xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านหาดสุรินทร์เมินโครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล เชื่อทำให้น้ำเซาะมากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต ลงพื้นที่ชี้แจงความเป็นมา และรูปแบบการดำเนินการของโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนไม่เห็นด้วยต่อการก่อสร้างโครงการดังกล่าว

วันนี้ (15 พ.ย.) ที่บริเวณชายหาดสุรินทร์ ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายทวี หอมหวล โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายมาแอน สำราญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล อ.ถลาง ตัวแทนนายอำเภอถลาง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้มีการชี้แจงต่อชาวบ้าน ผู้ประกอบการบริหารหาดดังกล่าว รวมถึงชาวบ้านหาดสุรินทร์ ซึ่งมาร่วมรับฟังประมาณ 50 คน ถึงการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล บริเวณหาดสุรินทร์ ด้วยงบประมาณ 38,750,000 บาท ของกรมโยธาธิการและผังเมือง

โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เชิงทะเล และเทศกิจ อบต.เชิงทะเล ดูแลความเรียบร้อย ซึ่งเหตุการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ในการดำเนินการชาวบ้านยังมีข้อสงสัย และไม่เห็นด้วยต่อการสร้างเขื่อน ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ให้ชาวบ้านลงลายมือชื่อเพื่อจะไปนำเสนอความคิดเห็นกันอีกครั้ง

นายจำลอง สิทธิโชค หนึ่งในชาวบ้านหาดสุรินทร์ กล่าวถึงโครงการจัดทำเขื่อนกันตลิ่ง ว่า ทางโยธาฯ ชี้แจงว่า เป็นโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ และสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะของชายหาด ซึ่งในส่วนของการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีความสวยงามถือเป็นเรื่องที่ดี และเห็นด้วย แต่ที่ตนและชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย คือ การสร้างเขื่อนซึ่งมีการใช้เสาเข็มจำนวนมากปักลงบนชายหาด โดยให้เห็นผลว่ามีการกัดเซาะของตลิ่ง

แต่จากการเก็บข้อมูลของตนมาอย่างต่อเนื่อง พบว่า การกัดเซาะของชายหาดแห่งนี้เกิดจากการปล่อยให้นายทุนบุกรุกสร้างเขื่อนบนชายหาด ทำให้ในช่วงหน้ามรสุมคลื่นเข้ามากระแทก ทำให้ร่องน้ำ และกระแสน้ำเปลี่ยน ผลักให้คลื่นซัดมายังฝั่งที่ไม่มีเขื่อนจึงเกิดการกัดเซาะ หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กรมโยธาฯ ได้มีการนำภาพปัญหาการกัดเซาะที่เกิดขึ้นไปจัดทำโครงการสร้างเขื่อนดังกล่าว

“สำหรับหาดสุรินทร์ การกัดเซาะหาดเกิดจากการสร้างเขื่อน ไม่ใช่เพราะไม่สร้างเขื่อน ซึ่งการแก้ปัญหาบริเวณชายหาดสุรินทร์แบบยั่งยืน คือ การใช้ธรรมชาติ การปลูกพืชชายหาด เช่น เตยทะเล ลำเจียก จิกทะเล หูกวาง เป็นต้น”

ด้าน นายมาแอน สำราญ นายก อบต.เชิงทะเล กล่าวยอมรับว่า การดำเนินการในครั้งนี้ไม่รอบคอบ ทั้งในส่วนของผู้ว่าจ้าง และผู้รับจ้าง เพราะการขุดทรายบนชายหาดในช่วงของฤดูกาลท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก ทำให้ทัศนียภาพเกิดความไม่สวยงาม การเข้ามาชี้แจงต่อชาวบ้านนั้น เนื่องจากที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะยังไม่เห็นรายละเอียดของโครงการ และบางคนก็ไม่เคยทราบเรื่องมาก่อน

ในขณะที่โครงการนี้ทางเจ้าของโครงการได้ร่วมกับ อบต.จัดรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว 7-8 ครั้ง โดยมีทางสมาชิก อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และกรรมการหมู่บ้านได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย แต่ ณ ปัจจุบันก็ไม่ปฎิเสธการแสดงความคิดเห็นผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมทำประชาพิจารณ์ ซึ่งจะได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจ และเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง เบื้องต้น ทางโยธาฯ จังหวัด จะให้ทางผู้รับจ้างปรับสภาพพื้นที่ชายหาดให้เหมือนเดิมก่อน และจะมาร่วมกันกำหนดรูปแบบการก่อสร้างอีกครั้ง

ด้าน นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง นักวิชาการอิสระด้านการจัดการทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเล กล่าวถึงปัญหาหาดสุรินทร์ ว่า การจัดทำโครงการเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งดังกล่าวได้มีการทำประชาพิจารณ์มาอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ทั้งท้องถิ่น และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องต่างไม่เห็นด้วยต่อวิธีการสร้างเขื่อนที่มีโครงสร้างแข็ง หรือผสมผสานกับโครงการสร้างอ่อน เพราะไม่เกิดความยั่งยืน และจะไปเร่งคลื่นลมดึงทรายออกไปอย่างรวดเร็ว จากสภาพทั่วไปของชายหาดปัจจุบันถือว่ามีสภาพที่ค่อนข้างดี

ดูจากพืชพันธุ์ไม้ชายหาด เช่น ผักบุ้งทะเล เตยทะเล เป็นต้น ที่มีอยู่ยังสามารถรักษาสภาพชายหาดได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของชายหาดสุรินทร์นั้นจะเป็นไปตามวงรอบธรรมชาติ หน้ามรสุมจะดึงทรายออกเมื่อเข้าสู่สภาพปกติก็จะพัดทรายกลับมาเหมือนเดิม

“หากมีการสร้างเขื่อน สิ่งที่น่าห่วงคือ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นป่าชายหาด หรือระบบนิเวศหาดทรายเสียหาย สังเกตจากสภาพชายหาดที่มีการขุดทรายขึ้นมาทำให้เตยทะเลที่มีขนาดใหญ่ และต้องใช้เวลาในการเติบโตเสียหายไปหลายต้น เพราะพืชเหล่านี้จะช่วยยึดชายหาดไว้ได้ อีกประการ หาดสุรินทร์เป็นหาดชันไม่ใช่หาดราบ ฉะนั้นอย่าคิดว่าการที่สภาพชายหาดเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดจากการกัดเซาะชายฝั่ง จึงไม่เห็นด้วยที่จะมีการก่อสร้างบนหาดทราย”
กำลังโหลดความคิดเห็น