ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จัดประชุมวิชาการประจำปีคณะแพทย์ ครั้งที่ 34 เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ทางด้านการแพทย์ พร้อมมอบรางวัลแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ “เพชรน้ำดี แห่งโรงพยาบาลเทพา” ประจำปี 2561
วันนี้ (1 ส.ค.) ที่ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและหอสมุด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ผศ.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการประจำปี คณะแพทยศาสตร์ ครั้งที่ 34 ภายใต้หัวข้อ “SMART MEDICINE in Thailand 4.0” ระหว่างวันที่ 1-3 สิงหาคม 2561 เพื่อมุ่งเน้นให้คณาจารย์ บุคลากรทางการแพทย์ นักศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ และศิษย์เก่าได้มีโอกาสทบทวนแนวทางการดำเนินการ พัฒนาองค์ความรู้ ติดตามความก้าวหน้า ให้เตรียมรับต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากสภาพสังคม เทคโนโลยี ระบาดวิทยาของโรคที่เปลี่ยนไป ตลอดจนนโยบายระบบสุขภาพของประเทศ และมีมุมมอง แนวคิดใหม่ๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่เป็นเลิศต่อไป และยั่งยืน
โดยการประชุมวิชาการประจำปีคณะแพทย์ในครั้งนี้ ได้มีการมอบรางวัลแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ให้แก่แพทย์ผู้ที่ไม่ได้เพียบพร้อมด้วยต้นทุนทางชีวิต แต่เพียบพร้อมในความพยายาม ความรู้ ความตั้งใจ และความมุ่งมั่นที่จะทำทุกอย่างที่คิดว่าดี เป็นประโยชน์ต่อคนรอบข้าง ซึ่งในปีนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ ประจำปี 2561 ได้แก่ พญ.พรทิพย์ เพชรมณี “เพชรน้ำดี แห่งโรงพยาบาลเทพา” โดยทาง รศ.นพ.พุฒิศักดิ์ พุทธวิบูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ได้มอบโล่เชิดชูเกียรติ และ นพ.วิเศษ สิรินทรโสภณ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ร่วมมอบช่อดอกไม้เพื่อแสดงความยินดี
พญ.พรทิพย์ เพชรมณี แพทย์ตัวอย่างภาคใต้ ประจำปี 2561 กล่าวว่า ตอนเรียนตั้งใจตั้งว่าจะทำงานในชนบท และอยากอยู่ใกล้บ้าน เหตุผลน่าจะเป็นเพราะเติบโตมาในสังคมชนบทมาตั้งแต่เด็ก และคิดว่าด้วยวิถีชีวิตของตนเองไม่น่าเหมาะกับสังคมเมือง
สำหรับบทบาทการทำงานในแต่ละวัน มีทั้งการทำหน้าที่เป็นแพทย์ทั่วไปที่ทำการตรวจรักษา ส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟูผู้ป่วยตามปกติ แต่รับผิดชอบเพิ่มเติมด้านการดูแลหญิงตั้งครรภ์ และแพทย์ทางเลือก (ฝังเข็ม) แต่ไม่เคยรู้สึกว่าเหนื่อยในการทำหน้าที่เป็นแพทย์ หรือการตรวจคนไข้ เมื่อเห็นคนไข้ หรือชาวบ้านดีขึ้น กลับมายิ้มได้ ทำงานใช้ชีวิตต่อได้ ก็รู้สึกดีใจ แม้บางครั้งโรคไม่ได้หายไป แต่ผู้ป่วยสามารถอยู่กับโรคได้อย่างปกติสุขก็ดีใจเช่นกัน
โดยสภาพผู้ป่วยในพื้นที่ ด้วย อ.เทพา เป็นอำเภอชายแดนของ จ.สงขลา ที่จัดอยู่ในพื้นที่สีแดง เป็นสังคมเกษตรกรรมที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ที่มีความเป็นอยู่เรียบง่าย แบบสังคมชนบททั่วไป มีประชากรประมาณ 70,000 คน จำนวนผู้ป่วยนอกประมาณ 30,000 คนต่อปี ตรวจ 90,000-100,000 ครั้งต่อปี เฉลี่ยวันละประมาณ 300-400 คนต่อวัน เป็นผู้ป่วยในประมาณ 4,000-6,000 คนต่อปี การตรวจรักษาคนไข้ทั่วไปอาจยากในเรื่องการวินิจฉัย การรักษา การทำให้คนไข้ และญาติเข้าใจเรื่องภาวะที่เกิด และการรักษา ส่วนใหญ่ในโรงพยาบาลชุมชน ความยาก คือ การเข้าถึงผู้ป่วยเพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพแบบที่ดีต่อคุณภาพชีวิตด้วย
ส่วนการดูแลหญิงตั้งครรภ์ ยากเพิ่มขึ้นตรงที่ต้องดูทั้งแม่และลูก บวกกับการดูเด็กในท้อง ซึ่งไม่ได้เห็นแบบชัดเจนอยู่ตรงหน้า รวมถึงการเข้าถึงญาติของหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะกรณีที่ท้อง และมีความเสี่ยงสูงๆ เพราะต้องรองรับกับความคาดหวังของผู้ป่วย และญาติด้วย
สำหรับงานแพทย์ทางเลือกฝังเข็มนั้น อาจไม่ยากนัก เพราะได้ทำความตกลงกับผู้ป่วยตั้งแต่ต้นๆ ว่าให้ลองดูว่าจะได้ผลหรือไม่ ทั้งหมดทั้งมวลในการดูแลผู้ป่วยสิ่งที่ได้ คือ ความสุขที่เห็นผู้ป่วยมีความสุข ไม่ว่าเขาจะหายป่วยหรือไม่ก็ตาม
สิ่งที่ทำให้เราทุ่มเทกับการทำงานได้มากขนาดนี้ได้ อาจเป็นเพราะรู้สึกว่าได้ทำในสิ่งที่รัก ไม่ใช่ทำงาน บวกกับมีเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมวิชาชีพ รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องมีความกระตือรือร้นในการทำงาน เพื่อปรับปรุง และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น ทีมดีมีชัยไปกว่าครึ่ง และทำงานง่ายขึ้นมาก แรงผลักดันในการทำงาน คือ “รอยยิ้มของคนไข้” บวกกับการคิดว่าตลอด 15 ปีที่ผ่านมา เป็นการใช้กำไรชีวิตเท่านั้น เพราะต้นทุนชีวิตหมดไปตั้งแต่ป่วยหนักเมื่อ 15 ปีก่อนแล้ว ดังนั้น กำไรนี้ขอใช้ให้เต็มที่