ผู้จัดการรายวัน – “สมัคร” เซ็นอนุมัติให้กองทัพบกซื้อยานเกราะล้อยางยุคสงครามเย็นจากยูเครน ทั้งสั่งให้แต่งตั้งผู้แทนจาก สตง. ไปตรวจรับเพื่อความโปร่งใส ทั้งที่ สตง. ชี้ปมพิรุธอื้อทั้งเอื้อประโยชน์เอกชนบางราย โก่งราคาสูงขึ้น ไม่เหมาะสมกับภารกิจและการใช้งานในไทย
แหล่งข่าวจากกองทัพบกแจ้งว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงกลาโหม ได้เซ็นอนุมัติเมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมาให้กองทัพบก (ทบ.) จัดซื้อยานเกราะล้อยาง BTR –3 E 1 แบบต่างๆ จำนวน 96 คัน พร้อมระบบการฝึกศึกษา อบรม การถ่ายทอดเทคโนโลยีและระบบการซ่อมบำรุง โดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล กับรัฐบาลประเทศยูเครน ในราคารวมค่าขนส่งถึงสถานที่ที่ทบ.กำหนด ยกเว้นภาษีอากรทุกชนิด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 114,270,100 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3,898,892,400 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.12 บาท) ทั้งนี้ ตามที่ปลัดกระทรวงกลาโหม เสนอเรื่องเพื่อพิจารณาอนุมัติเมื่อวันที่ 15 เม.ย. 51
การจัดซื้อยานเกราะล้อยางของยูเครน เป็นเรื่องอื้อฉาวที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าตรวจสอบตั้งแต่ปีที่ผ่านมาในหลายประเด็น
ประเด็นแรก ข้อพิรุธในการจัดซื้อจัดหายุทธโธปกรณ์ดังกล่าวเรื่องข้อเสนอด้านราคา ซึ่งราคาที่บริษัทเอ็น จี วี เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด ผู้ได้รับคัดเลือกแบบจากกองทัพบก เสนอราคาในขั้นตอนการคัดเลือก ประมาณคันละ 800,000 เหรียญสหรัฐฯ แต่ภายหลังกองทัพบก ชี้แจงว่า สถานฑูตยูเครน ยืนยันราคาต่อคันที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาในขั้นตอนการคัดเลือกครั้งแรก โดยจำแนกตามประเภทรถ ดังนี้
1) Carrier BTR –3 E 1 ราคา 948,00 เหรียญสหรัฐฯ 2) Commander BTR – 3 E 1 ราคา 970,000 เหรียญสหรัฐฯ 3) Medical BTR –3 E 1 ราคา 810,000 เหรียญสหรัฐฯ 4) 81 mm. Motar BTR – 3 E 1 ราคา 970,000 เหรียญสหรัฐฯ 5) 120 mm. Motar BTR – 3 E 1 ราคา 1,140,000 เหรียญสหรัฐฯ 6) ATMS BTR –3 E 1 ราคา 1,380,000 เหรียญสหรัฐฯ 7) Recovery BTR –3 E 1 ราคา 910,000 เหรียญสหรัฐฯ
สตง. ชี้ว่า รายละเอียดของราคาต่อคันข้างต้นทุกประเภท สูงกว่าที่เสนอในขั้นตอนการคัดเลือกครั้งแรก ซึ่งเป็นข้อสังเกตว่า ราคาที่ใช้ในการพิจารณาคัดเลือกแบบครั้งแรกไม่ใช่ราคาที่จะมีการตกลงซื้อขายกันจริง อาจเข้าข่ายความคิดตามพระราชบัญญัติความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542
นอกจากนั้น ยังมีข้อสังเกตกรณีเคยทดสองการใช้งานยานเกราะล้อยางในประเทศไทยหรือไม่ กองทัพบก ชี้แจงว่า ไม่เคยมีการทดสอบการใช้งานยานเกราะล้อยางของสาธารณรัฐยูเครนในประเทศไทย แต่ได้ส่งคณะเดินทางไปดูงานโรงงานผู้ผลิต เพื่อเยี่ยมชมสายการผลิต ณ สาธารณรัฐยูเครน ในกรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่า สภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศของประเทศยูเครนมีความแตกต่างจากประเทศไทยเป็นอย่างมาก ในกรณีที่ยังไม่เคยมีการทดสอบการใช้งานจริงในประเทศไทย จึงเป็นห่วงต่อการใช้จ่ายเงินเพื่อให้ได้อาวุธยุทธโธปกรณ์ที่เหมาะสม เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งสามารถปกป้อง คุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในปัจจุบันและอนาคต
สอง การดำเนินการจัดหายานเกราะล้อยางของกองทัพบก ไม่โปร่งใส โดยในขั้นตอนการจัดหา กองทัพบกได้ประกาศเชิญชวนทำการคัดเลือกแบบยานเกราะล้อยาง ซึ่งในขั้นตอนนี้ มีผู้เข้าเสนอข้อมูลและเอกสารประกอบการพิจารณาภายในระยะเวลาที่กำหนดตามประกาศฯ จำนวน 8 บริษัท แต่เมื่อถึงวันพิจารณาคัดเลือกแบบ กลับปรากฏว่า มีบริษัทที่ไม่ได้มีรายชื่อในการเข้าเสนอข้อมูลตามวันเวลาที่กำหนดด้วย คือ บริษัท เอ็น จี วี เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด ซึ่งเสนอยานเกราะ รุ่น BTR –3E1 ของสาธารณรัฐยูเครน และเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกจากกองทัพบก
สาม ยานเกราะล้อยางรุ่น รุ่น BTR –3E1 ของสาธารณรัฐยูเครน ไม่ได้ผลิตขึ้นมาใหม่แต่เป็นการนำยานเกราะรุ่นเก่าของรัสเซียมาปรับปรุงให้เป็นของใหม่
ที่ผ่านมา กองทัพบก ได้ชี้แจงกระบวนการคัดเลือกแบบ รวมถึงคุณลักษณะเฉพาะและสมรรถนะของยานเกราะล้อยางของสาธารณรัฐยูเครน และยืนยันว่า ได้ดำเนินการทุกขั้นตอนอย่างถูกต้อง โปร่งใส รวมทั้งจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานประกอบคำชี้แจง
แต่อย่างไรก็ตาม จากการพิจารณาคำชี้แจงพร้อมเอกสารหลักฐานของกองทัพบก สตง.พบว่า ยังไม่มีความชัดเจนในหลายกรณี เช่น เหตุผลและความจำเป็นรวมทั้งความเหมาะสมกรณีผ่อนผันให้บริษัท เอ็น จี วี เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด ซึ่งไม่ได้ยื่นเสนอข้อมูลภายในวันเวลาที่กำหนดตามประกาศฯ สามารถเข้าร่วมการคัดเลือกตั้ง โดยให้ยื่นข้อเสนอภายหลังบริษัทอื่น ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบผู้เสนอข้อมูลรายอื่นๆ โดยเฉพาะข้อเสนอด้านราคาดังกล่าวข้างต้น
นอกจาก สตง. แล้ว ทาง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยังเข้าตรวจสอบเรื่องนี้ และสรุปว่า หนึ่ง การเปิดโอกาสให้บริษัทเอ็น จี วี เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด สามารถเข้ามาเสนอราคาได้ในภายหลัง เหตุเพราะคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานกองทัพบก ได้มีมติรับรองมาตรฐานยุทธโธปกรณ์ที่บริษัทดังกล่าวเป็นผู้นำเสนอขายไปตั้งแต่ก่อนเปิดให้เอกชนเสนอตัวเข้ามาแข่งขันกันคัดเลือกแล้ว การกระทำของกองทัพบก ดังกล่าว จึงไม่เป็นไปตามหลักความเสมอภาค ความโปร่งใส และก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เอกชนรายอื่น
สอง การกระทำของคณะกรรมการคัดเลือกแบบ คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานยุทธโธปกรณ์ กองทัพบก เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่กองทัพบกกำหนด เป็นการดำเนินการที่ไม่โปร่งใสและผลของการกระทำเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอ็นจีวี เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด อย่างแจ้งชัด
ถึงแม้ สตง. และสนช. จะชี้ข้อพิรุธ ความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อยานเกราะล้อยางจากยูเครน แต่กองทัพบก ยังยืนยันการจัดซื้อกระทั่งนำมาสู่การอนุมัติของนายสมัคร โดยอ้างว่า สตง. ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและยืนยันถึงความถูกต้องทุกประการแล้ว
ทาง สตง. จึงได้ทำหนังสือลงนามโดยนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2551 แจ้งต่อรมว.กลาโหมว่า สตง.ไม่เคยยืนยันความถูกต้องและความโปร่งใสในการจัดซื้อยานเกราะยูเครน ที่ผ่านมาเป็นเพียงการรับฟังข้อเท็จจริงจากกองทัพบกซึ่งยังไม่มีหลักฐานมายืนยันว่าเป็นข้อเท็จจริงทั้งหมด เช่น กรณีการชี้แจงเป็นภาพถ่ายของโรงงานประกอบชิ้นส่วนที่อยู่ในต่างประเทศ ว่าเป็นของผลิตใหม่ไม่ได้ดัดแปลง
สตง. ยังระบุว่า กรณีการตรวจสอบและชี้แจงข้างต้นเป็นขั้นตอนหนึ่งในการจัดซื้อยานเกราะล้อยาง BTR 3E1 ของกองทัพบก ยังมีขั้นตอนอื่นที่ต้องติดตามตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ต่อไป จึงเรียนมาเพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโปรดรับทราบ