ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ระยะเวลา 1 ปีของผู้ว่าฯ จ.สงขลา ควรทำอะไร? คำแนะนำจากชมรมข้าราชการบำนาญ กระทรวงมหาดไทย จ.สงขลา และนักปกครองอาวุโสจากภาคใต้ตอนล่าง เร่งจัดการปัญหาโพงพางในทะเลสาบ เตรียมรับมือกลุ่มผู้เห็นต่างในโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด
วันนี้ (17 ต.ค.) ที่ห้องประชุมเล็ก โรงแรมวีแอล หาดใหญ่ นายวิสุทธิ์ สิงห์ขจรวรกุล อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ประธานชมรมข้าราชการบำนาญ กระทรวงมหาดไทย จ.สงขลา และนักปกครองอาวุโสจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการประชุมประจำเดือน โดยเชิญ นายดลเดช พัฒนรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา คนใหม่ เข้าร่วมประชุม เพื่อที่จะได้รับฟังข้อเสนอแนะในการบริหารจังหวัดสงขลา จากชมรมฯ ซึ่งเป็นนักปกครองรุ่นพี่ที่ต่างมีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดินมาก่อน
โดยมีนักปกครองระดับอดีต รมช.มหาดไทย เช่น นายบัญญัติ จันทร์เสนะ และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ อดีตรองเลขาธิการ ศอ.บต. เข้าร่วมประชุมกว่า 30 คน โดยทางชมรมฯ ได้เชิญ นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย เข้าร่วมรับฟัง และนำเสนอคิดเห็นในการพัฒนา และแก้ปัญหาต่างๆ ของ จ.สงขลา ที่ต้องดำเนินการในระยะเวลา 1 ปี
โดย นายวิสุทธิ์ ได้นำเสนอเรื่องการฟื้นฟู เปิดจุดผ่อนปรน หรือช่องขาวแดง ในอดีตที่ชายแดนตลาดปาดังเบซาร์ เพื่อแก้ปัญหาความซบเซาของเศรษฐกิจการค้าชายแดนระหว่างประเทศ ซึ่งในเบื้องต้น นายด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ ก็มีแนวคิดในการที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เมืองชายแดนแห่งนี้ รวมทั้งให้มีการติดตามผลักดันในเรื่องของระบบรางของการเดินรถไฟระหว่างประเทศ ซึ่งฝ่ายมาเลเซียได้ดำเนินการไปแล้ว แต่ฝ่ายไทยยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเริ่มโครงการได้เมื่อไหร่
นายวิสุทธิ์ ยังมีความเห็นต่อไปว่า จังหวัดสงขลา ควรจะมีการสานความสัมพันธ์กับสุลต่านรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย เพื่อให้มีความแน่นแฟ้นเพราะมีชายแดนที่ติดต่อกัน รวมทั้งให้มีการติดตามความคืบหน้าในเรื่องของเขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.สะเดา จ.สงขลา เพราะขณะนี้ความก้าวหน้าของเขตเศรษฐกิจพิเศษได้เงียบหายไป
ขณะที่ นายบัญญัติ จันทร์เสนะ อดีต รมช.มหาดไทย และอดีต ผวจ.สงขลา ได้กล่าวถึงจุดแข็งของ จ.สงขลา ที่มีมากกว่าพื้นที่อื่นๆ มีภาคีเครือข่ายที่พร้อมในด้านการพัฒนา เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่มีการต่อเนื่องในแผนงาน และโครงการต่างๆ รวมทั้งไม่ได้เข้าไปดูแลอย่างจริงจัง เช่น การกำกับดูแลในงานของส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครอง ที่จะต้องทำในฐานะที่เป็นตัวแทนของรัฐบาล
ในขณะที่ ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ อดีตรองเลขาธิการ ศอ.บต. ได้นำเสนอถึงโครงการไทยแลนด์ 4.0 ว่า จังหวัดสงขลา จะต้องให้ความสำคัญ โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์จากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล เพราะนโยบายนี้ถ้ามีการผลักดันให้เกิดประโยชน์จะครอบคลุมประชาชนทุกสาขาอาชีพ
ด้าน นายไชยยงค์ ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่ต้องแก้ไข เช่น ปัญหาการทุจริตในโครงการ 9101 ซึ่งเกิดขึ้นในหลายอำเภอของ จ.สงขลา และเห็นด้วยต่อข้อเสนอของ นายบัญญัติ จันทร์เสนะ ในการกำกับดูแลท้องถิ่น เนื่องจากพบว่า มีการทุจริต และเรียกรับประโยชน์สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งปัญหาการระบาดของยาเสพติดใน จ.สงขลา ที่มาจากการเรียกรับ “ส่วย” จากผู้ค้ายาเสพติดของเจ้าหน้าที่ในทุกอำเภอ รวมทั้งต้องมีแผนในการผลักดันให้นโยบาย 4.0 ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน อย่าให้เป็นเพียง “วาทกรรม” แต่ต้องทำให้เป็น “รูปธรรม” ที่จับต้องได้
และสิ่งที่ จ.สงขลา ต้องเข้าใจ และแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรืออาจจะเกิดขึ้นหลังเดือนตุลาคม คือ เรื่องของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ที่ อ.จะนะ ซึ่ง จ.สงขลา จะกลายเป็นเวทีการเคลื่อนไหวของผู้เห็นต่างในโครงการสร้างท่าเรือ และโรงไฟฟ้า ในโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเตรียมแผนในการรับมือต่อปัญหา เช่นเดียวกับปัญหาความมั่นคงใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่มีความเคลื่อนไหวในด้านการ “บ่มเพาะ” ซึ่งเป็นงานด้านการเมืองมากขึ้น โดยให้จับตากลุ่มคนที่ไปศึกษาต่อใน 3 จังหวัดชายแดนที่เสี่ยงต่อการเป็นแนวร่วมรุ่นใหม่ เพื่อก่อการร้ายในพื้นที่
นอกจากนั้น อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายท่านได้นำเสนอให้ นายดลเดช แก้ปัญหาเครื่องมือการทำประมงที่ผิดกฎหมาย เช่น โพงพาง และอื่นๆ ในทะเลสาบสงขลา ซึ่งในสมัยที่ นายธำรงค์ เจริญกุล อดีต ผวจ.สงขลา ได้แก้ปัญหาไปแล้วบางส่วน แต่ขณะนี้ชาวประมงในพื้นที่ได้รุกล้ำเข้ามาทำโพงพาง จนสร้างปัญหาต่อการเดินเรือ และการทำลายภูมทัศน์ให้เกิดขึ้นอีก จึงต้องการให้มีการแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน
ซึ่ง นายดลเดช ได้กล่าวขอบคุณทุกท่านที่ให้ข้อเสนอแนะในการทำงาน และตนเองก็ได้ทำงานทันทีที่เดินทางมารับตำแหน่ง ซึ่งตนเองก็ได้ให้ความสนใจต่อปัญหาขยะ สิ่งแวดล้อม และปัญหาการจราจร โดยได้ลงพื้นที่ไปดูปัญหา และพบปะกับบุคคลกลุ่มต่างๆ บ้างแล้ว ซึ่ง 1 ปีที่ตนมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา จะพยายามทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ เพราะมีทีมงานตั้งแต่รอง ผวจ. ปลัดจังหวัด และนายอำเภอ ซึ่งเป็นผู้ที่รู้งาน รู้ปัญหาทุกอย่างอยู่แล้ว