xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ชี้รัฐฯทำตลาดข้าวป่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการออนไลน์ - “อัมมาร์” ชี้รัฐฯทำตลาดข้าวป่วน มาตราการแทรกแซงราคาเปรียบเหมือนการรุมกินโต๊ะผู้เสียภาษี แนะเก็บสต็อกข้าวที่มีอยู่รับมือภัยพิบัติที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก “ผอ.มูลนิธิข้าวขวัญ” เตือนชาวนาระวังเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดหนัก เหตุโหมใช้สารเคมีหนักจนดื้อยา

วันนี้ (14 พ.ค.) ศ.ดร.อัมมาร์ สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานเสวนา “ข้าวแพง วิกฤตหรือโอกาสชาวนาไทย” จัดโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สมาคมชาวนาแห่งประเทศไทย ฯลฯ ว่า รัฐบาลทุกสมัยที่ผ่านมาอยากให้ข้าวเปลือกแพงข้าวสารถูก แต่ในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมาที่เข้าไปแทรกแซงราคาก็ไม่ได้ดึงราคาข้าวในตลาดให้สูงขึ้น ชาวนาต่างแห่ขายข้าวให้รัฐฯ จนรัฐบาลมีสต็อกจำนวนมาก การทำแบบนั้นเหมือนกับเป็นการรุมกินโต๊ะผู้เสียภาษี เพราะเอาเงินภาษีของประชาชนไปรับซื้อ

“แนวโน้มการจัดการข้าวที่ดีที่สุดคือรัฐบาลไม่ควรทำอะไร ซึ่งตนไม่ได้ว่ากลไกตลาดดีเสมอไป แต่นโยบายที่รัฐฯทำอยู่ทุกวันนี้ทำให้ตลาดปั่นป่วนมากขึ้น เวลานี้ยังไม่มีปัญหา แต่เมื่อถึงเวลาราคาข้าวตกจะทำอย่างไร เพราะราคาข้าวขณะนี้สูงขึ้นมากและไม่มีเหตุผลรองรับ” นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ กล่าว

ศ.ดร.อัมมาร์ ให้ความเห็นต่อการจัดการข้าวในสต็อกของรัฐบาล 2.1 ล้านตัน ที่มีหลายฝ่ายแนะนำรีบขายเอาเงินเข้ากระเป๋า ว่า ควรเก็บไว้เป็นสต็อกสำรองเอาไว้จะดีกว่า เพราะหากเกิดภัยพิบัติขึ้นในประเทศผู้ผลิตข้าวจะทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นไปอีก และเมื่อถึงเดือนกันยายน หากสถานการณ์ปกติจึงค่อยระบายข้าวออกมาเท่าที่จำเป็นเพื่อไม่ให้ราคาตกฮวบฮาบ

***แนะชาวนาปรับตัวลดต้นทุนผลิต

นายเดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวว่า ราคาข้าวปีนี้ขยับตัวสูงขึ้นเกือบเท่าตัวทุกคนมองว่าเป็นโอกาสของชาวนา แต่ความเป็นจริงคือ เมื่อข้าวราคาแพงนายทุนก็ฉวยโอกาสกดราคาซื้อข้าวจากชาวนา และค่าเช่าที่นาโดยเฉพาะในเขตภาคกลางอย่างน้อย 40% เป็นนาเช่าก็ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก บางรายเอานาคืนแล้วจ้างคนอื่นทำ เพราะจะได้กำไรมากกว่าให้เช่ากว่าเท่าตัว โอกาสของชาวนาจะกลับเป็นวิกฤตไม่นับปัจจัยการผลิตทั้งพันธุ์ข้าว ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ปรับขึ้นหมด ชาวนาต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้น ทำให้ขายข้าวได้กำไรน้อยลง ยิ่งหากราคาข้าวต่ำลงชาวนาก็จะขาดทุนทันที

นายเดชา กล่าวต่อว่า ชาวนาที่ใช้ปุ๋ยใช้ยาเพิ่มปริมาณมากขึ้นจะเสียเงินและเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด เพราะต้นข้าวจะอ่อนแอ ไม่มีภูมิต้านทานต่อโรค ยาปราบศัตรูพืชยังทำลายแมลงดีขณะที่แมลงศัตรูพืชจะดื้อยา ทั้งนี้ข้อมูลที่ทำวิจัยเกี่ยวกับการแพร่รบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล พบว่า เกิดระบาดในทุก 10 ปี ครั้งแรกเมื่อปี 2523 ระบาดกว่า 600,000 ไร่ ปี 2533 จำนวน 3,500,000 ไร่ ซึ่งถือว่าหนักมาก พอมามี 2541 ระบาดอีก 1,800,000 ไร่ มาถึงตอนนี้ 10 ปีแล้วจึงอยากให้ชาวนาระวัง และเตรียมแก้ปัญหาล่วงหน้าโดยหันมาทำนาแบบธรรมชาติใช้สมุนไพรกำจัดศัตรูพืช เพื่อลดต้นทุนและลดความเสี่ยง

ทางด้านนายเสมียน หงษ์โต ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาชาวนาไทย กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลออกกฎหมายเพื่อป้องกันชาวนาถูกเอาเปรียบจากนายทุน และขอให้มีการประกันราคาข้าวให้ชาวนาด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น