xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 6 อาการ “จิตผิดปกติ” โทร.1669 เรียกแพทย์ฉุกเฉินส่ง รพ.ได้ทันที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมสุขภาพจิต ลงนามร่วม สพฉ.จัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยทางจิต อารมณ์ และพฤติกรรมรุนแรง ทั้งก้าวร้าว อาละวาด หลงผิด หวาดระแวง ให้ได้รับการบำบัดฟื้นฟูโดยด่วน ครอบคลุมทุกสิทธิการรักษา ผ่านสายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป 

วันนี้ (1 ส.ค.) ในงานประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 17 ประจำปี 2561 น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ร่วมกับ ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ลงนามความร่วมมือเรื่องการจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินด้านสุขภาพจิตและการพัฒนาเครือข่ายงานป้องกันและการรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพจิต โดยมีข้อตกลงดำเนินการ 4 มาตรการ ได้แก่ 1.พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินสุขภาพจิต 2.วางมาตรฐานการแพทย์ฉุกเฉิน พัฒนาหลักเกณฑ์จำแนกกลุ่มอาการผิดปกติทางจิต เกณฑ์และวิธีการในการออกปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตในระยะวิกฤติฉุกเฉิน 3.พัฒนาศักยภาพและขึ้นทะเบียนบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินทุกระดับในโรงพยาบาลสังกัดภาครัฐทั่วประเทศทุกแห่ง รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ฉุกเฉินด้านสุขภาพจิต อาทิ มูลนิธิ องค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ สามารถดำเนินการได้ตามมาตรฐาน และ 4. ร่วมกันจัดทำแผนและดำเนินการขับเคลื่อนเครือข่ายงานด้านการป้องกันและการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพจิต  

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพจิตถือเป็นภาวะวิกฤติอย่างหนึ่งของผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตใจที่แสดงออกมาทางอารมณ์และพฤติกรรมที่รุนแรงและเป็นอันตรายทั้งต่อตนเอง ทรัพย์สิน และสังคมรอบข้าง จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีเช่นเดียวกับผู้ที่มีอาการวิกฤติทางกาย ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551 เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ มีทัศนคติที่ดีต่อผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งสามารถรักษาให้หายหรือทุเลาและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับครอบครัวและสังคมได้ ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตและสังคมให้มีความปลอดภัย โดยในปี 2560 มีผู้ป่วยทางจิตในระยะฉุกเฉินได้รับการนำส่งรักษา 16,697 ครั้งเพิ่มจากปี 2551 ที่มี 11,266 ครั้ง

“ความร่วมมือกันในครั้งนี้ จะดำเนินการจัดการช่วยเหลือ นำผู้ที่มีอาการผิดปกติทางจิตในระยะฉุกเฉิน รักษาในสถานพยาบาลจนพ้นภาวะฉุกเฉินอย่างมีมาตรฐาน หรือได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง และสามารถใช้หลักประกันสุขภาพได้ทุกสิทธิการรักษาได้เช่นกัน เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการแพทย์ฉุกเฉินของไทยที่มีมาตรฐาน ครอบคลุมทั้งผู้ป่วยวิกฤตทางกายและใจ นำมาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย ญาติหรือผู้ดูแล รวมทั้งคนในชุมชนและสังคมด้วย จะเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 เป็นต้นไป" น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวและว่า อาการและพฤติกรรมที่เข้าข่ายเป็นผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที มี 6 ลักษณะ ได้แก่ 1.หูแว่ว 2.เห็นภาพหลอน 3.หวาดระแวงไร้เหตุผล 4.ก้าวร้าว อาละวาด 5.หลงผิดคิดว่าตัวเองมีความสามารถเหนือคนอื่นเช่นเป็นเทพเจ้า เทพเทวดา เป็นต้น และ 6.แต่งกายแปลกกว่าคนปกติและมีพฤติกรรมที่มีแนวโน้มจะเป็นอันตรายต่อตัวเองหรือคนอื่นได้แก่พยายามจะฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเองหรือคนอื่น หากประชาชนพบเห็นผู้ที่มีอาการที่กล่าวมาอย่างใดอย่างหนึ่ง สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อนำตัวเข้ารักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน


กำลังโหลดความคิดเห็น