xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรตรังจับมือ กศน.เลี้ยง “ไก่ดำ KU-ภูพาน” ตลาดต้องการสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - เกษตรกรชาวตรัง จับมือ กศน. นำพันธุ์ไก่ดำ KU-ภูพาน มาเพาะเลี้ยงในสวนยางเพื่อบริโภค และจำหน่ายในราคาถูก จนเป็นที่ต้องการของตลาดสูง เพราะผลผลิตที่มีคุณภาพ

วันนี้ (29 ม.ค.) นายถาวร เลี้ยงสกุล เกษตรกรชาวตรัง ร่วมกับสำนักงาน กศน.จังหวัดตรัง เป็นคนแรกที่นำพ่อแม่พันธุ์ไก่ดำ KU-ภูพาน มาเพาะเลี้ยงเพื่อบริโภค และจำหน่ายลูกพันธุ์ในราคาถูก จนล่าสุด สามารถเพาะขยายพันธุ์ลูกไก่ได้หลายรุ่นๆ ละ 50-100 ตัว แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร โดยจะเน้นการเลี้ยงแบบเกษตรอินทรีย์เพื่อประหยัดต้นทุน ด้วยการนำข้าวงอก หยวกกล้วย ใบเตยมาเป็นอาหาร และปล่อยให้หากินมด แมลงในสวนยางพารา ซึ่งทำให้ไก่มีสุขภาพดี โตเร็ว อัตราแลกเนื้อสูง

เนื่องจากในข้าวงอกจะมีโปรตีนสูง ย่อยง่าย แถมมีสาร Gaba (กาบา) ที่ช่วยกระตุ้นการหลั่งของน้ำดี และลดการสะสมของไขมัน ส่วนหยวกกล้วยหมัก จะช่วยในการย่อยอาหาร มีโปรตีนสูง และใบเตย จะทำให้ไก่มีกลิ่นหอม ลดการสะสมของกรดยูริก และเพรียวรีน ทำให้ในปัจจุบัน ไก่ดำ KU-ภูพาน ที่เลี้ยงเพียง 3-4 เดือน ก็สามารถนำมาบริโภค หรือจำหน่ายได้แล้ว ในราคาที่กิโลกรัมละ 150-200 บาท
 

 
สำหรับไก่ดำ KU-ภูพาน เกิดจากการคิดค้น และพัฒนาสายพันธุ์โดย อาจารย์ภานุวัฒน์ คัมภีราวัฒน์ คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคเยอะมาก เพราะในไก่ดำ KU-ภูพาน จะมีสารเมลานิน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน รวมทั้งช่วยชะลอความแก่ ลดการเกิดฝ้า ลดปวดประจำเดือน อีกยังทั้งมีสารคาร์โนลีน (Carnosine) ที่มากกว่าไก่ทั่วไปอยู่ 2 เท่า จึงช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ลดริ้วรอยเหี่ยวย่น และโลหิตจางด้วย

ซึ่งขณะนี้ นายถาวร เลี้ยงสกุล ได้จัดตั้งดวงใจฟาร์ม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ไก่ KU-ภูพาน ณ บ้านเลขที่ 419/2 ถนนเพชรเกษม ต.ห้วยยอด อ.ห้วยยอด จ.ตรัง โดยให้เกษตรกรผู้สนใจเข้าไปเรียนรู้ และเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม โดยมีสำนักงาน กศน.จังหวัดตรัง เป็นที่ปรึกษาในการจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชนต่อไป
 





กำลังโหลดความคิดเห็น