xs
xsm
sm
md
lg

สุดล้ำ! นวัตกรรมใหม่เกษตรกรสตูล “เลี้ยงวัวโดยไม่ใช้หญ้า” ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้งาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
สตูล - อย่างเจ๋ง! นวัตกรรมใหม่เกษตรกรในพื้นที่ อ.ควนกาหลง จ.สตูล “เลี้ยงวัวโดยไม่ใช้หญ้าแม้แต่เส้นเดียว” ช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้อย่างงาม บนความไม่พร้อมของสถานที่ เผยยินดีถ่ายทอดข้อมูลให้เกษตรกรรายอื่นหากมีความต้องการ

วันนี้ (12 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวได้พาไปดูนวัตกรรมการให้อาหารวัว ของเกษตรกรในพื้นที่ อ.ควนกาหลง จ.สตูล โดยไม่ให้วัวกินหญ้าเลยแม้แต่เส้นเดียว ซึ่งเปลี่ยนไปใช้วัสดุทางการเกษตรอย่างอื่นที่มีมากในท้องถิ่นอย่างใบปาล์ม ร่วมกับอาหารอย่างอื่นทำให้ลดต้นทุน

หากพูดถึงการเลี้ยงวัวแล้ว อาหารหลักก็ต้องเป็นหญ้า หรือฟางข้าว แต่ด้วยสภาพพื้นที่ไม่เพียงพอในการปลูกหญ้า บวกกับฟางข้าวมีราคาสูง เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวจำนวนมากจึงเปลี่ยนแนวคิดค้นเพื่อหาวิธีในการใช้พืชที่มีอยู่ในท้องถิ่นเพื่อมาเป็นอาหารแทน และก็ได้ผ่านมาอย่างเกินความคาดหมาย หลังลองผิดลองถูกจนประสบความสำเร็จ

มาวันนี้ นายสมยศ เวชสิทธิ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงวัว เจ้าของแนวคิดนี้ไม่ให้ฝูงวัวจำนวนมากของตนต้องกินหญ้าแม้แต่เส้นเดียว โดยเลือกที่จะใช้ใบปาล์มสดร่วมกับอาหารข้นที่มีประโยชน์ ผสมเป็นอาหารเลี้ยงวัวแทน สร้างรายได้อย่างงดงามบนความไม่พร้อมของสถานที่
 

 
โดยความไม่พร้อมของสถานที่ ซึ่งสวนทางต่อความชื่นชอบ ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ “เลี้ยงวัวโดยไม่ให้กินหญ้า” นายสมยศ เวชสิทธิ์ อายุ 49 ปี เกษตรกรเลี้ยงวัวในพื้นที่หมู่ 7 ต.อุใดเจริญ อ.ควนกาหลง จ.สตูล บอกว่า ส่วนตัวแล้วเป็นคนชอบวัว ชอบที่จะเลี้ยง แต่ไม่มีพื้นที่เลี้ยง และไม่มีพื้นที่ปลูกหญ้า จึงได้คิดต่อไปอีกว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ถ้าจะเลี้ยงวัวโดยไม่ต้องใช้หญ้า จึงเลือกใช้ใบปาล์มน้ำมันแทน เนื่องจากในหมู่บ้านมีใบปาล์มน้ำมันเยอะ แรกเริ่มจากวัว 1 คู่ หลังเลี้ยงด้วยใบปาล์มน้ำมันขยายมาเป็น 19 ตัว ปัจจุบัน ได้ทำคอกให้อยู่บนพื้นที่ 1 ไร่ ของพี่ชายซึ่งแบ่งไว้ให้ใช้เริ่มแออัด

ในช่วงวันละ 2 เวลาของทุกวัน นายสมยศ จะนำอาหาร ซึ่งประกอบด้วย ใบปาล์มสดตัดครึ่งหนึ่งของทางปาล์ม เลือกใช้ส่วนปลายเพราะมีใบมาก และทางปาล์มไม่แข็ง นำมาเข้าเครื่องบดหยาบ ผสมน้ำเกลือแกงเพิ่มรสชาติ ก่อนจะให้วัวกินคู่กับอาหารข้น 100 กิโลกรัม ประกอบด้วย ขี้เค้ก (ของเหลือใช้หลังจากการสกัดน้ำมันปาล์มภายในโรงงาน) 56 กิโลกรัม เม็ดในปาล์มบด 33 กิโลกรัม ปลายข้าว 11 กิโลกรัม เฉลี่ยค่าใช้จ่ายจากอาหารข้นกิโลกรัมละ 3.50 สตางค์ เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหารให้วัวมีสุขภาพดี ไม่เป็นโรคง่าย สังเกตดูแล้วจะเป็นที่ชื่นชอบของวัว
 

 
นายสมยศ บอกอีกว่า สิ่งที่ได้จากการเลี้ยงวัวด้วยวิธีนี้เป็นการลดต้นทุน ลดเวลาในการเลี้ยง โดยใน 1 วันใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงในการดูแล ให้อาหาร 2 มื้อ โดยวัว 1 ตัว จะกินอาหาร 18 กิโลกรัมต่อวัน แยกเป็นทางปาล์มบดหยาบ 15 กิโลกรัม อาหารข้น 3 กิโลกรัม ลดต้นทุนไปได้เป็นอย่างมาก เพราะทางปาล์มนำมาจากสวนปาล์มของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งทุกๆ 20 วัน เจ้าของสวนจะตัดทะลายปาล์ม และตัดทางปาล์มทิ้งไว้ที่โคนต้น แล้วก็จะไปเก็บมาบดทำเป็นอาหารให้วัวกินแทนหญ้าและฟาง

ทั้งนี้ หากถามว่าใบปาล์มมีเพียงพอหรือไม่สำหรับเลี้ยงวัวจำนวนมาก ตรงนี้บอกเลยว่า พอ เพราะในพื้นที่ อ.ควนกาหลง มีสวนปาล์มของสหกรณ์ที่สามารถไปเก็บใบได้มากถึง 400 ไร่ นอกจากนั้น ชาวบ้านในพื้นที่ก็อนุญาตให้ไปเก็บ เพื่อเป็นการลดขยะภายในสวนปาล์มไปในตัวได้อีกด้วย

ใน 1 วัน นายสมยศ บอกว่า วัว 19 ตัว ที่เลี้ยงไว้จะให้มูล (ขี้วัว) วันละ 200 กิโลกรัม เฉลี่ยประมาณ 5,000 กิโลกรัมต่อเดือน จะขายได้ในราคากิโลกรัมละ 2 บาท หากนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก พด.1 ก็จะเพิ่มมูลค่าเป็นกิโลกรัมละ 6 บาท หากต่อยอดต่อไปอีก โดยการนำปุ๋ยหมัก พด.1 ผสมกับปุ๋ยเคมีไม่เกิน 20% จะจำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ 10 บาท ส่วนมูลวัว (ขี้วัว) ก็จะจ้างหลานมาเก็บวันละ 60 บาท ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง เป็นการสร้างรายได้ให้เด็กได้อีกด้วย
 

 
สำหรับผลตอบรับการการเลี้ยงวัวโดยไม่ใช้หญ้านี้ รายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายขี้วัว ซึ่งผลิตได้เดือนละ 5,000 กิโลกรัม ทำปุ๋ยหมักขายกิโลกรัมละ 6 บาท รายได้ต่อเดือนประมาณ 30,000 บาท ต้นทุนอาหารวัวเฉลี่ยเดือนละ 6,000 บาท โดยวัวที่เลี้ยงมีทั้งพันธุ์พื้นเมือง ลูกผสม และวัวโค สำหรับผู้ที่สนใจเลี้ยงวัว แต่มีพื้นที่น้อยก็สามารถเลี้ยงได้ เพราะไม่ต้องปลูกหญ้า โดยใน จ.สตูล มีการปลูกปาล์มกันเยอะ แต่ทาง หรือใบปาล์มเป็นของไร้ประโยชน์ จึงสามารถนำมาทำเป็นอาหารให้วัวได้ จะเอาขี้ไปทำปุ๋ยก็ได้ด้วย

ส่วนการทำปุ๋ยจากมูลสัตว์นั้น นายสมยศ ได้รับความรู้จาก นายเสถียร ทองขาวบัว อายุ 75 ปี หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน โดยหมอดินบอกว่า การเลี้ยงวัวอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อค่าอาหาร จึงแนะนำให้นำมูลวัว (ขี้วัว) มาผสมเป็นปุ๋ยหมักเพิ่มรายได้ มีกำไรเท่าตัว ส่วนการทำปุ๋ยนั้นไม่ยากเพียงแต่ต้องมีความพยายาม ต้องทำอย่างละเอียดอย่าให้ผิดขั้นตอน ส่วนวัตถุดิบที่นำมาทำปุ๋ยต้องเลือกส่วนที่มีประโยชน์ ซึ่งปุ๋ยนี้จะทำให้ดินร่วนซุย เพิ่มอากาศ เพิ่มน้ำให้รากต้นไม้ได้หายใจ
 

 
ขณะที่ นายถนอมพล สังสัน เจ้าพนักงานการเกษตรปฏิบัติงาน สถานีพัฒนาที่ดินสตูล กล่าวว่า จากการรับทราบข้อมูลการเลี้ยงวัวโดยไม่ใช้หญ้าแม้แต่เส้นเดียวของเกษตรกรรายนี้ และสามารถผลิตมูลวัวได้เดือนละ 5 ตัน เพื่อมาผลิตเป็นปุ๋ยหมัก ทางสถานีพัฒนาที่ดิน จึงเข้ามาส่งเสริมในเรื่องการทำปุ๋ยหมักให้มีเชื้อราไตรโคเดอร์มา ซึ่งจะช่วยป้องกันของรากเน่า โคนเน่าของพืชหลายๆ ชนิด โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจของ จ.สตูล คือ ยางพารา แทบจะเป็นโรคนี้เกือบ 100% ส่วนนี้เป็นการต่อยอดการทำปุ๋ยหมักโดยใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.3 ของกรมพัฒนาที่ดิน ที่จะให้เกษตรกรได้นำไปใช้

สำหรับเกษตรรายอื่นที่สนใจการเลี้ยงวัวแบบนายสมยศ ก็จะแนะนำให้เข้ามาศึกษาด้วยตัวเองจะได้เห็นของจริง ซึ่งตรงนี้น ายสมยศ ก็ยินดีที่จะถ่ายทอดข้อมูลเพื่อนำไปทำเป็นอาชีพต่อไปได้หากมีความต้องการ
 





กำลังโหลดความคิดเห็น