โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
ในที่สุด “7 วันอันตราย” ในช่วงของเทศกาลสงกรานต์ก็ผ่านไป พร้อมกับยอดของคนตายเกือบ 400 คน จากอุบัติเหตุการ “ขับขี่” รถจักรยานยนต์และรถยนต์ ซึ่งเป็นการตายที่มากว่าอเมริกาและประเทศพันธมิตรชวนกันไป “ถล่มขีปนาวุธ” ใส่ประเทศซีเรีย 103 ลูก แต่กลับมีคนตายแค่ 3 คน
นี่แค่ยอดจนตายจากการใช้รถใช้ถนน แต่ยังไม่รวมคนตายจากการดื่มสุราหรือของมืนเมา เกิดการทะเลาะวิวาท และจบลงที่ทำร้ายร่างกายมีทั้งบาดเจ็บและล้มตาย ซึ่งมีอีกจำนวนไม่น้อยทีเดียว
ดูตัวเลขจากผู้ถูกจับกุมคดีความผิดจราจรในช่วง 7 วันอันตรายที่มีนับแสนราย ยึดรถยนต์ไปหลายหมื่นคัน ความผิดจาก “เมาแล้วขับ” ยังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นช่วงเทศกาลหรือไม่ใช่เทศกาล และงานหนักที่สุดในช่วงเทศกาลไม่ว่าจะเป็นปีใหม่ สงกรานต์” หรืออื่นๆ ยังเป็นหน้าที่ของ “ตำรวจ” เช่นเดิม
เพราะไม่ว่าเราจะผ่านสงกรานต์ไปกี่ปี เราจะผ่าน 7 วัน อันตรายไปกี่ปี สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ คนส่วนใหญ่ยังคง “เมาแล้วขับ” ยังทำผิดกฎจราจรอย่างมากมาย และสิ่งที่ยังคมไทยยังไม่เปลี่ยนคือ การเล่นสงกรานต์ แบบ “หื่นห่าม” ที่หนักกว่าเดิมขึ้นเรื่อยๆ
ตำรวจจึงต้องทำงานหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะคดีเกิดมากขึ้น และวิธีการของตำรวจก็มีอะไรต่ออะไรที่ชวยให้ผู้ถูกจับจากการทำผิดกฎจราจรมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
อย่างที่ “สภ.คลองแงะ” ต.พังลา อ.สะเดา จ.สงขลา มีผู้ทำผิดกฎจราจรส่ง “ใบสั่งแบบใหม่” ซึ่งเห็นแล้วก็ไม่แน่ใจว่าเป็น “ใบสั่งเถื่อน” หรือเป็น “ใบสั่งรุ่นใหม่”ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ว่ากันว่ามีการ “ปฏิรูปตำรวจ” ไปแล้ว จึงอาจจะมี “การพิมพ์ใสสั่งแบบใหม่” ออกมาใช้ก็ได้
อันเป็นใบสั่งที่ “ตำรวจจราจร สภ.คลองแงะ” จับกุม “พลวัฒน์” ในข้อหาขับรถจักรยานยนต์โดยไม่ใส่หมวกกันน็อค แต่แปลกที่ใบสั่งนั้นเหมือนเป็นเพียงเอา “กระดาษ A4” มาเขียน ไม่มีเครื่องหมายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ระบุ สภ.เจ้าของพื้นที่หรือจังหวัด ไม่เขียนว่า “ใบสั่งชั่วคราว” ซึ่งดูองค์ประกอบทั้งหมดแล้วไม่น่าจะเป็น “ใบสั่ง” ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
สอบถาม “ผู้ที่ได้รับใบสั่ง” ทราบว่า “ตำรวจจราจรนายหนึ่งของ สภ.คลองแงะ” ได้ทำการเรียกตรวจและให้ใบสั่งดังกล่าว พร้อมกับ “ขอเงิน 100 บาท” เมื่อผู้ถูกจับซึ่งเป็น “เยาวชน” มีเงินไม่พอจำนวน 100 บาท ตำรวจนายนั้นก็สั่งให้กลับไปเอาเงินที่บ้านมาให้ แต่เมื่อผู้ปกครองเห็นใบสั่งก็เชื่อว่าน่าจะไม่ถูกต้อง จึงไม่ได้ให้เงินไปจ่ายค่าปรับ
ดูตามพฤติกรรมที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ลักษณะของใบสั่ง และการเรียกร้องให้จ่ายเงิน 100 บาทในฐานความผิดไม่ใส่หมวกกันน็อค น่าจะสรุปได้ว่าเป็นการ “ปรับ” แบบไม่มี “ใบเสร็จ” แบบเดียวกับที่ใช้ใบสั่งที่ไม่ใช่ของราชการตำรวจนั่นแหละ
ว่ากันว่ามีผู้ที่ได้รับใสสั่งแบบนี้หลายราย แล้วต่างก็ไม่แน่ใจเช่นกันว่า เป็นใบสั่งที่ถูกต้องตามกฎหมายของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่ โดยเฉพาะต่างงวยงงกันว่า ใบสั่งแบบนี้มีที่ “สภ.คลองแงะ” แหล่งเดียว หรือมีใช้อยู่ในทุก สภ.ทั่วประเทศ
จึงอยากจะให้ผู้มีอำนาจในจังหวัดสงขลา เช่น พล.ต.ต.ปรีดา เปี่ยมวารี ผบก.ภ.จว.สงขลา หรือเหนือนขึ้นไปคือ พล.ต.ท.รณศิปล์ ภู่สาระ ผบช.ภ.9 ช่วยให้ความกระจ่างในเรื่องนี้กับประชาชนด้วย เพื่อเขาจะได้ไม่คลางแคลงใจว่าเงินที่จ่ายไป “เข้าหลวง” ไม่ใช่ไป “เข้ากระเป๋าใคร” แบบไปบำเรอบำรุงกระเพราะของ “คนบนโรงพัก” หรือ “คนออกใบสั่ง”
อย่างไรก็ตาม ทราบว่าขณะนี้ พล.ต.ท.สาโรช นิ่มเจริญ ผบช. สตส. ซึ่งอยู่ระหว่างปฏิบัติราชการ “การตรวจโรงพัก” ในพื้นที่ จ.สงขลา อย่างไรเสียก็ฝากไปตรวจที่ “สภ.คลองแงะ” อ.สะเดา จ.สงขลา โดยเฉพาะในเรื่องของ “รายได้” จากการ “ใช้ใบสั่งแปลกๆ” นี้ด้วย ซึ่งจะเป็นพระคุณกับประชาชนเป็นอย่างยิ่ง
หรือว่าหลายปีที่ผ่านมาตั้งแต่ “ทหาร” เข้ามาจัดระเบียบบ้านเมือง จึงทำให้ “กับข้าว กับปลา” รวมทั้ง “น้ำพริก น้ำจิ้ม” ที่เคยมีอุดมสมบูรณ์ กลับกลายเป็น “หร่อยหรอ” ลง จนสำนักงานตำรวจแห่งชาติขาดงบประมาณในการ “พิมพ์ใบสั่ง” จนต้องหันมาใช้วิธี “โรเนียว” หรือ “ซีร็อกซ์” ใบสั่งเป็นด้วย “กระดาษ A4” แทน
หรือว่านี่เป็นการเปลี่ยนแปลงเบื้องต้นของการริเริ่ม “ปฏิรูปตำรวจ” ที่ประชาชนยังไม่ได้รับรู้ ดังนั้นจึงต้องขอความกรุณาผู้เกี่ยวข้องตอบข้อสงสัยให้ประชาชนได้รับทราบ โดยเฉพาะคนที่ได้รับใบสั่งนี้ให้ได้ได้รับรู้ด้วยว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร