xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าตรวจสอบวัดให้เช่าที่ทำทัวร์จีน ทั้งสัญญาเช่า วัตถุมงคล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สำนักพระพุทธศาสนาภูเก็ต เสนอสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พิจารณาสัญญาเช่าที่วัดใต้นำทัวร์จีนไหว้พระพิจารณาดำเนินการต่อ หลังตรวจพบสัญญาไม่น่าจะถูกต้อง ไม่ได้กันที่วัดเพื่อให้เช่า เช่าเพื่อแสวงหาประโยชน์ต้องผ่าน พศป.พร้อมตรวจสอบที่มาที่ไปวัตถุมงคลซ้ำให้แน่ชัด

นายวิญญา ปลัดขวา ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีมีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการสร้างโบสถ์ปลอม ในบริเวณวัดลัฎฐิวนาราม หรือวัดใต้ ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต เพื่อรองรับทัวร์จีนเข้าไปสักการะ และเช่าวัตถุมงคล รวมทั้งภายในโบสถ์ยังมีพระสงฆ์นั่งสวดมนต์ให้พร ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ มีมรรคนายกทำหน้าที่เล่าสรรพคุณของพระเครื่อง เพื่อจูงใจให้นักท่องเที่ยวจีนเช่าไปบูชา ว่า

ภายหลังจากมีการโพสต์ข้อความดังกล่าว สำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย พระครูเมตตาภิรมย์ เจ้าคณะอำเภอเมืองภูเก็ต ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา จากการตรวจสอบพบในประเด็นต่างๆ ที่มีการโพสต์ คือ ประเด็นโบสถ์ปลอม สร้างโดยนักลงทุนจีน จากการตรวจสอบพบว่า ภาพที่เห็นในโซเชียลไม่ใช่โบสถ์แต่อย่างใด เป็นอาคารเสนาสนะที่ผู้เช่าที่วัดสร้างถวาย เมื่อประมาณปี 2556 ขนาด 11 คูณ 27 เมตร อยู่ห่างจากอุโบสถประมาณ 60-70 เมตร ลักษณะกึ่งศาลาการเปรียญกึ่งวิหาร มีลวดลายสีทองเป็นลายไทย และลายกระหนกล้อมรอบ ภายในห้องโถงมีพระพุทธรูป และตู้โชว์พระเครื่องให้เช่าบูชา 2 ด้าน ส่วนอาคารด้านนอกมีลานจอดรถ มีศาลพระพรหม และร้านค้า

เรื่องรับเฉพาะทัวร์จีนไม่รับคนไทยนั้น จากการสอบถามผู้เช่ายืนยันไม่ได้กีดกัน ทุกคนมีสิทธิเข้าไปภายในอาคารได้ทั้งหมด และยอมรับว่า มีการนิมนต์พระมาให้พร และประพรมน้ำพระพุทธมนต์ แต่ไม่ได้บังคับ และที่บอกว่า มีมรรคนายกมาจูงใจให้เช่าวัตถุมงคลนั้น เป็นเพียงลูกจ้างของบริษัท ทำหน้าที่สื่อสารกับนักท่องเที่ยวในแต่ละจุด ส่วนการเช่าบูชาวัตถุมงคลหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความสมัครใจว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ

ส่วนประเด็นพระปลอมเลี่ยมทอง และขายราคาแพงกว่า 4 เท่าตัว นายวิญญา กล่าวว่า จากการตรวจสอบผู้เช่ายืนยันว่า พระที่นำมาให้เช่าบูชาทั้งหมดมีที่ไปที่มาชัดเจน ผ่านพิธีพุทธาภิเษกทุกองค์ สามารถตรวจสอบได้ และยินดีให้ตรวจสอบ ส่วนเรื่องราคาที่บอกว่าแพงนั้น จริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นความเชื่อความศรัทธา จะบอกว่าถูก หรือแพงตอบไม่ได้ ขึ้นอยู่กับความพอใจทั้งสองฝ่าย แต่ก็มีวิธีกำหนดราคาเบื้องต้น คือ ต้นทุนจากองค์พระ ราคาทอง ค่าแรง ค่าดำเนินการ และกำไร เป็นต้น ซึ่งในเรื่องนี้ได้มอบหมายให้ทางวัดใต้เข้าไปตรวจสอบวัตถุมงคลทั้งหมดที่นำมาให้เช่าบูชาในเบื้องต้น หลังจากนั้น ทางสำนักพุทธฯภูเก็ต จะเข้าไปตรวจสอบซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับประเด็นการจำหน่ายดอกไม้ธูปเทียน และของกินภายในบริเวณราคาสูงมาก ไม่ได้ติดป้ายราคา มีเพียงตู้รับบริจาค ใครจะทำบุญเท่าไหร่ก็ได้ และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาหากแต่งกายไม่เรียบร้อยก็จะมีผ้าถุง หรือผ้าคลุมไหล่ไว้บริการ และไม่ได้บังคับให้ทุกคนเข้าไปไหว้พระในอาคาร

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบสัญญาเช่าระหว่างวัดกับผู้เช่า พบว่า โดยทางวัดให้เช่ามากว่า 20 ปีแล้ว เช่าเพื่อการแสวงหาประโยชน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เช่าวัตถุมงคล ค่าเช่าเดือนละ 50,000 บาท ปีละ 600,000 บาท โดยผู้เช่าได้จัดพื้นที่เป็นสัดส่วน คือ บริเวณรอบนอกเป็นลานจอดรถ ด้านหน้าเป็นศาลพระพรหมให้สักการะ ด้านในตัวอาคารมีพระพุทธรูปให้สักการะ และด้านข้างมีตู้โชว์วัตถุมงคล แม้ว่าการเช่าดังกล่าวจะเป็นสัญญาปีต่อปีที่เจ้าอาวาสมีอำนาจในการดำเนินการให้เช่า แต่จากการตรวจสอบไม่น่าจะถูกต้องตามระเบียบ เพราะตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ข้อ 2 ระบุว่า การกันที่ดินซึ่งเป็นวัดให้เป็นที่จัดประโยชน์ จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อกรมการศาสนาเห็นชอบ และได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคม ซึ่งวัดไม่ได้ดำเนินการขอกันพื้นที่เพื่อจัดประโยชน์ตามกฎกระทรวงแต่อย่างใด

มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 14/2521 เกี่ยวกับการให้เช่าที่วัด หรือที่ธรณีสงฆ์เพื่อสร้างอาคารพาณิชย์ ข้อ 1 ระบุว่า วัดใดมีผู้เช่าพื้นที่หรือที่ธรณีสงฆ์เพื่อสร้างอาคารพาณิชย์ หรืออาคารอื่นใดเพื่อใช้ในการแสวงหาประโยชน์ ให้เจ้าอาวาสนั้นส่งแบบแปลนผังการก่อสร้าง งบประมาณ ผลประโยชน์ที่วัดพึงได้รับ ทั้งเงินบำรุงวัด ทั้งค่าเช่าที่ดิน อาคาร ร่างสัญญาการก่อสร้าง ไปยังกรมการศาสนา เพื่อเสนอคณะกรรมการ พศป.พิจารณาก่อน และข้อ 3 วัดจะทำสัญญาเช่าได้เมื่อคณะกรรมการ พศป.พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ซึ่งวัดไม่ได้ดำเนินการตามมติมหาเถรสมาคม รวมถึงสัญญาเช่าไม่มีเอกสารประกอบคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย

นายวิญญา กล่าวต่อว่า ในเรื่องของสัญญาเช่าที่คิดว่าไม่น่าจะถูกต้อง และผลการตรวจสอบทั้งหมด ทางสำนักงานพระพุทธฯ จังหวัดภูเก็ต ได้เสนอไปยังสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พิจารณาว่าจะให้ดำเนินการต่อไปอย่างไร และหลังจากนี้ จะมีการตรวจสอบการดำเนินการให้เช่าของวัดอื่นๆ ที่ทำในลักษณะเดียวกับวัดใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น