นครศรีธรรมราช - วิทยา แก้วภราดัย อดีต สปท.ซึ่งเป็นคู่กรณีเปิดโปงการซื้อขายตำแหน่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งข้อสังเกตมติ ครม.ขยายความคำว่า “อาวุโส” ในการดำรงตำแหน่งเสียใหม่แบบ “ศรีธนญชัย” ระบุว่า จะเป็นการเอื้อต่อการวิ่งเต้น และซื้อขายตำแหน่งครั้งใหญ่ส่งท้ายก่อนการปฏิรูปตำรวจ
วันนี้ (5 ส.ค.) นายวิทยา แก้วภราดัย อดีตสมาชิก สปท.ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีหมิ่นประมาทสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในกรณีเปิดโปงการซื้อขายตำแหน่งข้าราชการตำรวจ ล่าสุด นายวิทยา แก้วภราดัย ได้ตรวจสอบการเตรียมการแต่งตั้งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจครั้งใหม่อีกครั้ง ในขณะที่การปฏิรูปตำรวจซึ่งถูกระบุในรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี แต่จนปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า หลังจากคณะกรรมการปฏิรูป ชุดที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานคณะกรรมการได้เสนอต่อ ครม.แต่ไม่ผ่านมติ ครม. ซึ่งปัจจุบันเป็นคณะของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ กำลังดำเนินการ
นายวิทยา ได้ตั้งข้อสังเกตประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง หลักเกณฑ์การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามหลักอาวุโส อ้างมติ ครม.ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดย นายวิทยา เรียกประกาศฉบับนี้ว่าเป็นประกาศฉบับ “ศรีธนญชัย” เนื่องจากมีการขยายความคำว่าอาวุโสเสียใหม่ ที่มีการสอดไส้ และเมื่อมีการประกาศใช้และขอกล่าวหาไว้ว่าจะเป็นการเอื้อต่อการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งครั้งใหญ่ทิ้งทวนส่งท้ายการปฏิรูปตำรวจ และยังบอกด้วยว่า พร้อมที่จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอีกสักคดี
นายวิทยา แก้วภราดัย เปิดเผยว่า ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจรอบถัดไปจะไม่สามารถใช้หลักเกณฑ์ปกติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ จะต้องอาศัยหลักอาวุโสอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องน่าประหลาดมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี อ้างมติ ครม.ไปขยายความคำว่าอาวุโสแบบศรีธนญชัย ตั้งใจเลี่ยงรัฐธรรมนูญและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ประกาศสำนักนายกฉบับนี้ไปกำหนดว่า ใครที่เป็นรองผู้บังคับการ หรือรองผู้บัญชาการ เพียง 1 ปี ถือว่าเป็นผู้อาวุโส สรุปคือ คนที่เป็นรองผู้บัญชาการ หรือรองผู้บังคับการ ที่ครองตำแหน่ง 1 ปี จะมีอาวุโสตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นวิธีการที่ผมเรียกว่า “ศรีธนญชัย”
“อาวุโส” เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า การครองตำแหน่งก่อนคนอื่นนั้นถือว่ามีอาวุโส แต่นี่คือคนปีเดียวมีอาวุโสเท่ากับคน 7 ปี สุดท้ายที่ต้องจับตามองคือนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งเป็นประธานในการร่างรัฐธรรมนูญ ต้องไปดูว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 260 วรรค 3 เรื่องของการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งมีสภาพบังคับห้ามโยกย้ายอย่างอื่นนอกจากตามลำดับอาวุโส ได้ถูกทำลายลงแล้วโดยประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้” นายวิทยา กล่าว