สตูล - เหยื่อแชร์ลูกโซ่ใน จ.สตูล กว่า 40 ราย ทยอยเข้าแจ้งความหลังถูกลวงให้ลงทุนอสังหาริมทรัพย์ บ้าน และทอง ก่อนเผ่นหนี สอบพบมีเหยื่อกระจายทั่วไทยถึง 400 ราย ลงทุนในชื่อ “บ้านเลขที่ 5” มูลค่าเงินลงทุนรวม 160 ล้านบาท
วันนี้ (3 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูล ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล เหยื่อผู้เสียหายจากแชร์ลูกโซ่ในชื่อ “บ้านเลขที่ 5” เดินทางเข้าพบ พล.ต.ต.ทัตธงสักก์ ภู่พันธัชสีห์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูล เพื่อร้องเรียนเพิ่มเติม หลังก่อนหน้านี้ มีเหยื่อทยอยเข้าแจ้งความที่ สภ.เมืองสตูล ขณะนี้กว่า 40 รายแล้วนั้น ซึ่งทางตำรวจเชื่อว่าน่าจะมีเหยื่อมากกว่านี้
โดยเหยื่อรายหนึ่ง ชื่อ เอ (นามสมมติ) ซึ่งได้รับความไว้วางใจในช่วงแรกจาก น.ส.ณิชชภัทร ภัทรธาดา ซึ่งเป็นเพื่อนสมัยวัยเรียนได้เริ่มชักชวน และล่อลวง กล่าวว่า ตนได้รับว่าจ้างให้ทำบัญชีการลงทุนในครั้งนี้จาก น.ส.ณิชภัทร ภัทรธาดา เดือนละ 3,000 บาท แต่ผู้ว่าจ้างอาศัยอยู่ที่ จ.นครปฐม และเนื่องจากเป็นเพื่อนสมัยวัยเรียนที่ จ.สตูล โดยตนก็ลงหุ้นเล่นด้วย เพราะความไว้เนื้อเชื่อใจคนสนิท และเห็นความเปลี่ยนแปลงของเพื่อนจากโปรไฟล์ที่อัปในเฟซบุ๊ก ก่อนชักชวนคนใกล้ตัวมาร่วมลงทุน และเป็นเครือข่ายกัน ด้วยการหลงเชื่อจากการจ่ายผลตอบแทนในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 จากวงเงินที่ชักชวนให้มาร่วมลงทุนอสังหาริมทรัพย์ บ้าน ทอง และตราสารหนี้
ซึ่งใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสาร สร้างเป็นกลุ่มเฉพาะชื่อ “กลุ่มบ้านเลขที่ 5” ทำให้ดูเหมือนจับต้องได้จริง มีการเปิดลงทุนในแต่ละสัปดาห์ ตั้งแต่หลักหมื่น ถึงหลักล้านบาท และมีการโอนเงินจ่ายจริงในเวลาอันใกล้ เพียงแค่ลงทุนใน 1 สัปดาห์ ทำให้เหยื่อที่มีทั้งทุนหนา บางรายระดมเงินทุนคนในครอบครัว พ่อแม่ พี่น้อง และเครือญาติเพียงครอบครัวเดียวสูงถึง 7 ล้านบาท เพื่อหวังผลตอบแทนที่เห็นว่าได้ดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคารที่จ่ายให้ และเหยื่อไม่ได้ทำเฉพาะในพื้นที่ จ.สตูล ยังพบว่ามีเหยื่ออยู่ในหลายพื้นที่ร่วม 400 ราย มีมูลค่าความเสียหายถึง 160 ล้านบาท
พล.ต.ต.ทัตธงสักก์ ภู่พันธัชสีห์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูล ระบุว่า ขณะนี้ยังมีผู้เสียหายทยอยเดินทางมาแจ้งความแล้วกว่า 40 ราย โดยเชื่อว่ายังมีเหยื่ออีก และขอให้รีบมาแจ้ง เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นคดีฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นคดีต่างกรรมต่างวาระ เข้าใจว่าบางคนเกรงกลัวว่าจะกระทบต่อครอบครัว หน้าที่การงาน เพราะหากมีการจับกุมแล้วขั้นตอนกฎหมายมีกระบวนการของมันในการยึดทรัพย์ ที่เชื่อว่าได้มาจากการฉ้อโกงนำขายทอดตลาด และจะมีการนำเงินมาเฉลี่ยให้แก่เหยื่อผู้เสียหาย ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการออกหมายเรียกในตัวผู้ต้องหา หากยังไม่มาก็จะออกหมายจับ