xs
xsm
sm
md
lg

เด็กนาโยงรวมตัวร้อยลูกปัดมโนราห์สร้างเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นขายดีเทน้ำเทท่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - เด็กๆ ชาว ต.โคกสะบ้า อ.นาโยง จ.ตรัง ใช้เวลาว่างมาร้อยลูกปัดมโนราห์ เป็นเครื่องประดับ หรือของที่ระลึกต่างๆ ซึ่งขายดีจนผลิตไม่ทัน เพราะเป็นสินค้าที่ทำด้วยมือ และมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น

วันนี้ (2 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องจากหลายพื้นที่ของจังหวัดตรัง โดยเฉพาะในอำเภอนาโยง มีการจัดตั้งคณะมโนราห์ หรือโนรา อยู่เป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งได้มีการสืบทอดการแสดงพื้นบ้านดังกล่าวต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน และมีการจัดตั้งโรงมโนราห์กลางที่ชื่อว่า “บ้านมโนราห์” ในพื้นที่ตำบลโคกสะบ้า โดยมี นางราตรี หัสชัย อดีตครูโรงเรียนวัดไทรทอง รับตำแหน่งเป็นประธาน ในฐานะหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญของชุมชนที่อุตส่าห์เสียสละทั้งแรงกายและแรงใจเพื่อสอนสั่งเด็ก และเยาวชนในพื้นที่ให้หวลกลับมาเรียนรู้เรื่องมโนราห์

ทั้งนี้ นอกจากจะมีการร่ายรำมโนราห์ และการแสดงลูกคู่ หรือนักดนตรีประจำคณะแล้ว ล่าสุด ยังได้นำเด็กๆ อายุตั้งแต่ 5-12 ปี ประมาณ 50 คน มาเรียนรู้เรื่องการร้อยลูกปัดมโนราห์ด้วย โดยประยุกต์จากการทำขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องแต่งกายในการแสดง หรือการร่ายรำ มาเป็นการทำขึ้นเพื่อเป็นของที่ระลึก เพื่อให้สอดรับกับตลาดในยุคปัจจุบัน ทั้งในส่วนของรูปแบบที่สวยงาม แปลกตา และราคาที่ถูก ปรากฎว่า เพียงแค่ดำเนินการปีเดียวก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนไม่สามารถผลิตสินค้าทันต่อความต้องการ
 

 
คุณครูราตรี กล่าวว่า เด็กๆ เหล่านี้จะร้อยลูกปัดมโนราห์ได้สวยงามเทียบเท่าผู้ใหญ่ ซึ่งบางคนก้าวไกลไปถึงขั้นร้อยออกมาเป็นเครื่องแต่งกายมโนราห์ ที่มีราคาสูงถึงหลักพันบาท แต่ที่ขายดีส่วนใหญ่จะเป็นพวงกุญแจ กำไล สร้อยข้อมือ สร้อยคอ เครื่องประดับ หรือของที่ระลึกต่างๆ มีราคาเฉลี่ยตั้งแต่ชิ้นละ 25-500 บาท โดยมีทั้งลายโบราณ และลายประยุกต์ ซึ่งจะขายดีมากครั้งละไม่ต่ำกว่า 4,000 บาท เมื่อมีคณะเดินทางมาศึกษาดูงานที่ “บ้านมโนราห์” หรือเที่ยวชม “ตลาดวันวานบ้านมโนราห์” ที่จัดขึ้นทุกวันอาทิตย์

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเด็กๆ ที่เข้าร่วมโครงการนี้จะมีเวลาว่างเฉพาะช่วงเย็นในวันปกติ หรือวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และต้องใช้เวลาทำในแต่ละชิ้นไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง จึงยังร้อยลูกปัดมโนราห์ออกมาได้น้อย หรือเฉลี่ยแค่สัปดาห์ละ 50 ชิ้นเท่านั้น ในขณะที่ความต้องการมีสูง เนื่องจากเป็นสินค้าที่ทำด้วยมือ และมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมเด็กๆ ให้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และช่วยสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นใต้ จนล่าสุด มีห้างยักษ์ใหญ่ติดต่อสั่งซื้อสินค้าเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถผลิตให้ได้
 




กำลังโหลดความคิดเห็น