xs
xsm
sm
md
lg

สสส.พร้อมผู้เชี่ยวชาญด้านการรณรงค์ ระดมสมองเตรียมชงเข้าเวทีโลกปลายปี 2561

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สนง.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วย นักวิชาการ นักรณรงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันการบาดเจ็บ และเครือข่ายป้องกันอุบัติเหตุทางถนน เตรียมชงเข้าเวทีโลกปลายปี 2561

ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวต้อนรับคณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก นักวิชาการด้านการบาดเจ็บจากการชนบนถนน ด้านเด็กจมน้ำ ด้านความรุนแรงในเด็กและสตรี ด้านการล้มของผู้สูงวัย ที่เดินทางมาร่วมประชุมกันเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ ทั้งยังกล่าวถึงการสานต่องานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) มาเชื่อมไว้เมื่อหลายปีก่อน พร้อมสนับสนุนงานด้านความปลอดภัยทางถนน อาทิ การติดตั้งกล้อง CCTV ใน 4 พื้นที่หลักของ จ.สงขลา อย่างไรก็ตาม นายก อบจ.จังหวัดสงขลา ยังกังวลกับปัญหาการชนบนถนน เพราะสาเหตุจากความเร็ว และความไร้วินัยจราจรของคนไทย
 

 
นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธาน คนที่ 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานเปิดการจัดประชุม Campaign, Advocacy for Safety 2018 หรือการจัดประชุมรณรงค์หนุนการประชุมนานาชาติ เรียกว่าการประชุมระดับโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ และส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13 (Safety 2018-The 13th World Conference no Injury Prevention and Safety Promotion) โดยระบุความสำคัญของการประชุมว่า คนเดือดร้อนคือคนไทยทุกคนที่ต้องลุกขึ้นมาช่วยกันทำงาน กรณีการชนบนถนนผลสำรวจใหม่ขององค์การอนามัยโลกประเทศไทย น่าจะขึ้นอันดับหนึ่งของโลก ตายวันละ 60 คน หากเราไม่ทำอะไรเลยจะมีความสูญเสียมากกว่านี้

นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือแห่งองค์การอนามัยโลก ด้านความปลอดภัยทางถนน และประธานแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) กล่าวถึงที่มาของการที่ประเทศไทย รับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับโลกครั้งนี้ว่า จากการประชุม Safety 2016 จากประเทศฟินแลนด์ ไทยได้รับข้อเสนอเป็นเจ้าภาพการจัดงาน ครั้งที่ 13 นี้ ที่ประเทศไทย โดยในทวีปเอเชียเคยมีประเทศที่เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเพียงประเทศเดียว คือ ประเทศอินเดีย เมื่อ 20 ปีที่แล้ว
 

 
ส่วนสาเหตุที่ต้องมีการจัดประชุมระดับโลกขึ้นทุก 2 ปี เพราะตามรายงานขององค์การอนามัยโลกระบุชัดว่า ทุกวันนี้มีคนเสียชีวิตจากความรุนแรง 5 ล้านคน จากการชนบนถนนถึง 1.5 ล้านคน องค์การอนามัยโลกต้องการลดการสูญเสียให้น้อยลง การลดความรุนแรงในเด็ก สตรี ยังเป็นเป้าหมายของโลกกำหนดไว้เป็นเป้าหมาย SDGs หรือ Sustainable Development Goals จนรัฐบาลทั่วโลกขานรับเป็นนโยบายที่ต้องทำการแก้ไข ซึ่งผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก อย่าง ศ.ดร.แอดนาน ไฮเดอร์ (Prof.Dr.Adnan Hyder) ยังกล่าวว่า เป็นเรื่องรับไม่ได้เด็ดขาดสำหรับเรื่องการชนบนถนนที่มีคนตาย 1.5 ล้านคน เพราะหลายประเทศหลายคนยังมีความเชื่อผิดๆ คือเห็นว่าการแก้ไขปัญหาการชนเป็นเรื่องฟุ่มเฟือย เชื่อผิดๆ ว่าแก้ปัญหาช้าๆ ก็ได้ คิดแต่เพียงว่าใช้การรณรงค์ปลุกจิตสำนึกเพียงพอแล้ว ใช้กฎหมายแก้ไขที่ปลายเหตุ อีกทั้งมีความรู้เหลือเฟือแต่ไม่เคยนำความรู้มาใช้แก้ปัญหา ผู้บริหารยอมรับว่าเป็นปัญหา ประกาศนโยบายแต่ไม่ลงมือทำอย่างจริงจัง ไม่ให้งบประมาณไปสนับสนุน เช่น ไม่มีเงินซื้อกล้อง ในความเป็นจริงแล้วเท่ากับละเลยสิทธิมนุษยชน มีพื้นที่ตัวอย่างการทำงานดีๆ มากมาย (good practice) แต่ไม่ขยายผล มีกฎหมายแต่ไม่ได้ใช้ ผู้มีความเสี่ยงอย่างคนยากจน คนขี่จักรยาน หรือจักรยานยนต์ คนเดินเท้าถูกละเลย เป็นต้น

สวีเดนมี Vision Zero หรือทำให้ความตายเป็นศูนย์ แม้จะมีคนตายบนถนนต่ำที่สุดในโลกอยู่แล้วก็ตาม แต่ยังต้องการให้คนตายเหลือ 0 สิ่งที่ต้องทำคือต้องเปลี่ยนทัศนคติ ต้องมีความเชื่อมั่นว่าการชนป้องกันได้ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องเคราะห์กรรม เป็นทัศนคติพื้นฐานของทุกคน เหตุที่เกิดขึ้นเป็นความบกพร่องโดยรวมของระบบ ไม่ใช่ของคนเพียงอย่างเดียว ชุมชนสังคมทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ปัญหา ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกยังบอกด้วยว่า ต้องมีองค์กรนำทุกเรื่องของภัยต่างๆ เอาเทคโนโลยีมาเสริม ความรุนแรงก็ทำกับผู้หญิงเด็ก ข้อเสนอต้องทำเร็ว ทำพร้อมกัน เรื่องเด็กต้องทำแต่ต้น โดยเร็ว ไม่อย่างนั้นจะถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทำให้ทันเวลา (Acting in time) ทำพร้อมกัน (Acting together) ทำแบบสหสาขาวิชาชีพ และให้ความสำคัญกับสื่อมวลชนเป็นอย่างมากในการสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นในสังคม เป็นคนสำคัญในการขจัดปัดเป่าเรื่องความเชื่อโชคชะตา ทำให้เกิดปฏิบัติการอย่างกว้างขวาง เช่น การผลักให้เกิดกฎหมายใหม่ ให้คนทำไม่ถูกต้องโดนสังคมติเตียน ทำให้รัฐบาลเห็นปัญหา สร้างความตระหนักเพิ่มขึ้น เมืองไทยหากใส่หมวกฯ ไม่เมา ไม่เร็ว คนไทยจะรอดตายถึง 15,000 คนต่อปี
 

 
ด้าน นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร รองประธานคณะกรรมการด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ แจงรายละเอียดการผลักประเด็นปัญหาการบาดเจ็บของภาคเหนือ จากผู้เชี่ยวชาญเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนไปสู่สาธารณะ และส่งต่อเวทีประชุม Safety 2018 ที่จะมีขึ้นครั้งนี้ว่า การประชุมมีมานานมากเพราะทุกประเทศเป็นห่วง กังวลถึงปัญหาอันตรายจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อ เช่น การล้มของผู้ใหญ่ เด็กจมน้ำ ความรุนแรง การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน การบาดเจ็บจากการทำงาน และกีฬา เป็นต้น โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 1989 ที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน 1993 ที่แอตแลนตา สหรัฐอเมริกา 1996 ที่เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย 1998 ที่อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ 2000 กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย 2002 กรุงมอนทรีออล ประเทศแคนาดา 2006 กรุงเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ 2008 เมริดา ประเทศเม็กซิโก 2010 กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ 2012 กรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ ปี 2016 เมืองเทมเปเร ประเทศฟินแลนด์ ถือเป็นครั้งแรกที่คณะกรรมการจัดงานได้มอบให้ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพ และเป็นประเทศแรกที่มีปัญหาด้านความปลอดภัยมากกว่าทุกประเทศที่เคยจัดมา

ภายในงานจะมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการจากหลายๆ เรื่อง มีผู้เชี่ยวชาญมาจากทั่วโลก ที่สำคัญคือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนิน และเป็นองค์ประธานเปิดงาน การประชุมครั้งนี้มีผลงานทางวิชาการส่งมาจากทั่วโลก และผ่านการคัดเลือก 1,300 เรื่อง ในบรรดาผลงานมีเรื่อง การล้มของผู้สูงอายุมากที่สุด ผลงานวิชาการจากสหรัฐอเมริกากว่า 500 เรื่อง ประเทศจีน 158 ประเทศไทย 150
 

 
ในบรรดาภัยทั่วโลกที่มีสถิติรายงาน พบว่า เรื่องของความรุนแรงเป็นภัยอันดับ 1 ของโลกมากกว่า 1.6 ล้านคน อันดับ 2 คือ รถชนกันตาย 1.5 ล้านคน คนตายเพราะล้มเสียชีวิต 646,000 เคสต่อปี 360,000 เป็นการจมน้ำเสียชีวิต ส่วนมากอายุน้อยกว่า 25 ปี ภัยจากการถูกทำร้าย ขณะภัยต่างในประเทศไทย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2555-2559) อุบัติเหตุทางถนนทำให้เสียชีวิตสูงที่สุด รองลงมาเป็นการพลัดตกหกล้ม การทำร้ายตัวเอง การถูกทำร้าย การตกน้ำจมน้ำ สัมผัสกับแรงเชิงวัตถุสิ่งของ สัมผัสกระแสไฟฟ้า รังสี สัมผัสความร้อนควันไฟเปลวไฟ สัมผัสพิษจากสัตว์หรือพืช ฯลฯ ตามลำดับ ในส่วนของภาคเหนือ เราจะเห็นตัวเลขที่น่าสนใจอย่างการล้มของผู้สูงอายุใน จ.เชียงใหม่ มีถึง 80% อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นมีเรื่องของสะโพกหัก จนถึงการเสียชีวิต การจัดที่ประเทศไทยต้องการสร้างกระแสไปสู่ “Thailand Safety Society”

การประชุมระดับโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ และส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13 (Safety 2018-The 13th World Conference no Injury Prevention and Safety Promotion) จะจัดให้มีขึ้นในระหว่างวันที่ 5-7 พฤศจิกายน 2561 ณ ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ผู้สนใจสามารถติดตามดู และสมัครเข้าร่วมการประชุมได้ทาง www.worldsafety2018.org
 


กำลังโหลดความคิดเห็น