฟฟ้า การเข้าแจ้งความดำเนินคดีของชาวบ้าน ตำรวจท้องที่ไม่เคยดำเนินการ

ในทางกลับกัน เมื่อกลุ่มนายทุนโรงไฟฟ้าเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้าน ตำรวจท้องที่กลับอำนวยความสะดวกให้อย่างรวดเร็ว แม้กระทั่งเมื่อโรงไฟฟ้าขอโอนคดีให้กองปราบปรามจัดการกับชาวบ้าน ก็ได้รับการตอบสนองอย่างมิชักช้า ด้วยการอ้างว่าชาวบ้านอย่างเราเป็นผู้มีอิทธิพล คดีที่เราตกเป็นจำเลยนั้น ต่างได้รับโอนมาสู่ส่วนกลางทั้งสิ้น

ดังนั้นเอง ชาวบ้านไม่มีความมั่นใจว่าตำรวจพื้นที่ หรือตำรวจภาค 7 หรือกระทั่งตำรวจสอบสวนกลางก็ตาม จะมีความตั้งใจจริงในการที่จะสาวไปถึงผู้อยู่เบื้องหลัง จึงได้เรียกร้องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอเข้ามาทำคดีนี้

****น้ำยากรมสอบสวนคดีพิเศษ

30 กรกฎาคม 2547 กรมสอบสวนคดีพิเศษมีมติรับทำคดีเจริญ หลังจากชาวบ้านต้องยกขบวนนับพันคน เข้ามาเรียกร้องถึงสองรอบ

4 สิงหาคม 2547 ดีเอสไอรับมอบสำนวนคดีจากภาค 7 และชี้แจงให้ความมั่นใจกับกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกฯ ว่า ได้ตั้งประเด็นการสอบสวนไว้จากมูลเหตุจูงใจ 3 ประเด็น ซึ่งล้วนเป็นผลมาจากการทำหน้าที่ในฐานะประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกของเจริญทั้งสิ้น คือ
1 .บทบาทในฐานะที่เป็นแกนนำสำคัญในการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จนกระทั่งโรงไฟฟ้าต้องย้ายไป 2. เปิดโปงการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบจำนวน 53 ไร่ ในพื้นที่สาธารณะคลองชายธง 3. ต่อต้านคัดค้านต่อการบุกรุกของกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น ในพื้นที่สาธารณะคลองชายธง

ภายหลังการทำคดีไประยะหนึ่งของดีเอสไอ ก็ได้มีการจับกุมเพิ่มเติมอีก 1 ราย คือนายเจือ หินแก้ว โดยศาลอนุมัติออกหมายจับนายเจือ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2547 ในข้อหาร่วมกับลูกชาย (คือนายธนู และนายมาโนช หินแก้ว) ใช้จ้างวานฆ่าเจริญ นายเจือเข้ามอบตัวและได้รับการประกันตัว

หลังจากนั้น ดีเอสไอก็รีบเร่งทำคดี โดยอ้างว่าเพื่อรวบรวมสำนวนส่งฟ้องศาลให้ทัน ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ควบคุมตัวผู้ต้องหาไม่เกิน 84 วัน และไม่ได้มีการกระบวนการสืบเสาะหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อผูกมัดผู้ต้องหาในความผิดใช้จ้างวาน แต่ดีเอสไอ ก็ยืนยันกับกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกฯ อย่างหนักแน่นว่ายังจะไม่มีการปิดคดี และจะทำการสืบสวนต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากสำนวนคดีที่ส่งฟ้องศาล ทางกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกฯ มองไม่เห็นเลยว่าจะเปิดช่องไปสู่การขยายผลถึงผู้บงการตัวจริง ผู้สมรู้ร่วมคิดและร่วมลงมือกระทำการที่ยังเหลืออยู่ได้อย่างไร ในเมื่อสำนวนคดีก็บรรยายถึงมูลเหตุจูงใจของผู้ต้องสงสัยใช้จ้างวานไว้เพียงประเด็นความแค้นส่วนตัว และจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ไม่ได้มีการจับกุมผู้ต้องหาเพิ่มเติมแม้แต่รายเดียว

และหากพิจารณาจากการตั้งประเด็นในการสืบสวนคดีตั้งแต่แรก กล่าวคือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการคัดค้านการออกเอกสารสิทธิมิชอบในที่สาธารณะคลองชายธง การคัดค้านการบุกรุกที่สาธารณะของกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นในพื้นที่สาธารณะคลองชายธง และบทบาทในฐานะที่เป็นแกนนำสำคัญในการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ผลของการจับกุมกลับได้แต่ตัวที่เป็นบุคคลในท้องถิ่นเท่านั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องไปถึงเหตุหรือปมเงื่อนของการสังหารแต่อย่างใด

9 กันยายน 2547 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 ส่งฟ้องจำเลยทั้งห้าต่อศาลอาญา ประกอบด้วย นายเสน่ห์ เหล็กล้วน อายุ 44 ปี นายประจวบ หินแก้ว อายุ 39 ปี เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดร่วมกันฆ่านายเจริญตายโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน นายธนู หินแก้ว อายุ 42 ปี นายมาโนช หินแก้ว อายุ 38 ปี และนายเจือ หินแก้ว อายุ 67 ปี เป็นจำเลยที่ 3-4 ในความผิดร่วมกันใช้ จ้างวาน ให้ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1-2 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 3-4 ให้การปฏิเสธ ศาลรับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ ที่ 2945/2547

ระหว่างนั้นกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกฯ ได้โต้แย้งถึงการรวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดเจนเพียงพอ เช่น เรื่องสัญญาณการใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างกลุ่มนายเสน่ห์กับกลุ่มผู้ใช้จ้างวาน, เรื่องคนที่ร่วมปกปิดทำลายพยานหลักฐาน ปรากฎว่าหลักฐานเหล่านี้ยังไม่ถูกนำมาประกอบในสำนวน

“เราได้ยืนยันโต้แย้งแล้ว และทางเจ้าหน้าที่ดีเอสไอก็ยังยืนยันที่จะส่งฟ้อง จึงเป็นเหตุให้เราตัดสินใจไม่แต่งตั้งทนายเข้าเป็นโจทย์ร่วมของคดี เพราะเห็นว่าการทำสำนวนที่มีข้อบกพร่องเช่นนี้ เข้าสู่กระบวนการพิจารณาก็เป็นการเปิดช่องให้ ผู้ใช้จ้างวานใช้ประโยชน์จากการบกพร่องดังกล่าวให้ศาลพิพากษาได้ ดังนั้นหากเราเข้าร่วมทั้งๆ ที่ได้โต้แย้งก็เท่ากับเป็นฝ่ายยอมรับข้อเท็จจริงที่บกพร่องของสำนวนคดีดังกล่าว”

**** ข้าแต่ศาล...ที่เคารพ

11 ตุลาคม 2547 ศาลอาญาแถลงเปิดคดี จำเลยที่ 1-2 ให้การรับสารภาพในความผิดฐานมีและพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะและผิดฐานฆ่าเจริญ แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน อ้างว่าเกิดจากเมาสุรา ส่วนจำเลยที่ 3 – 4 ยังคงให้การปฏิเสธ

1 ธันวาคม 2547 ศาลอาญาสืบประจักษ์พยานโจทก์นัดแรก

2 ธันวาคม 2547 ศาลอาญาสืบพยานประจักษ์พยานโจทก์นัดที่ 2 จากนั้นส่งประเด็นไปนำสืบที่ศาล จ.ประจวบฯ เนื่องจากอัยการร้องขอต่อศาลโดยให้เหตุผลว่าเพื่อสะดวกแก่พยานโจทก์

28 มกราคม 2549 สืบพยานโจทก์นัดแรก จำเลยในคดีไม่มาศาลโดยอ้างสิทธิการส่งประเด็นในพื้นที่ ประชาชนจึงรู้สึกว่าระบบความยุติธรรมเอื้อต่อฝ่ายผู้มีอิทธิพลที่เป็นจำเลยมากเกินไป จึงร้องต่อศาลให้จำเลยมาศาล อัยการจึงทำเรื่องโอนกลับไปสืบที่ศาลอาญาตามเดิม เพื่อให้จำเลยมาศาลทุกนัด

ในระหว่างการรอกำหนดนัดศาลใหม่หลังจากโอนคดีกลับมาที่ศาลอาญากรุงเทพฯ จำเลยคือนายประจวบ หินแก้ว เสียชีวิตขณะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำในวันที่ 21 มีนาคม 2549 รวมเวลาที่ใช้ในการโอนคดีไปมาทั้งสิ้น 2 ปี

29 มิถุนายน 2549 เริ่มสืบพยานครั้งใหม่ที่ศาลอาญา กรุงเทพฯ
2 สิงหาคม 2549 จำเลยคือนายเสน่ห์ เหล็กล้วน เสียชีวิตลงอีกคนขณะที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ
จนในวันที่ 3 ตุลาคม 2549 จบการสืบพยานจำเลยปากสุดท้าย
วันที่ 29 ตุลาคม 2549 ศาลนัดพร้อมเพื่อแจ้งวันพิจารณาพิพากษาคดีในวันที่ 30 ธันวาคม 2551 เวลา 9.00 น.

รวมมีการสืบพยานโจทก์ 30 ปาก รวมมีการสืบพยานจำเลย 3 ปาก

ข้อสรุปของกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกฯ ตั้งแต่เมื่อกระบวนการสืบพยานเริ่มต้น จนถึงนัดสุดท้าย มีดังนี้

1. แม้จะมีการส่งฟ้อง 5 ผู้ต้องหา แต่คำให้การรับสารภาพของ 2 มือปืนว่า ยิงเจริญถึง 10 นัดเพราะโกรธแค้นที่เคยไปด่าแม่เขาในอดีต ย่อมไม่อาจเข้าใจเป็นอื่นได้ว่า มีความพยายามออกแบบคดีให้เกิดการตัดตอนผู้บงการฆ่าออกจากการกระทำความผิดร่วมกับมือปืน ในขณะที่ดีเอสไอก็ไม่ได้มีการกระบวนการสืบเสาะหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อผูกมัดผู้ต้องหาในความผิดใช้จ้างวาน

2. การสังหารเจริญเป็นข่าวครึกโครมไปทั่ว แต่ผลการสืบสวนจับกุมกลับดูเหมือนฉากละครเรื่อง “พ่อบงการลูกให้ใช้หลานกับลูกน้องในบ้านไปฆ่าคน” เจ้าหน้าที่ดีเอสไอที่เริ่มต้นทำคดี ได้ยืนยันกับพวกเราอย่างหนักแน่นว่ายังจะไม่มีการปิดคดี และจะทำการสืบสวนต่อไป

แต่ในวันนี้กลับไม่มีการขยายผลใดๆเลย หนำซ้ำยังมีการกล่าวจากเจ้าหน้าที่ดีเอสไอระดับสูง ว่า “ได้แค่นี้ก็ดีแล้ว” และไม่มีใครใส่ใจต่อข้อเท็จจริงที่ว่ามือปืนทั้งสองคน คือ นายเสน่ห์ เหล็กล้วน , นายประจวบ หินแก้ว ได้เสียชีวิตลงขณะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำอย่างมีเงื่อนงำ ทั้งที่ๆได้เคยมีการซัดทอดจำเลยในคดีเอาไว้ ก่อนที่จะกลับคำให้การในภายหลัง และยังไม่มีโอกาสได้เข้าไปเบิกความในชั้นศาลแต่อย่างใด

3. ทางกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกฯ ได้พบว่ามีหลายประเด็นที่เกี่ยวเนื่องและสามารถเชื่อมโยงต่อผู้กระทำผิดได้ แต่ไม่ได้ถูกสืบสวนขยายผลแต่อย่างใด เช่น สัญญาณโทรศัพท์ที่เชื่อมโยงระหว่างนายมาโนชกับนายเสน่ห์(มือปืน) ซึ่งทางตำรวจกองปราบยืนยันว่าสามารถตรวจสอบสัญญาณได้ แต่ในสำนวนคดีกลับไม่มีเรื่องนี้เข้ามาประกอบ

หรือกรณีการตรวจสอบเส้นทางปืนที่นายเสน่ห์ ใช้ยิงเจริญ จนเสียชีวิต ก็ตรวจสอบพบว่ามีนายตำรวจคนหนึ่งนำปืนของโครงการสวัสดิการของรัฐมาจำนำกับนายเจือในราคาสองหมื่นบาท และนายตำรวจคนนี้ก็ไปให้การในชั้นศาลด้วย การกระทำดังกล่าวนี้น่าจะอยู่ในข่ายของการลักทรัพย์สินของทางราชการ แต่นายตำรวจคนนี้ก็ไม่ถูกดำเนินการในทางคดี กลับเปลี่ยนสถานะเป็นเพียงพยานที่มาให้การในชั้นศาลเท่านั้น

4. ในระหว่างการดำเนินกระบวนการยุติธรรมก่อนการไต่สวน มีการคุ้มครองพยานอย่างมักง่าย จู่ๆ ดีเอสไอก็นำประจักษ์พยานมาเก็บตัวไว้ในระหว่างที่เร่งคดีส่งฟ้องศาลราวกับจะปัดภาระให้พ้นตัว ทำให้พยานต้องออกจากชุมชน แต่เมื่อส่งฟ้องเสร็จแล้วก็ปลดความรับผิดชอบในการคุ้มครองพยานทันที ความช่วยเหลืออย่างเสียมิได้ที่ประจักษ์พยานทั้งสองได้รับจากดีเอสไอ คืองานห่วยๆ กับที่ซุกหัวนอนในสลัม จนทำให้ไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ ต้องกลับเข้ามาหางานในชุมชน

เมื่อเป็นอย่างนี้พยานจะมีความปลอดภัยไปได้สักกี่ปี วิธีการแบบนี้ของเจ้าหน้าที่รัฐทำให้คนไม่อยากมาเป็นพยาน และทำให้พยานที่สามารถชี้ให้เห็นแนวทางอื่นของคดีได้ ก็ไม่อยากมาเป็นพยาน

5. ในระหว่างการดำเนินกระบวนการยุติธรรมก่อนการไต่สวน การให้ประกันตัวจำเลยซึ่งเป็นผู้เป็นผู้มีอิทธิพลในคดี ออกไปลอยนวล และเดินสายพูดท้าทายอยู่ตามงานศพงานบวชในชุมชน ทำให้คนในชุมชนและพยานเกิดความหวาดกลัวว่าชีวิตจะมีความปลอดภัยอย่างไร ทำให้พยาน หรือชาวบ้านที่อยากมาเป็นพยาน หรือคนที่ให้การในชั้นสอบสวน ต้องอกสั่นขวัญแขวน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าพยานจะให้การในชั้นศาลอย่างตรงไปตรงมา

6. ตั้งแต่ทำคดีมา มีการเปลี่ยนตัวองค์คณะผู้พิพากษามาแล้วหลายครั้ง เปลี่ยนตัวอัยการถึงสี่ครั้ง ซึ่งอัยการชุดสุดท้ายก็เป็นคนเดียวกับที่เคยสั่งฟ้อง นายเจริญ วัดอักษร ในคดีความที่บริษัทเจ้าของโรงไฟฟ้าเป็นฝ่ายฟ้องด้วย ระบบของศาลอาจมั่นใจว่าอัยการแต่ละชุดจะสามารถปะติดปะต่อความเข้าใจทางดดีโดยการอ่านระบบเอกสาร แต่สำหรับความรู้สึกชาวบ้าน มันจะต่อเนื่องและเข้าใจเรื่องราวได้อย่างไร

“การติดตามคดีของพวกเราตลอดเวลาเกือบห้าปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เจริญถูกฆ่าตายจนถึงวันนี้ ไม่ใช่เพียงต้องการเพื่อแสวงหาความเป็นธรรมให้กับเจริญเท่านั้น แต่วัตถุประสงค์และเป้าหมายของเราคือการต้องการสร้างการเรียนรู้ของสังคมต่อกระบวนการยุติธรรมไทย”
กำลังโหลดความคิดเห็น