xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.กลบเกลื่อนใช้อำนาจผูกขาดสูบกำไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – เวทีปตท.ตอบคำถามที่สาธารณะอยากรู้ระอุ ผู้บริหารปตท. จับมือโบรกเกอร์รุมถล่มตัวแทนองค์กรผู้บริโภคยับ กล่าวหามั่วข้อมูล อ้างบุญคุณสร้างธุรกิจพลังงานของชาติจนแข็งแกร่งกลับเจอข้อหาปล้นชาติ ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคสวนหมัดสูบกำไรจากการใช้อำนาจผูกขาดธุรกิจก๊าซฯ ยันราคาน้ำมันยังลดได้อีก ส่วนก๊าซฯไม่ขาดแคลน อย่ามาอ้างว่าอุดหนุนราคา

วานนี้ (10 ส.ค.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา จัดงานราชดำเนินเสวนาครั้งที่ 8/2551 เรื่อง “10 คำถามที่สาธารณะอยากรู้จาก ปตท.?” โดยมีวิทยากร คือ นายสรัญ รังคสิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บมจ.ปตท., นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บมจ.หลักทรัพย์ภัทร ที่ปรึกษาของปตท.ในการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ , นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ, นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บก.นิตยสารสารคดี เป็นผู้ดำเนินรายการ

สำหรับเนื้อหาคำถาม 10 คำถาม จะครอบคลุมตั้งแต่เรื่องกำไรของปตท.มาจากไหน, สูตรการคิดราคาน้ำมันทำไมต้องอิงราคาสิงคโปร์, ทำไมปตท.ถึงขายก๊าซฯให้บริษัทลูกในราคาถูกแต่ขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) ในราคาแพง, การขาดแคลนก๊าซแอลพีจีจริงหรือไม่, การส่งมอบทรัพย์สินของปตท.ตามคำสั่งศาล, การซื้อคืนปตท. ฯลฯ

บรรยากาศการเสวนาช่วงแรก ตัวแทนจาก ปตท. และหลักทรัพย์ภัทร ได้กล่าวถึงคณูปการของปตท.ต่อแผ่นดิน การสร้างองค์กรปตท.และเครือข่ายธุรกิจพลังงานทั้งโรงกลั่น ปิโตรเคมี จนแข็งแกร่ง มีศักยภาพในการแข่งขันกับต่างชาติ จากที่ตกอยู่ในสภาพเกือบล้มละลาย เช่น การเข้าไปฟื้นฟูโรงกลั่นไทยออยล์ บางจาก อีกทั้งยังเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่กระตุ้นเศรษฐกิจของชาติให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน การแปรรูป ปตท. โดยนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังช่วยกระตุ้นให้ตลาดฯที่ซบเซาเพราะพิษเศรษฐกิจกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง แต่เวลานี้กลับถูกตั้งข้อหาว่าปล้นชาติ

ผู้บริหาร ปตท. ยืนยันว่า โครงสร้างผู้ถือหุ้นในปตท.ในปัจจุบัน ยังถือว่า ปตท. มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ตามพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ เพราะกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ 51%

การอ้างถึงสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจของ ปตท. ถูกตอบโต้จากตัวแทนองค์กรผู้บริโภค ทันทีว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ระบุว่า ปตท.ไม่ใช่องคาพยพของรัฐ และการออกพ.ร.ก.กำหนดสิทธิประโยชน์ฯ หรือกฎหมายที่รองรับการแปรรูป ปตท. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพียงแต่ปตท.อยู่ในตลาดฯ มานาน หากเพิกถอนจะเกิดความเสียหาย จึงพิพากษาให้แบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากจากปตท.

การเสวนาเริ่มร้อนระอุตั้งแต่เปิดประเด็นแรกเรื่องกำไรของปตท.มาจากไหน ผู้บริหารของ ปตท. และหลักทรัพย์ภัทร ได้แสดงสีหน้าท่าทีดูแคลนและโต้แย้งข้อมูลของผู้แทนองค์กรผู้บริโภคว่า ไม่รู้เอาข้อมูลมาจากไหน กำไรเป็นแสนล้านสองแสนล้าน เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

นายสรัญ ชี้แจงว่า ยอดขายของปตท. ปี 2550 ตกประมาณ 1.55 ล้านล้านบาท มีกำไรสุทธิ 97,803 ล้านบาท หรือคิดกำไรต่อยอดขาย เพียง 6.5% เท่านั้น เม็ดเงินกำไรที่ได้มาต้องนำไปลงทุนใหม่เพื่อสู้กับต่างชาติ ซึ่งการลงทุนของปตท. คือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

“หรือจะให้ต่างชาติเข้ามาครองเหมือนที่ผ่านมา หรืออยากให้เป็นเช่นนั้น ถ้าปตท.ไม่ทำ ใครจะทำ” นายสรัญ กล่าว

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฯ ปตท. อธิบายถึงที่มาที่ไปของกำไร ปตท.ว่า มาจากหลายธุรกิจในเครือ โดยกำไรส่วนที่ 1 มาจากการทำธุรกิจโดยตรง 35,517 ล้านบาท คิดเป็น 36% ของกำไรสุทธิ, กำไรจากการขายหุ้นบริษัทในเครือ 4,859 ล้านบาท คิดเป็น 5% ของกำไรสุทธิ และส่วนที่ 2 กำไรจากบริษัทที่ปตท.ไปลงทุนในธุรกิจต่างๆ ทั้งสำรวจและผลิต โรงกลั่น และปิโตรเคมี 57,427 ล้านบาท คิดเป็น 59% ของกำไรสุทธิ ซึ่งเป็นเพียงตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น และได้รับเงินปันผลเพียง 19,000 ล้านบาท

ขณะที่ นางสาวสารี ชี้ว่า กำไรเกือบแสนล้านของปตท. มาจากการผูกขาดการทำกำไรจากก๊าซฯ เป็นหลัก ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่มีองค์กรใดเข้ามาตรวจสอบดูแลโดยตรง กรรมการนโยบายและกรรมการบริหารในกิจการพลังงาน จำนวนไม่น้อยมีผลประโยชน์ทับซ้อน สวมหมวกหลายใบ คือเป็นทั้งบอร์ดปตท. และผู้กำกับดูแล จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณะได้อย่างไร

เลขาธิการมูลนิธิผู้บริโภค กล่าวว่า เวลานี้ ปตท.เป็นคนกลางผูกขาดการซื้อก๊าซจากผู้รับสัมปทานและผูกขาดการจำหน่ายก๊าซฯ ให้ผู้ใช้ก๊าซฯโดยบวกค่าหัวคิว และยังเลือกปฏิบัติขายก๊าซให้โรงแยกก๊าซฯ ของ ปตท. ในราคาไม่รวมค่าผ่านท่อประมาณ 150 บาท ซึ่งราคาถูกกว่าที่ขายให้ กฟผ. ในราคา 180 บาท

นอกจากนั้น รายได้จากค่าสัมปทานขุดเจาะก๊าซฯความจริงแล้วประเทศชาติน่าจะได้ส่วนแบ่งมากกว่านี้ ผลตอบแทนที่เป็นอยู่ไม่ได้สะท้อนผลประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ของรัฐ ซ้ำยังมีการขยายเวลาสัมปทานออกไปโดยที่ยังไม่หมดอายุอีกด้วย

ขณะที่นายสรัญ ไม่ได้ตอบคำถามการซื้อขายก๊าซของโรงแยกก๊าซปตท.และกฟผ.ที่มีราคาแตกต่างกัน แต่ให้ข้อมูลว่า ราคาก๊าซที่ปตท.ขายให้กฟผ.ดูแลโดยแรคกูเลเตอร์ (คณะกรรมการกำกับฯ) ซึ่งสัดส่วน 90% เป็นราคาเนื้อก๊าซที่ปตท.ส่งผ่านจากผู้ได้รับสัมปทานขุดเจาะก๊าซฯ ไปยัง กฟผ. โดยมีการเกลี่ยราคาจากแหล่งต่างๆ ที่แตกต่างกันให้ออกมาเป็นค่าเฉลี่ย อีกประมาณ 10% คือ ค่าผ่านท่อ ส่วนปตท.ได้แต่ค่าดำเนินการประมาณ 1% เท่านั้น

ส่วนสูตรการจ่ายค่าสัมปทานที่ผู้รับสัมปทานทำกับรัฐฯ ในแต่ละแห่งก็จะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาลที่ดูความยากง่ายในการลงทุนขุดเจาะในหลุมก๊าซฯนั้นๆ

สำหรับประเด็นการขาดแคลนก๊าซฯแอลพีจี ตัวแทนองค์กรผู้บริโภค กล่าวย้ำว่า ปตท.ไม่ได้อุดหนุนราคาก๊าซฯ และปริมาณการใช้ก๊าซฯ กับที่ผลิตได้มีเพียงพอ

ผู้บริหารปตท. ยอมรับว่า ปริมาณการผลิตมีมากกว่าการใช้จริง แต่ว่านับจากเดือนเม.ย. ปีนี้เป็นต้นมาเริ่มตึงตัว และมีการนำเข้าก๊าซแอลพีจีจนถึงบัดนี้แล้วประมาณ 130,000 ตัน คาดว่าสิ้นปีนี้คงถึงประมาณ 500,000 ตัน และปีหน้าอาจจะถึงล้านตัน ซึ่งราคาในตลาดโลก 900 กว่าเหรียญสหรัฐฯ ในประเทศประมาณ 300 กว่าเหรียญฯ ส่วนต่างตันละ 600 กว่าเหรียญฯ รัฐบาลให้ปตท.ต้องแบกรับไปก่อนแล้วจะค่อยหาทางชดใช้ในภายหลัง

ส่วนที่มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เคยเขียนบทความจับเท็จ ปตท.ว่า ไม่ได้นำเข้าก๊าซแอลพีจี โดยอ้างอิงข้อมูลจากกรมศุลกากรนั้น ผู้บริหารปตท. ชี้แจงว่า เป็นข้อมูลที่ไม่อัพเดท และดูจากเว็ปไซต์ เท่านั้น พร้อมยืนยันว่า มีการนำเข้ามาจริง ทางกระทรวงพลังงาน ได้ทำจดหมายมาขอบคุณปตท.ด้วย

สำหรับประเด็นเรื่องราคาน้ำมันที่อิงราคาสิงคโปร์นั้น นางสาวสารี กล่าวว่า เป็นการคิดที่ไม่ได้สะท้อนต้นทุนราคาน้ำมันที่แท้จริง และยืนยันว่าราคาน้ำมันยังลดได้อีกลิตรละ 5 บาท ซึ่งทางปตท.และหลักทรัพย์ภัทร ยอมรับว่าราคาน้ำมันไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง แต่เห็นว่าการกำหนดราคาน้ำมัน ควรอิงกลไกตลาดโลก

ในตอนท้ายของการเสวนา ปตท. ระบุว่า ได้จัดทำรายการทรัพย์สินที่ต้องคืนรัฐตามคำสั่งศาลฯ ซึ่งขณะนี้ยังไม่เรียบร้อยทั้งหมดแต่ได้รายงานต่อศาลทุกเดือน ซึ่งประเด็นนี้ ทางองค์กรผู้บริโภค ยังจะติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเนื่องจากทรัพย์สินที่ปตท.คืนให้แก่รัฐนั้น ตกประมาณ 1.6 หมื่นล้านเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่ผิดไปจากประมาณการภายหลังศาลมีคำสั่งอย่างมาก

เป็นที่น่าสังเกตว่า การเสวนาครั้งนี้ ปตท.และบริษัทหลักทรัพย์ภัทร ได้อาศัยความได้เปรียบในด้านข้อมูลที่ตนเองยึดกุมอยู่และใช้ท่าทีรุกไล่ให้ตัวแทนผู้บริโภคซึ่งไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงานเทียบเท่ากับปตท. แต่ทำหน้าที่ตั้งคำถาม ตรวจสอบเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคให้จนมุมและทำให้ดูเหมือนว่าข้อมูลที่องค์กรผู้บริโภคนำมาแสดงไม่มีความน่าเชื่อถือ ขณะที่ผู้เข้าร่วมเวทีเสวนาครั้งนี้ หากไม่นับนักข่าวที่มาทำข่าวแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นทีมของปตท.และหลักทรัพย์ภัทร

อย่างไรก็ตาม ในช่วงตอนท้ายของการเสวนา นายบรรยง ได้ปรับท่าทีและยินดีที่จะให้มีการเปิดเวทีในลักษณะนี้อีก ถือเป็นการแลกเปลี่ยนและทำหน้าที่ของแต่ละฝ่าย ขณะที่นายสรัญ ได้ปรับท่าทีใหม่หลังการยื่นโน๊ตจากทีมงานปตท. ที่ขอให้ใจเย็นๆ

ส่วนบทบาทของนักวิชาการอิสระ ในเวทีนี้ ทำได้เพียงตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือขององค์กรกำกับดูแลว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหนในขณะที่ต้องสวมหมวกหลายใบ

ทีมงานของสมาคมนักข่าวฯ ซึ่งจัดงานนี้ ยอมรับว่า นี่เป็นครั้งแรกที่เวทีเสวนามีการตอบโต้กันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนนับจากการจัดเวทีเสวนาเป็นครั้งที่ 8 (ติดตามข้อมูลที่ตัวแทนปตท.และองค์กรผู้บริโภค นำเสนอในงานเสวนาได้ในเว็ปไซต์ของสมาคมนักข่าวฯ)
กำลังโหลดความคิดเห็น