คอลัมน์ : ชุมคน-ชุมชน-คนใต้
โดย : รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา
รูปธรรมในระดับชุมชน/พื้นที่ ที่ยืนยันว่าประชาชนไม่ได้โง่ แต่ถึงพร้อมในการเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านสร้าง “สังคม(ไทย)ใหม่” ที่น่าสนใจที่ชุมชนบ้านใต้ในภาคใต้ (ชื่อสมมติและต่อไปจะเรียกประชาชนว่าชาวบ้าน) ที่มีพลวัตการเปลี่ยนแปลงเชื่อมโยงภายในชุมชนและระดับที่สูงขึ้นไปในหลายมิติ ทั้ง (1) การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและตำแหน่งแห่งที่ (2) การเปลี่ยนแปลงในการจัดตั้งทางสังคมทั้งการเมืองในสถาบัน การเมืองนอกสถาบัน (3) การเปลี่ยนแปลงในระบบการเมืองวัฒนธรรมและโครงสร้างความรู้สึก และ (4) ความเปลี่ยนแปลงการเมือง “ของ” ชาวบ้านและชุมชน ซึ่งจะช่วยให้เห็นความเชื่อมโยงและการก้าวข้ามความโง่ เพื่อมุ่งสู่การวางแผน การสร้าง/รังสรรค์สังคม(ไทย)ใหม่ ที่ยอมรับการอยู่ร่วมกันอย่างเคารพ มีความเสมอภาค เท่าเทียมและเป็นธรรมมากขึ้นในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและตำแหน่งแห่งที่
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของชุมชน เกิดขึ้นจากนโยบายและการส่งเสริมการผลิตเพื่อการค้า นับแต่การเริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกเป็นต้นมา และการขยายตัวของรัฐเข้ามาในปริมณฑลชุมชน เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลการดำรงชีวิตทางเศรษฐกิจของชาวบ้าน การที่ชาวบ้านตอบรับนโยบายรัฐส่วนกลางด้วยการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง รูปแบบและระบบการผลิต จากการผลิตเพื่อยังชีพ เป็นการผลิตเพื่อการค้าตามนโยบายรัฐส่วนกลาง ด้วยการหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจยางพารา จากการส่งเสริม สนับสนุนของกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางมาอย่างต่อเนื่อง เพราะถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ทำให้ชาวบ้านมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม สามารถยกระดับ พัฒนาตัวเองให้สามารถเชื่อมต่อกับผู้คนได้กว้างมากขึ้นเรื่อยๆ
ในช่วง 10 ปีมานี้ ชาวบ้านได้สร้างช่องทางเศรษฐกิจที่หลายหลายขึ้น ทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคการเกษตร มีอาชีพที่เรียกว่าเป็นธุรกิจระดับชุมชน-ท้องถิ่นเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นร้านอินเทอร์เน็ต ปั๊มน้ำมันปิโตรเลียม ร้านขายยาแผนปัจจุบัน ร้านเสริมสวยและนวดแผนไทย ร้านขายของชำ รีสอร์ท วัสดุภัณฑ์ เบเกอรี่ขายปลีกขายส่ง อาหารและเครื่องดื่มกาแฟสด มันทอด อาหารตามสั่ง จำหน่ายวัสดุรับเหมาก่อสร้าง ล้างอัดฉีด เคมีภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการเกษตร สปอตคอมเพลกซ์ ก่อสร้างและสร้างบ้านขาย ซ่อมและจำหน่ายคอมพิวเตอร์ และการบริการธุรกิจแต่งงานแบบครบวงจร (Wedding Service) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีกิจการขายของชำเกิดขึ้นใหม่หลายร้าน แต่เป็นที่สังเกตว่าร้านเหล่านี้ไม่ได้เป็นโชห่วยในความหมายเดิมอีกต่อไป หากเป็นร้านสะดวกซื้อที่มีระบบบริหารจัดการที่เป็นระบบขึ้น เช่น การคุมสต็อก ตรวจสอบยอดขาย จากบริการเสริมของบริษัทตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภค หรือการจัดหาสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองต้องการของชาวบ้านในชีวิตประจำวันได้อย่างครบวงจร ชนิดที่ผู้ประกอบการท่านหนึ่งบอกว่า “เทียบเท่าเซเว่น โลตัส” เหตุเพราะสามารถให้บริการได้ตั้งแต่สิ่งอุปโภค บริโภคในชีวิตประจำวัน เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ทางการเกษตร ไปกระทั่งคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ เป็นต้น
การที่ระบบเศรษฐกิจของชุมชนผูกโยงเข้ากับระบบตลาดและการผลิตนอกภาคเกษตร ทำให้ชาวบ้านมีทางเลือกการดำรงชีวิตที่หลากหลาย ส่งผลสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งแห่งที่และระบบโครงสร้างความรู้สึกนึกคิด ที่คิดว่าตัวเองมีตัวตน ตำแหน่งแห่งที่ที่ทัดเทียมกับคนอื่น หรือคนเมืองมากขึ้น แม้จะยังคงสถานภาพของการเป็น “คนตัดยาง”
จึงไม่แปลกที่ชาวบ้านส่วนหนึ่งได้กลายเป็น “นักเดินทางยุคใหม่” ที่สามารถเดินทางข้ามผ่าน ตัดข้ามพื้นที่จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้โดยไม่ขัดเขินหรือรู้สึกแปลกแยกอีกต่อไป จึงไม่แปลกที่ชาวบ้านบอกว่า “สามารถเดินทางไปเลือกซื้อของเข้าร้านสวัสดิการที่เทสโกโลตัสในทันทีทันใด โดยไม่ต้องเตรียมตัวแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่”
ในอีกด้านของการเปลี่ยนแปลง ชาวบ้านก็ได้พยายามรักษาความ “ความเป็นชุมชน” ไว้ผ่านการสร้างงานพัฒนากลุ่ม ชมรม องค์กรทางสังคม กลไกทั้งในและนอกสถาบันขึ้นมารองรับ/สนับสนุนการเคลื่อนเปลี่ยน และใช้เป็นเครื่องมือดึงดูดทรัพยากรจากภายนอกให้เข้ามาหล่อเลี้ยงความสัมพันธ์ และทำให้กลุ่ม ชมรม และองค์กรเหล่านี้กลายเป็นอำนาจใหม่ที่สามารถสานสัมพันธ์กับโครงข่ายของโครงสร้างอำนาจใหม่เชิงสถาบันภายนอก ดึงดูดทรัพยากร ตอบสนองตอบปัญหา ความคาดหวัง ความต้องการที่ไม่ใช่เพียงปัญหาในชีวิตประจำวันและผลประโยชน์ร่วมเท่านั้น หากยังรวมถึงความภาคภูมิใจในตัวตน อัตลักษณ์ รักศักดิ์ศรี มีอำนาจในการเรียกร้อง เปล่งเสียง มากกว่าที่เคยเป็นมา
การเปลี่ยนแปลงการจัดตั้งทางสังคม การเมืองในสถาบัน และการเมืองนอกสถาบัน
เมื่อพิจารณาผ่านการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลยุคแรก ที่การบริหารเป็นลักษณะ “นายสั่งมา” และการแข่งขันการเข้าสู่ตำแหน่งในฐานะฐานอำนาจใหม่ในชุมชน แต่ด้วยความหวังกับบทบาทและหน้าที่ใหม่ขององค์การบริหารส่วนตำบล ทำให้ชาวบ้านเปิดโอกาสให้ “หน้าใหม่” สามารถเบียดแทรกเข้ามาได้บ้าง ทั้งนี้เพราะชาวบ้านส่วนหนึ่งมองว่าองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นเสมือนนวัตกรรมใหม่สำหรับการปกครองท้องถิ่น จากกระแสปฏิรูปการเมืองหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ.2535 ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกี่ยวกับผู้สมัครและผู้ได้รับเลือกตั้ง กล่าวคือ เริ่มมีผู้สมัครหน้าใหม่ที่เป็นลูกหลานของชาวบ้าน แต่มีโอกาสเข้ารับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น หรือผู้ที่ออกไปทำงานนอกบ้านกระทั่งประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และ/หรือการทำให้ชาวบ้านเชื่อว่าจะสามารถนำความรู้ความสามารถประสบการณ์ภายนอกจากการได้เปิดหูเปิดตา/พบเจอโลกที่กว้างออกไปและนำกลับมาปรับประยุกต์พัฒนาชุมชนได้
กระนั้นการก้าวสู่ “ผู้นำ” ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นสัมพันธ์อย่างยิ่งกับการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งแห่งที่ทางเศรษฐกิจ ฐานะทางสังคม และระดับการศึกษาของบุคคล โดยที่ในระยะแรกของการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาในระดับประถมศึกษาต้นเท่านั้น แต่ปัจจุบันก่อนการ “แช่แข็งของรัฐบาล” พบสัดส่วนผู้สำเร็จการศึกษาในระดับสูงขึ้น เช่น สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี มีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย และ/หรือได้รับการยอมรับเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถมากขึ้น
ด้านการเปลี่ยนแปลงการเมืองนอกสถาบัน ที่หมายถึงการก่อตัวของประชาชน ที่มีในชุมชนและบทบาทของกลุ่มที่มีต่อการจัดการแก้ไขปัญหา และการจัดระบบความสัมพันธ์กับองค์การบริหารส่วนตำบล ทั้งในและนอกชุมชน กลุ่มมีอย่างหลากหลายทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ กลุ่มที่จัดตั้งโดยรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน ผสมผสานเข้ากับศักยภาพและความสามารถของบุคคล/ผู้นำ ทำให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาที่ตอบสนองต่อความต้องการสมาชิกและชาวบ้าน
กลุ่มตามธรรมชาติหรือกลุ่มอิสระมีอยู่หลายกลุ่ม เช่น กลุ่มซอแรงงาน ที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มตามประเพณีเพื่อกันทำกิจกรรมต่างๆ ในบ้านอันเกิดจากความสมัครใจ หรือที่เรียกในสำนวนใต้ว่า “การออกปาก กินวาน” ด้านการเกิดกลุ่ม/องค์กรที่จัดตั้งโดยรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนในชุมชนมีอยู่จำนวนมากและหลากหลาย ทั้งในแง่การก่อตัว วัตถุประสงค์ เป้าหมายและการขับเคลื่อนกิจกรรม เช่น กลุ่มเศรษฐกิจและสวัสดิการบ้าน กลุ่มการจัดการระบบสุขภาพ กลุ่มการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันกลุ่มเหล่านี้มีแนวโน้มการทำงานที่ผูกโยงกับองค์การบริหารส่วนตำบล ภายใต้แนวคิดเรื่อง “บ้านใต้โมเดล” และ “ธรรมนูญสุขภาวะชุมชน” นอกจากนี้ยังพบกองทุนใหม่ๆ ที่องค์การบริหารตำบลก่อตั้งขึ้นเพื่อยึดโยงกับชาวบ้าน เช่น กองทุนส่งเสริมอาชีพชุมชนบ้านใต้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบอาชีพให้กับชาวบ้านที่ขาดแคลนเงินทุน และไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้จากกองทุน เป็นต้น
อ่านเรื่องเกี่ยวเนื่อง
- ประชาชนไม่โง่ รัฐและกลไกรัฐต่างหากที่ต้องก้าวให้ข้ามความโง่ (1) / ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์