โดย... ผศ.ดร.พรไทย ศิริสาธิตกิจ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ และ รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ
4 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2004 เป็นวันแรกที่ Facebook เปิดตัวขึ้นเป็นครั้งแรก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศอเมริกา หลังจากนั้นคำว่า “ความสัมพันธ์ทางสังคม (Social Relation)” ก็ถูกนิยามใหม่ เช่น ความถี่ในความสัมพันธ์, ข้อจำกัดระยะทาง, การข้ามแดนของความสัมพันธ์, ต้นทุนของความสัมพันธ์, การสร้างมูลค่าของความสัมพันธ์ ฯลฯ
.
ประเด็นเหล่านี้ด้านหนึ่งดูเหมือนว่า ความสัมพันธ์จะเป็นเรื่องที่เกิดได้ง่ายขึ้น หากอีกด้านหนึ่งเรากลับพบว่า ความสัมพันธ์ก็ยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น
.
นอกจาก Facebook ที่มีการเปิดใช้งาน 50 ล้าน แล้วยังมีแอปพลิเคชันอื่นๆ เช่น Line 49 ล้าน, Instargam 13 ล้าน, Twitter 12 ล้าน และ YouTube 50 ล้าน ที่รวมกันสร้างความสัมพันธ์ใหม่ทางสังคมที่เรียกรวมๆ ว่า โซเชียลมีเดีย (Social media) ซึ่งได้ผูกโยงกิจกรรมในชีวิตประจำวันของผู้คนเข้าด้วยกัน นับตั้งแต่ตื่นนอนกระทั่งหลับ นับตั้งแต่การสั่งอาหารรับประทาน, การประกอบอาชีพ, การซื้อสิ่งของเครื่องใช้ รวมทั้งการรับรู้ข่าวสารและแสดงความคิดเห็น
ถึงขนาดมีการกล่าวกันว่า ชีวิตผู้คนในปัจจุบันขึ้นอยู่กับการจัดวางของ “อัลกอริธึม (Algorithm)” ที่มีอำนาจกำกับเราทุกๆ อย่าง ไม่เว้นแม้กระทั่งความคิดที่ถูกกำกับโดยการป้อนข้อมูลข่าวสารอย่างซ้ำๆ ของอัลกอริธึม ที่จดจำความต้องการ/พฤติกรรมของเราเอาไว้อย่างแม่นยำ
การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีการสื่อสารที่คิดค้นรหัสความจำและคำสั่ง ที่เรียกว่า “อัลกอริธึม” นั้นได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของการสื่อสารไปอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารแบบตัวต่อตัว การสื่อสารระหว่างกลุ่ม และการสื่อสารมวลชน
.
ในประเด็นของ “การสื่อสารมวลชน” นั้น พบว่า เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง จนปรับตัวเพื่ออยู่ท่ามกลางโลกการสื่อสารออนไลน์แทบไม่ทัน
.
ทั้งนี้ เราพบว่าในแพลตฟอร์ม (Platform) การสื่อสารแบบออนไลน์นั้น ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 4 ประเด็นหลักในวงการสื่อสารมวลชน
.
ประเด็นแรก คนมีความต้องการได้รับข่าวสารข้อมูลมากขึ้นอย่างรวดเร็วและสะดวกสบาย เดิมทีเรามีคำกล่าวเท่ๆ ในวงการหนังสือพิมพ์ว่า “ไม่มีอะไรเชยกว่าหนังสือพิมพ์ฉบับเมื่อวานนี้” แต่วันนี้ดูเหมือนว่าประโยคนี้คงใช้ไม่ได้แล้ว อาจจะต้องเปลี่ยนว่า “ไม่อะไรเชยกว่าสเตตัส (status) เมื่อนาทีที่แล้ว”
.
อันแสดงถึงการไหลบ่าและความต้องการข้อมูลข่าวสารในยุคปัจจุบันได้ดี และเงื่อนไขนี้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของการทำงานสื่อในทุกระดับอย่างสิ้นเชิง
.
ประเด็นที่ 2 การหายไปของนายประตูข่าวสาร (Gatekeeper) รวมทั้งสื่อมวลชนส่วนกลาง ซึ่งเดิมมีหน้าที่คอยคัดกรองข้อมูลข่าวสารออกมานำเสนอสู้ผู้อ่าน ผู้ฟัง ผู้ชม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสื่อสารมวลชนที่ดำเนินการอยู่ในเมืองหลวง เมืองใหญ่อันเป็นศูนย์กลางของอำนาจทั้งปวง
ทว่า เกิดการก่อตัวของสื่อสารมวลชนท้องถิ่น ผู้สื่อข่าวภาคประชาชน สื่อสารมวลชนแบบไร้ที่ตั้ง และทุกคนคือ สื่อสารมวลชน ที่พร้อมโพสต์ข้อความ คลิป ภาพถ่าย ผ่านโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนได้อย่างรวดเร็ว ฉับไว และกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ
ประเด็นที่ 3 หนังสือพิมพ์แบบกระดาษไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป เพราะหนังสือพิมพ์ที่มีกระบวนการผลิตที่ต้นทุนสูง ต้องใช้เวลามาก ไม่ทันความต้องการของผู้รับข่าวสารอีกต่อไป การหายไปของกระดาษนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการหนังสือพิมพ์ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย
.
หนังสือพิมพ์ฉบับกระดาษทยอยปิดตัวไป และผู้เขียนคาดว่าจะปิดตัวเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ดังตารางที่บอกถึงสถานะของหนังสือพิมพ์ประเทศไทย
ประเด็นที่ 4 การหายไปของรายได้และขาลงนักเรียนนิเทศศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับรู้ข่าวสารที่เคลื่อนที่จากกระดาษมาสู่ข่าวสารออนไลน์ ทำให้เกิดผลกระทบครั้งใหญ่ของวงการหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะรายได้จากการจำหน่ายและการขายโฆษณา ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น
1) ปี 2557 - 13,166 ล้านบาท 2) ปี 2558 - 12,332 ล้านบาท 3) ปี 2559 - 9,843 ล้านบาท 4) ปี 2560 - 7,706 ล้านบาท และ 5) ปี 2561 - 6,100 ล้านบาท (สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย / Nielsen URL : https://thematter.co/social/how-can-thainewspaper-survive/77130)
เป็นเหตุผลให้หนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับเร่งปรับตัว ทั้งไม่รับคนเพิ่ม, เปิดเออร์ลีรีไทร์, ลดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าโอที, เบี้ยต่างจังหวัด, ไม่ให้โบนัส, ไม่ขึ้นเงินเดือน, ลดไซส์หนังสือพิมพ์, ลดจำนวนหน้า, เพิ่มวิธีหารายได้ ซึ่งเป็นผลของการปรับตัวของมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรนิเทศศาสตร์ ต้องหลักสูตรการสอนที่ให้ผู้ที่เข้าเรียนมีทักษะ Digital Content มากขึ้น
.
ทางข้างหน้าของสื่อมวลชนไทย
.
การปรับตัวของสื่อมวลชนในยุคที่เรียกว่า Disruption นั้นเป็นเงื่อนไขที่จำเป็น สื่อที่ปรับตัวไม่ได้หรือไม่พร้อมจะปรับตัวมีวิธีการเดียวคือ เลิกกิจการหรือเปลี่ยนอาชีพ
.
ทั้งนี้ ในอีกด้านหนึ่งของผลกระทบนั้นพบว่า ยังมีโอกาสด้วย ในยุคที่การทำสื่อนั้นใช้ต้นทุนน้อย ใช้เครื่องมือที่ไม่ซับซ้อนทำให้เกิดสื่อมวลชนออนไลน์เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการเปลี่ยนแปลง Platform ในการนำเสนอเนื้อหาได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งจะขอนำเสนอเป็น 4 ประเด็นดังต่อไปนี้
ประเด็นแรก แฟนเพจ (Fanpage) + เว็บเพจ (Webpage) คือ สองด้านของเหรียญเดียวกันที่ขาดกันไม่ได้ ความหมายก็คือ การสร้างแฟนเพจ สื่อนั้นจะไม่มีทางน่าสนใจและประสบความสำเร็จหากขาดซึ่ง เว็บเพจในการนำเสนอเนื้อหาที่ข่าวสาร
.
ประเด็นที่ 2 เนื้อหาที่ดีคือ พระเจ้า เพราะเนื้อหาที่ดี การนำเสนอที่ดี ยังเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดที่ผู้รับสารต้องการ ไม่ต่างจากเนื้อหาที่เคยอยู่ในรูปกระดาษหรือในโทรทัศน์ หากจะปรับเปลี่ยนก็คงให้มีความกระชับมากกว่าเดิม
.
คิดอยู่เสมอว่า 2C ต้องเดินไปด้วยกัน Content Drive Community (เนื้อหาขับเคลื่อนการสื่อสาร : กอง บก.) และ Community Drive Content (การสื่อสารขับเคลื่อนเนื้อหา : กอง บก.) เพราะเนื้อหาที่ดีนั้นจะสร้างการเติบโตให้แฟนเพจ ขณะที่เมื่อแฟนเพจมีผู้ติดตามจำนวนมาก การนำเสนอประเด็นข่าวสารต่างๆ ก็จะเกิดการรับรู้ในวงกว้าง
ประเด็นที่ 3 ใครคือ Influencer (ผู้ส่งเสริมการขายทางสื่อสังคม : กอง บก.) ในการสื่อสาร ใครไม่ใช่ ประเด็นนี้มีความสำคัญมาก ไม่ต่างจากการทำข่าวในอดีตที่ต้องคำนึงว่า ผู้ส่งสารคือใคร สามารถสื่อสารข้อมูลที่น่าสนใจและน่าเชื่อถือได้ตรงกับความต้องการผู้รับหรือไม่
อย่างไรก็ดี ความแตกต่างก็คือ ในพื้นที่สื่อสารออนไลน์นั้น เราสามารถทราบข้อมูล ผู้รับข้อมูลข่าวสารของเราได้ว่า อายุ เพศ ช่วงเวลาที่อ่าน/ดู จำนวนเวลาที่อ่าน/ดู ทำให้เราสามารถตรวจสอบ Feedback เนื้อหาที่เรานำเสนอได้อย่างรวดเร็ว และสามารถปรับเปลี่ยนได้รวดเร็วเช่นกัน ทั้งนี้ หากเราละเลยเรื่องดังกล่าวนี้ เราก็จะจมหายไปกับมหาสมุทรข่าวสาร
.
ประเด็นที่ 4 การรื้อฟื้นจรรยาบรรณสื่อและองค์กรสื่อให้กลับมาทำงานได้อย่างเข้มแข็ง ด้วยพลังของเครือข่ายที่เชื่อมั่นว่า สังคมจะเปลี่ยนแปลงรุดหน้าไปอย่างมีคุณภาพได้นั้น ไม่สามารถขาดสื่อมวลชนที่ยึดมั่นผลประโยชน์ของสังคมได้
.
หลายปีมานี้รายได้จากการทำอาชีพสื่อมวลชนนั้นลดลงอย่างมากอย่างที่กล่าวมาแล้ว ขณะที่เกิดสื่อออนไลน์ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก จนไม่สามารถรักษามาตรฐานของการนำเสนอข่าวได้
.
สื่อขาดความน่าเชื่อถือ ด้านหนึ่งมาจากการพยายามหารายได้จนละเลยจรรยาบรรณ จำยอมตกเป็นกระบอกเสียงทางการเมืองแบบเลือกข้าง
.
การระบาดของข่าวปลอม (Fake News) ผู้ใช้ Facebook ปลอมที่เป็นอวตารทำหน้าที่ IO (Information Operation : ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร) ทำลายล้างกันแบบคู่ตรงกันข้าม จนเกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ฉุดรั้งการเดินของประเทศให้อยู่ในวังวนของความขัดแย้ง
ทั้งนี้ หากลดปัญหาเรื่องการหารายได้ให้หมดไป ในอนาคตอาจจำเป็นสร้างกระบวนการส่งเสริม สนับสนุน และสร้างพื้นที่การสื่อสารที่เป็นอิสระ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของ “กองทุนพัฒนาสื่อสารมวลชน” ที่ส่งเสริมให้สื่อมวลชนสามารถทำงานได้อย่างอิสระจากกลุ่มทุน
.
.
อ่านเรื่องเกี่ยวเนื่อง
.
-สิ่งที่เห็น” และ “เป็นไป” ของสื่อท้องถิ่นภาคใต้ กับข้อเสนอเพื่อการพัฒนาด้วยแนวคิดการเล่าเรื่องข้ามสื่อ (1)
.
- “สิ่งที่เห็น” และ “เป็นไป” ของสื่อท้องถิ่นภาคใต้ กับข้อเสนอเพื่อการพัฒนาด้วยแนวคิดการเล่าเรื่องข้ามสื่อ (2)