ปัตตานี - ชาวประมงใน จ.ปัตตานี กว่า 700 คน รวมตัวถือป้ายยื่นหนังสือถึง “นายกฯ ประยุทธ์” จี้คำขาดแก้ปัญหาเรื่องทำการประมงภายใน 7 วัน ขู่หากยังเพิกเฉยจะหยุดเดินเรือทั้งประเทศ
วันนี้ (1 ส.ค.) นายชิต ศรีกล่ำ รองนายกสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยเจ้าของเรือประมง แพปลา พ่อค้าแม่ค้าปลา และผู้ประกอบธุรกิจประมง รวมถึงแรงงานชาวประมงใน จ.ปัตตานี กว่า 700 คน รวมตัวกันถือป้ายชุมนุม “ชาวประมงจังหวัดปัตตานีขอคัดค้านการที่รัฐบาลไทยจะไปให้สัตยาบันรับอนุสัญญา C188” ที่ลานพระรูป หน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านทาง นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมง และขอคำตอบภายใน 7 วัน หากไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหา ชาวประมงทั่วประเทศจะพร้อมใจกันจอดเรือหยุดทำการประมงเพื่อประท้วงรัฐบาล และจะดำเนินการยื่นถวายฎีกาต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป
นายชิต ศรีกล่ำ รองนายกสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ขอ 7 วันให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหา ซึ่งรัฐก็รู้แล้ว ณ วันนี้เราเดือดร้อนมาก กฎหมายที่ออกมาแต่ละฉบับเราทำได้บ้างไม่ได้บ้าง บางครั้งออกเรือไปแล้วกลับมาก็มีปัญหา ทุกอย่างมีปัญหาตลอด ยิ่งทุกวันนี้เรือออกไม่ได้ แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปจ่าย เรื่องหนักที่สุด คือ C188 ถ้าออกเรือ ลูกน้อง 4 คน เรือต้องมีห้องน้ำ และห้องนอน ถามว่ากฎหมายนี้มันคนละประเภท เพราะเราเรือไม้ กฎหมายแบบนี้เรารับไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขภายใน 7 วัน ชาวประมงทั้งหมดทั่วประเทศจะหยุดเรือทันที และจะมีการล่ารายชื่อให้ได้ทั่วประเทศ 2 แสนรายชื่อ และคาดว่าน่าจะแก้ปัญหาช่วยชาวประมงได้
สำหรับข้อเรียกร้องของชาวประมงที่จะให้ดำเนินการแก้ไข ซึ่งมีมติเป็นเอกฉันท์ของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย โดยผู้แทนสมาคมประมงจากทั่วประเทศเข้าร่วมการประชุม มีข้อเรียกร้องที่ขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ดังนี้
1.การขาดแคลนแรงงาน ขอให้ใช้ ม.83 พ.ร.ก.ประมง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เป็นการช่วยให้ภาคการประมงประกอบอาชีพ และดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยขอให้เปิดให้คนต่างด้าวที่อยู่ในราชอาณาจักรไทยอย่างผิดกฎหมาย และเปิดโอกาสให้บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนทำบัตรซีบุ๊กได้ เพื่อทำงานในเรือประมง ซึ่งมีความต้องการแรงงาน จำนวน 50,000 คน และให้มาตรการเปิดใช้ตลอดระยะเวลา 2 ปี
2.การซื้อเรือคืน ขอให้หน่วยงานของรัฐเร่งดำเนินการเรื่องการซื้อเรือคืนโดยเร็วที่สุด
3.กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่องปัญหาของกฎ และระเบียบต่างๆ ของกรมสวัสดิการ ที่ออกมาบังคับใช้กับผู้ประกอบการเรือประมงในช่วงระยะหลัง ไม่สอดคล้องต่อการประกอบอาชีพ ทำให้เกิดปัญหา ตลอดจนกฎต่างๆ ที่ออกมาเกินข้อกำหนดของอนุสัญญาต่างๆ
4.กรมเจ้าท่า ขอให้เร่งรัดการแก้ไข ปรับปรุงกฎข้อบังคับการตรวจเรือที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นไปหลายเดือนแล้ว
5.กรมประมง ขอให้แก้ไขปัญหากฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ของกรมประมงที่เป็นปัญหาต่อการปฏิบัติของชาวประมงในหลายๆ ฉบับ
6.PIPO ขอให้แก้ไขปัญหาในการแจ้งเข้า-ออก เนื่องจากแต่ละหน่วย และเจ้าหน้าที่แต่ละศูนย์ปฏิบัติไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน แม้จะมีการร่วมกันจัดทำคู่มือแนวการปฏิบัติแล้วก็ตาม
และ 7.VMS ปัญหาค่าบริการรายเดือนของอุปกรณ์ VMS ที่ชาวประมงต้องรับภาระในช่วงที่เรือจอด
ขณะเดียวกัน สมาชิกชาวประมงทั่วประเทศมีมติคัดค้านการที่รัฐบาลจะไปให้สัตยาบัน เพื่อรับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 (C188) โดยสมาคมประมงทั่วประเทศทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล จะมีหนังสือคัดค้าน โดยนายกสมาคมประมงทั่วประเทศทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล จะยื่นในวันที่ 1 สิงหาคม 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร ในเวลา 10.00 น. และสมาชิกชาวประมงทั่วประเทศมีมติให้ยกร่างกฎหมายประมงฉบับชาวประมง และสมาคมประมงปัตตานี เชิญชวนชาวประมง และผู้เกี่ยวข้องใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนรวมกันไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ