อาจารย์อักษรฯ จุฬาฯ วิพากษ์ดรามาตราสัญลักษณ์ “กระทรวงดิจิทัลฯ” ระบุสืบเนื่องจากกระทรวงไอซีทีเดิม ใช้พระพุธ แห่งการเจรจาสื่อสาร ไม่ใช่พระอินทร์ตามที่เข้าใจกัน ชี้ การใช้เทพปกรณัมอินเดีย ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด แนะคนไทยน่าจะใส่ใจเรื่องบทบาทหน้าที่มากกว่า
ผศ.ดร.ดร.ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนบทความกรณีตราสัญลักษณ์ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ว่า “ช่วงที่ผ่านมา มีดรามาเรื่องตรากระทรวงใหม่ นั่นคือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีคนจำนวนไม่น้อยคิดว่าตรากระทรวงดิจิทัลฯ ซึ่งเป็นเรื่องของทศวรรษนี้ ทำไมเชยเหลือเกิน ยังใช้รูปเทพเจ้า ซึ่งดูจะไม่เข้ากับความทันสมัย หรือ นำสมัยเอาเสียเลย นี่จะต้องบวงสรวง ทรงเจ้าเข้าผีกันด้วยหรือไม่ ต่างตั้งคำถามกันว่า สัญลักษณ์นี้สื่อถึงการทำเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตรงไหนกัน พระอินทร์มาเกี่ยวกับกระทรวงนี้ได้อย่างไร บ้างก็เหน็บแนมว่า นี่กระทรวงไสยศาสตร์แน่ ๆ ไม่ใช่กระทรวงดิจิทัลฯ ฯลฯ
แน่นอน คนที่ไม่ชอบตรานี้ก็มี คนที่ชอบก็มี เรื่องนี้คงเป็นเรื่องรสนิยม ลางเนื้อชอบลางยา จะตำหนิฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดคงไม่ได้ แต่หากมองแบบใจเป็นกลางก็จะเห็นว่า เมื่อเทียบกับตรากระทรวง กรมต่าง ๆ ของไทย ที่ใช้สัญลักษณ์จากเทพปรณัมอินเดีย เช่น พระวรุณ ราชสีห์ นกวายุภักษ์ เป็นต้น ก็คงเห็นได้ว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ผู้ออกแบบคงต้องการให้ออกมาทิศทางเดียวกัน อีกประการหนึ่ง สัญลักษณ์นี้สืบเนื่องจากกระทรวงเดิม คือ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ใช้สัญลักษณ์เป็น “พระพุธ” มาก่อน มาใช้ต่อ โดยมีการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมสัญลักษณ์อื่น ๆ เข้าไป
ในฐานะที่สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ เปิดสอนวิชา “เทพปกรณัมอินเดีย” จึงอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเทพเจ้าองค์นี้สักหน่อย
หลายท่านคงรู้จักตำนานเรื่องของพระพุธแล้ว (อย่าสับสนกับ “พุทธ” “พระพุทธเจ้า” นะ ไม่เกี่ยวกัน พุธ เขียนไม่มี ท- สะกด) พระพุธ เป็นโอรสของพระจันทร์ หรือ โสมะ กับนางตารา ชายาของพระพฤหัสบดี เทวคุรุ
พระจันทร์นั้นลักนางตาราไปร่วมอภิรมย์จนตั้งครรภ์ ตอนโอรสประสูติ เกิดกรณีพิพาทระหว่างพระจันทร์กับพระพฤหัสบดี ว่าใครคือบิดาที่แท้จริง โอรสนั้นจึงบอกความจริง ๆ ว่าตนนั้นเป็นโอรสของพระจันทร์และนางตารา ไม่ใช่ของพระพฤหัสบดี พระจันทร์จึงสรรเสริญโอรสของตน และตั้งชื่อว่า “พุธ” แปลว่า “ความรู้” “ความรอบรู้” “ผู้มีความรอบรู้” พระพุธ จึงเป็น เทพแห่งความรอบรู้และความเฉลียวฉลาด กล่าวกันว่า พระพุธ เป็นเทพมีกายสีเขียว หรือ เหลือง ซึ่งตรงนี้เอง ที่ทำให้คนไทยเข้าใจผิดว่าเทพในตราสัญลักษณ์กระทรวงดิจิทัลฯ เป็น “พระอินทร์” เพราะพระอินทร์อย่างไทยก็มีกายเขียวเช่นกัน (ในของอินเดีย พระอินทร์มีการสีทองบ้าง สีแดงเสนบ้าง)
ในเทพปกรณัมอินเดีย พระพุธเป็นสวามีของนางอิฑา ซึ่งเป็นร่างหญิงของท้าวอิฑะ (เรื่องอิลราช ที่เป็นที่รู้จักกันดี) ผู้ต้องคำสาปเนื่องจากไปล่วงละเมิดสวนขวัญของพระตรีศุลี ขณะทรงพระสำราญกับพระนางปารวตีอยู่ โอรสองค์หนึ่งที่มีชื่อเสียงของพระพุธกับนางอิฑา ก็คือ ราชาปุรูรวัส (เรื่องปุรูรวัส-นางอัปสรอุรวศี) ซึ่งเป็นกษัตริย์ต้นจันทรวงศ์
ในทางโหราศาสตร์ พระพุธ เป็นเทพนพเคราะห์องค์หนึ่ง เมื่ออินเดียรับโหรศาสตร์จากกรีกมา ก็ได้กำหนดให้พระพุธ เป็นเทพประจำดาวพุธ ตรงกับ Mercury (Mercurius) เทพโรมัน ซึ่งเป็นเทพแห่งการเจรจาสื่อสาร การเดินทาง การพาณิชย์ โชค กลอุบาย ผู้นำวิญญาณข้ามไปสู่ปรโลก (ตรงกับเทพ Hermes ของกรีก) หลายคนได้ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าคนออกแบบตรารับคอนเซ็ปต์เทวดาฝรั่ง เทียบเมอร์คิวรี่ (เทพประจำดาวพุธ เทพแห่งการสื่อสาร) เท่ากับพระพุธของอินเดีย ถูกผิดอย่างไรไม่ทราบเหมือนกัน
แต่หากพิจารณาในประเด็นที่ว่า “เป็นเทพแห่งการติดต่อสื่อสาร” แล้วละก็ จะเห็นว่า พระพุธ ไม่มีหน้าที่ หรือ คุณสมบัติในเรื่องการสื่อสารติดต่อระหว่างภพภูมิเลย ในเทพปกรณัมอินเดีย ผู้ที่เป็นผู้สื่อสาร ผู้เชื่อมต่อระหว่างเทวโลกและมนุษยโลก คือ “พระอัคนี” เทพเจ้าแห่งไฟ ที่นำเครื่องสังเวยจากโลกนี้ ไปถึงเทวดา ทำให้เทวดาพอใจและบันดาลความปรารถนาของผู้ประกอบยัชญพิธีให้สำเร็จ นอกจากนี้ ก็ยังมี “พระนารทมุนี” ที่คุ้นตาในหนังอินเดีย ผู้ถือพิณ พลางร้อง “นาร้ายยยยณ์ นารายยยยยณ์” นั่นแหละ ที่ท่องเที่ยวไปตามที่ต่าง ๆ บอกเล่าเรื่องราวของที่โน่นที่นี่ ให้อีกที่หนึ่งฟัง
ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า การรับ ปรับ แปลง ใช้วัฒนธรรมอินเดีย เทพปกรณัมอินเดีย ในบริบทต่าง ๆ ของคนไทย ในสังคมวัฒนธรรมไทย ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกประหลาด เพราะทำกันมานาน เสมือนเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของวัฒนธรรมเราก็ว่าได้ หากกลับมุมมอง มองเห็นประเด็นที่ว่านี้ ก็จะไม่รู้สึกดูแคลนวัฒนธรรมของเราเอง
เรื่องตรา จะเป็นรูปอะไร เป็นเรื่องขี้ผง หาได้เป็นสาระที่ควรจะมาดราม่ากันไม่ เราคนไทยน่าจะใส่ใจ หรือ สนใจมากกว่า ว่า กระทรวงใหม่นี้ มีพันธกิจ อำนาจหน้าที่อย่างไร ขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือไม่ เหมาะ หรือ ไม่เหมาะ ควรพัฒนาปรับปรุงตรงไหน อย่างไรมากกว่า หรือท่านเห็นว่าเป็นอย่างไร”