xs
xsm
sm
md
lg

ประชาชนไม่โง่ รัฐและกลไกรัฐต่างหากที่ต้องก้าวให้ข้ามความโง่ (1) / ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์  :  ชุมคน-ชุมชน-คนใต้
โดย  :  รศ.ดร.ณฐพงศ์  จิตรนิรัตน์  คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา
 
 
แม้หนังสือสั่งการของหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ที่ให้หน่วยงานในพื้นที่ดำเนินภารกิจสำคัญ
 
“ทำอย่างไรให้ประชาชนหายโง่”
 
เพื่อเตรียมความพร้อมประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร และต้อนรับนายกรัฐมนตรี แม้ภายหลังได้ถูกลดทอนให้เป็นเพียงความผิดพลาดทางธุรการและการสื่อสาร และมีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในระยะเวลาต่อมาว่า
 
“ทำอย่างไรให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลง”
 
ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ภาษา ถ้อยคำ ที่เรียบเรียงและสะท้อนออกมานั้น หาได้ปรากฏโดยผิวเผิน เลื่อนลอยแต่อย่างใด หากคือความหมายที่สร้างขึ้น (Meaning) จากโครงสร้างความคิด ความรู้สึก มายาคติ อุดมการณ์ และความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียม ที่ท้ายที่สุดแล้วคือ การกดตรึงประชาชนให้ยอมรับ จำนน ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการปกครองนั้นๆ โดยปราศจากเงื่อนไข
 
เป็นที่รับรู้และใช้เป็นจุดอ้างอิงมาตลอดว่า การพัฒนาประเทศของไทย ซึ่งได้เริ่มต้นอย่างจริงจังภายหลังการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแรกในปี พ.ศ.2504 แนวคิดหลักในการวางแผนพัฒนาในขณะนั้นก็คือ แนวคิดการวางแผนจากส่วนกลาง หรือจากบนลงล่าง (Top Down Planning) โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศไปสู่ “ความทันสมัย” (Modernization) กล่าวได้ว่าการพัฒนาให้ทันสมัยอย่างตะวันตก เป็น “วาทกรรมหลัก” (Dominant Discourse) ที่มีบทบาทครอบงำ และมีอิทธิพลต่อการวางแผนพัฒนาประเทศมาอย่างยาวนาน
 
ภายใต้วาทกรรมการพัฒนาไปสู่ความทันสมัย ในเชิงพื้นที่ ชุมชน ท้องถิ่น จะถูกให้ความหมายเป็นพื้นที่ที่หยุดนิ่ง ล้าหลัง ห่างไกลความเจริญ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาให้ดีขึ้น ผู้คน (ต่อไปจะใช้คำว่าประชาชนตามนัยในหนังสือข้างต้น) ถูกมองว่า โง่เขลา ยากจน ไร้วัฒนธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบ ด้อยโอกาส รายได้ต่ำ ไร้การศึกษา
 
ขาดศักยภาพหรือพลังในตัวเองในการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้นจากภายใน แต่ต้องอาศัยรัฐไปช่วยโอบอุ้มและผลักดันการเปลี่ยนแปลง
 
ภาพของชุมชนท้องถิ่น/ประชาชน จึงเป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ในเขตปริมณฑลที่ห่างไกลความเจริญ ด้อยพัฒนา จึงถือเป็นความชอบธรรมของรัฐในการที่จะเข้าไปควบคุมพื้นที่ เพื่อจัดการเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัย ดังอุปลักษณ์ผ่าน “ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม” อันขมขื่น    
 
นอกจากนี้ประชาชนยังถูกวิเคราะห์ว่า เป็นตัวปัญหา และปัญหาของการพัฒนาอยู่ที่ระดับปัจเจกบุคคล การพัฒนาจึงเน้นบทบาทของผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก (Outsiders) และวิธีการดำเนินงานพัฒนาที่รวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจไว้ที่ส่วนกลาง (Top Down) นักพัฒนา(ของรัฐ) เพียงแต่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้เท่านั้น โดยละเลยศักยภาพความสามารถ และการมีส่วนร่วม ทำให้การพัฒนาไม่สามารถไปตอบสนองและ/หรือสอดคล้องกับความต้องการ ส่งผลให้เกิด “วัฒนธรรมอุปถัมภ์” ที่ต้องพึ่งพิง/ พึ่งพาและ/หรือรอรับการช่วยเหลือจากรัฐผ่านกลไกที่จัดตั้งขึ้นตามสายการบังคับบัญชาในท้องถิ่นนั้นๆ
 
กล่าวในอีกแบบหนึ่ง หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา มักวิเคราะห์โครงสร้างชุมชนและการอยู่ร่วมกันของประชาชนแบบที่เรียกว่า ตกอยู่ใน “โครงสร้างหลวม” และวัฒนธรรมที่เรียกว่า “โง่ จน เจ็บ” ที่หมายถึงการขาดศักยภาพ พลัง ความรู้ ความสามารถในการจดการตนเอง จึงต้องอาศัยพลังการขับเคลื่อน สร้างการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกเท่านั้น
 
ดังสะท้อนผ่านภาษา คำ การกระทำ และนโยบายอันมากมายในรูปแบบการสังคมสงเคราะห์และประชา(ไทย)นิยม มากกว่าการเสริมพลังอำนาจประชาชนในการจัดการตนเอง ในมิติการพัฒนาจากยุคผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม กระทั่งถึงประชาธิปไตยแบบไทยนิยม
 
ถ้าจำกันได้เมื่อหลายปีก่อนในยุคการดำเนินนโยบายทางการเมืองประชานิยมแบบเข้มข้น ได้มีการผลิต/สร้างย้ำการกลับมาของผู้ใหญ่ลี ภายใต้โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ อันโด่งดังผ่านโฆษณา “สร้างทุนทางปัญญา พัฒนาเศรษฐกิจ ให้ชาวนาทำผลิตภัณฑ์” และคำขวัญ (Motto) อันเจ็บปวด “ถ้าไม่ใช้ปัญญา ทุนที่ได้มาก็ไม่เหลือ...ไม่รู้จักคิด ไม่รู้จักใช้ ต้นซุงต้นใหญ่ก็เหลือแค่ไม้จิ้มฟัน สร้างสมปัญญาให้กับตัวเอง ด้วยการอ่านหนังสือ ค้นคว้า ถามผู้รู้ ลงมือทำ และฝึกฝนจนชำนาญ แล้วนำมาคิดใช้อย่างสร้างสรรค์ ทุ่มเทลงมือทำ ด้วยใจ...เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ”
 
หรือโฆษณาตลกร้ายอย่าง “จน เครียด กินเหล้า” ที่ผลักภาระความจนไว้เพียงความสามารถ ศักยภาพของปัจเจกบุคคล โดยไม่ได้พูด เขียน หรือกล่าวถึงปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้าง การทำให้จนโดยรัฐแม้แต่น้อย
 
แม้กระทั่งในยุคประชาธิปไตยแบบไทยนิยม ที่มุ่งสร้างด้วยระบบ กลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาแบบรวมศูนย์อำนาจ การผูกขาดการจัดการด้วยระบบราชการและเครือข่ายเก่าๆ ที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นภายใต้ชื่อ “ไทยนิยมยั่งยืน” ภายใต้กรอบคิดยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการปฏิรูป และที่สำคัญคือ นโยบายประชารัฐ และ ประเทศไทย 4.0  อันเป็นการ “คิดแทน ทำแทน” ประชาชนโดยเกือบจะสิ้นเชิง
 
ทั้งที่ในความเป็นจริงวันนี้ประชาชน ชุมชน สังคมในระดับฐานล่าง ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายมหาศาล ในทางเศรษฐกิจมีการเชื่อมต่อกับระบบตลาดอย่างซับซ้อน หลากหลาย และผนวกกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “ระบบเศรษฐกิจการเมือง” มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ วิธีการผลิต และการประกอบการใหม่ๆ ทั้งในและนอกภาคการเกษตร ใต้ระบบและความสัมพันธ์ทางการผลิตระบบเกษตร/ทรัพยากรในท้องถิ่น และการผลิตนอกภาคเกษตร แต่ทั้งหมดล้วนเชื่อมต่อเข้ากับระบบตลาดทั้งที่ใกล้-ไกลแนบแน่น ลึกซึ้ง และอิงอาศัยกัน (Complementarities) มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
 
ในทางสังคมวัฒนธรรม ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว มีช่องทางการสื่อสารที่สะดวก เข้าถึงง่ายและเปิดกว้าง ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนต่อการรับรู้ ตำแหน่งแห่งที่ โครงสร้างความรู้สึก สำนึก ตัวตน ความเป็นพลเมืองที่เทียมหน้าเทียมตา ที่ไม่เฉพาะเข้าไปมีบทบาทในการตรวจสอบ ควบคุม กำกับ และทำให้พื้นที่การเมืองท้องถิ่นเปิดกว้างสำหรับการต่อรอง เพื่อการจัดการทรัพยากรที่เป็นธรรมเท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาตัวเองเป็นประชาชนผู้รับรู้โลกกว้าง รู้เท่าทัน เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์สังคมที่ไกลออกไปในฐานะ พลเมือง พลโลก ผ่านการสร้างพื้นที่ส่วนร่วมและชีวิตสาธารณะใหม่ๆ
 
ในหลายพื้นที่ประชาชนได้ลุกขึ้นมาจัดการตนเอง ริเริ่มสร้างกระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมที่ส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ชุมชน สังคมที่เสมอภาค เท่าเทียม และเป็นธรรมมากขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การจัดระบบสวัสดิการชุมชน ระบบเศรษฐกิจชุมชน และการประกอบการเกษตรกรรมยั่งยืน การจัดการพลังงานทางเลือก ธรรมนูญชุมชน ฯลฯ
 
สิ่งเหล่านี้จึงเสมอเหมือนการยืนยันถึงการเป็นประชาชนในความหมายใหม่ที่ “ไม่โง่”
 
แต่ถึงพร้อมในการเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านสร้าง “สังคม(ไทย)ใหม่” อย่างไม่ต้องสงสัย
 
การพยายามตอกย้ำ ครอบงำ ด้วยโครงสร้างความคิด ความรู้สึก มายาคติ วาทกรรม อุดมการณ์ครอบงำแบบเดิมของรัฐและกลไกรัฐในระดับต่างๆ ถือเป็น “ความโง่” ที่ทำให้สุ่มเสี่ยงอย่างไพศาลต่อการเผชิญหน้าครั้งใหม่ในอนาคตอันใกล้
 


กำลังโหลดความคิดเห็น