xs
xsm
sm
md
lg

“สิ่งที่เห็น” และ “เป็นไป” ของสื่อท้องถิ่นภาคใต้ กับข้อเสนอเพื่อการพัฒนาด้วยแนวคิดการเล่าเรื่องข้ามสื่อ (1)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
โดย... ภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำหลักสูตรนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี
 .
(หมายเหตุ : เนื่องจากเนื้อหายาว จึงขอตัดแบ่งเป็น 2 ตอนจบ พร้อมแนบลิงก์ไว้ช่วงท้ายของแต่ละตอนด้วยแล้ว - บรรณาธิการ)
 

ภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำหลักสูตรนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี

 

“หน้าที่ของสื่อมวลชน รวมทั้งหนังสือพิมพ์มิใช่แต่เพียงแจ้งข่าวสารแก่ประชาชนเท่านั้น แต่ต้องแนะทางหรือสอนประชาชนผู้อ่านอีกด้วย หนังสือพิมพ์ไม่ใช่เป็นแต่เพียงผู้ตามรสนิยมหรือความต้องการของประชาชนเท่านั้น แต่ต้องยกหรือดึงระดับความต้องการและรสนิยมของประชาชนให้สูงขึ้นด้วย”

เกษม ศิริสัมพันธ์ (2507)

นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ และผู้มีบทบาทต่อการพัฒนาวิชาชีพสื่อมวลชนไทย

 

 
บทความนี้นำเสนอให้เห็นสถานการณ์ในระยะ 10-15 ปีที่ผ่านมาของ “สื่อท้องถิ่นภาคใต้” ที่ผู้เขียนมีประสบการณ์โดยตรง และเป็นผู้เฝ้าสังเกตการณ์การเคลื่อนตัวของสื่อท้องถิ่นภาคใต้ในหลากหลายบทบาท ไม่ว่าจะเป็นการเป็นนักศึกษานิเทศศาสตร์ที่มีความหวังอันเต็มเปี่ยมต่อสื่อท้องถิ่นภาคใต้ที่จะเป็นพลังและปากเสียงแก่ประชาชน ผู้สื่อข่าวในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น นักสื่อสารเพื่อการพัฒนาชุมชนภาคใต้ นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ที่ศึกษาวิจัยและทำงานเพื่อพัฒนาเนื้อหาข่าวและรายการร่วมกับนักวิชาชีพ และยังเคยเป็นผู้บริหารสถานีวิทยุของมหาวิทยาลัย แต่ละบทบาทต่างเกี่ยวข้องกับสื่อท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด ซึ่งเนื้อหาส่วนนี้ผู้เขียนนำเสนอในหัวข้อ “ที่เห็นและเป็นไป” ของสื่อท้องถิ่นภาคใต้
 
ส่วนสุดท้ายนั้น ผู้เขียนใช้เวลาอยู่หลายวันว่าควรจะเขียนสิ่งใดดีระหว่างการลงลึกในเชิงการวิพากษ์วิจารณ์ กับการเสนอแนวคิดใหม่ๆ เพื่อการพัฒนา แต่ท้ายที่สุดผู้เขียนตัดสินใจนำเสนอแนวคิดเพื่อการพัฒนาเนื้อหาข่าวท้องถิ่นแทน โดยคาดหวังว่าจะเป็นประโยชน์ที่นักวิชาชีพจะได้นำไปใช้หรือเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและวิธีการทำงานด้วยตนเอง โดยมิต้องพะวงมากนักกับโครงสร้างและวัฒนธรรมองค์กรที่ครอบงำอยู่ หรือหากเป็นสื่อเอกชนก็สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์เชิงธุรกิจ แนวคิดที่ว่าคือ การเล่าเรื่องข้ามสื่อ (Transmedia storytelling) สำหรับนักวารสารศาสตร์
 
แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเวลาและพื้นที่ บทความนี้อาจยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นัก แต่หวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นกระจกสะท้อนให้แก่นักวิชาชีพได้บ้าง และเนื้อหาอาจเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสื่อท้องถิ่นให้เป็นแสงเทียนที่จุดสว่างอยู่ปลายอุโมงค์ให้แก่ผู้คนที่มืดบอด
 .
สิ่งที่เห็นและเป็นไป 
 .
ก่อนอื่นขอกล่าวถึงความสัมพันธ์ของผู้เขียนกับสื่อท้องถิ่นในภาคใต้ให้ทุกท่านได้เข้าใจพื้นฐานที่มาของความคิดก่อนพอสังเขป และการเล่านี้ก็อาจผสมปนเปกับสิ่งที่ผู้เขียนมองเห็น
 .
จุดเริ่มต้นของการเข้ามาคลุกคลีกับสื่อท้องถิ่นในภาคใต้ของผู้เขียนนั้น เริ่มมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เมื่อราวปี 2542 ขณะกำลังศึกษาวิชาโทนิเทศศาสตร์ของโครงการจัดตั้งคณะวิทยาการสื่อสาร (ในขณะนั้น) ตอนที่เป็นนักศึกษาก็ได้เข้ามาสัมผัสกับงานข่าว โดยสมัครเป็นผู้สื่อข่าวพิเศษของสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี ซึ่งเป็นยุคที่ต้องรายงานข่าวทางโทรศัพท์ด้วยการหยอดเหรียญบาท บางครั้งอาจารย์ท่านก็ซื้อบัตรโทรศัพท์ (Phone card) ให้ใช้สำหรับการรายงานสดทางวิทยุ
 
ข่าวใหญ่ที่ผู้เขียนติดตามอยู่ในเวลานั้นคือ ความขัดแย้งจากโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซียอ.จะนะ จ.สงขลา นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงพลังของสื่อท้องถิ่นที่มีต่อการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคมท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อระดับชาติละเลยอันเนื่องมาจากข้อจำกัดหลายประการ
 
ต่อมา ผู้เขียนมีโอกาสสัมผัสกับสื่อท้องถิ่นมากขึ้น เมื่อเข้าไปเป็นผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์โฟกัสภาคใต้ (ชื่อเดิมขณะนั้น ปัจจุบันคือ ภาคใต้โฟกัส) เมื่อปี 2545 ตอนนั้นหนังสือพิมพ์โฟกัสภาคใต้ถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหัวก้าวหน้าฉบับหนึ่ง ที่เปลี่ยนภาพจำของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นโดยทั่วไป ตอนนั้นหากเรานึกถึงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ภาพจำแรกที่เข้ามาในหัวของแต่ละคนก็จะเป็นไปในเชิงลบเสียมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอแต่ภาพอาชญากรรม หนังสือพิมพ์ตรวจลอตเตอรี่ หนังสือพิมพ์รายนักขัตฤกษ์ หนังสือพิมพ์ที่ปกป้องธุรกิจผิดกฎหมายของเจ้าของหนังสือพิมพ์ หรือไม่ก็ภาพของผู้สื่อข่าวหรือเจ้าของหนังสือพิมพ์ที่เรียกรับเงินแลกกับการลงข่าวหรือละเว้นการลงข่าว เป็นภาพจำที่ไม่น่าจดจำในประวัติศาสตร์ของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมากนัก แต่โฟกัสภาคใต้อยู่ท่ามกลางสิ่งเหล่านั้น ซึ่งมีความท้าทายไม่น้อยว่าจะธำรงอุดมการณ์ของนักหนังสือพิมพ์ได้อย่างไร
 
ในเวลาเดียวกันนั้น ผู้เขียนยังมีโอกาสสังเกตการทำงานของผู้สื่อข่าวส่วนกลางที่ประจำอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย ซึ่งทำให้เห็นความตั้งใจของพวกเขาเหล่านั้น แต่เป็นความตั้งใจที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดของโครงสร้างองค์กรสื่อระดับชาติ ไม่ว่าจะเป็นสื่อภาครัฐหรือเอกชน การรายงานข่าวท้องถิ่นจึงเป็นไปตามกรอบหรือนโยบายจากส่วนกลางเสียมากกว่า ซึ่งลดทอนศักยภาพของผู้สื่อข่าวไปอย่างน่าเสียดาย
 
จากนั้นผู้เขียนมีโอกาสร่วมงานกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ในฐานะนักประชาสัมพันธ์ที่มีหน้าที่หลักในการเผยแพร่งานพัฒนาขององค์กรชุมชนในภาคใต้ การทำงานที่นี่ช่วยเปิดโลกทัศน์งานพัฒนาชุมชนของผู้เขียนค่อนข้างมาก โดยได้รู้จักชุมชนและแกนนำชุมชนหัวก้าวหน้ามากมายกระจายอยู่กันเต็มพื้นที่ แต่น่าเสียดายที่เรื่องราวของพวกเขากลับปรากฏในพื้นที่สื่อค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะในสื่อท้องถิ่น นั่นหมายความว่า “รอยต่อ”ระหว่างสื่อท้องถิ่นกับชุมชนดังกล่าวแทบจะไม่มีเลย ภาพของชุมชนหรือท้องถิ่น จึงยังปรากฏเป็นภาพจำเดิมที่ยากจะสลัดพ้น ไม่ว่าจะเป็นภาพจำของความเป็น “เหยื่อ” จากนายทุน โครงการพัฒนา เป็นต้น ภาพจำของความ “โง่ จน เจ็บ” ที่รัฐและนักพัฒนาใช้สำหรับการตั้งงบประมาณเพื่อพัฒนาพวกเขาภายใต้ภาพจำนั้น ซึ่งภาพจำดังกล่าวเป็นภาพจำที่ทำให้ “ชุมชนเป็นผู้ไร้อำนาจ” ที่ต้องคอยรับความช่วยเหลือ ส่วนชุมชนหรือชาวบ้านคนใดที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง กลับถูกทำให้เห็นภาพจำของ “พวกหัวแข็ง” “ไม่ยอมพัฒนา” “พวกที่ได้รับการชักจูงจากคนภายนอก” ภาพจำเหล่านี้กลายเป็น “วิธีคิดกระแสหลัก” ของคนในสังคม รวมถึงสื่อท้องถิ่น จนทำให้ละเลยความไม่เป็นธรรมเชิงวัฒนธรรมและโครงสร้างที่คอยกดทับชุมชนท้องถิ่นเอาไว้
 
ดังนั้น จึงเป็นที่มาของความสงสัยที่ว่า “โง่ จน เจ็บ” หรือ “พวกหัวแข็ง” นั้น “ชุมชนดำรงอยู่เช่นนั้นจริง” หรือว่า “ชุมชนถูกทำให้เป็นเช่นนั้น” แต่น่าเสียดายที่สื่อท้องถิ่นมีบทบาทต่อการคลี่มายาคติดังกล่าวค่อนข้างน้อย
 
ในช่วงของการก้าวเข้ามาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งถูกทำให้เป็น “นักวิชาการ” ก็ยังคงเกี่ยวข้องกับสื่อท้องถิ่นอยู่ โดยในปี 2553-2554 ผู้เขียนได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำวิจัยเรื่อง “สถานภาพและบทบาทการสื่อสารเพื่อความเป็นพลเมืองของประชาชนในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น” ที่มีสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเป็นหัวหอกในการสนับสนุนการวิจัย โดยความร่วมมือจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วประเทศ การวิจัยครั้งนั้นถือเป็นการเช็กสุขภาพของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นกันครั้งใหญ่
 
ต่อจากนั้นสมาคมนักข่าวฯ ยังมี โครงการวิจัยเพื่อการพัฒนาหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นต้นแบบ ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมเป็นนักวิจัยในโครงการวิจัยระยะที่ 2 ด้วย โดยรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้แก่หนังสือพิมพ์ส่องใต้สตูล ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์การสื่อสาร โดยเฉพาะสื่ออินเทอร์เน็ตเริ่มส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของสื่อท้องถิ่นชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะพฤติกรรมการรับสื่อของประชาชนในท้องถิ่นที่หันมาเปิดรับข้อมูลข่าวสารจากช่องทางออนไลน์มากขึ้น
 
พฤติกรรมนี้มาพร้อมกับความเชื่อที่ว่า “ข้อมูลข่าวสารเป็นของฟรีที่หาได้ตามอินเทอร์เน็ต” การจะจ่ายเงินเพื่ออ่านหรือติดตามข่าวแบบเดิมจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นยาก นี่เป็นหายนะของสื่อท้องถิ่นหากไม่ปรับโมเดลธุรกิจของตนเองให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
 
ผู้เขียนยังมีโอกาสทำวิจัยเพื่อเช็กสถานะของสื่อท้องถิ่น “เคเบิลทีวี” ซึ่งเป็นสื่อที่แพร่ภาพและเสียงที่มีอยู่ในทุกจังหวัดของภาคใต้ โดยมีความชุกอยู่ในเขตเทศบาลที่บางแห่งมีผู้ประกอบการมากกว่า 1 ราย ระยะ 10 ปีที่ผ่านมา เคเบิลทีวีได้รับผลกระทบไม่น้อยจากการออกระเบียบมาควบคุมการดำเนินงานในหลายด้านของ กสทช. แม้ว่าจะเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ได้แพร่กระจายโดยใช้คลื่นความถี่ก็ตาม เคเบิลทีวียังได้รับผลกระทบจากการรุกคืบทางธุรกิจของผู้ประกอบการระดับชาติ ที่ขายโทรศัพท์มือถือพ่วงกับจานแดง
 
เคเบิลทีวีมีความชัดเจนในการประกอบการของตนเองว่า “เป็นองค์กรทางธุรกิจ” และ “ศูนย์รวมช่องรายการ”มากกว่าการเป็น “สื่อท้องถิ่นเพื่อสาธารณะ” เราจึงแทบไม่เห็นการผลิตรายการโทรทัศน์ท้องถิ่นเกิดขึ้นมากนักในเคเบิลทีวี จะมีก็เพียง “รายการข่าวท้องถิ่น” ที่มีวันละ 30 นาที-1 ชั่วโมงต่อวันไว้เป็นไม้ประดับ ซึ่งเนื้อหาก็มักเป็นข่าวราชการ มากกว่าจะมุ่งตรวจตราและตรวจสอบสังคมท้องถิ่น แต่บางห้วงเวลาที่สังคมท้องถิ่นเกิดวิกฤต เคเบิลทีวีก็เข้ามามีบทบาทไม่น้อย ดังเช่นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ เป็นต้น
 
การมีช่องรายการเป็นของตนเองและมีกลุ่มผู้ชมที่ชัดเจน ถือเป็นจุดแข็งสำคัญของเคเบิลทีวีท้องถิ่น จากการศึกษา พบว่า เจ้าของเคเบิลทีวีท้องถิ่นมีความสนใจในเชิงการพัฒนาเทคนิค มากกว่าการสร้างสรรค์เนื้อหารายการ ถือเป็นข้อจำกัดที่ทำให้รายการท้องถิ่นไม่ได้มีการผลิตอย่างเป็นมืออาชีพ สิ่งที่ผู้ประกอบการสามารถทำได้คือ การถ่ายทอดสดกิจกรรมท้องถิ่น ซึ่งไม่ต้องใช้งบประมาณและพลังในการผลิตมากนัก ดังเช่นการถ่ายทอดสดกีฬาวัวชน กิจกรรมหรือประเพณีท้องถิ่น กีฬาฟุตบอล เป็นต้น
 
แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีจะสร้างพันธมิตรกับนักวิชาชีพท้องถิ่นในสื่ออื่นๆ เพื่อพัฒนารายการท้องถิ่นร่วมกันให้สอดคล้องต่อจุดแข็งของตนเอง แต่นี่เป็นข้อเสนอเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ณ ปัจจุบันเข้าใจว่า สถานการณ์ต่างๆ มีความเปลี่ยนแปลงไม่น้อย ซึ่งน่าสนใจว่าผู้ประกอบการเคเบิลทีวีมีการปรับตัวในสถานการณ์ที่ถูกดิจิทัลดิสรัปชันอย่างไรบ้าง
 
ในการเป็น นักวิชาการ ยังมีโอกาสเป็น นักวิชาชีพวิทยุ ทำวิจัยเกี่ยวกับสื่อวิทยุ และพัฒนาเนื้อหารายการวิทยุร่วมกับเครือข่ายวิทยุในภาคใต้หลายแห่ง ผู้เขียนพบว่า นักวิชาชีพวิทยุในสถานีที่ได้มีโอกาสร่วมงานกันนั้น ต่างมีพลังสร้างสรรค์อยู่เต็มเปี่ยม แต่เป็นที่น่าเสียดายที่โครงสร้างองค์กรไม่เอื้ออำนวยให้บุคลากรได้คิดสร้างสรรค์รายการที่แปลกใหม่และสอดคล้องต่อกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ การทำงานของนักวิทยุจึงไม่ต่างจากการทำงานประจำที่รับนโยบายจากกรุงเทพฯ ทำให้ไม่ได้ใช้พลังสร้างสรรค์ของตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ
 
หันมาดูรายการข่าวในสื่อวิทยุท้องถิ่น จากการเฝ้าสังเกตการณ์ ผู้เขียนพบว่าแทบจะไม่ได้พัฒนาเท่าใดนัก นิยามของรายการข่าวท้องถิ่นในสื่อวิทยุคือ ข่าวแจกจากหน่วยงานราชการ ข่าวจากอีเวนต์หรือเหตุการณ์ที่หน่วยงานราชการเป็นผู้จัด เป็นต้น ทั้งที่ในเชิงวารสารศาสตร์นั้น เนื้อหาดังกล่าวเป็นเพียงเบาะแสเพื่อให้นักวิชาชีพข่าวได้ลงไปติดตามสอบสวน หรือทำข่าวให้น่าสนใจ ครบถ้วน และรอบด้านมากขึ้น ข่าววิทยุในสื่อวิทยุท้องถิ่น จึงขาดพลังที่จะสร้างผลกระทบ หรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมท้องถิ่น ทั้งที่เป็นสื่อที่ครอบคลุมทั่วทั้งจังหวัด และแต่ละจังหวัดก็มีหลายสถานี
 
อย่างไรก็ตาม สื่อวิทยุเป็นสื่อดั้งเดิมอีกประเภทหนึ่งที่หลายคนปรามาสว่า อาจจะล้มหายตายจากไปจากคลื่นความถี่ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์การสื่อสาร ซึ่งเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่จะกระทบต่อสื่อวิทยุท้องถิ่นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงที่สำคัญคือ การอยู่รอดในเชิงธุรกิจและความคุ้มค่าของงบประมาณที่ใช้ภาษีของประชาชนมาอุดหนุนสื่อวิทยุของหน่วยงานรัฐ ส่วนทางอ้อมคือ พฤติกรรมการเปิดรับสื่อที่เปลี่ยนแปลงของประชาชน ที่ต้องยอมรับว่าจำนวนผู้ฟังมีน้อยลงจากเมื่อก่อนมาก และจำกัดอยู่เฉพาะในบางช่วงวัยเท่านั้น
 .
หากมีการปฏิรูปคลื่นความถี่ตามแผนแม่บทของ กสทช.ก็ยังไม่รู้หน้าตาของภูมิทัศน์สื่อวิทยุจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร หรือจะถูกเรียกคืนคลื่นความถี่มากน้อยเพียงใด
 .
นี่เป็นข้อสังเกตจากประสบการณ์และความคิดเห็นของผู้เขียนที่ประสงค์จะสะท้อนให้เห็นถึง “สิ่งที่เห็น” และ “เป็นไป” ของสื่อท้องถิ่นภาคใต้ ที่เกี่ยวพันกับบริบทเก่าและใหม่ที่ต่างก็ส่งผลต่อหน้าที่และจิตวิญญาณของสื่อท้องถิ่นโดยภาพรวม จึงกล่าวไม่ผิดนักว่า...
 
เวลานี้สื่อท้องถิ่นกำลังอยู่ในภาวะของการยืนนิ่ง และหันซ้ายขวาหน้าหลังมองทางเลือกมากมาย ที่อาจจะไม่คุ้นเคยในการขยับปรับตัว มีบ้างที่พอปรับตัวได้ แต่ก็ยังปรับตัวด้วยฐานของชุดความรู้และประสบการณ์เดิมที่อาจจะต้องเติมและเปิดรับชุดความรู้ใหม่ให้มากขึ้น
 .
.

.
อ่านเรื่องเกี่ยวเนื่อง
 .
- “สิ่งที่เห็น” และ “เป็นไป” ของสื่อท้องถิ่นภาคใต้ กับข้อเสนอเพื่อการพัฒนาด้วยแนวคิดการเล่าเรื่องข้ามสื่อ (2)
.
- “สื่อสารมวลชน” ในสมรภูมิ “อัลกอริธึม”?!
 



กำลังโหลดความคิดเห็น