xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ร้ายจับโจร โปลิศจับตำรวจ! แซด “ปาหี่” ระลอกใหม่ หลัง ปลัด ศธ.เรียกผู้เกี่ยวข้องทุจริต “สุสานหอยทาก” ที่สงขลาให้ข้อมูล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - วิจารณ์แซด ปลัด ศธ.ลงนามหนังสือเรียกผู้เกี่ยวข้องมหากาพย์ทุจริตก่อสร้าง “สุสานหอยทาก” ที่ จ.สงขลา ให้ข้อมูลระลอกใหม่เมื่อ 27 เม.ย. อาจเป็นได้แค่ “มหกรรมปาหี่” ครั้งใหม่ เจาะลึกพบความไม่ชอบมาพากลและการตั้ง กก.สอบแบบพิกลพิการ แถมพัวพันถึง “นริศรา ชวาลตันพิพัฒน์” อดีต รมช.เจ้าของฉายาเจ้าแม่อาชีวะยุครัฐบาลอภิสิทธิ์

จากมหากาพย์ทุจริตการก่อสร้างโครงการ “สุสานหอยทาก” หรือ “อควาเรียมสองทะเล” หรือชื่อทางการคือ “ศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา” ณ วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งสร้างความเสียหายแก่รัฐนับพันล้านบาท และส่งผลให้เกิดความล่าช้ามานับสิบปีนั้น

จากการติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องของ “MGR Online ภาคใต้” พบว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 เม.ย.2561 นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้ลงนามในหนังสือเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทุกด้านไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ การปรับปรุงแบบ การทำสัญญา ผู้ตรวจรับงาน ผู้ควบคุมงานและอื่นๆ มาให้ข้อมูลกับคณะกรรมการแล้ว

แม้นายการุณจะระบุว่า ผู้ที่ถูกเชิญมาให้ข้อมูลยังไม่ถือเป็นผู้มีความผิดหรือผู้ถูกกล่าวหา แต่เป็นการเชิญมาให้ข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณา โดยจะเริ่มให้เข้ามาให้ข้อมูลในสัปดาห์หน้านี้ ส่วนจะสรุปได้เมื่อใดยังไม่สามารถบอกได้ เพราะคณะกรรมการตรวจสอบฯ จะต้องทำให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้เป็นการไปกล่าวหาใคร แต่สื่อมวลชนก็กำลังจับตาใกล้ชิดว่า มีใครบ้างที่เกี่ยวข้องและถูกเชิญไปให้ข้อมูลในครั้งนี้

ไม่เพียงเท่านั้น จากการการออกมาเคลื่อนไหวของปลัดกระทรวงศึกษาฯ ล่าสุดนี้ได้ทำให้สื่อและสังคมตั้งข้อสงสัยขึ้นตามมาด้วยว่า หรือว่าจะเป็นการสร้าง “มหกรรมปาหี่” ในเรื่องของการตรวจสอบขึ้นมาอีกคราครั้ง
 

 
เนื่องเพราะที่ผ่านมาเคยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบแล้วตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งในครั้งนั้นมี น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัฒน์ นั่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลสำนักงานการอาชีวศึกษา (สอศ.) หน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงการผู้สร้างมหากาพย์ทุจริตนี้ โดยได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไว้เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2552 ว่า ผู้ถูกว่าจ้างขอชะลอการก่อสร้างไว้ชั่วคราวเมื่อเดือน เม.ย.2551 โดยให้เหตุผลว่ารูปแบบอาคารยังไม่ชัดเจน จึงขอหยุดเพื่อปรับแบบโครงสร้างอาคารและสัญญาให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้

พร้อมกันนั้นยังได้สั่งการให้ นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในขณะนั้น ไปรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงการปัญหาก่อสร้าง แล้วให้ไปชี้แจงรายละเอียดต่อที่ประชุมคณะกรรมการการก่อสร้างฯ แล้วต่อมาวันที่ 18 ก.พ.2552 น.ส.นริศราได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอีกครั้งว่า ตนได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้แล้ว โดยให้ นายสุรเทพ ตั๊นประเสริฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเป็นประธาน เนื่องจากมีปัญหาข้อโต้แย้งในสัญญา และการดำเนินงานระหว่างผู้รับจ้างกับผู้ว่าจ้าง ทำให้โครงการล่าช้า หยุดชะงักและมีปัญหาทางด้านการใช้จ่ายงบประมาณ

ทั้งนี้ได้ให้อำนาจคณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าในการรวบรวมข้อมูล เอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเชิญหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล รวมทั้งสรุปข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา พร้อมกันนั้นให้มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือการดำเนินการได้ โดยให้จัดทำรายงานการติดตามและตรวจสอบข้อเท็จจริงเสนอมายังตนภายใน 30 วัน

“ในฐานะที่ดิฉันต้องรับผิดชอบโครงการดังกล่าว และต้องเป็นผู้ลงนามในการเบิกจ่ายงบประมาณ จึงต้องตรวจสอบเพื่อให้ทราบถึงปัญหาความล่าช้าที่เกิดขึ้นก่อน เกรงว่าจะมีปัญหาในภายหลัง หากผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า มีข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้อง จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายกับทางราชการ ก็จะนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนทางวินัยต่อไป หรือหากเป็นปัญหาที่แบบก่อสร้าง ก็อาจจะต้องมีการพูดคุยเพื่อปรับปรุง” น.ส.นริศรากล่าวไว้ในครั้งนั้น

และเมื่อวันที่ 18 ก.พ.2552 เช่นกันมีข่าวสะพัดว่า การดำเนินโครงการนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยที่ นายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ นั่งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) โดยใช้งบประมาณ 835 ล้านบาท เป็นงบต่อเนื่องระหว่างปี 2550-2553 มีเนื้อที่ก่อสร้างกว่า 12,000 ตารางเมตร แต่โครงการดังกล่าวได้ถูกผู้ว่าจ้างขอชะลอการก่อสร้างไว้ชั่วคราวเมื่อเดือน เม.ย.2551 เนื่องจากเห็นว่ารูปแบบโครงสร้างอาคารยังไม่ชัดเจน จึงขอหยุดเพื่อปรับแบบโครงสร้างอาคารและสัญญาให้ถูกต้องตามกฎหมายที่กำหนดไว้ กระทั่ง นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ ได้มานั่งเลขาธิการ กอศ. จึงได้นำเรื่องนี้ขึ้นมาตรวจสอบใหม่
 

 
ต่อมาวันที่ 8 พ.ค.2552 น.ส.นริศราให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอีกครั้งว่า คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบฯ ที่มี นายสุรเทพเป็นประธาน ได้สรุปผลการตรวจสอบรายงานให้ทราบแล้ว โดยสรุปสาเหตุที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้ามาจาก 2 ประเด็นคือ ประเด็นแรกคือบริษัทผู้รับเหมาไม่ดำเนินการก่อสร้างตามที่มีการเซ็นสัญญา แต่กลับมีการจ่ายเงินมัดจำไปแล้ว 125 ล้านบาท

จากการตรวจสอบพบว่า มีเพียงการนำดินไปถมพื้นที่ แต่ยังไม่มีการก่อสร้างใดๆ โดยอ้างว่าแบบก่อสร้างไม่ชัดเจน แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้นได้รับการยืนยันว่า แบบการก่อสร้างดำเนินการอย่างถูกต้อง และหากแบบไม่ชัดเจนเหตุใดจึงมีการเซ็นสัญญาและจ่ายเงินมัดจำตั้งแต่แรกดังนั้นขั้นตอนจากนี้ไปจะต้องเร่งรัดให้บริษัทผู้รับเหมาดำเนินการก่อสร้างตามแบบก่อสร้างที่ได้เซ็นสัญญาไว้ พร้อมทั้งเรียกปรับเงินตามระยะเวลาที่ล่าช้า ซึ่งมีระบุไว้แล้วในสัญญา และหากบริษัทผู้รับเหมาไม่สามารถดำเนินการได้ก็ต้องยกเลิกสัญญา

ประเด็นที่สอง ต้องมีการสอบถาม นายเฉลียวในฐานะเลขาธิการ กอศ.ว่า มีเหตุผลอะไรที่ทำหนังสือถึงบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างให้หยุดการก่อสร้างภายหลังเข้าดำรงตำเพียงกว่า 20 วันเท่านั้น ซึ่งจะต้องมีการสอบถามข้อเท็จจริงก่อนว่า มีเหตุผลอย่างไรจึงออกคำสั่งยุติการก่อสร้าง

“ความเสียหายที่เกิดขึ้นคงประเมินไม่ได้ว่าเป็นจำนวนเงินเท่าไร แต่การหยุดการก่อสร้างตั้งแต่ ก.พ.2551 ถือเป็นการบริหารงบประมาณที่ไร้ประสิทธิภาพ เพราะ สอศ.จ่ายเงินมัดจำไปแล้วถึง 125 ล้านบาท แต่กลับไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ทันตามสัญญาในปี 2553” น.ส.นริศรากล่าวและสำทับไว้ตอนนั้นด้วยว่า ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระแสข่าวที่จะมีการโยกย้ายนายเฉลียวไปนั่งปลัด ศธ.ที่เป็นข่าวมาก่อนหน้านั้น

จากนั้นวันที่ 19 ส.ค.2552 น.ส.นริศราให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงความคืบหน้าเรื่องนี้อีกครั้งว่า ได้ส่งเรื่องให้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบแล้ว หลังพบว่าโครงสร้างอาคารผิดแบบ เช่น กำหนดเสาเข็ม 1,000 ต้น แต่ผู้รับเหมาลงเข็มเพียง 800 ต้น เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่ามีการปลอมลายเซ็นในสัญญาต่างๆ โดยทาง สตง.ให้ สอศ.เร่งรัดแก้แบบ รวมทั้งให้ผู้รับเหมาไปดำเนินการตามสัญญา และพบว่าประธานวิศวกรคนเดิมได้ลาออก ดังนั้นจึงให้นายเฉลียวตั้งประธานขึ้นมาใหม่
 
น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัฒน์ อดีต รมช.ศึกษาฯ
 
อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบของ “MGR Online ภาคใต้” พบว่า ต่อมาในวันที่ 12 พ.ย.2553 คณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร และคณะอนุกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณภาคใต้ ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา แต่หลังจากนั้นประเด็นการตรวจสอบต่างๆ ได้เงียบหายไป

มีเพียงความเคลื่อนไหวในด้านของบุคคลที่เดินทางไปยังสถานที่ก่อสร้าง โดยไม่มีการพูดถึงการตรวจสอบปัญหาความล่าช้า ประกอบด้วย วันที่ 6 ส.ค.2555 นายศักดา คงเพชร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการและคณะ โดยในเว็บไซต์ของวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ระบุไว้เพียงว่า เดินทางไปเยี่ยมชมโครงการฯ ต่อมาวันที่ 31 ต.ค.2557 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เดินทางไปตรวจเยี่ยมวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์และโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา

นอกจากนี้แล้วยังพบข้อมูลน่าสนใจว่า ในปี 2558 ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบออกแบบงานโครงสร้างและงานสถาปัตยกรรมหลังคาเปลือกหอย, งานโครงสร้างและงานสถาปัตยกรรมและงานตกแต่งภายใน, งานโครงสร้างและบ่ารับ ACRYLIC ของบ่อปลาใหญ่น้ำทะเลและบ่อปลาใหญ่น้ำจืด และตู้ปลาเล็ก 72 บ่อ, ถอดปริมาณวัสดุงานสถาปัตยกรรม และจัดทำเอกสารและคำนวณปริมาณงานในการเบิกงวดงานของโครงการศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา ได้ลาออกจากการทำงาน โดยพบว่าไปลงประวัติเพื่อหางานใหม่ไว้ในเว็บไซต์จัดหางานแห่งหนึ่ง

ด้าน “ศูนย์ข่าวอิศรา” เปิดเผยเมื่อวันที่ 22 ส.ค.2558 พบว่า มีรายชื่อผู้ที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการทุจริตโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการศึกษาของสำนักงานการอาชีวะศึกษา โครงการไทยเข้มแข็ง (แพ็ค 2) งบประมาณ 5,300 ล้านบาท สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีผู้ถูกกล่าวหา 17 ราย ประกอบด้วย

1.น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รมช.ศึกษาฯ 2. นายสุชาติ ตันเจริญ (อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร รมช.มหาดไทย ส.ส.ฉะเชิงเทรา 8 สมัย รองหัวหน้าพรรคชาติไทย และพรรคไทยรักไทย และแกนนำกลุ่ม 16) 3.นายศุภชัย บัญชาศึก ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาฯ 4.นายสุทธิชัย จันทร์อารักษ์ เลขานุการ รมช.ศึกษาฯ (น.ส.นริศรา), 5.นายรชา ไม่ระบุนามสกุล 6.นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ เลขาธิการ กอศ, 7.นายพันธุ์ศักดิ์ โรจนากาศ ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม 8.นายมังกร หริรักษ์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการอาชีวศึกษา
 
นายสุรเทพ ตั๊นประเสริฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาฯ
9.นายเริงจิตร์ มีลาภสม ผอ.สำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ 10.นายจรัญ พรมเสน ผอ.สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากร 11.นายเจี่ยง วงศ์สวัดิ์สุริยะ ผอ.สำนักนโยบายและแผนการอาชีวศึกษา 12.นายชาญเวช บุญประเดิม ผอ.วิทยาลัยการอาชีพกาญจนาภิเษกหนองจอก 13.นายอุดร เห็นชอบดี ผอ.วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด 14.นายเมธีศิน สมอุ่นจารย์ ผอ.วิทยาลัยเทคนิคหนองคาย 15.นายบำรุง อร่ามเมือง ผอ.วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา 16.นายลิขิต พลเหลา ผอ.วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี และ 17.นายสมหวัง สุขจิตร ผอ.วิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี

โดยพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 17 รายปรากฏดังนี้ นายเฉลียว นายพันธุ์ศักดิ์ นายมังกรและนายเจี่ยง ร่วมกันกำหนดวงเงินงบประมาณให้กับสถานศึกษา โดยมีเงื่อนไขหัก 1% ของงบประมาณที่ได้รับ สถานศึกษาใดยอมรับจะได้รับการจัดสรรงบตั้งแต่ 30 ล้านบาทไปจนถึง 99 ล้านบาท หากไม่ยอมรับเงื่อนไขจะได้รับการจัดสรรเพียง 3 แสนบาทจนถึง 2 ล้านบาท ส่วนนายศุภชัย นายสุทธิชัย นายรชาและผู้ถูกกล่าวหารายที่ 7-17 ทำการติดต่อพ่อค้าให้เข้ามาตกลงเรื่องการจ่ายเงินรวม 30%

สำหรับเม็ดเงินทั้งหมด นายศุภชัย นายสุทธิชัยและนายรชาจะรวบรวมนำส่งให้กับ น.ส.นริศราและนายสุชาติ รวมทั้งแบ่งให้กับนายเฉลียวด้วย

จากรายชื่อดังกล่าว “MGR Online ภาคใต้” พบว่า มีบุคคลที่มีความเกี่ยวพันกันในการทุจริตโครงการนี้ ซึ่งน่าสงสัยว่าจะเกี่ยวพันกันกับการทุจริตที่นำมาสู่ความล่าช้าในโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลาด้วยหรือไม่ กล่าวคือ น.ส.นริศรา ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานการอาชีวะศึกษาที่มีฉายาในวงการว่า “เจ้าแม่อาชีวะ” ถูกกล่าวหาว่าร่วมอยู่ในขบวนการทุจริตงบซื้อครุภัณฑ์มูลค่า 5,300 ล้านบาท โดยมีผู้หนึ่งที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ด้วยคือนายเฉลียว

ที่กลับเป็นบุคคลเดียวกับที่ น.ส.นริศราเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ได้ตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ในโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา โดยตั้งกรรมการสอบฯ ตั้งแต่ปี 2552 แต่ไม่มีอะไรคืบหน้า และกลับมาตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในโครงการทุจริตร่วมกันในปี 2559 เสียเองหลังจากที่ น.ส.นริศรา พ้นจากตำแหน่ง รมช.ศึกษาฯ
 

 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในวันที่ 6 ก.ย.2560 สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ส่งหนังสือเวียนถึงหน่วยงานในสังกัดแจ้งว่า นายเฉลียวได้เสียชีวิตจากโรคเนื้องอกในตับ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

ในส่วนของ “สำนักข่าวอิศรา” ระบุว่า ได้ส่งผู้สื่อข่าวเดินทางไปติดต่อที่สำนักงานการอาชีวะศึกษา เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับผลการสอบสวนของคณะกรรมการชุดที่ น.ส.นริศราตั้งขึ้นมา แต่ได้รับการยืนยันว่าไม่เคยมีการลงนามตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวแต่อย่างใด น.ส.นริศราจึงจัดว่าเป็นบุคคลน่าสงสัยที่สุดในโครงการนี้ โดยที่คณะกรรมการการตรวจสอบชุดล่าสุดยังไม่เคยกล่าวถึงชื่อนี้ให้กับสังคมรับทราบ

สำหรับ “MGR Online ภาคใต้” ได้ตรวจสอบในเชิงลึกพบว่า โครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา ในส่วนของเฟส 2 เป็นต้นมา ได้ถูกบรรจุให้อยู่ในแผนงานความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน ภายใต้แนวคิดการเป็นหุ้นส่วนการศึกษา ซึ่งพูดถึงการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐกับเอกชนในการพัฒนาการศึกษาที่พบว่า ในงานวิจัยของกระทรวงศึกษาธิการในหัวข้อที่เกี่ยวกับ “หุ้นส่วนทางการศึกษา” มีระบุหัวข้อโครงการนี้ไว้ แต่ไม่มีรายละเอียดความคืบหน้าของโครงการระบุไว้แต่อย่างใด

โครงการศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา ยังมีความน่าสนใจตรงที่ว่าโครงการนี้มีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายทั้งนักการเมืองที่เคยเป็นฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล โดยพบว่าโครงการเริ่มขึ้นในยุครัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นผู้อนุมัติงบประมาณ จากนั้นการก่อสร้างไก้กินเวลาต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช, รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์, รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรจนกระทั่งมาถึงยุครัฐบาล คสช.

จากมหากาพย์ทุจริตในโครงการอควาเรียมสองทะเล ที่ผ่านเวลาก่อสร้างมาร่วม 10 ปี ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่เสร็จและยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ที่สำคัญยังไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้ ซึ่งถูกเปิดเผยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้สื่อสังคมออนไลน์ขนานนามโครงการนี้ว่า “สุสานหอยสงขลา” บ้าง “สุสานหอยสังข์” บ้าง กระทั่งไม่นานมานี้ได้ถูกชาว จ.สงขลา ได้เรียกในชื่อใหม่ว่า “สุสานหอยทาก” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
 


กำลังโหลดความคิดเห็น