กรมศิลป์ เปิดให้ประชาชนสรงน้ำพระธาตุ-เทพนพเคราะห์ เพื่อเป็นสิริมงคลรับปีใหม่ไทย 12-14 เม.ย. ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พร้อมอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 9 องค์ ให้ประชาชนสรงน้ำบริเวณชั้น M ศูนย์การค้าสยามพารากอน 12-17 เม.ย.นี้
วันนี้ (12 เม.ย.) เมื่อเวลา 09.09 น. ที่ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีบวงสรวงพระบรมธาตุ และเทพนพเคราะห์ 9 องค์ ประกอบด้วย พระอาทิตย์ทรงราชสีห์ พระจันทร์ทรงม้า พระอังคารทรงมหิงสา พระพุธทรงคชสาร พระพฤหัสบดีทรงกวาง พระศุกร์ทรงโค พระเสาร์ทรงพยัคฆ์ พระราหูทรงพญาครุฑ และพระเกตุทรงนาค ที่กรมศิลปากร อัญเชิญออกมาจากห้องจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนสรงน้ำเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ โดยมีผู้บริหาร ข้าราชการกรมศิลปากร และประชาชนร่วมพิธีจำนวนมาก โดย นายอนันต์ กล่าวว่า การบวงสร้างเทพนพเคราะห์ ถือเป็นสิ่งที่ต้องทำในทุกครั้งที่มีการอัญเชิญออกมาจากห้องจัดแสดง เพื่อเป็นการบอกกล่าวว่า จะทำการใด เช่น ช่วงนี้เพื่อให้ประชาชนสรงน้ำในเทศกาลสงกรานต์ ถือเป็นวันดีในการเริ่มต้นปีใหม่ไทยด้วยสิริมงคลตามแบบแผนประเพณีที่ดีงามที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
สำหรับพระบรมธาตุที่อัญเชิญมาให้ประชาชนสรงน้ำในปีนี้ เป็นพระบรมธาตุที่พบในพระกรัณฑ์ก้านพระรัศมี พระพุทธสิหิงค์ ส่วนเทพนพเคราะห์ 9 องค์ เป็นประติมากรรมที่หล่อขึ้นตามแบบเทพนพเคราะห์ของไทย มีลักษณะการแต่งกายคล้ายคลึงกับภาพเทวรูปในสมุดไทยหมวดตำราภาพเทวรูปไสยา สามารถถ่ายทอดรูปแบบออกมาเป็นประติมากรรมแบบลอยตัว แสดงท่าทาง และลักษณะของเทพนพเคราะห์ได้อย่างสมจริง และมีชีวิตชีวา รักษาเอกลักษณ์ และลักษณะของเทพแต่ละองค์ไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ส่วนผู้สนใจสามารถมาสรงน้ำได้ที่ศาลาสำราญมุขมาตย์ พร้อมเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ และชมนิทรรศการพิเศษ “เทพนพเคราะห์” ระหว่างวันที่ 12-14 เม.ย. ตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น.
นายอนันต์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้อัญเชิญพระพุทธรูปมงคลโบราณภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร จำนวน 9 องค์ ไปประดิษฐานเป็นการชั่วคราวที่ Hall of Fame ชั้น M ศูนย์การค้าสยามพารากอน เพื่อให้ประชาชนสรงน้ำในเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 12-17 เม.ย. ประกอบด้วย 1.พระพุทธรูปประทานอภัย ศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ 18-19 ชนิดสัมฤทธิ์ หมายถึง ความไม่มีภัยทั้งปวง หรือไม่หวั่นเกรงภัยใดๆ
2.พระพุทธรูปทรงเครื่อง ปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21 เป็นพระพุทธรูปสำริดปิดทอง ปางมารวิชัยทรงเครื่อง หมายถึง ธรรมอันเป็นแก่นสารยิ่งกว่าอำนาจแห่งทรัพย์สมบัติทั้งหลาย 3.พระพุทธรูปถือตาลปัตรแบบศิลปะ ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 21-22 หมายถึงพระพุทธรูปในอิริยาบถทรงแสดงพระธรรมเทศนา
4.พระชัยเมืองนครราชสีมา ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 20 พระพุทธรูปแสดงปางมารวิชัย หมายว่า “ชัยชนะ” นิยมอัญเชิญในพระราชพิธีต่างๆ สำหรับขจัดอุปสรรค อำนวยให้พิธีการสำเร็จผล 5.พระพุทธรูปปางลองหนาว ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 22-23 พระพุทธรูปสำริดประทับนั่ง ศิลปะล้านนา บูชาเพื่อระลึกถึงการประมาณตน รู้จักความพอดี
6.พระพุทธรูปปางฉันสมอ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24 เพื่อให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ 7.พระพุทธรูปปางโปรดมหิสสรเทพบุตร (พระศิวะ) ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24 เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติผู้ที่เคารพกราบไหว้ไม่อยู่ในความประมาท ขจัดมิจฉาทิฐิ หรือความเห็นผิด
8.พระพุทธรูปปางขอฝน ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 25 บูชาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ และ 9.พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 26 บูชาเพื่อเตือนสติให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ มีขันติ ความอดกลั้น ปฏิบัติตามคำสอน และมีความเสงี่ยมเจียมตัว