โดย... ภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำหลักสูตรนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี
.
(หมายเหตุ : เนื่องจากเนื้อหายาว จึงขอตัดแบ่งเป็น 2 ตอนจบ พร้อมแนบลิงก์ไว้ช่วงท้ายของแต่ละตอนด้วยแล้ว - บรรณาธิการ)
การเล่าเรื่องข้ามสื่อเชิงวารสารศาสตร์
.
ก่อนจะนำเสนอแนวคิด การเล่าเรื่องข้ามสื่อ (Transmedia storytelling) นั้น ผู้เขียนขอให้คำนิยามของคำว่า “วารสารศาสตร์” สักเล็กน้อย เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน เพราะในสังคมทั่วไปและนักวิชาชีพสื่อเองมักเข้าใจคำว่า วารสารศาสตร์ (Journalism) ในมุมมองที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะการนำคำว่าวารสารศาสตร์ไปผูกโยงกับสื่อ (Medium) ซึ่งทำให้คำว่าวารสารศาสตร์จำกัดอยู่เพียงแค่คนข่าวหนังสือพิมพ์ นับเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างมาก
กล่าวให้เข้าใจง่ายคือ “วารสารศาสตร์เป็นกระบวนการคัดเลือก เขียน ผลิต และเผยแพร่เรื่องราวของข่าว (ข้อเท็จจริง) และบทความผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ เป็นต้น” ส่วนผู้ที่นำหน้าที่ตรงนี้เราเรียกว่า นักวารสารศาสตร์ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ผู้สื่อข่าวหรือนักข่าวเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ที่ทำหน้าที่อื่นในกระบวนการทางวารสารศาสตร์นี้ด้วย เช่น ช่างภาพ เจ้าหน้าที่ตัดต่อ เจ้าหน้าที่กราฟิก หัวหน้าข่าว บรรณาธิการ ผู้ประกาศ นักเขียนบทความ เป็นต้น
นักวารสารศาสตร์ จึงเป็นความหมายที่กว้างกว่าไป นักข่าว หรือ ผู้สื่อข่าว เพราะการกระบวนทางวารสารศาสตร์นั้นเกี่ยวข้องกับหลายตำแหน่งงาน นี่อาจเป็นแนวคิดวารสารศาสตร์รุ่นโบราณ แต่ก็ยังใช้อยู่ในองค์กรสื่อขนาดใหญ่และรวมถึงสื่อท้องถิ่นด้วย แต่สำหรับองค์กรสื่อใหม่ ทุกตำแหน่งงานที่กล่าวมานั้นอาจรวมอยู่ในคนๆ เดียวก็ได้
ความจำเป็นที่ต้องนำเสนอนิยามของคำว่าวารสารศาสตร์ก่อน ก็เพื่อให้เห็นว่าวารสารศาสตร์เป็นส่วนงานที่ปรากฏอยู่ในทุกช่องทาง และมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางวารสารศาสตร์ไม่น้อย และแต่ละคนต่างมีความสำคัญต่อการพัฒนาวิธีการเสนอข่าวผ่านแนวคิดการเล่าเรื่องข้ามสื่อทั้งสิ้น แนวคิดนี้กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการนำเสนอข่าวของนักวารสารศาสตร์ในต่างประเทศและประเทศไทยด้วย ซึ่งช่วยเพิ่มความน่าสนใจของเนื้อหาข่าว เพิ่มยอดติดตามของผู้รับสาร และยังทำให้เกิดแฟนพันธุ์ของสื่อด้วย
ดังที่ผู้เขียนนำเสนอมาก่อนหน้านี้ว่า ปัจจุบันผู้รับสารสามารถเข้าถึงสื่อและเนื้อหาต่างๆ ได้ง่ายและหลากหลาย หากสื่อท้องถิ่นยังทำข่าวเช่นเดิมดังที่เคยทำมา ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ผู้รับสารจะละความสนใจจากเราไปยังสื่อหรือเนื้อหาที่มีความสดใหม่และน่าสนใจมากกว่า เพราะเพียงแค่เราหยุดความเคลื่อนไหวไปเพียงไม่กี่นาที หน้าฟีดของสื่อสังคม ก็จะพัดพาเนื้อหาของเราออกไปจากวงโคจรแห่งการรับรู้ของผู้รับสารทันที แนวคิดการเล่าเรื่องข้ามสื่อจะช่วยให้การสื่อสารงานข่าวกับผู้รับสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น
.
ความหมายของการเล่าเรื่องข้ามสื่อ
.
การเล่าเรื่องข้ามสื่อคืออะไร? โรเบิร์ต เพรทเทิน (Robert Pratten) ผู้ก่อตั้งบริษัททรานส์มีเดีย สตอรี่เทลเลอร์ (Transmedia Storyteller) ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง “มาเริ่มต้นกับการเล่าเรื่องข้ามสื่อ” (Getting started with transmedia storytelling) ให้ความหมายว่า...
“เป็นการเล่าเรื่องข้ามสื่อเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้ชม การมีปฏิสัมพันธ์ หรือความร่วมไม้ร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยให้ผู้รับสารมีความเข้าใจในเรื่องราวนั้นอย่างลึกซึ้ง เพลิดเพลิน และอาจก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเปลี่ยนแปลงต่อเรื่องราวนั้นๆ”
.
ส่วน ผศ.สกุลศรี ศรีสารคาม นักวิชาการด้านการเล่าเรื่องข้ามสื่อ จากสถาบันปัญญาภิวัฒน์ กล่าวถึงการเล่าเรื่องข้ามสื่อว่า...
.
“เป็นการสร้างโลกของเนื้อหาและแตกย่อยตัวละครหรือจิ๊กซอว์ของเนื้อหา แต่เนื้อหาย่อยๆ เหล่านั้น ต้องนำผู้รับสารไปสู่ความเข้าใจหรือแก่น (Theme) เรื่องเดียวกัน สาเหตุที่ต้องแตกย่อยเนื้อหาดังกล่าวก็เพราะผู้รับสารอาศัยอยู่ในทุกช่องทาง (Platforms) จึงจำเป็นต้องนำเนื้อหาของเราไปเผยแพร่ผ่านช่องทางเหล่านั้น”
.
จากนิยามดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่า การเล่าเรื่องข้ามสื่อจำเป็นต้องมี 4 องค์ประกอบที่จะทำให้การเล่าเรื่องข้ามสื่อเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่
.
1. เรื่องเล่า (Story) ในมุมมองวารสารศาสตร์เรียกเรื่องเล่าดังกล่าวว่า “ข่าว” หรือ “ข้อเท็จจริง” ที่เกิดขึ้นที่นักวารสารศาสตร์จะต้องแตกประเด็นข่าวย่อยๆ ให้เป็นโลกของเนื้อหาข่าวที่หลากหลาย แต่นำไปสู่แก่นเรื่องเดียวกัน
.
2. ช่องทาง (Platform) เป็นช่องทางที่นำผู้รับสารเข้ามาสู่โลกแห่งเนื้อหาข่าวที่นักวารสารศาสตร์สร้างขึ้น ช่องทางดังกล่าวต้องหลากหลายและเข้าถึงผู้รับสารได้ง่าย เรียกแต่ละช่องทางว่าเป็นจุดเช็คอิน (Check-in) ของผู้รับสาร ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าสื่อท้องถิ่นในปัจจุบันมีช่องทางในการนำเสนอเนื้อหาของตนเองอย่างน้อย 2-3 ช่องทางอยู่แล้วคือ “ช่องทางหลัก” หรือ “ช่องทางดั้งเดิม” เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เป็นต้น และ “ช่องทางออนไลน์” ที่สามารถแตกขยายเป็นหลากหลายช่องทาง เพื่อเข้าถึงผู้รับสารที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเพจเฟซบุ๊ก กลุ่มเปิดเฟซบุ๊กที่สามารถแตกย่อยอีกตามกลุ่มความสนใจในเนื้อหา ไปจนถึงยูทูบ ทวิตเตอร์ กลุ่มไลน์ กลุ่มวอสแอพ เป็นต้น ช่องทางเหล่านี้คือจุดเช็คอินของผู้รับสารที่จะเข้าถึงโลกแห่งเนื้อหา โดยแต่ละสื่อมีศักยภาพในการนำเสนอเนื้อหาในรูปแบบที่แตกต่างกันตามธรรมชาติของมัน
3. ผู้รับสาร (Audience) แนวคิดเดิมของนักวารสารศาสตร์คือ การมองผู้รับสารเป็นมวลชนที่เห็นหน้าตาลูกค้าหรือแฟนคลับของตนเองไม่ชัดเจนนัก เรียกผู้รับสารเหล่านั้นว่า “ประชาชนทั่วไป” ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นใครกันแน่ แต่ผู้รับสารยุคนี้ต้องเป็นผู้รับสารที่เป็นกลุ่มเฉพาะ (Targeted audience) ที่มีความสนใจในเนื้อหานั้นๆ คล้ายคลึงกัน เช่น กลุ่มสนใจการเมืองท้องถิ่น กลุ่มสนใจการท่องเที่ยว กลุ่มสนใจการศึกษา กลุ่มสนใจการเกษตร เป็นต้น หรืออาจกำหนดผู้รับสารตามช่วงวัยก็ได้เช่นกัน หากกำหนดกลุ่มเป้าหมายชัด เนื้อหาที่จะตอบสนองกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ก็จะคมชัด ที่สำคัญยังรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายเหล่านั้นมีพฤติกรรมอย่างไร เราสามารถสร้างหน้าตา วิถีชีวิต ความสนใจ หรือการเปิดรับสื่อของกลุ่มเป้าหมาย เรียกว่าโมเดลหรือตุ๊กตากลุ่มเป้าหมาย (Persona)
4. การมีปฏิสัมพันธ์ (Engagement) ปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะนั้น เป็นทั้งวิธีการและเป้าหมายของการเล่าเรื่องข้ามสื่อ ที่ว่าเป็นวิธีการเนื่องจากการมีปฎิสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตเนื้อหาและผู้รับสารนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่การแตกเนื้อหาข่าว การพูดคุยกันระหว่างการเผยแพร่เนื้อหา เช่น การ Reply ในเฟซบุ๊ก การรีทวิตในทวิตเตอร์ เป็นต้น รวมถึงการที่ผู้รับสารมีปฎิกริยาต่อเนื้อหาข่าวที่ได้รับรู้ในรูปแบบต่างๆ ก็ถือเป็นการมีปฎิสัมพันธ์ที่ผู้ผลิตไม่ควรมองข้าม ไม่ว่าจะเป็นปฎิสัมพันธ์ในเชิงบวก ลบ หรือต่อยอดเนื้อหาข่าวของเราไปใช้ประโยชน์ในแง่มุมต่างๆ ตามการให้ความหมายของกลุ่มผู้รับสาร
.
การแตกประเด็นแบบดั้งเดิมกับแบบใหม่
.
ผู้เขียนขอนำเสนอตัวอย่างง่ายๆ ที่แสดงให้เห็นว่า การทำงานแบบเดิมนั้นมีข้อจำกัดอย่างไร นักวารสารศาสตร์อาจจะมีข้อสังเกตว่า ปกติแล้วการทำงานของนักข่าวหรือกองบรรณาธิการก็มีการแตกเนื้อหาข่าวอยู่แล้ว นั่นแสดงว่า แนวคิดการเล่าเรื่องข้ามสื่อก็ไม่ใช่สิ่งใหม่? จริงๆ แล้วการแตกเนื้อหาข่าวแบบที่นักข่าวเคยปฎิบัติมานั้น เป็นการสร้างโลกของเนื้อที่อยู่ในวงแคบ และนำเสนอเนื้อหานั้นอยู่เฉพาะสื่อใดสื่อหนึ่ง
ดังเช่น “ข่าวตัวเลขคนว่างงานภูเก็ตเพิ่ม 34% COVID-19 กระทบหนักลูกจ้างตกงานแห่ขึ้นทะเบียน” (ที่มาจากเว็บไซต์ข่าวภูเก็ต) ข่าวนี้เป็นข่าวราชการของสำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต การแตกเนื้อหาแบบดั้งเดิมคือ การแตกเนื้อหาตามวิธีการนำเสนอ ได้แก่ การนำเสนอในรูปแบบของข่าว การสัมภาษณ์พิเศษ รายงานพิเศษเชิงข่าว เป็นต้น แต่ที่สุดแล้วเนื้อหาทั้งหมดเหล่านี้จะถูกเผยแพร่ในช่องทางเดียวกันหมดทั้งข่าว บทสัมภาษณ์พิเศษ และรายงานพิเศษเชิงข่าว หรือไม่ก็เอาไปเผยแพร่ซ้ำในเว็บไซต์ของตนเอง บ้างก็นำลิงก์ของเว็บไซต์ไปเผยแพร่ต่อในเฟซบุ๊ก
สุดท้ายแล้วผู้รับสารก็ไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาข่าวที่เราสร้างสรรค์ได้อยู่ดี เพราะเรายังมองว่า ผู้รับสารนั้นรอเราอยู่ที่จุดเช็คอินเดียว หรือแม้ว่าผู้รับสารจะเห็นที่ก็ไม่น่าสนใจพอที่จะทำให้เขาเปิดรับเนื้อหาของเรา ซึ่งโลกของความเป็นจริงนั้น ผู้รับสารกระจัดกระจายอยู่ตามจุดเช็คอินต่างๆ อย่างหลากหลาย แต่การแตกเนื้อหาดังกล่าวนั้นวางอยู่บนฐานของเรื่องเล่าเพียงอย่างเดียว มันจึงยังไม่สอดคล้องกับแนวคิดการเล่าเรื่องข้ามสื่อ
การเล่าเรื่องข้ามสื่อนั้น นักวารสารศาสตร์จะต้องมองให้เห็นถึงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ได้แก่ เรื่องเล่า - ผู้รับสารกลุ่มเฉพาะ - ช่องทาง + วิธีการเล่า - การมีปฏิสัมพันธ์ โดยทั้งหมดจะต้องถูกกำกับด้วยแก่นของเรื่องเล่า ดังนั้นหน้าตาของแต่ละองค์ประกอบจึงเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือสอดคล้องกัน การนำแนวคิดการเล่าเรื่องข้ามสื่อไปใช้ในองค์กรจึงต้องขยันคิดขยันสร้างสรรค์ และไม่ทำงานแบบที่เคยเป็นมา
ส่วนแนวทางการแตกประเด็นอย่างง่ายนั้น นักวารสารศาสตร์อาจใช้วิธีการแตกประเด็นแบบ “5 W 1 H” ซึ่งจะทำให้เราเห็นเรื่องเล่ามากมายที่ทำให้เราทำงานง่ายขึ้น ด้วยการสามารถวางแผนการเก็บข้อมูลหรือลงพื้นที่สื่อข่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างการใช้แนวทางการแตกประเด็นแบบ 5 W 1 H กับข่าวจำนวนตัวเลขว่างงานในจังหวัดภูเก็ตเพิ่มขึ้น 34% เพราะไวรัส COVID-19 โดยสามารถแตกประเด็นได้ดังนี้
จากประเด็นข่าวดังกล่าว เราสามารถนำมาแตกเป็นประเด็นย่อย เพื่อสร้างโลกของเนื้อหาสำหรับการเล่าเรื่องข้ามสื่อได้มากมายหลากหลายประเด็น แต่การเลือกประเด็นต่างๆ เหล่านี้มาออกแบบเรื่องเล่านั้น จำเป็นจะต้องกำหนดแก่นของเรื่องเล่า เพื่อเป็นกรอบสำหรับการเลือกประเด็นที่จะนำไปสร้างเป็นโลกแห่งเนื้อหา เพื่อการสื่อสารข้ามสื่อ สมมติว่าผู้เขียนกำหนดแก่นของเรื่องเล่าคือ “ความหวังและการปรับตัวของคนตกงาน” ดังนั้นประเด็นย่อยที่จะสามารถนำมาพัฒนาเป็นเรื่องเล่าภายใต้แก่นนี้คือ
- Who | ใครตกงานบ้าง อาจจะเพิ่มเป็นแรงงานที่ตกงานในหลากหลายกลุ่ม ใครจะเล่าได้บ้าง ซึ่งอาจไม่ใช่แรงงานเพียงอย่างเดียว อาจเป็นหน่วยงานอื่นๆ ที่จะให้ข้อแนะนำสำหรับแรงงานที่ตกงาน เช่น เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางาน เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม นักจิตวิทยา นักสร้างแรงบันดาลใจ เป็นต้น
.
- Where | ตกงานแล้วไปไหน
.
- How | คนตกงานเดือดร้อนอย่างไร แก้ปัญหาอย่างไร และการปรับตัวอย่างไร
.
เมื่อกำหนดแก่นของเรื่องที่จะเล่าแล้ว จะพบว่ามีเรื่องเล่าอื่นๆ ถูกตัดออกไปจำนวนมาก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่กล่าวถึงเลย แต่สามารถแทรกอยู่ในเนื้อหาที่นำเสนอได้ แต่ไม่ใช้ประเด็นหลัก ส่วนเรื่องเล่าที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเรื่องเล่าหลักจะต้องนำมาวางแผนเพื่อแสวงหาข้อมูล เลือกช่องทางและวิธีการนำเสนอ กลุ่มเป้าหมายของเนื้อหา และเมื่อนำเสนอไปแล้วอาจจะเกิดปฏิสัมพันธ์จากกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เช่น การให้กำลังใจ การเสนอแนะวิธีการทำอาชีพอิสระ การแนะนำสถานประกอบการใหม่ๆ เป็นต้น ผู้ผลิตอาจนำข้อมูลเหล่านี้มาต่อยอดเป็นโลกของเนื้อหาที่เล่าได้ไม่รู้จบ
.
การสร้างสรรค์การเล่าเรื่องข้ามสื่อ
.
ดังที่กล่าวมาแล้วว่า เรื่องเล่าเป็นสิ่งที่นักวารสารศาสตร์ต้องการจะบอกกล่าวไปยังกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าของตนเอง แต่เรื่องเล่าจะน่าสนใจก็ต้องมีการปรุงแต่งด้วยการใส่เทคนิควิธีการเล่าที่แตกต่างกันออกไป สำหรับวิธีการในการเล่าเรื่องนั้น ผศ.สกุลศรี ศรีสารคาม นักวิชาการด้านการเล่าเรื่องข้ามสื่อ ให้ข้อเสนอว่า รูปแบบการเล่าเรื่องแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1) การเล่าเรื่องแบบเส้นตรง (Linear storytelling) เป็นการเล่าแบบตั้งแต่ต้นจนจบ หากเล่าเป็นตอนๆ ก็ต้องเรียงลำดับตั้งแต่ Episode ที่ 1 ไปจนสุดท้าย หรือหากเขียนเป็นข่าวก็ต้องอ่านตั้งแต่บรรทัดแรกจนถึงบรรทัดสุดท้าย จึงจะเข้าใจเนื้อหาทั้งหมด
.
2) การเล่าเรื่องแบบไม่เป็นเส้นตรง (Non-linear storytelling) เป็นการเล่าที่สลับไปมา โดยไม่ตรงเรียงร้อยกันตั้งแต่ต้นจนจบ และเล่าข้ามสื่อ ผู้ชมจะเปิดรับเนื้อหาจาก Episode ใด หรือช่องทางใด ก็สามารถเข้าใจเนื้อหาที่ผู้ผลิตต้องการนำเสนอได้ เพราะแต่ละเรื่องเล่ามีความเป็นเอกภาพภายใต้แก่นของเรื่องที่ผู้ผลิตกำหนดไว้นั่นเอง การเล่าเรื่องประเภทนี้เหมาะกับการเล่าเรื่องผ่านช่องทางที่หลากหลาย ที่ผู้รับสารสามารถเช็คอินเข้าสู่เนื้อหาของผู้ผลิตได้
.
จากหัวข้อข้างต้น ผู้เขียนนำเรื่องเล่าย่อยๆ ภายใต้แก่น “ความหวังและการปรับตัวของคนตกงาน” มาออกแบบวิธีการเล่าเรื่องแบบไม่เป็นเส้นตรง ได้ดังนี้
.
จากตัวอย่างดังกล่าวจะเห็นว่า แม้จะเป็นข่าวแจกของหน่วยงานราชการเพียงข่าวเดียว หากนำแนวคิดการเล่าเรื่องข้ามสื่อมาใช้ในการพัฒนาการเล่าเรื่องของข่าว จะทำให้นักวารสารศาสตร์มีเรื่องราวมากมายที่ผู้รับสารอยากจะเข้ามาเช็คอิน โดยเนื้อหาในแต่ละช่องทางเป็นไปในทิศทางเดียวกันภายใต้แก่นที่กำหนด แต่ละเรื่องราวจะได้รับการนำเสนอด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่แตกต่างกันไปตามช่องทางต่างๆ แต่ละช่องทางที่เผยแพร่ควรมีการนำลิงก์หรือแนะนำการเข้าถึงเนื้อหาอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับเรื่องเล่านี้ที่เผยแพร่อยู่ในช่องทางอื่นด้วย เพื่อให้ผู้รับสารสามารถคลิกเข้าไปติดตามเนื้อหาต่างๆ ได้ง่ายมากขึ้น
.
แต่หากจะแนะนำช่องทางการเข้าถึงเนื้อหาจากสื่อ หนังสือพิมพ์ ไป สู่ออนไลน์ ผู้ผลิตก็อาจใช้ คิวอาร์โค๊ท (QR code) สำหรับการสแกนผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อจะเข้าถึงช่องทางออนไลน์ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายเป็นอย่างมาก
.
ดังนั้นเมื่อผู้รับสารเช็คอินเข้าไปในเนื้อหาใดเนื้อหาหนึ่งแล้ว เขาก็จะสามารถเข้าไปในโลกของเนื้อหาอื่นๆ ได้อีกจนกว่าผู้รับสารจะพอใจ ขณะที่ข้อแนะนำหรือการมีปฏิสัมพันธ์จากผู้รับสารต่อผู้ผลิตเนื้อหา ก็สามารถนำมาต่อยอดผลิตเป็นเรื่องเล่าที่สอดคล้องกับแก่นของเรื่องได้อีก เช่น ผู้รับสารอาจจะแนะนำแหล่งข่าวคนอื่นๆ ที่น่าสนใจ บ้างก็อาจจะเล่าเรื่องของตนเองผ่านเพจข่าว เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นวัตถุดิบอย่างดีในการนำมาต่อยอดเพื่อสร้างเรื่องเล่าใหม่ๆ
สำหรับสื่อ วิทยุท้องถิ่น ที่มีรายการข่าว ซึ่งนิยมสัมภาษณ์แหล่งข่าวยาวต่อเนื่องกัน 30 นาทีหรือหนึ่งชั่วโมง บ้างก็ถ่ายทอดสดรายการ (Live broadcasting) ผ่านเพจของสถานีวิทยุ หากจะนำแนวคิดการเล่าเรื่องข้ามสื่อมาใช้ในการพัฒนาเนื้อหาข่าวของสถานีและสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้รับสาร ก็อาจเริ่มต้นง่ายๆ จากการตัดรายการข่าวที่ยาว 30-60 นาทีนั้นเป็นคลิปสั้น ความยาว 1-3 นาที ขึ้นอยู่กับประเด็นข่าวนั้น พร้อมกับเพิ่มข้อความ ภาพประกอบ และดนตรีประกอบรายการเข้าไปในกระบวนการตัดต่อ ซึ่งจะทำให้สถานีวิทยุมีคลิปข่าวที่น่าสนใจ ที่สามารถเผยแพร่ใหม่อีกครั้งในเพจของสถานี เว็บไซต์ หรือช่องยูทูบ เป็นต้น
หรืออาจจะถอดเสียงสัมภาษณ์นั้นมาเรียบเรียงเป็นเนื้อข่าว เพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสถานี หรือข่าวสั้นต้นชั่วโมง เพียงเริ่มต้นอย่างง่ายๆ ก่อน สื่อวิทยุท้องถิ่นก็จะมีเรื่องเล่าและสื่อเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เพื่อใช้สำหรับการเผยแพร่ตามช่องทางต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผู้รับสารที่ไม่ได้ฟังรายการข่าววิทยุในวันและเวลาที่ออกอากาศดังกล่าว หรือผู้ที่ไม่ชอบฟังเนื้อหายาวๆ ก็สามารถเข้าถึงข่าวของสถานีได้โดยไม่ยากนัก
หลักการสำคัญอย่างหนึ่งของ การเล่าเรื่องข้ามสื่อ คือ เนื้อหาที่นำมาออกแบบการเล่าเรื่องนั้น ต้องเป็นเนื้อหาที่ใกล้ตัวที่จะทำให้ผู้รับสารเกิดความรู้สึกเชื่อมโยงกับประสบการณ์หรือการใช้ชีวิตของตนเอง และทำให้เขาอยากเข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ ในเนื้อหาที่ผู้ผลิตสร้างขึ้น แม้เนื้อหาบางอย่างอาจจะดูยิ่งใหญ่หรือไกลตัว แต่ผู้รับสารจำเป็นต้องรับรู้ ก็ต้องออกแบบเนื้อหาและวิธีการเล่าเรื่องให้ผู้รับสารรู้สึกว่า เขาจำเป็นต้องรับรู้ มิเช่นนั้นเขาจะพลาดประเด็นสำคัญไป
ทั้งนี้เรื่องเล่าต่างๆ ที่นำเสนอมานั้น ต้องตั้งอยู่บนฐานของกระบวนการสื่อข่าว คือ การนำเสนอข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นธรรม และเป็นกลาง ไม่ใช่การปั้นหรือปรุงแต่งเนื้อหาขึ้นมาเอง หรือเกินข้อเท็จจริง หรือการนำข้อมูลโดยเฉพาะจากสื่อสังคมที่ขาดการตรวจสอบด้วยกระบวนการสื่อข่าวมาเผยแพร่ หากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับเป็นการทำลายวิชาชีพของเราเสียเอง
.
บทส่งท้าย
.
แนวคิด การเล่าเรื่องข้ามสื่อ ที่ผู้เขียนนำมาเป็นกรอบในการประยุกต์ใช้กับงานด้านวารสารศาสตร์หรืองานข่าวนั้น ยังมีรายละเอียดอีกมากที่สำคัญและเป็นประโยชน์ในการพัฒนาวิชาชีพข่าวของ องค์กรสื่อท้องถิ่น ให้สอดรับกับ ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์การสื่อสาร
แต่การพัฒนาสู่การเป็น “นักเล่าเรื่องข้ามสื่อเชิงวารสารศาสตร์” นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่แต่ละท่านจะได้ศึกษาเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ๆ เปิดโอกาสแก่ตนเองเพื่อฝึกฝนทักษะเพิ่มเติม และอาจจำเป็นต้องคัดเอาวิธีคิดและแนวปฏิบัติเดิมที่ยังเป็นประโยชน์ไว้ใช้ต่อไป
.
ขณะเดียวกันก็ “อย่ายึดติดสิ่งที่ล้าสมัย” ซึ่งเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้แต่ละท่านสามารถยกระดับตนเองเป็นนักเล่าเรื่องข้ามสื่อเชิงวารสารศาสตร์มืออาชีพได้ไม่ยาก
อ่านเรื่องเกี่ยวเนื่อง
.
- “สิ่งที่เห็น” และ “เป็นไป” ของสื่อท้องถิ่นภาคใต้ กับข้อเสนอเพื่อการพัฒนาด้วยแนวคิดการเล่าเรื่องข้ามสื่อ (1)
.
- “สื่อสารมวลชน” ในสมรภูมิ “อัลกอริธึม”?!