ปัตตานี - รองผู้ว่าฯ จ.ปัตตานี เรียกประชุมด่วนหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ถอดบทเรียนแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในห้วงเวลานี้
วันนี้ (13 มิ.ย.) ที่ศาลากลางจังหวัดปัตตานี นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา รองผู้ว่าราชกรจังหวัดปัตตานี ประธานการประชุมถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ปี 2560 เพื่อสรุปผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมา กิจกรรมที่โดดเด่น ปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไข เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงการดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป โดยมี นายอำนาจ ผลมาตย์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารภัยปัตตานี หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และปลัดอำเภอทั้ง 12 อำเภอ ร่วมประชุม
สำหรับสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน จ.ปัตตานี สถิติสถานการณ์ไฟป่าของ จ.ปัตตานี ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ พ.ศ.2554-2558 พบว่า ไม่มีสถานการณ์ไฟไหม้พื้นที่ป่าใน จ.ปัตตานี สำหรับสถานการณ์หมอกควันของจังหวัดในรอบ 4 ปี ที่ผ่านมา (ดัชนีคุณภาพ AQI ปริมาณฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน PM10)
ทั้งนี้ เนื่องจากในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาตมของทุกปี เป็นฤดูแล้งของกลุ่มประเทศอาเซียนตอนล่าง คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย และในห้วงเวลานี้ในประเทศอินโดนีเซีย บริเวณเกาะสุมาตรา และเกาะกาลิมันตัน ซึ่งจะมีการแผ้วถางพื้นที่โดยการเผาทำการเกษตร เช่นเดียวกับภาคเหนือของประเทศไทย และห้วงเวลาเดียวกันนี้ ลมที่พัดจะเป็นลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อการเผ่าป่า หรือพื้นที่เกษตรในเกาะสุมาตราเป็นจำนวนมาก และทิศทางลมพัดขึ้นมาตอนบน ทำให้หมอกควันข้ามแดนส่งผลกระทบมาสู่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สงขลา นราธิวาส ยะลา สตูล และปัตตานี ซึ่งมีคุณภาพอากาศอยู่ในขั้นอันตราย และเสี่ยงต่อสุขภาพ จากสถานการณ์หมอกควันของ จ.ปัตตานี ที่ผ่านมา ปี พ.ศ.2556-2559 สามารถประเมินคุณภาพอากาศได้จากจังหวัดใกล้เคียงคือ ยะลา และนราธิวาส
นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อเตรียมรับสถานการณ์หมอกควันไฟที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งทุกปี จ.ปัตตานี จะได้รับผลกระทบจากหมอกควันไฟป่าจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งถือว่ามีความหนาแน่นมาก ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการสัญจรบนท้องถนน และทางทะเล สิ่งที่กระทบโดยรวม คือ ด้านสุขภาพของประชาชน ทุกปีจะพบว่าประชาชนมีปัญหาเรื่องระบบหายใจ เพราะสูดดมหมอกควันไฟเข้าร่างกาย ทำให้มีผู้ป่วยเข้ารักษาที่โรงพยาบาลจำนวนหลายราย ดังนั้น จึงต้องมีมาตรการป้องกัน และแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบล่วงหน้า เพื่อจะได้รู้วิธีการป้องกันจากควันไฟป่าที่อาจจะเกิดขึ้นในห้วงเวลานี้