xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.ศร.ชล.ร่วมภูเก็ต กำหนดมาตรการคุมเรือท่องเที่ยว ย้ำต้องไม่มีเหตุเกิดอีก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผอ.ศร.ชล. ร่วมจังหวัดภูเก็ต หน่วยงานเกี่ยวข้อง กำหนดแนวทางการควบคุมเรือท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ย้ำจะต้องไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นอีก

เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (24 ก.ค.) ห้องประชุมศูนย์ควบคุมเรือเข้าออก อ่าวฉลอง จังหวัดภูเก็ต พล.ร.อ.พิเชฐ ตานะเศรษฐ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ผอ.ศร.ชล.) เป็นประธานการประชุมการกำหนดแนวทางการควบคุมเรือท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศร.ชล.เขต 3 จังหวัดภูเก็ต การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ตำรวจท่องเที่ยว องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และหน่วยปฏิบัติการหลักใน ศร.ชล.เขต 3 ได้แก่ กองบังคับการ 8 กองบังคับการตำรวจน้ำ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต หน่วยสืบสวนปราบปรามภูเก็ต กรมศุลกากร สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 (ภูเก็ต) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเขต 3 (กระบี่) กรมประมง

สำหรับการประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมเพื่อบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน ศร.ชล. เข้ามาสนับสนุนในการจัดระเบียบเรือท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวทางทะเลในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และใกล้เคียง หลังเกิดเหตุการณ์เรือล่มในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเสียชีวิตถึง 47 คน นับว่าเป็นการสูญเสียเป็นจำนวนมาก โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยภาครัฐ เอกชน องค์กร มูลนิธิ อาสาสมัครทั้งชาวไทย และต่างชาติได้มีการระดมกำลังเข้าทำการค้นหา และช่วยเหลืออย่างเต็มขีดความสามารถ

อย่างไรก็ตาม จากภารกิจในการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือเป็นบทเรียนที่สำคัญที่จะต้องนำมาวิเคราะห์ถอดบทเรียนเพื่อกำหนดมาตรการการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เกิดขึ้นมาอีก

พล.ร.อ.พิเชฐ ตานะเศรษฐ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ผอ.ศร.ชล.) กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้เพราะต้องการให้เห็นภาพการปฏิบัติร่วมกันที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับมาตรการการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางเรือ ซึ่งโดยอำนาจหน้าที่ของกองทัพเรือเองไม่มีอำนาจหน้า หรือกฎหมายรอบรับที่โดยตรง แต่จากการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ พบว่า มีปัญหาหลายจุด จึงได้มีการรวบรวมปัญหาเหล่านี้มาหารือกันเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เกิดขึ้นอีก

จากการพุดคุย พบว่า ทุกหน่วยงานพร้อมที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหา และหามาตรการป้องกัน รวมทั้งการกำหนดมาตรการป้องกันจากทุกหน่วยงาน ซึ่งสิ่งที่อยากให้มีการดำเนินการให้เสร็จโดยเร็ว คือ การกำหนดท่าเรือขึ้นลงให้ชัดเจน และกำหนดท่าเรือนำร่องในการตรวจสอบเรือ คนเรือ นักท่องเที่ยว อุปกรณ์ความปลอดภัยในเรือ ซึ่งขณะนี้ทราบว่าทางจังหวัดกำลังอยู่ระหว่างการร่างประกาศขอบังคับเกี่ยวกับมาตรการการจัดระเบียบเรือท่องเที่ยวแล้ว

ขณะที่ นายจิรุม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ในส่วนของกรมเจ้าท่าจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดมาตรการแก้ปัญหาช่องว่างของการบังคับใช้กฎหมาย โดยการบูรณาการความร่วมมือกันในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ ซึ่งสิ่งที่ยังต้องปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง คือ ท่าเรือต้องปลอดภัย เรือปลอดภัย และคนเรือต้องได้มาตรฐาน ซึ่งขณะนี้ทางเจ้าท่าได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งทัพเรือภาคที่ 3 ตรวจเรือขนาดบรรทุกผู้โดยสาร 100 คนขึ้นไป ซึ่งมีการตรวจสอบความปลอดภัยของเรือ ของคนขับเรือ รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว จากการตรวจสอบพบว่า มีเรือบางลำที่ใบอนุญาตเรือขาด ทางเจ้าท่าก็สั่งไม่ให้ออกจากฝั่ง เพราะถ้าใบอนุญาตขาดก็แสดงว่าเรือลำดังกล่าวยังไม่ผ่านการตรวจประจำปี

ส่วนเรื่องท่าเรือนั้น อย่างที่ทราบที่ผ่านมามีท่าเรือจำนวนมากที่ใช้เป็นที่ขึ้นลงเรือของเรือท่องเที่ยว แต่หลังจากนี้ เรือท่องเที่ยว หรือเรือโดยสารจะต้องแจ้งเข้าออกเฉพาะท่าเรือที่ทางเจ้าท่ากำหนดเท่านั้น เพราะเรือทุกลำที่แจ้งเข้าออกจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้อง ถ้าไม่ถูกต้องก็จะไม่ให้เรือออก แม้ว่านักท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบบ้างก็ตาม แต่การดำเนินการก็ต้องเป็นไปตามมาตรการการรักษาความปลอดภัยทางทะเล และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยว

ส่วนการเลือกท่าเรือนำร่องร่องในการดำเนินการเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเลือกท่าเทียวเรือใดดำเนินการ สำหรับจังหวัดภูเก็ต คาดว่าจะมีท่าเรือที่ให้เรือเข้าออกได้ประมาณ 25 แห่ง ซึ่งมีทั้งที่องค์กรท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล รวมทั้งท่าเรือเอกชน ซึ่งต่อไปถ้าเลือกท่าเรือนำร่องได้แล้ว ท่าเรืออื่นๆ ก็จะต้องปฏิบัติให้เหมือนกับท่าเรือนำร่อง สิ่งที่จะต้องคำนึงสูงสุด คือ เรื่องของความปลอดภัย และเรือทุกลำจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด



กำลังโหลดความคิดเห็น