xs
xsm
sm
md
lg

หากินบนความศรัทธา! สำนักพุทธภูเก็ตยันไม่ใช่โบสถ์ปลอม เอกชนเช่าที่สร้างถูกต้อง วัตถุมงคลมีแหล่งที่มาก็ขายได้ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผอ.สำนักพุทธภูเก็ต ยืนยันโบสถ์ในวัดวัดลัฎฐิวนารา ไม่ใช่โบสถ์ปลอมตามที่แชร์กัน เป็น"เสนาสนะ" หรือสิ่งก่อสร้างภายในวัด ที่เอกชนเช่าเพื่อการพาณิชย์โดยถูกต้อง นำทัวร์จีนมาไหว้พระ นำเสนอขายวัตถุมงคล เป็นการบริหารจัดการของวัด และคนเช่า วัตถุมงคลให้เช่าภายในวัดได้หากมีแหล่งที่ชัดเจน และตรวจสอบได้ ลงพื้นที่ตรวจสอบอีกครั้งวันพรุ่งนี้ ถ้าพบทำผิดดำเนินการตามกฎหมายเด็ดขาด


เสนาสนะที่เอกชนเข้าไปเช่าที่วัดสร้างขึ้นมา
จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Chulcherm Yugala” โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการสร้างโบสถ์ปลอม ในพื้นที่วัดลัฎฐิวนาราม (วัดใต้) ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต เพื่อรองรับทัวร์จีนเข้าไปสักการะ รวมทั้งภายในโบสถ์ยังมีพระสงฆ์นั่งสวดมนต์ให้พร ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ มีมรรคนายกทำหน้าที่เล่าสรรพคุณของพระเครื่อง เพื่อจูงใจให้นักท่องเที่ยวจีนเช่าไปบูชาพระปลอมเลี่ยมทองในราคาที่แพงกว่าท้องตลาดถึง 4 เท่า พร้อมระบุว่า ในภูเก็ตมีถึง 3 วัดด้วยกัน เรียกร้องให้สำนักพระพุธศาสนาเข้ามาตรวจสอบการดำเนินการก่อสร้าง และนำนักท่องเที่ยวเข้ามาสักการบูชาดังกล่าว
ดึงทัวร์จีนเข้าเพราะความศรัทธา
โดยเมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (23 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่วัดลัฎฐิวนาราม (วัดใต้) ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต พบว่า มีการก่อสร้างตามที่มีการโพสต์กันจริง โดยที่ลานจอดรถมีรถบัสรับท่องนักท่องเที่ยวชาวจีนจอดเรียงรายอยู่จำนวนหลายคัน ถัดไปที่กำแพงประตูวัดฝั่งด้านซ้ายมือ มีการตั้งโต๊ะขายน้ำดื่ม และน้ำมะพร้าวอ่อน ใกล้กันเห็นเสนาสนะ หรือสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ จำนวน 2 หลัง คือ อาคารคล้ายโบสถ์ ที่มีการระบุว่า เป็นโบสถ์ และอาคารที่ประดิษฐานพระพรหม โดยนักท่องเที่ยวเมื่อลงจากรถทัวร์ก็จะเดินมาซื้อดอกไม้ ธูปเทียนในจุดจำหน่ายบริเวณดังกล่าว หลังจากนั้น ก็จะมีไกด์ชาวจีนให้ความรู้เรื่องพระพรหมก่อนที่จะให้นักท่องเที่ยวเดินไปไหว้สักการะพระพรหม

หลังจากสักการะพระพรหมเสร็จแล้ว ไกด์ชาวจีนจะให้นักท่องเที่ยวกราบไหว้-ลูบต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ มีดอกไม้ปลอมสีเหลืองไปพันรอบลำต้น คล้ายกับเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ หลังไหว้บูชาต้นโพธิ์เสร็จแล้ว นักท่องเที่ยวชาวจีนเข้าไปยังเสนาสนะขนาดใหญ่ที่สร้างคล้ายโบสถ์ซึ่งอยู่ติดกันกับจุดที่ไหว้พระพรหม
โบสถ์จริงที่สร้างอยู่ในวัด
เมื่อตรวจสอบภายในเสนาสนะคล้ายโบสถ์ดังกล่าว เห็นพระพุทธประดิษฐานอยู่ 3 องค์ มีองค์ใหญ่ 1 องค์ และองค์ขนาดกลาง 2 องค์ มีตู้รับบริจาค ใกล้กันเห็นพระสงฆ์ 1 รูป นั่งเพื่อให้พร และประพรมน้ำมนต์แก่นักท่องเที่ยวที่เข้าไปภายในเสนาสนะดังกล่าว นอจากนั้น บริเวณด้านซ้าย และด้านขวาของประตูทางเข้าจะมีเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นคนจีนแผ่นดินใหญ่ทั้งชาย-หญิง สวมเสื้อสีเหลืองทุกคน ยืนประจำตู้ขายพระเครื่อง เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวจีนได้ที่เช่าไปสักการะ และเช่าพระเครื่องดังกล่าว จากการสังเกตเห็นพระเครื่องทุกองค์จะหุ้มด้วยทอง และมีการพูดจาในลักษณะเชิญชวน นำเสนอให้เช่าพระเครื่องดังกล่าว

ขณะที่ผู้สื่อข่าวไปสังเกตการณ์อยู่นั้น จะเห็นว่ามีรถทัวร์รับนักท่องเที่ยวเข้ามาภายในสถานที่ประกอบการอยู่ตลอด โดยที่นักท่องเที่ยวเหล่านั้นไม่ได้ไปสัมผัสกับโบสถ์ และสักการะพระประธานภายในโบสถ์ และส่วนอื่นๆ ของวัดแต่อย่างใด ทุกคนจะใช้เวลา และทำกิจกรรมอยู่เฉพาะในส่วนที่จัดไว้ให้เท่านั้น

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามเรื่องดังกล่าวไปยัง นายวิญญา ปลัดขวา ผอ.สำนักงานพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต ได้รับคำตอบว่า หลังจากที่มีการโพสต์ และแชร์เรื่อดังกล่าวออกไปอย่างกว้างขวาง ทางสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้มีคำสั่งให้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน ซึ่งจากการตรวจสอบในเบื้องต้น อาคารดังกล่าวไม่ใช่โบสถ์ปลอม เป็นเพียงเสนาสนะสิ่งก่อสร้างภายในวัดที่จะต้องก่อสร้างให้มีอัตลักษณ์ความเป็นวัด ทั้งในส่วนของรูปแบบอาคาร และลาดลายไทยเท่านั้น โบสถ์จริงของวัดมีอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน

ส่วนการจัดทัวร์จีนเข้าไปไหว้พระ และให้เช่าบูชาวัตถุมงคลกับนักท่องเที่ยวจีนนั้น เป็นการบริหารจัดของวัด กับคนเช่าพื้นที่ จากการตรวจสอบเบื้องต้นกับเจ้าอาวาสนั้น ทางวัดให้เอกชนที่เป็นคนไทยพื้นที่วัดเพื่อการพาณิชย์ ก่อสร้างอาคารดังกล่าว และพระพรหม สัญญาปีต่อปี ค่าเช่าเดือนละ 50,000 บาท หรือปีละ 600,000 บาท เพราะการเช่าที่วัดนั้นหากเช่าไม่เกิน 3 ปี เจ้าอาวาสมีสิทธิที่จะทำสัญญาเช่าได้ แต่ถ้าเช่าตั้งแต่ 3 ปีเป็นต้นไป จนถึง 20 ปี จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาศาสนสมบัติกลางประจำ (พศป.)

ผอ.สำนักพุทธภูเก็ต กล่าวต่อว่า การดำเนินการในลักษณะนำทัวร์จีนมาไหว้พระ และเช่าวัตถุมงคลภายในวัดที่ก่อสร้างขึ้นมานั้น ทางวัด และผู้เช่าสามารถดำเนินการได้ เพราะตามสัญญาที่ทำกันนั้นเช่าเพื่อพาณิชย์ ซึ่งไม่ขัดต่อศีลธรรม และประเพณีอันดีงาม ส่วนข้อสังเกตุที่ว่าสามารถใช้เช่าวัตถุมงคล และพระเครื่องภายในวัดได้หรือไม่นั้น หากวัตถุมงคล และเพราะเครื่องที่นำมาให้เช่ามีแหล่งที่มาที่ชัดเจนก็สามารถที่จะดำเนินการได้ สำหรับราคาที่บอกว่าสูงกว่าความเป็นจริงหลายเท่าตัว เข้าขายหลอกลวงนักท่องเที่ยวนั้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความเชื่อ ความศรัทธา และความพึงพอใจของของผู้เช่าบูชาแต่ละคน เป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่สามารถบอกได้ว่าราคาสูงหรือต่ำ แต่ยอมรับว่ามีการนำเสนอวัตถุมงคลให้นักท่องเที่ยววเช่าจริงๆ

ส่วนกรณีที่ระบุว่า มีพระสงฆ์มาทำพิธีกรรมต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวนั้น เท่าที่ตรวจสอบ และเคยลงไปในพื้นที่จริงไม่ได้มีการทำพิธีกรรมอะไร มีเพียงพระสงฆ์มาให้พร และประพรมน้ำพระพุทธมนต์เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติของชาวพุทธที่เวลาไปทำบุญแล้วพระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ส่วนพิธีกรรมอื่นๆ นั้นยืนยันว่าไม่มี

อย่างไรก็ตาม เพื่อตรวจสอบในเชิงลึกมากขึ้น ทั้งในเรื่องของการก่อสร้างอาคารที่ระบุว่าเป็นโบสถ์ปลอมตามที่เป็นข่าว และวัตถุมงคลที่นำมาให้นักท่องเที่ยวเช่านั้น ในวันพรุ่งนี้ (24 พ.ย.) ทางสำนักพระพุทธ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะลงไปตรวจสอบพื้นที่จริงอีกครั้งหนึ่ง และหากพบว่ามีการหลอกลวงนักท่องเที่ยวโดยการนำวัตถุมงคลปลอมให้เช่าบูชา จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด

นายวิญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวัดในภูเก็ต ที่ดำเนินการให้เช่าพื้นที่วัดเพื่อนำนักท่องเที่ยวชาวจีนเช่าไหว้พระ และเช่าวัตถุมงคลภายในวัดในลักษณะของกรุ๊ปทัวร์ มีอยู่ 3 วัด ด้วยกัน คือ วัดลัฎฐิวนาราม (วัดใต้) ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต วัดสว่างอารมณ์ หรือวัดราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต และวัดกะทู้ ซึ่งตั้งอยู่ใน ต.กะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ดำเนินการในลักษณะแบบนี้มาแล้วไม่ต่ำกว่า 3-4 ปี ทั้งนี้ ทางวัดมีวัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้รับจากค่าเช่ามาพัฒนาวัดต่อไป
ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศานาภูเก็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น