ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เผย “สมพงค์ ศิวิโรจน์” ครูเพลงชื่อดังผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จวงมาลีฮวนน่าสุดทน เตรียมแต่งทนายฟ้องถูกละเมิดลิทธิ์ หลัง “เพลงช้าง” ถูกนำไปเป็นธีมหนังโฆษณาชุด “กอดเมืองไทย” อันโด่งดัง แถมเคยถูกเอเยนซียักษ์ใหญ่ดูแคลนว่าเพลงแบบนี้ใครก็ทำได้ แต่ผ่านไป 7 ปีเรื่องราวกระทบชื่อเสียงก็ยังยากจบ จี้ “ททท.” ในฐานะเจ้าของโปรเจ็ตก์ที่ทุ่มเงินไปนับพันล้านให้ออกมารับผิดชอบ
วันนี้ (13 พ.ค.) ผู้สื่อข่าว “MGR Online ภาคใต้” ได้รับการเปิดเผยจาก นายสมพงค์ ศิวิโรจน์ นักประพันธ์คำร้องและทำนองเพลงชื่อดังชาวปักษ์ใต้ และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของวงดนตรีเพื่อชีวิตชื่อก้องของภาคใต้คือ วงมาลีฮวนน่า ว่าตอนนี้ตนทนไม่ได้แล้วกับเรื่องราวเพลงที่ตนเขียนขึ้นเองและที่ใช้ชื่อว่า “เพลงช้าง” แต่เมื่อนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะกลับถูกกล่าวหาไปละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาเพลงคนอื่น ซึ่งถึงเวลานี้เป็นปัญหาคาราคาซังมาแล้วรวม 7 ปี
“ที่ผ่านมาผมได้หารือกับทีมทนายความไว้แล้วว่า คงต้องหาทางพิสูจน์ให้ชัดเจนเสียที่ว่าลิขสิทธิ์เพลงช้างเป็นของผม โดยมีหลักฐานชัดเจนและอ้างอิงได้ หากจะต้องถึงขั้นมีการดำเนินคดีในชั้นศาลเพื่อพิสูจน์ความจริงก็อาจจะต้องทำ”
นายสมพงค์กล่าวว่า เพลงช้างที่ตนเขียนขึ้นเคยถูกบันทึกเสียงและวางจำหน่ายในรูปแบบของแผ่นซีดีเพลงไปแล้วตั้งแต่เมื่อปี 2552 โดยการผลิตแผ่นซีดีในชุดแรกมีจำนวน 2,000 แผ่น และต่อมาในช่วงประมาณเดือน ม.ค.2553 มีผู้หวังดีที่อยากให้ผลงานเพลงนี้เป็นที่รู้จัก เนื่องจากเนื้อหามีความหมายไปในทางสร้างสรรค์และเรียกร้องเรื่องการอนุรักษ์ช้างไทย จึงได้นำไปลงเผยแพร่ไว้ในยูทูบ (Youtube) ซึ่งตนเองก็ไม่ได้ติดใจแต่อย่างใด ซึ่งนั่นได้กลายเป็นหลักฐานสำคัญในการยืนยันสิทธิ์ความเป็นเจ้าของทางทรัพย์สินทางปัญญาของตนไว้แล้ว
อีกทั้งในช่วงปี 2552 แฟต เรดิโอ (fat redio) ได้เปิดเพลงนี้บ่อยจนทำให้ติดอันดับท็อปไฟว์ แล้วทางแฟตก็เรียกตนให้ไปร่วมแสดงที่งาน fat8 เพลงช้าง อยู่ในอัลบั้ม “มาโนช พุฒตาล บุตรนายเฉลียวและนางอำไพ& สมพงค์ บุตรนายเลื่อนกับนางซุนลิ่น”ต่อมามีนักวิจาร์ณหนังเอาเพลงช้างไปลงยูทูบ ซึ่งก็ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แล้วคนดูประมาณ 5 หมื่นวิวก็มีคนรีพอทว่าเพลงช้างของผมละเมิดลิขสิทธิ์…
นายสมพงค์กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า จากนั้นถัดไปไม่กี่เดือนหรือในราว มิ.ย.2553 ก็มีสปอตโฆษณาของสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ชุด “กอดเมืองไทย” ออกเผยแพร่ต่อสาธารณะทั้งทางทีวีและทางเว็บไซต์ต่างๆ มากมายจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป แต่แล้วอยู่ดีๆ วันหนึ่งเพลงช้างของตนที่มีคนนำไปลงไว้ในยูทูบอยู่ก่อนแล้วก็ได้ถูกระบบเตือนว่า ให้นำเพลงช้างที่ตนแต่งออกจากช่องทูบ โดยอ้างชื่อบริษัทเอเจนซี่โฆษณาแห่งหนึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ผลงานเพลงนี้ ซึ่งฝ่ายนั้นได้มีการแจ้งกับทางยูทูบไว้แล้ว
“การละเมิดลิขสิทธิ์ผลงงานกันครั้งนี้เลยถือว่าสมบูรณ์แบบ เพราะเขาอ้างว่าเป็นลิขสิทธิ์ของเขา ทั้งๆ ที่รู้ดีว่ามันไม่ใช่ ก่อนหน้านี้ช่วง มิ.ย.2553 ทาง มั๊กกี้ เอเจนซี่โฆษณาในเครือลีโอเบอเนทได้ติดต่อผมมา ผมเข้าใจว่าให้ไปทำการแสดงจึงตอบไปว่า ผมไม่ใช่นักร้อง คิดว่าเขาอยากเชิญนักร้องมาลีฮวนน่า” นายสมพงค์กล่าวก่อนจะเสริมว่า
“ในเวลานั้นคนที่ติดต่อมาได้ส่งเพลงโฆษณาชุดกอดเมืองไทยที่กำลังออนอร์มาให้ตนฟังด้วยวันพุธ คือเขาเอาเพลงช้างของผมไปใช้เป็นธีมของการทำงานโฆษณาชุดนี้ จนถ่ายทำเสร็จเรียบร้อย วันพุธติดต่อผมมา พอวันพฤหัสฯ ปฏิเสธ แถมบอกว่าผมโนเนม อ้าว! มึงเอาเพลงกูไปเป็นธีมของงานโฆษณากอดเมืองไทยชุดนี้ ถ่ายทำเสร็จเรียบร้อยแล้วด้วย พอวันศุกร์มันออนแอร์เลย”
นายสมพงค์กล่าวด้วยว่า ตนในฐานะผู้ประพันธ์คำร้องและทำนองเพลงช้าง และในฐานะผู้เสียหายเกี่ยวกับเรื่องนี้มานานนับ ปีแล้ว ตนขอเรียกร้องผ่าน “MGR Online ภาคใต้” ให้ทาง ททท.ได้ออกมาตอบคำถามในประเด็นที่น่าสงสัยเหล่านี้ เพื่อให้สังคมได้รับทราบข้อเท็จจริงโดยเร็ว
สำหรับแคมเปญโฆษณาชุดกอดเมืองไทยของ ททท.ชุดนี้ มีรายงานผ่านสื่อมวลชนทั่วไปในวันที่ 1 ธ.ค.2553 ว่า นายสุรพล เศวตเศรนี อดีตผู้ว่า ททท.ในสมัยนั้นกล่าวถึงที่มาของการจัดแคมเปญ “กอดเมืองไทย..ให้หายเหนื่อย” ว่า เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดที่ต้องการให้การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งที่จะสามารถเยียวยาจิตใจ อารมณ์ความรู้สึกของคนไทย และคงจะไม่มีอะไรเยียวยาเมืองไทยได้ดีที่สุดเท่ากับอ้อมกอดของคนไทยด้วยกันเอง
“ภายใต้แคมเปญ ‘กอดเมืองไทย...ให้หายเหนื่อย’ เมืองไทยยังพร้อมที่จะสร้างความสนุกสนาน ทำให้ทุกคนได้ผ่อนคลาย และเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ มีแหล่งท่องเที่ยวสวยงามรอให้นักท่องเที่ยวได้กลับมาสัมผัสอีกครั้ง” คำกล่าวของอดีตผู้ว่า ททท.ในครั้งนั้น
ทั้งนี้จากการตรวจสอบของ “MGR Online ภาคใต้” พบว่า บริษัทที่รับจ้างทำโฆษณาให้กับ ททท.ในชุดกอดเมืองไทย นอกจากจะมีชื่อของ “Mucky-Muck”ที่เป็นโปรดักชันเฮาส์แล้ว ยังปรากฏชื่อ บริษัท ลีโอ เบอร์เน็ทท์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งนับเป็นเอเยนซี่โฆษณาระดับนำ 1 ใน 5 ของเมืองไทย ซึ่งเป็นบริษัทที่มีประวัติความเป็นมาและผลงานที่น่าสนใจมากมายได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ด้วยว่า ททท.น่าจะทุ่มงบประมาณทำภาพยนตร์โฆษณาชุดกอดเมืองไทยไปรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นงบประมาณมหาศาล โดยเฉพาะเป็นผลงานหนังโฆษณาที่สอดรับกับสถานการณ์บ้านเมืองในเวลานั้น ซึ่งได้เกิดวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองด้วย จึงได้รับการยอมรับจากวงการโฆษณาและสื่อมวลชน รวมทั้งนักการตลาดว่าเป็นแคมเปญณ์โฆษณาที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดชิ้นหนึ่ง แต่กลับมีเพลงของนักประพันธ์ชาว อ.ระโนด จ.สงขลา วางเป็นแบ๊คกราวด์อย่างไม่ให้ความสำคัญใดๆ แถมกลับยังปล่อยให้มีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงมาอย่างต่อเนื่องเสียด้วย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายณรรธราวุธ เมืองสุข สื่อมวลชนและโปรดิวเซอร์รายการสารคดี ผู้ให้เบาะแสนี้กับ “MGR Online ภาคใต้” ได้ให้ความเห็นว่า ชมสปอตโฆษณากอดเมืองไทยครั้งแรกก็รู้สึกดีใจ ดีใจที่ผลงานเพลงของนักประพันธ์เพลงภาคใต้จะได้เป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ เพราะได้ถูกนำไปใช้ในภาพยนตร์โฆษณาที่ประเทศไทยต้องการสร้างขวัญและกำลังใจกลับคืนมา ตนมั่นใจว่านักประพันธ์เพลงผู้นี้สร้างผลงานที่มีคุณภาพมาตลอด โดยอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของมาลีฮวนน่ามานับแต่ช่วงก่อตั้ง
“แต่ผมตกใจและเศร้าใจมากที่เมื่อ 7 ปีผ่านไปถึงได้มารู้ว่า ภาพยนตร์โฆษณากอดเมืองไทยที่โด่งดังชิ้นนี้ กลับได้ละเมิดและไม่ให้เกียรติกับผลงานของครูเพลงบ้านนอก ซึ่งเป็นคนภาคใต้เหมือนอย่างผมได้อย่างไร องค์กรภาครัฐอย่าง ททท.ทำเรื่องนี้ได้อย่างไร ผมไม่เข้าใจเลย นี่เป็นความน่าเศร้าใจสำหรับคนทำงานศิลปะตัวเล็กๆ ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ ในสังคมไทย” นายณรรธราวุธ ทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าว “MGR Online ภาคใต้” รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ล่าสุดในหน้าเฟซบุ๊กมีผู้ใช้ชื่อ Hasachai Boonnuang เข้าไปโพสต์แสดงความคิดเห็นไว้ว่า “ผมนำไปแจ้งผู้ใหญ่ให้ครับ ททท.จ้างคนอื่นทำ แต่บริษัทไม่ไปซื้อมั้งครับ” ซึ่งเป็นสมมุติฐานที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุอาจเป็นเพราะไม่ต้องการเสียเงินเพียงเล็กน้อยซื้อลิขสิทธิ์จากเจ้าของเพลง โดยผู้ที่จะตอบคำถามนี้ได้จึงมีเพียง ททท.เท่านั้น