MGR Online - ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 6 ปี “ปิยะ จุลกิตติพันธ์” อดีตโบรกเกอร์ หมิ่นเบื้องสูง เขียนข้อความลงพระบรมฉายาลักษณ์ โพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อปี 2556
เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (27 เม.ย.) ที่ห้องพิจารณา 914 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีดำที่ อ.747/2558 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายปิยะ จุลกิตติพันธ์ หรือนายพงศธร บันทอน อายุ 48 ปี ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตามประมวลกฎหมายกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3), (5)
คำฟ้องโจทก์ระบุว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2556 เวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 28 พ.ย. 2556 เวลาใดไม่ปรากฏชัด ต่อเนื่องกัน จำเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน โดยการโพสต์ข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จำนวน 2 ข้อความ อยู่บนพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 2 ภาพ ในบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยที่ใช้ชื่อว่า นายพงศธร บันทอน (SIAMAID) โดยเจตนาทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ เหตุเกิดที่แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม. ตำบลสำโรงกลาง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ, อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม, อำเภอเมือง จังหวัดน่าน และที่นอกราชอาณาจักร เกี่ยวพันกัน จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี
โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าโจทก์มีพนักงานสอบสวนและผู้ที่ตรวจสอบระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งได้รวบรวมพยานหลักฐานแจ้งความดำเนินคดีเบิกความว่ามีผู้โพสต์ข้อความที่อยู่บนพระบรมฉายาลักษณ์ แล้วนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยการนำลงไปโพสต์ในเฟซบุ๊กชื่อนายพงศธร บันทอน (SIAMAID) การกระทำดังกล่าวมีเจตนาให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลการหมิ่นเบื้องสูง ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้แชร์จำนวนมากจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3), (5)
นอกจากนี้ยังฟังได้จากคำเบิกความจำเลยว่าเคยใช้เฟซบุ๊กระหว่างปี 2553-2554 ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่าได้แจ้งให้กูเกิลลบข้อความดังกล่าวไปแล้วนั้น จำเลยไม่ได้นำพยานอื่นมานำสืบให้ชัดเจนและการแจ้งให้ลบข้อความดังกล่าวนั้นก็เป็นช่วงหลังเกิดเหตุแล้วประมาณ 1 ปี พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักน้อยไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้
พิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ตามประมวลกฎหมายกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3), (5) ซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนักสุด คือ มาตรา 112 ให้จำคุก 9 ปี แต่คำให้การชั้นสอบสวนและพิจารณาเป็นประโยชน์อยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยเป็นเวลา 6 ปี
ต่อมาจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ โดยวันนี้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เบิกตัวนายปิยะ จำเลยมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งตลอดการพิจารณาคดี จำเลยไม่ได้รับการประกันตัว
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษากันแล้วเห็นว่า จำเลยประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต้องมีความรู้และความเข้าใจระบบคอมพิวเตอร์รวมถึงการใช้โปรแกรมเฟซบุ๊ก โดยจำเลยใช้บัญชีเฟซบุ๊กในชื่อนายพงศธร บันทอน มาตลอด และพบภาพพร้อมข้อความที่ไม่เหมาะสมในคดีนี้ จำเลยอ้างทำนองว่ามีผู้อื่นใช้บัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย อันเป็นการเบิกความลอยๆ และง่ายต่อการกล่าวอ้าง หากมีบุคคลอื่นแก้ไขใช้บัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย และกลับไม่สนใจรวมทั้งมิได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ กับบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว ยังคงใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวตลอดมา รวมถึงมิได้ดำเนินการใดๆ ซึ่งผิดปกติวิสัย ที่จำเลยอ้างนำสืบว่า เหตุที่จำเลยไม่ไปแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพราะเกรงว่าจะถูกดำเนินคดีเนื่องจากมีผู้ใช้ชื่อพงศธร บันทอนนั้นก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทราบได้อย่างไรว่ามีการดำเนินคดีแก่จำเลยในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งความร้ายแรงของความผิดไม่อาจนำมาเป็นเหตุกล่าวอ้างได้ ที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า ได้แจ้งไปทางเฟซบุ๊กและกูเกิลให้ลบภาพและข้อความที่ไม่เหมาะสมออกบางส่วนแล้ว แต่กลับปรากฏว่ายังคงเหลือพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมข้อความอยู่ และทราบจากเอกสารประกอบคำให้การของจำเลยว่า จำเลยได้แจ้งลบภายหลังจากที่มีการแจ้งความดำเนินคดีนี้แล้ว และที่จำเลยอ้างว่า เพิ่งทราบว่ามีการโพสต์พระบรมฉายาลักษณ์เมื่อปี 2557 ก็ไม่ได้นำพยานอื่นมาเบิกความแต่อย่างใด ดังนั้น พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้จัดทำและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยใช้ชื่อนายพงศทอน บันทอน จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงอาฆาตมาดร้ายต่อพระมาหากษัตริย์ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน