ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต 23 ชุมชน กว่า 300 คน บุกศาลากลาง เรียกร้องผู้ว่าฯ แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าชายเลน หลัง 6 ชุมชนนำร่องไม่ผ่าเกณฑ์กระทรวงทรัพย์ ด้านผู้ว่าฯ ส่งเรื่องให้กระทรวงทรัพย์พิจารณาทบทวนข้อมูลใหม่
เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (5 มิ.ย.) เครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต จาก 23 ชุมชนทั่วจังหวัดภูเก็ต ประมาณ 300 คน นำโดย นายเสกสรร สุขนึก แกนนำเครือข่ายฯ ได้เดินทางมายังศาลากลางจังหวัดภูเก็ต เพื่อเรียกร้อง และยื่นหนังสือให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทอง แก้ไขปัญหาการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโนบายรัฐบาลในปีงบประมาณ 2560 พร้อมป้ายข้อความเรียกร้องสิทธิชุมชน และติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ภายหลังจากเครือข่ายสิทธิชุมชนคนจนพัฒนาภูเก็ต ได้รับข้อมูลว่า ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 ได้นำเสนอข้อมูลไปยังกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ว่า พื้นที่นำร่อง 6 ชุมชน ซึ่งประกอบด้วย ชุมชนท่าสัก ชุมชนบางรากไม้ ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ชุมชนเกาะผี ชุมชนธนิตธุรกิจรวมสิน ชุมชนอ่าวยนต์ และชุมชนโหนทรายทอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต ไม่มีความเหมาะสมในการดำเนินการจัดที่ดินเพื่ออยู่อาศัย
เนื่องจากชุมชนส่วนใหญ่พื้นที่ตั้งอยู่ใกล้เมือง มีการขยายตัวกลายเป็นชุมชนใหญ่ และมีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต ที่อยู่อาศัยบางชุมชนถูกปรับเปลี่ยนไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวค่อนข้างมาก ตั้งอยู่ในพื้นที่ซับซ้อนของหลายหน่วยงาน บางชุมชนเข้ามาอยู่อาศัยหลังปี 2543 ซึ่งเป็นบ้านเรือนบุกรุกใหม่เกือบทั้งหมด ทำให้เห็นว่า พื้นที่ 6 ชุมชน น่าจะยังไม่เข้าข่ายหลักเกณฑ์และนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ที่จะดำเนินการจัดที่ดินให้ผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ดินทำกินและอยู่อาศัย และที่ดินทั้ง 6 ชุมชน อยู่ในขั้นตอนที่ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พิจารณาออกกฎกระทรวง กำหนดพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์
อย่างไรก็ตาม ทางผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้เชิญตัวแทนชุมชนทั้ง 23 ชุมชน ร่วมหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน พร้อมด้วย นายสนิท ศรีวิหค นายธีระ อนันตเสวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ตัวแทนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้ารับฟังการประชุมดังกล่าว
นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกัน ว่า การจัดสรรที่ดินเพื่อทำกิน และอยู่อาศัยในเขตป่าชายเลนเสื่อมโทรมสำหรับผู้ยากจนนั้น ทางกระทรวงทรัพย์ได้ดำเนินการใน 2 ระดับ คือ ระดับนโยบาย และระดับจังหวัด ซึ่งการดำเนินการของภูเก็ต ยังอยู่ในขั้นตอนแรกที่ได้มีการเสนอ 6 ชุมชนที่อยู่ในเขตป่าชายเลนเป็นพื้นที่นำร่อง ปรากฏว่า ทั้ง 6 ชุมชนนั้นไม่เข้าตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงทรัพย์กำหนด ซึ่งเรื่องนี้ทางจังหวัดจะทำหนังสือไปยังกระทรวงทรัพย์ให้ทบทวนข้อมูลของทั้ง 6 ชุมชนใหม่อีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งเชิญตัวแทนจากกระทรวงทรัพย์มาประชุมหารือร่วมกัน ส่วนชุมชนอื่นๆ ที่เหลือก็จะมีการจัดเก็บข้อมูลใหม่ทุกแห่งเหมือนกัน หลังจากนั้นก็จะมีการจัดลำดับความพร้อมของแต่ละชุมชนในการขอออกเป็นโฉนดชุมชนต่อไป
“จากการหารือร่วมกัน ทางตัวแทนของชุมชนเองก็เข้าใจถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แต่เพื่อให้ข้อมูลถูกต้องที่สุด จึงขอทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง” นายนรภัทร กล่าว