ศูนย์ข่าวภาคใต้ - เผยตำรวจ “สภ.เมืองอ่างทอง” ส่อทำรายงานเท็จเสนอศาลออกหมายจับ “หมี-ยุทธิยง” สื่ออาวุโสนักจัดรายการช่อง NEWS1 อ้างหน้าตาเฉยไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและน่าเชื่อจะหลบหนี เจ้าตัวออกโรงยันโผล่หน้าจอทุกสัปดาห์ แถมเป็นสายเลือดตระกูลกงสียางเมืองนครฯ ด้าน กก.สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและอดีตนายตำรวจผู้มีบทบาทให้ปฏิรูปงานสอบสวนรุมจวกยับ
อนุสนธิจากกรณีการทำรายการสภากาแฟ เวทีชาวบ้าน ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง NEWS1 ซึ่งดำเนินรายการโดย “พี่หมี” หรือ นายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที อดีตผู้สื่อข่าวอาวุโสเครือผู้จัดการ เมื่อช่วงเดือน มี.ค.2559 ได้นำเสนอเรื่อง “เรือนจำ..อาหารผู้มีกรรม คนบาปยังยังแบ่งกิน” จากนั้นได้ส่งผลให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้เข้าไปสอบสวนหาข้อเท็จจริงต่อหน่วยงานที่ส่งอาหารเข้าเรือนจำ และมีการอายัดเงินของผู้ที่เข้าข่ายกระทำความผิดไปแล้วด้วย แต่แล้วต่อมาทาง สหกรณ์การเกษตรวิเศษชัยชาญ จำกัด กลับไปแจ้งความดำเนินคดีกับ นายยุทธิยงไว้ที่ สภ.เมืองอ่างทอง
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่า ทางฝ่ายกฎหมายของสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ได้ส่งทนายความเดินทางไปยังศาลจังหวัดอ่างทองเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2561 เพื่อขอดูคำให้การที่พนักงานสอบสวน สภ.เมืองอ่างทอง ทำให้พบว่า ร.ต.ท.จตุพล เทสินทโชติ อายุ 25 ปี ทำหน้าที่พนักงานสอบสวน สภ.เมืองอ่างทอง ได้เขียนรายงานไปยังศาลจังหวัดอ่างทอง เพื่อขอออกหมายจับนายยุทธิยงว่า เป็นบุคคลไม่มีถิ่นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง น่าเชื่อว่าจะหลบหนีคดี ซึ่งถือว่าเป็นการให้ข้อมูลต่อศาลไม่ตรงกับความเป็นจริง
“อนึ่งหลังก่อเหตุ (หลังการออกรายการโทรทัศน์ครั้งนั้น) ผู้กล่าวหาและพยานได้ติดตามตัวผู้ต้องหา (นายยุทธิยง) ไปยังภูมิลำเนาของผู้ต้องหาแล้ว ไม่พบตัวผู้ต้องหาตามภูมิลำเนา สอบถามชาวบ้านแจ้งว่า ผู้ต้องหาไม่อยู่ตามที่อยู่ภูมิลำเนา เป็นบุคคลไม่มีถิ่นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง จึงเชื่อว่าหลังก่อเหตุผู้ต้องหาได้หลบหนีไป” ข้อความตอนหนึ่งที่ในหนังสือที่ ร.ต.ท.จตุพลส่งถึงศาลจังหวัดอ่างทองเพื่อขอหมายจับนายยุทธิยงระบุไว้ อีกทั้งช่วงท้ายหนังสือดังกล่าวยังระบุแบบย้ำอีกครั้งว่า “...และผู้ต้องหาไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและน่าเชื่อจะหลบหนี”
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที เปิดเผยกับ “MGR Online ภาคใต้” ว่า ตนมีถิ่นที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน ตนเป็นสื่อมวลชน เป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์มากว่า 30 ปี โดยคนทั่วไปทราบกันดีว่า ถิ่นฐานเดิมของตนอยู่ที่ อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช ครอบครัวถือเป็นกงสีในธุรกิจยางพาราที่นั่น ตนเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ที่ชาวปักษ์ใต้และคนไทยที่ติดตาม NEWS1 รู้จักกันเป็นอย่างดี เป็นสื่อมวลชนที่เปิดพื้นที่ให้กับชาวบ้านผู้ถูกละเมิดสิทธิได้ร้องทุกข์ เป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ที่สัมภาษณ์แหล่งข่าวผู้มีชื่อเสียงทั้งนักวิชาการ นักธุรกิจ นักการเมือง นักพัฒนาเอกชน นักเคลื่อนไหว รวมทั้งชาวบ้านมาแล้วมากมาย
“ผมจัดรายการสภากาแฟ เวทีชาวบ้าน ที่สถานีโทรทัศน์ NEWS1 โผล่หน้าออกอากาศเป็นประจำทุกวันจันทร์ ถึงวันศุกร์ และโผล่หน้าออกอากาศทางทีวีทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ต่อเนื่องมาแล้วแบบแทบไม่เคยเว้นว่างเป็นเวลามาเกือบ 15 ปี หรือตั้งแต่สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ได้ก่อตั้งขึ้นมา ซึ่งเรื่องนี้ พี่ตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ สื่อมวลชนอาวุโส ปัจจุบันเป็นกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติอยู่ด้วยยืนยันได้” นายยุทธิยงกล่าว
นายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ กรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า การที่พนักงานสอบสวน สภ.เมืองอ่างทอง ได้ทำหนังสือไปให้การต่อศาลจังหวัดอ่างทอง เพื่อขอออกหมายจับนายยุทธิยงนั้น น่าจะถือว่าเข้าข่ายการเสนอข้อความอันเป็นเท็จต่อศาล ความจริงแล้วคดีหมิ่นประมาท ไม่ได้เป็นคดีที่ร้ายแรงอะไรเลย เป็นคดีที่ยอมความกันได้ โดยเฉพาะสื่อมวลชนทั่วโลกเขาให้เสรีภาพในการทำหน้าที่ เพื่อยกระดับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของสังคม
“หากสื่อมวลชนอย่างนายยุทธิยงไม่นำเสนอ คนในประเทศเราก็จะไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารข้อเท็จจริงว่า เกิดอะไรขึ้นในกรมราชทัณฑ์ คุณภาพชีวิต สิทธิมนุษยชน ความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังเป็นอย่างไร ในการทำหน้าที่หากสื่อนำเสนอข้อเท็จจริงผิดพลาด เราก็ต้องขอโทษ แล้วยินดีนำข้อเท็จจริงที่เชื่อว่าถูกต้องใหม่ ทั้งนี้ก็เพื่อให้สังคมไทยได้ความรู้ข้อเท็จจริงที่เชื่อว่าถูกต้อง นี่เป็นหน้าที่ของสื่อมวลชน”
นายตุลย์ยังกล่าวต่อไปด้วยว่า ความจริงที่ถูกคนบางคนหรือบางกลุ่มปกปิดนั้น เป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนอยู่แล้วที่จะนำเสนอความจริงนั้นๆ ให้สังคมรับรู้ โดยเฉพาะในเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชน เมื่อมีการนำเสนอข้อเท็จจริงที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อกรมราชทัณฑ์และสาธารณะชน สิ่งนี้ควรเป็นเรื่องที่คนในบ้านเมืองควรยกย่อง แต่นี่กลับยังต้องมาถูกตำรวจขอออกหมายจับต่อศาลอย่างเร่งรีบ
ด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตที่ปรึกษาอนุกรรมมาธิการปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และนายตำรวจนักวิชาการผู้นำเสนอการปฏิรูปตำรวจด้วยการแยกงานสอบสวนให้เป็นอิสระ ได้ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า การออกหมายเรียกผู้ต้องหาของตำรวจ และการเสนอศาลออกหมายจับบุคคลในปัจจุบัน เป็นจุดบกพร่องของกระบวนการยุติธรรม ที่ได้สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนอย่างไม่เป็นธรรมแบบแสนสาหัส ซึ่งเรื่องนี้ต้องได้รับการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน
อดีตที่ปรึกษาอนุกรรมมาธิการปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันเมื่อมีการแจ้งความร้องทุกข์หรือกล่าวโทษผู้ใดว่า กระทำความผิดอาญา จะทำให้ตำรวจมีอำนาจออกหมายเรียกบุคคลผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ต้องหาทันที หรือแม้กระทั่งเสนอศาลออกหมายจับโดยไม่ต้องออกหมายเรียกก่อนก็ได้ ในกรณีที่เป็นความผิดมีโทษจำคุก 3 ปีขึ้นไป นี่เป็นจุดอ่อนของกระบวนการยุติธรรมไทย ที่ทำให้ตำรวจมีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลโดยไม่ต้องคำนึงว่า เป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่
“รวมทั้งสามารถใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้ง หรือเลือกปฏิบัติต่อบุคคลได้หลายรูปแบบ อย่างเช่นกรณีคุณยุทธิยงนี่ เขาทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการเสนอข้อเท็จเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะทุกวัน แต่ได้ถูกออกหมายจับโดยอ้างว่ามีผู้แจ้งความกล่าวหาและมีโทษจำคุกเกิน 3 ปี ในขณะที่เรื่องของตำรวจระดับผู้บังคับการ จ.กาญจนบุรี ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบ มีโทษจำคุกถึง 10 ปี แต่ไม่ได้ถูกออกหมายจับ หรือแม้กระทั่งออกหมายเรียกในฐานะผู้ต้องหาแต่อย่างใด”
พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าวว่า นอกจากนั้นในการเสนอศาลออกหมายจับ ตำรวจก็มักจะเขียนรายงานว่า ผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนี หรืออาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ทั้งที่หลายคนก็ใช้ชีวิตประจำวันไปทำงาน หรือพักอาศัยอยู่ที่บ้านตามปกติ กรณีนายยุทธิยงที่ทำหน้าที่จัดรายการที่สถานีโทรทัศน์ปกติ สังคมก็เห็นเขาทุกวันในรายการสภากาแฟช่อง NEWS1 ซึ่งศาลก็ไม่มีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงใดที่จะพิจารณาเป็นอย่างอื่น นอกไปจากคำร้องที่ตำรวจรายงานต่อศาล ทำให้อนุมัติหมายจับไปตามที่ตำรวจยื่นคำร้อง
“มีคดีจำนวนมากที่สุดท้ายอัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลยกฟ้อง รวมแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ก่อให้เกิดความเดือดร้อน เกิดความอยุติธรรมต่อประชาชนมากมาย รวมทั้งทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า ผู้ถูกกล่าวหานั้นกระทำความผิดจริง ศาลจึงออกหมายจับตามที่ตำรวจเสนอ ทั้งที่ข้อเท็จจริงเป็นผลมาจากการ รายงานเท็จต่อศาลของตำรวจ ซึ่งนั่นก็เข้าข่ายละเมิดอำนาจศาลด้วยซ้ำ”
พ.ต.อ.วิรุตม์ยังกล่าวอีกว่า การออกหมายเรียกผู้ต้องหาและรวมถึงออกหมายจับในประเทศไทย จึงควรได้รับการปฏิรูป ด้วยการให้พนักงานอัยการเป็นผู้ตรวจสอบว่า คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะออกหมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหา หรือเสนอศาลออดหมายจับหรือไม่ ถือเป็นการช่วยกลั่นกรองรายงานตำรวจอีกชั้นหนึ่ง เช่นเดียวกับวิธีปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมในประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก
“นี่เป็นกรณีของคุณยุทธิยง ซึ่งเป็นสื่อมวลชน เป็นบุคคลที่สังคมเขารู้จัก กรณีนี้เขายังถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และได้รับความเดือดร้อนขนาดนี้ หากเป็นชาวบ้านที่ยากจนเล่า จึงอยากถามดังๆ ว่าแล้วชาวบ้านเหล่านั้นเขาจะต้องเดือดร้อนลำบากแสนสาหัสขนาดไหน” นายตำรวจนักวิชาการผู้นำเสนอการปฏิรูปตำรวจด้วยการแยกงานสอบสวนให้เป็นอิสระมาอย่างต่อเนื่องกล่าวตบท้าย