xs
xsm
sm
md
lg

ร้องสื่อ! นายทุนรุกที่ป่าช้าปลูกยาง รัฐเฉยไม่ทำอะไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สุราษฎร์ธานี - อดีตผู้ช่วยกำนันตำบลสมอทอง อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ร้องสื่อหลังยื่นหนังสือร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดในเรื่องนายทุนบุกรุกครอบครองพื้นที่ป่าช้าเก่า ที่ชาวบ้านใช้ร่วมกันมากว่า 100 ปี นำไปปลูกยางพารามาเกือบ 4 ปี เรื่องไม่มีความคืบหน้า ล่าสุด นายทุนเหิมนำหลักเสาปูนมาปักแบ่งแนวเขตอย่างชัดเจน เลยต้องร้องสื่อช่วย

วันนี้ (8 ก.ย.) นายปรารภ เหล็กดำ อายุ 57 ปี อยู่บ้านเลขที่ 197 หมู่ที่ 6 ตำบลสมอทอง อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี อดีตผู้ช่วยกำนันตำบลสมอทองปี 2540-2543 ได้นำเอกสารพร้อมภาพถ่ายและสำเนาการร้องเรียนเรียกร้องให้ตรวจสอบการบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ (ที่ดินป่าช้าเก่า) ที่ถูกนายทุนบุกรุกครอบครองปลูกยางพาราอายุกว่า 2 ปี จำนวนกว่า 4 ไร่เศษ และเรียกร้องให้เปิดทางเข้าออกในพื้นที่ ต่อศูนย์ดำรงธรรมอำเภอท่าชนะ และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2556 แต่เวลาผ่านไปเกือบ 4 ปี เรื่องยังไม่มีความคืบหน้า จึงวอนสื่อเป็นสื่อกลางในการนำเสนอ

นายปรารภ กล่าวว่า พื้นที่ป่าช้าเก่าดั้งเดิม มีจำนวน 10 ไร่เศษ ที่ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ที่ 6 บ้านทุ่งค้อ ตำบลสมอทอง ใช้ร่วมกันมากว่า 100 ปี ต่อมา มีนายทุนบุกรุกแผ้วถางป่าตัดโค่นต้นไม้ยางนาและตะเคียนทอง จำนวนกว่า 400 ต้น ที่ตน และชาวบ้านร่วมกันปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 9 ทิ้งแล้วเข้าครอบครองปลูกยางพาราไปจำนวนกว่า 4 ไร่เศษ ตนเองได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.ท่าชนะ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2557 แต่เรื่องไม่มีการดำเนินการอย่างไร

ต่อมา นายอาทิตย์ ธรรมโสภณ อดีตกำนันตำบลสมอทอง ปัจจุบันตำแหน่งนายก อบต.สมอทอง ได้ขอออกหนังสือ นสล.จำนวน 5 ไร่เศษ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2546 ทางชาวบ้านในพื้นที่ที่ใช้ชื่อกลุ่มปลูกป่าถวายพ่อ ได้ยื่นหนังสือติดตามให้นำพื้นที่ป่าช้าเก่าที่ถูกบุกรุกกลับคืนมาเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์เพื่อจัดทำเป็นป่าชุมชนให้ประชาชนในพื้นที่ใช้ร่วมกัน แต่ทุกวันนี้เรื่องไม่มีความคืบหน้า จึงวอนสื่อช่วยเป็นสื่อกลางนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปเผยแพร่สู่สาธารณชน และผู้ใหญ่ของบ้านเมืองให้รับรู้จะได้ช่วยสั่งการให้เร่งดำเนินการแก้ไขต่อไป

นายปรารภ และชาวบ้านได้พาผู้สื่อข่าวลงดูพื้นที่จริง พร้อมกับชี้จุดพื้นที่ป่าช้าเก่า ที่ถูกนายทุนบุกรุกปลูกต้นยางพารา อายุกว่า 2 ปีจริง และพบว่า พื้นที่ดังกล่าวมีการปักเสาปูนล้อมแบ่งแนวเขตกับพื้นที่ป่าช้าเก่าอย่างชัดเจน
กำลังโหลดความคิดเห็น