xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมฯ ยะลา เตรียมช่วยหญิงตาบอด หลังถูกศาลตัดสินจำคุกข้อหาหมิ่นสถาบันฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ยะลา - มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดยะลา เตรียมให้การช่วยเหลือตามกฎหมายต่อผู้ต้องหาหญิงพิการตาบอด หลังถูกศาลตัดสินจำคุกในข้อกล่าวหา ว่า กระทำความผิดตามมาตรา 112 ด้วยการโพสต์ข้อความหมิ่นสถาบัน

วันนี้ (5 ม.ค.) ที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดยะลา 40 ถนนผังเมือง 4 อ.เมือง จ.ยะลา นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ประธานกรรมการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดยะลา เปิดเผยถึงกรณีศาลอ่านคำพิพากษา จำคุกหญิงพิการทางสายตา คดีหมิ่นมาตรา 112 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ว่า สำหรับคดีของ น.ส.นูรฮายาตี มะเสาะ เป็นกรณีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 ด้วยการโพสต์ข้อความหมิ่นสถาบัน ซึ่งในทางคดีหลังจากมีการควบคุมตัวจำเลย ก็มีการดำเนินการฝากขังศาล และควบคุมตัวจำเลยไว้ที่เรือนจำกลางจังหวัดยะลา มาโดยตลอด ซึ่งมีอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 ภาค 9 เป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้ ในชั้นพิจารณาจำเลยได้ให้การรับสารภาพต่อศาล ศาลมีความเห็นให้มีการสืบเสาะ และพินิจเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงใช้ประกอบในการพิจารณาลดโทษ หรือพิจารณาลงโทษจำเลยด้วยความปรานี และได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 4 มกราคม 2561 ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน โทษจำคุกไม่รอลงอาญา เนื่องจากเป็นความผิดร้ายแรง

“ในส่วนของการช่วยเหลือ ทางมูลนิธิฯ เพิ่งได้รับการติดต่อขอความช่วยเหลือจากพี่ของจำเลย เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา และหลังจากฟังคำพิพากษา ก็ได้มีการพูดคุยกันว่า ทางญาติยังมีความต้องการให้ทางมูลนิธิฯ อุทธรณ์คำพิพากษาของศาล เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาอีกครั้งในส่วนของโทษพิพากษาโดยไม่รอลงอาญา หรือจะทำหนังสือถวายฎีกาเพื่อขอความเมตตาในการอภัยโทษ เนื่องจากที่ผ่านมา น.ส.นูรฮายาตี มะเสาะ ซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตา ในขณะที่ถูกคุมตัวอยู่ในเรือนจำนั้นจะมีปัญหาเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะต้องมีคนดูแลให้การช่วยเหลือ เพราะไม่คุ้นชินต่อสถานที่ ไม่ได้เป็นพื้นที่ประจำที่คนตาพิการจะรู้ว่าจะต้องเดินไปทางไหน และเชื่อว่าในเรือนจำก็ไม่มีพื้นที่สำหรับผู้ต้องขังที่พิการทางสายตา ทั้งนี้ ในส่วนของคดี กฎหมายให้สิทธิต่อจำเลยในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับศาลชั้นต้น สามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 1 เดือน หรือจะขอขยายเวลาในการอุทธรณ์ได้ถ้ามีเหตุจำเป็น ในส่วนของมูลนิธิฯ ก็จะไปดูว่าจะสามารถช่วยเหลือว่าจะมีเหตุในการอันควรปรานีอะไรบ้างที่จะสามารถดำเนินการเพื่อขอความเมตตา เพื่อให้จำเลยได้รับสิทธิในการรอลงอาญา ในการกระทำความผิดในครั้งนี้” นายอาดิลัน กล่าว

สำหรับคดีที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นในห้วงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2559 ต่อเนื่องกัน น.ส.นูรฮายาตี มะเสาะ ซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตา ได้ใช้เฟซบุ๊กที่ลงทะเบียนในชื่อ “นูรฮา ยาตี” โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทเบื้องสูง รวมทั้งคัดลอกข้อความหมิ่นประมาทนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ด้วยโปรแกรมแอปพลิเคชันของผู้พิการทางสายตา ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 33 มาตรา 112 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3, 14 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 8
 


กำลังโหลดความคิดเห็น