xs
xsm
sm
md
lg

“เครือข่ายประชาชนฯ” ร่อนหนังสือต่อ “นายอำเภอเทพา” เรียกร้องความเป็นธรรมให้แกนนำ (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “เครือข่ายประชาชนฯ” เข้ายื่นหนังสือต่อ “นายอำเภอเทพา” จ.สงขลา สอบถามกรณีมีกลุ่มคนเข้าไปติดตั้งเครื่องมือตรวจอากาศในพื้นที่ที่ กฟผ.จะขอใช้ที่ดิน เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ “นายอิศดาเรส หะยีเด” แกนนำเครือข่ายฯ ในกรณีถูกวิชามารเล่นงาน
 
 
ด้วยอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ กลุ่มอาสาสมัครที่เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ต้องการให้ประชาชนได้มีส่วนรวมในการปกป้องและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การกระทำการใดๆ ของอาสาสมัครจะต้องเป็นไปตามระเบียบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2558 ที่ได้มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ และบทบาทไว้ตามสมควร เพื่อประโยชน์สูงสุดของการรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดีงามของชุมชน
 
จากกรณีที่ นายอิสดาเรส หะยีเด และพวก ในฐานะประธาน และสมาชิกเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อ.เทพา จ.สงขลา ได้แจ้งผ่านศูนย์ดำรงธรรม ว่า มีการบุกรุก และทำลายพื้นที่ป่าชายเลนในพื้นที่บ้านคลองควาย หมู่ที่ 8 อ.เทพา ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ผ่านศูนย์ดำรงธรรม เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2560 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ป่าชายเลนดังกล่าวได้เข้าไปทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่า มีคณะบุคคล หรือกลุ่มองค์กรใดที่มีส่วนร่วมการกระทำผิดเหล่านั้นหรือไม่อย่างไร
 
จนเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 ได้มีการประชุมของคณะกรรมการเพื่อให้มีการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ณ ที่ว่าการอำเภอเทพา ซึ่งมีหัวหน้าสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 38 ในฐานะหน่วยงานผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ป่าชายเลนที่ถูกร้องเรียนเป็นผู้จัดทำรายงานสรุปผลการประชุมในวันนั้น จนได้มีการนำผลสรุปดังกล่าวส่งให้ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรม เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 ซึ่งมีข้อสรุปอย่างเป็นทางการว่า
 
1.จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า มีการตัดต้นไม้โกงกางจริง ตามข้อร้องเรียนของ นายอิสดาเรส หะยีเด และพวกจริง โดยมีการตัดต้นไม้ที่เป็นต้นจำนวนทั้งหมด 58 ต้น และตัดไม้ที่เป็นกิ่งอีก 152 กิ่ง
 
2.พบว่ามีการปลูกสร้างศาลาอเนกประสงค์ในพื้นที่ป่าชายเลนจริง แต่เมื่อพิสูจน์แล้วพบว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการฯ จะส่งเรื่องให้สำนักงานป่าไม้เป็นผู้ทำการตรวจสอบการกระทำความผิดนี้ในโอกาสต่อไป
 
จากผลสรุปดังกล่าว จึงมีความชัดเจนในการกระทำความผิดของกลุ่มที่เข้าไปร่วมกันจัดทำโครงการตัดแต่งกิ่งป่าชายเลน อันถือเป็นการกระทำการที่เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีการบุกรุกพื้นที่ของทางราชการจริง ตามที่ได้มีการร้องเรียน แต่จากการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบกลับมีข้อพิจารณาที่มีความขัดแย้งกับคำวินิจฉัยเบื้องต้น คือ
 

 
กรณีที่ 1 คณะกรรมการยอมรับว่ามีการทำลายป่าไม้จริง แต่กลับอ้างแทนผู้กระทำความผิดว่ากระทำไปด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เสมือนไม่รู้ในข้อกฎหมายที่มีอยู่ ทั้งที่คณะผู้จัดทำโครงการคือกลุ่มอนุรักษ์ ที่น่าจะมีความรัก และหวงแหนซึ่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และไม่ได้ทำการตัดแต่งกิ่งตามที่อ้างในโครงการ แต่กลับตัดต้นไม้ทั้งต้น ซึ่งคิดว่าจะมีการน้ำไม้เหล่านั้นไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น และมากไปกว่านั้น การตรวจสอบครั้งนี้ก็ไม่ได้ชี้โทษไปถึงองค์กรที่ร่วมทำโครงการทั้ง 2 องค์กร คือ องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ก็น่าจะเป็นองค์กรที่มีภูมิรู้ในเรื่องกฎหมาย หรือมีบุคลากรที่มีความรู้อยู่จำนวนมาก ก็น่าจะรับรู้ได้ว่าการกระทำการดังกล่าวถือเป็นการขัดต่อสภาพความเป็นจริง ดังนั้น จึงไม่อาจจะยอมรับในคำอธิบายที่ว่า กลุ่มผู้กระทำความผิดเหล่านี้เป็นผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะเป็นการยอมรับบรรทัดฐานของการกระทำดังกล่าวของกลุ่มอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันนี้ได้ต่อไป
 
กรณีที่ 2 การบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน ทางคณะกรรมการก็ได้ส่งเรื่องให้กรมป่าไม้ในฐานะผู้ดูแลป่าสงวนแห่งชาติ เป็นผู้เข้ามาตรวจสอบต่อไป ถือว่ายอมรับได้ในฐานะของความรับผิดชอบ แต่คณะผู้ตรวจสอบก็จะต้องทำหน้าที่ติดตาม และตรวจสอบให้กรมป่าไม้ได้เข้ามาทำการตรวจสอบ จนกว่าจะเสร็จสิ้นหลังจากนี้
 
ดังนั้น การวินิจฉัยของคณะกรรมการผู้ตรวจสอบจึงถือเป็นสิ่งที่นำไปสู่ความเข้าใจผิดต่อสังคม และเสมือนว่าไม่ได้มีการกระทำความผิดตามที่ นายอิสดาเรส หะยีเด และพวกได้ทำการร้องเรียน จนนำไปสู่การออกมาประท้วงของชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง จนนำไปสู่การกล่าวหาอย่างไร้เหตุผลว่า นายอิสดาเรส กระทำไปเพื่อกลั่นแกล้งพี่น้องประชาชนบ้านคลองควาย และยังมีคนบางกลุ่มพยายามยุยงปลุกปั่นให้มีการขับไล่ นายอิสดาเรส ให้ออกจากตำแหน่งรองนายกเทศบาลตำบลเทพา อีกด้วย ยิ่งกลายเป็นการสร้างความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงต่อสาธารณะ
 

 
ทั้งหมดนี้เพราะจากเหตุที่คำวินิจฉัยดังกล่าวนั้น ไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงความผิดตามตัวบทกฎหมายที่มี ว่าเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายใด มาตราที่เท่าไหร่ และจะมีบทลงโทษอย่างไร และที่มากไปกว่านั้นคือ การตรวจสอบดังกล่าวไม่ได้ตรวจสอบไปถึงหน่วยงานที่เข้าร่วมกระทำความผิดดังกล่าว อย่าง องค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ซึ่งอ้างตามหนังสือชี้แจงของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 ตามหนังสือที่ ตช.0030.532/1164 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2560 ที่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า โครงการตัดแต่งกิ่งนี้เกิดขึ้นโดยกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำและป่าชายเลนเทพา โดยร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. องค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง โดยมีการระบุว่า นายฮามะ บากา ประธานกลุ่มฯ ดังกล่าว เป็นผู้จัดทำโครงการนี้ขึ้น
 
สำหรับ นายอิสดาเรส หะยีเด ถือเป็นบุคคลที่มีผู้รักใคร่ชอบพอเป็นจำนวนมาก และยังเป็นผู้ที่มีบทบาททางสังคมในอำเภอเทพา ในฐานะรองนายกเทศบาลตำบลเทพา ด้วยต่างรู้กันดีถึงนิสัย ใจคอ และความตั้งใจอันมุ่งมั่นต่อการสร้างประโยชน์เพื่อส่วนร่วมอย่างแท้จริง และต่อการกระทำการเพื่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ถือเป็นความกล้าหาญที่ได้นำเรื่องการตัดไม้ทำลายป่าชายเลน และการบุกรุกพื้นที่ป่าแจ้งให้หน่วยงานราชการทราบ อันเป็นการทำหน้าที่ในฐานะประธานเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างเต็มที่ และจริงจัง ที่หน่วยงานราชการเองก็จะต้องให้การส่งเสริม และให้กำลังใจ โดยต้องไม่ปล่อยให้คนที่ออกมาเสนอตัวเป็นประชาชนจิตอาสาเพื่อส่วนร่วมจะต้องกลายเป็นจำเลยของสังคมอย่างที่เป็นอยู่ เพียงเพราะความไม่กล้าหาญของระบบราชการที่ไม่ชี้ชัดให้สังคมให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดที่ได้เกิดขึ้นแล้วอย่างตรงไปตรงมา และเพื่อให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้นต่อสังคม และสร้างความกระจ่างแก่สาธารณะต่อกรณีปัญหาดังกล่าวนี้ เราจึงมีข้อเสนอถึงนายอำเภอเทพา ดังนี้
 

 
1.จะต้องทบทวนคำวินิจฉัยตามรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามหนังสือเลขที่ สข. 0017.1/1197 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 เสียใหม่ ซึ่งจะต้องสร้างความกระจ่างต่อเรื่องนี้ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม โดยต้องชี้ให้เห็นถึงการกระทำความผิดตามตัวบทกฎหมายบ้านเมืองอย่างตรงไปตรงมา มิใช่แค่อ้างว่าผู้กระทำความผิดรู้เท่าไม่ถึงการณ์
 
2.จะต้องตรวจสอบกับองค์กร หน่วยงานที่มีส่วนร่วมส่งเสริม หรือสนับสนุนให้เกิดการกระทำความผิดในครั้งนี้ด้วย ซึ่งหมายถึงองค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานแก่สังคมต่อไป
 
3.ส่วนของการแก้ไขปัญหาของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเดินเรือ หากพบว่ามีต้นไม้ หรือสิ่งกีดขวางการเดินเรือจริงก็ขอให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ตามลำดับขั้นตอนทางราชการ ซึ่งปกติแล้วจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อเรื่องนี้เป็นการเบื้องต้น คือ สำนักงานเจ้าท่าจังหวัด ซึ่งมีอำนาจตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยอยู่แล้ว มิใช่ต้องปล่อยให้ประชาชนต้องแก้ไขปัญหาเพียงลำพัง และด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนนำไปสู่การกระทำผิดกฎหมายอย่างไม่รู้ตัว หรือเป็นไปตามคำปลุกปั่นให้ใครบางกลุ่มเท่านั้น
 
จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา และดำเนินการ ขอแสดงความนับถือ
นายหมิด ชายเต็ม คณะผู้แทนเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา
 
กำลังโหลดความคิดเห็น