xs
xsm
sm
md
lg

“ปราชญ์ปักษ์ใต้” อธิบายเสียงบ่นช่วย 13 หมูป่าแบบ “เปลืองงบแผ่นดิน” พร้อมแนะสอนลูกหลานเผชิญเหตุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ (ภาพจากสกุลไทยออนไลน์)
 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “ประมวล เพ็งจันทร์” ปราชญ์ปักษ์ใต้ให้คำอธิบายกรณีมีเสียงบ่นทุ่มกู้ภัยและกู้ชีวิต 13 หมูป่าแบบ “เปลืองงบแผ่นดิน” ได้กระจ่างชัด แถมแนะให้สอนลูกหลานมีหัวใจที่รู้สึกดีที่จะมีชีวิตและพร้อมเผชิญเหตุการณ์ต่างๆ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ( 11 ก.ค.) ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “ประกายพฤกษ์ จิตกาธาน” ได้โพสต์ข้อความโดยตั้งหัวข้อว่า “ทัศนะนักปราชญ์ อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ น่ารับฟังมากครับ” จากนั้นตามด้วยประเด็นสำคัญที่จะนำไปสู่เนื้อหาว่า “#คำอธิบายต่อเสียงบ่นว่าหมูป่าเปลืองงบแผ่นดิน” แล้วจังเป็นเนื้อหาของเรื่องราวดังนี้


“อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ เล่าว่า นั่งแท็กซี่แล้วคนขับบ่นถึงกรณีหมูป่าว่า ทำให้เสียงบประมาณประเทศชาติ อาจารย์จึงแลกเปลี่ยนกับแท็กซี่ว่า ถ้าลองเราตั้งงบสักหนึ่งพันล้านบาท เพื่อทำโครงการประชาสัมพันธ์ความดีงามด้านต่างๆ ของประเทศไทย แล้วให้สื่อต่างๆ ทั่วโลกช่วยเผยแพร่ข่าวนี้ตลอดทั้งวัน ทุกวันต่อเนื่อง งบสักหมื่นล้านคงไม่เพียงพอที่จะทำให้ทั่วโลกสนใจหันมามอง และได้เห็นว่าในสถานการณ์ยากลำบาก คนไทยมีความสามัคคี มีความดีงามในด้านต่างๆ ขนาดไหน...
 
“ฝรั่งมีอาการตื่น..ตื่นขึ้นมาจากการเห็นแม่ครัวยืนทำกับข้าวเลี้ยงคนต่อเนื่อง สำหรับบ้านเราการออกโรงทานในงานบุญถือเป็นเรื่องธรรมดามาก ที่จะยืนผัดเส้นหมี่เป็นวันๆ เพื่อเลี้ยงผู้คน ในธรรมดาของพวกเราสามารถทำให้พวกฝรั่งตื่นรู้ขึ้นมา เป็นความธรรมดาที่ดีงาม...
 
“เมืองไทยและคนไทยยังมีสิ่งที่ดีงามอีกมากมาย ในมิติทางด้านจิตใจและวิถีชีวิตของเรา เป็นความธรรมดาที่พวกเราเคยชิน แต่เมื่อมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นปรากฏขึ้น ความธรรมดาเหล่านี้และความร่วมแรงร่วมใจกันของทุกฝ่าย สะเทือนไปในระดับโลก ดังนั้นเสียงบประมาณเพียงเท่านี้ เพื่อช่วยเหลือน้องน้องออกมา จึงนับว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม...
 
“อาจารย์กล่าวถึงชาวนาที่ยอมให้น้ำท่วมเข้าไร่นาของตน ความรู้สึกที่ว่า “เราเสียหาย แต่เราไม่โกรธ และเราพร้อมแบกรับ” นี้เป็นความหมายที่ยิ่งใหญ่งดงามที่ชาวไทยและทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกัน...
 
“สำหรับน้องน้องหมูป่า 13 คนอาจารย์บอกว่า ให้นึกภาพถ้าเป็นผู้ใหญ่หรือเป็นเด็กในเมืองไปติดถ้ำ คงแย่ เพราะคนแก่คิดมาก กลัวนั่นกลัวนี่ ถ้ำจึงหมายถึงความหวาดกลัว แต่สำหรับหมูป่า ถ้ำในใจ หมายถึงความรับผิดชอบ ความเป็นเพื่อน การให้กำลังใจซึ่งกันและกัน สิ่งนี้ทำให้เกิดพลัง พลังนี้ยืนยันว่าตลอด 9 วันที่ยังไม่มีคนไปพบน้องๆ เกิดความหมายอะไรในใจขึ้นน้องๆ ที่น้องๆ ได้เรียนรู้จากเรื่องนี้...
 
ดังนั้นหากพ่อแม่จะสอนลูกหลาน ควรจะสอนให้ลูกมีหัวใจที่รู้สึกดีที่จะมีชีวิต รู้สึกดีที่จะเผชิญเหตุการณ์ต่างๆ ให้ลูกรู้ว่าเราไม่สามารถจัดการโลกข้างนอกให้เป็นไปตามใจปรารถนา แต่เราสามารถทำใจให้เผชิญความเป็นจริงได้...
 
“ปีนี้ฟุตบอลโลกไม่รู้ว่าใครจะเป็นแชมป์ แต่อาจารย์กล่าวว่า ทีมหมูป่าอะคาเดมีคือแชมป์ตัวจริง ที่อยู่ในใจของชาวโลกแน่นอน” ก่อนจะปิดท้ายการโพสต์ว่า “จากงานบรรยายที่โรงเรียนรุ่งอรุณ โดย อจ.ประมวล เพ็งจันทร์”
 
ตัวอย่างหนังสือที่เป็นผลงานด้ารการเขียนของ ดร.ประมวล เพ็งจันทร์
 
สำหรับ ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ เป็นชาวเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เคยเป็นเด็กรับจ้างกรีดยางที่เรียนจบเพียงชั้น ป.4 ต่อมาจึงได้ตัดสินใจบวชเณรเพื่อหลีกหนีภาวะความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเดือน ต.ค.2514 ต่อมาเดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศอินเดีย จนจบปริญญาเอก สาขาปรัชญาจากมหาวิทยาลัยไมซอ หลังจากนั้นจึงกลับมารับราชการเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ต่อมาจึงลาออกจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และเริ่มต้นวันคล้ายวันเกิดปีที่ 51 เพื่อออกเดินเท้าจากเชียงใหม่กลับสู่บ้านเกิดที่เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี
 
การเดินทางในครั้งนั้นสำเร็จลงด้วยดี และประสบความสำเร็จในเชิงรูปธรรมอย่างยิ่งกับหนังสือ และเป็นที่มาของหนังสือ “เดินสู่อิสรภาพ” ที่ได้รับการตอบรับจากผู้อ่านอย่างกว้างขวาง และเป็นนัยะว่าสังคมไทยยังคงต้องการคำตอบในอิสรภาพและการค้นหาความหมายของชีวิต นอกจากนี้แล้วผลงานด้านการเขียนของ ดร.ประมวลยังประกอบด้วย อาทิ
- อินเดีย ความจริง ชีวิต ความงาม,
- ก้าวผ่านความรุนแรง
- เดินสู่อิสรภาพ
- ประมวลความรัก
- เราจะเดินไปไหนกัน
- อินเดีย จาริกด้านใน 1 การศึกษาที่งดงาม
- เรียนรู้และเปลี่ยนแปลง
- อินเดีย จาริกด้านใน 2 คารวะภารตรคุรุเทพ
- อินเดีย จาริกด้านใน 3 ทบทวนชีวิต พินิจตน
- การเดินทางสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้
 
ปัจจุบัน ดร.ประมวลใช้ชีวิตที่เรียบง่ายอยู่ที่บ้านเกิด พร้อมๆ กับเดินทางสายบรรยายและร่วมเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเป็นต่างๆ ตามแต่โอกาสอำนวย ผลงานล่าสุดคือ การรับเป็นบรรณาธิการให้กับการจัดทำหนังสือ “ภควัทคีตา : พระเจ้าสนทนากับอรชุน” หนังสือชื่อก้องโลกของ ปรมหังสา โยคานันทะ ที่ ราม นาถ โกวินท์ ประธานาธิบดีอินเดียเป็นประธานเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ฉบับพิมพ์ภาษาไทยครั้งแรกแปลโดย ผศ.สดใส ขันติวรพงศ์ ศิลปินนักแปลชาวสงขลา ถอดโศลกอักษรสันสกฤตโดย เส้ง ใคลคลาย ศิลปินครูภาษีบาลี-สันสกฤตชาวสงขลา ดำเนินงานโดย จัน ชัยธาวุฒิ 
 



กำลังโหลดความคิดเห็น