xs
xsm
sm
md
lg

เด็กติดถ้ำไม่ใช่เด็กซน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ


มีคนเขียนถึงข้อเตือนใจที่ให้อนุสติทั้งแง่ดีและแง่ลบจากกรณีเด็กนักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมีเข้าไปติดในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนจำนวนมาก ในจำนวนนั้นมีทั้งที่ผมเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

โดยเฉพาะข้อความที่แพร่หลายมากจนเป็นลูกโซ่ในโซเชียลมีเดียว่า

“อย่าลืมนะว่าเด็กทั้ง 13 คน คือเด็กซนที่เข้าไปฉลองวันเกิดกันในถ้ำ แล้วออกมาไม่ได้ พวกเขาไม่ใช่ฮีโร่ที่ควรยกย่อง ไม่ใช่เด็กที่ควรเอาเป็นแบบอย่าง คนที่ควรได้รับการยกย่องเชิดชู ได้รับรางวัล ได้รับกำลังใจคือเจ้าหน้าที่ทุกคน ที่สละเวลา สละชีวิต และชาวบ้านที่สละผืนนาให้น้ำที่ระบายออกจากถ้ำท่วมนาของตัวเอง คนพวกนี้ต่างหากที่ควรได้รับรางวัลตอบแทน ส่วนทีมหมูป่าทั้ง 13 คน พ่อแม่ควรอบรมสั่งสอนว่าอย่าเล่นอะไรแบบนี้อีก เพราะถ้าพลาดขึ้นมาคนอื่นเขาเดือดร้อน อย่าไปให้ท้ายเด็ก เพราะถ้าเด็กกลุ่มนี้ได้รับคำชม ได้รับรางวัล ทั้งเที่ยวฟรี ดูบอลฟรีตลอดชีวิต รองเท้าและของสมนาคุณต่างๆ จากดารา สโมสรฟุตบอลดึงตัวเข้าไปเล่นในทีมด้วยอีก สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เด็กได้ใจ เด็กจะไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำคือสิ่งที่ผิด ที่ทำให้ทุกคนต้องเดือดร้อน ต้องอดหลับอดนอนกันขนาดไหน ถ้าเด็กไม่ได้รับบทเรียนตรงนี้ อีกไม่นานเราก็จะได้ยินข่าวเด็กติดถ้ำอีกแน่นอน ครั้งนี้รอดมาได้เพราะเจ้าหน้าที่ทุกคนช่วยกันสุดความสามารถ ดีใจที่ได้เจอคนที่ไม่เคยรู้จัก ครั้งหน้าอย่าเข้าไปอีกนะ คนอื่นเขาไม่สนุกด้วยนะลูก ให้จำไว้เป็นบทเรียน”

แน่นอนครับเด็กไม่ใช่ฮีโร่ ทุกคนที่เข้าไปช่วยเหลือต่างหากที่เป็นฮีโร่ แต่ประเด็นสำคัญมันเกิดขึ้นตรงการปักหมุดด้วยน้ำเสียงว่า เด็กเป็นเด็กซนและประพฤติตนจนก่อให้เกิดความเดือดร้อนกันไปทั้งประเทศ แต่ถามว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ เด็กวันนี้อาจจะคึกคะนองตามวัยของเขา แต่ไม่ใช่เอากรณีเข้าไปติดในถ้ำแล้วบอกว่าเขาเป็นเด็กซนที่ไม่ควรเอาเป็นแบบอย่าง

ทั้งนี้เพราะผมไม่เห็นว่า พวกเขามีเจตนาจะกระทำผิดและก่อให้เกิดความเดือดร้อนเลย การชวนกันไปเที่ยวถ้ำซึ่งเป็นสถานที่ธรรมชาติท้องถิ่นของเขานั้นน่าจะเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำไป ไม่ใช่เรื่องเสียหายตรงไหน เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องที่เอาไปตีความว่าเป็นเด็กซนได้เลย เราควรสนับสนุนให้เยาวชนได้เรียนรู้ธรรมชาติของท้องถิ่นตัวเองด้วยซ้ำไป และเท่าที่ทราบกันเด็กเคยไปเที่ยวที่ถ้ำนี้มาแล้วหลายครั้งคุ้นเคยกับถ้ำดี เด็กจึงเป็นตัวอย่างที่ควรเป็นแบบอย่างในเรื่องนี้

เพียงแต่ครั้งนี้เด็กโชคร้ายเพราะอยู่ๆ ก็เกิดภัยธรรมชาติที่ไม่คาดฝันขึ้น เกิดฝนตกหนักและน้ำไหลเข้าถ้ำอย่างรวดเร็วจนเด็กต้องเอาชีวิตรอด ตอนแรกที่มีข่าวมีคนบอกว่ามีคำเตือนไว้หน้าถ้ำแล้ว แต่ปรากฏในเวลาต่อมาว่า คำเตือนนั้นเป็นคำเตือนที่เริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม เด็กจึงเป็นผู้ประสบภัยธรรมชาติไม่ใช่เป็นเด็กที่ฝ่าฝืนกฎหาความเดือดร้อนมาใส่ตัวเอง

สิ่งสำคัญที่ควรเรียนรู้จากเด็กก็คือ ในสภาพแบบนั้นหลอมรวมจิตใจกันอย่างไรให้เข้มแข็งอดทนเพื่อจะเอาชีวิตรอด ส่วนการที่บางคนบอกว่าจะให้รางวัลเด็กถ้ารอดออกมานั้นในสายตาของผมมองว่า เป็นเพียงการเยียวยาจิตใจของเขาที่ได้รับความกระทบกระเทือนซึ่งในสภาพแบบนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อจิตใจในระยะยาวของเขาได้ ดังนั้นไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรในฐานะที่พวกเขาเป็นผู้ประสบภัยและเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐด้วยซ้ำไปที่จะต้องเข้ามาดูแล

การประสบภัยของเด็กครั้งนี้ยังได้เห็นถึงน้ำใจของคนไทยทุกคน น้ำใจของชาวโลกที่หลั่งไหลกันมาช่วยเหลือ น่าจะเป็นบทเรียนที่สอนให้กับคนในสังคมทุกสังคมว่า การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในภาวะวิกฤตนั้นเป็นสิ่งสวยงามของความเป็นมนุษย์ และต้องให้เด็กเหล่านั้นรับรู้ว่า ทุกคนทุ่มเทเสียสละเพื่อช่วยเหลือพวกเขาออกมาอย่างไร

แต่ผมขำมากเมื่อสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ The Nation โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กทำนองว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องสะท้อนถึงความเป็นชาติไทยที่เข้มแข็งแต่เป็นเรื่องของมนุษยชาติไม่ใช่ประเทศชาติ ในท่วงทำนองว่า อย่าเอามาชื่นชมความเป็นไทยเพราะภูมิปัญญาไทยตื้นเขิน เทคนิคและเทคโนโลยีของไทยยังต่ำที่รอดมาได้เพราะต้องพึ่งพาต่างชาติ รวมทั้งหน่วยซีลพระเอกของงานนี้ก็เป็นเทคนิคที่ฝึกมาจากอเมริกา เป็นปัญญาชนการศึกษาสูง ไม่ควรผลิตงานโฆษณาชวนเชื่อราคาถูกกากๆ อะไรแบบนี้ มันดูเป็นการหมิ่นน้ำใจเพื่อนร่วมโลกที่เขาอุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลมาช่วย

ความเห็นนี้ต้องการตอบโต้อาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่โพสต์ข้อความทำนองว่า เราต้องภูมิใจในความเป็นไทยที่คนไทยทุกคนทุกวงการที่ร่วมแรงร่วมใจเพื่อช่วยเหลือเด็กที่ติดในถ้ำ แล้วบอกว่านี่เป็นภาพสะท้อนของสถาบันชาติที่เข้มแข็ง

ซึ่งอาจารย์เอนกต้องการเพียงสะท้อนความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวและจิตใจที่ดีงามของสังคมไทยในภาวะที่เราเชื่อกันว่าคนไทยกำลังแตกความสามัคคีจากความขัดแย้งทางการเมือง แต่อ่านยังไงก็ไม่สามารถตีความหมายได้เลยว่าอาจารย์เอนกไปหมิ่นน้ำใจเพื่อนร่วมโลกที่มาช่วยเหลือเลย

น่าสงสัยว่าสุภลักษณ์ภูมิใจในวิชาชีพของตัวเองไหมเพราะอาชีพสื่อที่ทำอยู่นั้นเป็นวิวัฒนาการมาจากต่างประเทศแถมใช้ภาษาอังกฤษในการประกอบอาชีพด้วย

ยังมีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งตั้งคำถามกับทหารที่เข้าไปช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีในวันแรกๆ ว่า ทำไมต้องใช้ทหาร ทำไมเราไม่มีหน่วยงานกู้ภัยแบบต่างชาติที่เป็นพลเรือน จนกระทั่งพาลไปว่าเพราะงบประมาณต่างๆ ถูกโอนไปให้ทหารหมดและจงใจจะทำให้ทหารเป็นฮีโร่

ถามว่ามันใช่เหรอ แน่นอนครับเรายังไม่มีหน่วยงานกู้ภัยของชาติ แต่ทันทีที่ทหารเข้าไปช่วยกลับบอกว่า ต้องการเป็นฮีโร่และเอางบไปให้ทหารหมด เพื่อเอาเงินไปซื้อเรือดำน้ำ ซื้อรถถัง ผมว่าต่อให้เรามีหน่วยกู้ภัยการเข้าไปช่วยของทหารหน่วยซีลก็ยังมีความจำเป็น และไม่ว่าหน่วยไหนที่มีศักยภาพก็ต้องระดมกันมาช่วยทั้งนั้น

แต่เมื่อผ่านครั้งนี้ไปเราก็มาทบทวนสิว่าเราจะต้องมีหน่วยงานกู้ภัยแบบนี้ที่มีความพร้อมในการฝึกคนเข้าไปกู้ภัยในทุกสภาวะหรือไม่ แต่มันใช่เหรอที่ต้องออกมา “แซะทหาร” โดยไม่แยกแยะในห้วงเวลานี้

เหตุการณ์ครั้งนี้สำหรับผมแล้วเป็นเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงด้านดีของสังคมไทยมากมาย เห็นถึงน้ำใจของเพื่อนร่วมโลก และเห็นด้านของพวกที่ชังชาติโดยไม่แยกแยะกาลเทศะ

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น