xs
xsm
sm
md
lg

รมช.ศึกษาลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า นโยบายรัฐเขตสามเหลี่ยมเมืองต้นแบบที่โก-ลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
นราธิวาส - รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หนึ่งในคณะ ครม.ส่วนหน้า ลงพื้นที่ติดตามคืบหน้านโยบายรัฐบาล เขตสามเหลี่ยมเมืองต้นแบบที่โก-ลก จ.นราธิวาส ขณะที่หอการค้าฯ เชื่อมั่นอนาคตปัญหาภัยต่อความมั่นคงจะคลี่คลาย หลังรัฐเดินหน้า 2 เวอร์ชัน

วันนี้ (19 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมวิทยาลัยการอาชีพสุไหงโก-ลก อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เป็นประธานการประชุมการศึกษาแบบบูรณาการการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการขับเคลื่อนการศึกษา ในการรองรับ อ.สุไหงโก-ลก ซึ่งเป็น 1 ใน 3 เมืองต้นแบบ โดยเป็นนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังจากที่ได้สนับสนุนงบประมาณปี 60 ในการดำเนินการ 3 โครงการ ด้วยวงเงิน จำนวน 532.70 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ มี นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รอง ผู้ว่าฯ จ.นราธิวาส พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์ ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ นายปรีชา นวลน้อย นายอำเภอสุไหงโก-ลก หอการค้า จ.นราธิวาส สภาอุตสาหกรรม จ.นราธิวาส และหน่วยงานทางการศึกษา จำนวนกว่า 100 คน ได้เข้าร่วมประชุมพร้อมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหัวข้อใหญ่ๆ 3 ประการ คือ การนำผู้ผลิตพบผู้บริโภค ยกระดับสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งหัวใจหลักคือ นักการตลาด และแหล่งเงินทุนให้แก่นักธุรกิจที่ต้องการมาลงทุน

ปัจจัยหลักที่สามารถนำไปสู่เมืองต้นแบบอย่างยั่งยืน คือ ปัจจัยด้านการศึกษาต้องมีการปูพื้นฐานในกลุ่มเยาวชนตั้งแต่เยาว์วัย โดย พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์ ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ ซึ่งรับผิดชอบ และได้นำไปวิจัยพบว่า ในปีการศึกษา ปี 2560 จะบรรจุวิชาเชิงธุรกิจ 14 วิชา 57 บทเรียน ให้นักเรียนชั้น ป.5 ได้เรียนแต่เนินๆ เป็นวิชาที่สอดแทรกในเรื่องของการค้าการขาย วิชาวัฒนธรรมการบริโภค ที่เราต้องเรียนรู้ถึงวัฒนธรรมของประเทศคู่ค้า อย่าง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย รวมทั้งการเรียนภาษาจีน อังกฤษ และยาวีในโรงเรียน เมื่อเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา เราจะสามารถผลิตนักการตลาดได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นกลไกของเมืองต้นแบบ และยั่งยืนได้เป็นอย่างดี โดยที่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลางในการทำ และขยายธุรกิจ

ด้าน พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ทาง จ.นราธิวาส ก็ได้จัดแผนการศึกษาแล้วเป็นอย่างดี และต่อเนื่อง ไม่ว่าในเรื่องของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ว่า พื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่ง ครม.ได้อนุมัติโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน ขึ้นมา เพราะฉะนั้นมันจะเป็นส่วนช่วยเสริมการทำงานให้เข้มแข็งขึ้น ที่ อ.สุไหงโก-ลก ที่มีความเข้มแข็งในเรื่องของการค้าชายแดน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกี่ยวข้องคือ การเตรียมคน การผลิตคน การพัฒนาคน จะสอดคล้องต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้มอบหมายให้ไปพัฒนาแผน การปรับปรุงแผน ได้ประมาณ 1 ถึง 2 เดือน ก็จะนำแผนมาเชื่อมโยงกันให้เป็นพื้นที่เดียวกันทั้ง 3 จังหวัด ที่จะทำตามแนวทางพัฒนาประเทศก็คือ ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างยิ่ง ในส่วนความสัมพันธ์ เนื่องจากพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ติดประเทศเพื่อนบ้าน ชายแดนมาเลเซีย ขณะนี้ยืนยันทางภาครัฐในระดับท้องถิ่น ส่วนภูมิภาค และส่วนกลาง ได้ประสานงานร่วมกันเป็นอย่างดีกับทางการมาเลเซีย ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเอื้ออำนวย ต่อเรื่องเศรษฐกิจ และประชาชนทั้ง 2 ประเทศ

ด้าน นายศรัณย์ วังสัตตบงกช ประธานหอการค้า จ.นราธิวาส กล่าวว่า ในพื้นที่ จ.นราธิวาส รัฐบาลได้อนุมัติ 2 รูปแบบโครงการ หรือ 2 เวอร์ชัน คือ เขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะจัดทำตามแผนงาน อยู่ในพื้นที่ ต.ละหาร อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส เป็นการจูงใจให้ภาคส่วนการลงทุนในภาคอื่น มาทำการลงทุนโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ เพื่อสร้างงานให้แก่คน และรายได้เข้าพื้นที่ ขณะนี้มีความคืบหน้ามีผู้นักธุรกิจสนใจมาลงทุนไปแล้วตามลำดับ

และอีก 1 ในนโยบายโครงการ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน เมือง หรือ อ.สุไหงโก-ลก ได้รับเป็นเมืองต้นแบบ 1 ใน 10 ระดับประเทศ ในมุมมอง เห็นว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อประชาชน และพื้นที่เป็นอย่างมาก และโครงเดินหน้า และมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก และหลังจากที่รัฐบาลให้เมืองสุไหงโก-ลก เป็นเมืองต้นแบบ ทางรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นเมืองชายแดน มีประชากรในรัฐกลันตันกว่า 2 ล้านคน ทั้งภาครัฐ และประชาชนรับทราบข่าวสาร และมีความเชื่อมั่นว่า สุไหงโก-ลก จะมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจขยายตัวเร็วได้อย่างแน่นอน ซึ่งนักธุรกิจ และนักท่องเที่ยวมาเลเซีย สนใจที่จะมาท่องเที่ยว และลงทุนในพื้นที่สุไหงโก-ลก อีกด้วย

ซึ่งล่าสุด ในส่วนการศึกษา ทาง จ.นราธิวาส จะเปิดการสอนพิเศษ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต คือ การสอนภาษาอังกฤษ ภาษาบาฮาซา และภาษาจีน เป็นอย่างน้อย และเชื่อมั่นว่า ใน 2 เวอร์ชัน จะทำให้พื้นที่ จ.นราธิวาส เจริญขึ้น และมั่นคงขึ้น รวมถึงปัญหาความไม่สงบ หรือภัยความมั่นคงจะลดถอยน้อยลงไปคลี่คลายมากขึ้น และจะหมดไปในที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาครัฐเองในท้องถิ่นจำเป็นที่จะต้องปรับ โดยเฉพาะข้อมูลพื้นฐาน

ขณะที่ นางสุชาดา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ความไม่สงบที่ผ่านมา ไม่น้อยกว่า 12 ปี ทำให้พื้นที่ได้รับผลกระทบหลายด้าน และบางโครงการในห้วงที่ผ่านมาต้องหยุดชะงัก และเป็นเมืองร้าง ซึ่งขณะนี้ทางเทศบาลฯ หอการค้าฯ และเอกชนในพื้นที่ได้เสนอนำโครงการบ้านเคหะร้าง บนเนื้อที่ 25 ไร่ มาพัฒนาใหม่ เพราะปัจจุบันเป็นที่อยู่ของกลุ่มหลบซ่อนของกลุ่มคนร้าย ก่อคดีอาชญากรรม และจะมาปรับเป็นในลักษณะ สุไหงโก-ลก คอมเพล็กซ์ เป็นศูนย์รวมสินค้า และอื่นๆ ของคนในพื้นที่ ซึ่งได้รับการตอบรับจากรัฐบาล และอยู่ในขั้นตอนพิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไปแล้ว
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น