ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กรมสุขภาพจิต ลงพื้นที่ จ.สงขลา มอบ “รถเข็นนั่งมาตรฐานองค์การอนามัยโลก” เดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มความสุขให้คนพิการ
วันนี้ (26 ก.ค.) ที่อาคารศรีเกียรติพัฒน์ ภายในองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมด้วย นายดลเดช พัฒนรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นางสุนันท์ ศรีวิรัตน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา เลขาธิการแพทยสภา ที่ปรึกษาแพทยสภา และนายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ร่วมมอบอุปกรณ์การแพทย์พระราชทานในพระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ ให้แก่คนพิการใน จ.สงขลา จำนวน 173 รายการ ประกอบด้วย รถเข็นนั่ง 76 คัน อุปกรณ์การแพทย์อีก 97 รายการ เช่น เครื่องช่วยพยุงเดินสำหรับเด็กพิการทางสมอง และคนพิการทางการเคลื่อนไหว เช่น แขนขาอ่อนแรง เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต อุปกรณ์ฝึกยืน เพื่อส่งเสริมให้ผู้พิการมีสุขภาวะที่ดี ทั้งกาย ใจ สังคม และเศรษฐกิจ สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมช่วยลดภาระผู้ดูแล ซึ่งอุปกรณ์การแพทย์ทั้งหมดได้รับบริจาคมาจากองค์กรการกุศลของต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมน มูลค่ารวมกว่า 2.4 ล้านบาท
นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า คนพิการที่ได้รับรถเข็นในครั้งนี้ อยู่ในพื้นที่ 9 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ อ.เมือง รัตภูมิ สิงหนคร จะนะ กระแสสินธุ์ เทพา สะบ้าย้อย หาดใหญ่ และ อ.สะเดา ทั้งหมด 68 คน ประกอบด้วย เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี จำนวน 24 คน ส่วนใหญ่พิการจากโรคสมองพิการ ซึ่งทำให้การเจริญเติบโต และการทำงานของอวัยวะบกพร่อง หรือผิดปกติ เช่น ขาลีบ แขนขาเกร็ง ส่วนที่เหลือเป็นผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่มีอาการเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตที่เกิดจากโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก โดยมีทีมอาสาสมัครทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศที่มีความรู้ทักษะความชำนาญในด้านการจัดทำรถเข็นนั่งคนพิการโดยเฉพาะ ดำเนินการตรวจประเมินสภาพความพิการเป็นรายบุคคล และดัดแปลงแก้ไขรถเข็นนั่งให้มีขนาดพอดี เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก เพื่อให้ใช้ได้อย่างสะดวกสบาย มีความปลอดภัยที่สุด มีเบาะรองนั่งช่วยลดแรงกดของน้ำหนักตัว ลดความเสี่ยงเกิดแผลกดทับที่มักจะเกิดที่บริเวณปุ่มกระดูกสะโพก กระดูกก้นกบ ซึ่งทีมอาสาจะฝึกสอนด้านการใช้งานให้ทั้งผู้ใช้ และผู้ดูแล โดยเฉพาะการเคลื่อนผ่านพื้นที่ที่เป็นอุปสรรค เช่น พื้นที่ที่มีหลุมขรุขระ พื้นที่ลาดชัน เป็นต้น
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยทั่วไปกลุ่มคนที่มีความพิการจะมีความสุขน้อยกว่าประชาชนทั่วไป เนื่องจากมีความยากลำบากในการดูแลสุขภาพ ความบกพร่องที่เกิดจากความผิดปกติ ความพิการ การดูแลตัวเองในชีวิตประจำวัน ส่งผลต่อสภาพจิตที่ลดลง
ทั้งนี้ ผลการสำรวจความสุขครั้งล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา กลุ่มประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ซึ่งมีค่าคะแนนเต็ม 45 คะแนน พบว่า ในผู้ที่มีความพิการมีค่าคะแนนความสุขเฉลี่ยอยู่ที่ 31.58 คะแนน คนทั่วไปที่ไม่พิการเฉลี่ย 34.06 คะแนน โดยผู้พิการมีค่าคะแนนความสุขอยู่ในระดับต่ำ คือ ต่ำกว่า 24 คะแนน มากถึงร้อยละ 21.6 ขณะที่คนไม่พิการมีเพียงร้อยละ 9.4 และมีค่าคะแนนความสุขอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าคนทั่วไป พบเพียงร้อยละ 29 ขณะที่กลุ่มไม่พิการพบมากถึงร้อยละ 43 จึงมั่นใจว่า หากผู้พิการได้รับความช่วยเหลือในด้านอุปกรณ์เครื่องช่วยต่างๆ ในการตอบสนอง และส่งเสริมความสามารถในการดำเนินชีวิตได้มากขึ้น จะช่วยสร้างความสุขให้แก่ผู้พิการได้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิต โดยสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์เชี่ยวชาญพัฒนาการเด็ก การดูแลเด็กพิการทางสมอง หรือมีปัญหาพัฒนาการล่าช้า ได้มอบอุปกรณ์ช่วยเด็ก และผู้ใหญ่ที่พิการทางการเคลื่อนไหวทั่วประเทศมาต่อเนื่องกว่า 10 ปี โดยได้มอบไปแล้ว 23,000 คน ซึ่งจากการติดตามผล พบว่า ผู้พิการร้อยละ 98 มีความพึงพอใจในระดับมาก ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก ในส่วนของญาติที่ดูแล พบว่า สามารถช่วยแบ่งเบาภาระได้มากถึงร้อยละ 98 โดยในเดือนหน้า (สิงหาคม 2561) จะมีการมอบอุปกรณ์ที่ จ.นราธิวาส พร้อมทั้งมีบริการซ่อมแซมรถเข็นนั่ง และอุปกรณ์ช่วยพิการที่ชำรุดอีกด้วย