xs
xsm
sm
md
lg

“ไทย-อินโดฯ-มาเลย์” ผุดแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจใหม่ ดันเส้นทางท่องเที่ยว “อาเจะห์-ปีนัง-ภูเก็ต-หาดใหญ่-3 จว.ชายแดนใต้”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ไทย-อินโดนีเซีย-มาเลเซีย” ผุดแผนสาม “พัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย” ในเวทีระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 22 ระยะ 5 ปี 2560-64 เน้นภาคเกษตรแปรรูป เกษตรท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล เตรียมสร้าง “ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่” เชื่อม “ด่านบูกิตกายูฮิตัม” คาดเสร็จปี 2562 พร้อมก่อสร้าง 2 สะพานข้ามแม่น้ำโกลกแห่งใหม่” “ตากใบ (นราธิวาส)-ตุมปัต (กลันตัน) และ “สุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง” เชิญ “บิ๊กตู่” วางศิลาฤกษ์ปีหน้า ฝัน! พัฒนาสายการผลิตข้ามแดนของยางพาราเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในแนวเส้นทางอาเจะห์-ปีนัง-ภูเก็ต-หาดใหญ่-สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

วันนี้ (23 ก.ย) มีรายงานว่าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 22 และแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle : IMT-GT) ณ โรงแรมเซนติโด้ เกรซแลนด์ เขาหลัก รีสอร์ต แอนด์ สปา โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ของไทย เป็นประธาน มีนายโทมัส ตริกาซี เล็มบอง ประธานคณะกรรมการประสานงานด้านการลงทุนแห่งชาติของอินโดนีเซีย (ตำแหน่งเทียบเท่ารัฐมนตรี) และ ดาโต๊ะ อับดุล เราะห์มาน บิน ดะห์ลัน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย เข้าร่วมการประชุม

การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย เจ้าหน้าที่อาวุโสจากสามประเทศ ได้แก่ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นประธานที่ประชุมระดับ เจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 23 แผนงาน IMT-GT ดร.ริซาล อัฟฟานดิ ลุคมาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงประสานกิจการเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย ด้านการประสานความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ระหว่างประเทศ และ ดาโต๊ะ นิค อาซมาน นิค อับดุล มายิด รองผู้อำนวยการสำนักงานวางแผนเศรษฐกิจ มาเลเซีย นอกจากนี้ มีมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัดของแผนงาน IMT-GT ของสามประเทศเข้าร่วม

โดยมีสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้ รัฐมนตรี IMT-GT รับทราบผลการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 23 ซึ่งได้มีการรายงานผลสำเร็จการดำเนินงานโครงการแผนงาน IMT-GT ปีสุดท้ายของแผน ดำเนินงานระยะห้าปี แผนที่ 2 ปี 2555-2559 (Implementation Blueprint 2012-2016) ใน 6 สาขา ความร่วมมือ ได้แก่ (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง (2) การค้าการลงทุน (3) การท่องเที่ยว (4) ผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล (5) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และ (6) การเกษตร อุตสาหกรรมเกษตรและ สิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ มีโครงการสำคัญของ 6 สาขาความร่วมมือ ได้แก่ การพัฒนาด่านชายแดน เช่น ด่านสะเดา-บูกิตกายูฮิตัม ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้มาเป็นประธานเปิดอาคารด่านขาออกหลังใหม่เมื่อเดือนธันวาคม 2558 ด่านบ้านประกอบ-ดูเรียนบุหรง จังหวัดสงขลา การก่อสร้างท่าเรือนาเกลือในจังหวัดตรังแล้วเสร็จและเปิดใช้ งานแล้ว การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไทย-มาเลเซีย เชื่อมโยงสงขลากับรัฐเกดะห์และปะลิส และนราธิวาสกับรัฐกลันตัน เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าที่มีศักยภาพข้ามแดน ซึ่งมาเลเซียเสนอโครงการชูปิงวัลเลย์ (Chuping Valley) รัฐปะลิส เพื่อเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดาและโครงการเมืองยางพาราซึ่งบริหาร โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โครงการให้บริการขนส่งโดยเรือเฟอร์รีขนส่งผู้โดยสารและสินค้า ระหว่างมะละกา-ดูไม (IMT-GT Melaka-Dumai Ro-Ro) ซึ่งโครงการเหล่านี้จะเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน โครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ห่วงโซ่เกษตรกรรมที่มีมูลค่าสูงและปลอดภัย เช่น แพะพันธุ์สุราษฎร์เรด การจัดทำคู่มือเดินทางท่องเที่ยวฮาลาล (Halal Route) การท่องเที่ยวตามรอยธรรม หลวงปู่ทวดในไทยและมาเลเซีย การแลกเปลี่ยนฝีกอบรมแรงงาน

รัฐมนตรี IMT-GT เห็นชอบในหลักการการศึกษาทบทวนยุทธศาสตร์ IMT-GT เพื่อวางแผนพัฒนาให้ทันความเปลี่ยนแปลงในโลกและภูมิภาคตามวิสัยทัศน์ระยะยาว (20 ปี) และการจัดทำแผน ดำเนินงานระยะ 5 ปี แผนที่ 3 ปี 2560-2564 เพื่อให้มีทิศทางการดำเนินงานในอนาคตภายหลังแผนระยะ ห้าปีแผนที่ 2 เสร็จสิ้นลง โดยให้ความสำคัญต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม การพัฒนาที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนโครงการที่มีผลกระทบสูงและให้ผลลัพธ์ที่เห็นผลได้ชัดเจน โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาเกื้อกูลกัน

ทั้งนี้ สาขาความร่วมมือที่จะให้ความสำคัญมากขึ้นจะประกอบไปด้วยการเกษตรและแปรรูป เกษตร การท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล โดยมีสาขาความร่วมมือที่เป็นพื้นฐานสำคัญและจะมาส่งเสริมซึ่งกันและกัน ได้แก่ ความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม โดยศูนย์ CIMT รับข้อสั่งการของ รัฐมนตรีไปปรับปรุงรายงานและเสนอผ่านกระบวนการหารือสามประเทศให้แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2560 โดยพร้อมนำเสนอในที่ประชุมระดับผู้นำครั้งที่ 10 แผนงาน IMT-GT ในเดือนเมษายน 2560 ที่ฟิลิปปินส์ โครงการที่เตรียมบรรจุในแผนระยะ 5 ปี แผนที่ 3 ที่สำคัญ เช่น การก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่โดยบูรณาการการก่อสร้างเชื่อมโยงกับด่านศุลกากรบูกิตกายูฮิตัม กำหนดแล้วเสร็จปี 2562 การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลกแห่งใหม่ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส-เมืองตุมปัต รัฐกลันตัน และสะพานแห่งที่ 2 ข้ามแม่น้ำโกลกที่อำเภอสุไหงโก-ลก-เมืองรันเตาปันยัง รัฐกลันตัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีสองประเทศมีกำหนดร่วมกระทำพิธีวางศิลาฤกษ์ราวกลางปี 2560 กำหนดแล้วเสร็จราวปี 2562-2563

3. รัฐมนตรี IMT-GT รับทราบผลการประชุมระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2559 ซึ่งมีเรื่องความก้าวหน้าและผลสำเร็จของการดำเนินโครงการสำคัญ ได้แก่ การขับเคลื่อนโครงการเมืองสีเขียว (Green city) ในพื้นที่เทศบาลนครสงขลาและหาดใหญ่ มะละกา บาตัม และเมดาน การจัดประชุม IMT-GT Green Council ครั้งที่ 1 ที่รัฐมะละกา ซึ่งจังหวัดสงขลาจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุม IMT-GT Green Council ครั้งที่ 2 ที่อำเภอหาดใหญ่ ในเดือนสิงหาคม 2560 ด้วย โครงการอาคาร ประหยัดพลังงานที่มะละกาและสงขลา โดยจังหวัดสงขลามี 17 อาคาร การก่อสร้างศูนย์เรือเฟอร์รี่ Roll on/ Roll off (RoRo) มะละกา-ดูไม ความร่วมมือยางพาราระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและ Tradewind Plantation ของมาเลเซีย เส้นทางท่องเที่ยวเมืองเก่า การท่องเที่ยวเชิงฮาลาล ศูนย์กลางการ ท่องเที่ยวทางเรือที่เมืองซาบัง อาเจะห์

4. รัฐมนตรี IMT-GT ให้ความสำคัญการขับเคลื่อนแผนงานโดยยกระดับบทบาทของภาคเอกชน ได้แก่ สภาธุรกิจ IMT-GT โดยสนับสนุนสภาธุรกิจให้เป็นองค์กรที่เป็นที่ยอมรับและการรับข้อเสนอด้านการ อำนวยความสะดวกจากภาครัฐเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและการประกอบธุรกิจในพื้นที่ IMT-GT เช่น การเร่งรัดพัฒนาด่านชายแดน การอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและการเดินทางผ่านแดนทางบก การพัฒนาสายการผลิตข้ามแดนของยางพารา ความเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในแนวเส้นทางอาเจห์-ปีนัง-ภูเก็ต-หาดใหญ่-สามจังหวัดชายแดน การจัดตั้งศูนย์ลอจิสติกส์ฮาลาล การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเมืองมรดก ทางวัฒนธรรมระหว่างเมดาน-ปีนัง-มะละกา-สงขลา

5. รัฐมนตรี IMT-GT ให้ความสำคัญต่อความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยใน IMT-GT (IMT-GT UNINET) ที่ขณะนี้มหาวิทยาลัยเชกัวลา อาเจะห์ อินโดนีเซีย เป็นประธาน โดยที่เน้นการเสริมสร้าง บทบาทของมหาวิทยาลัยใน IMT-GT ในการทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนในด้านการวิจัยและพัฒนา การเสริมสร้างศักยภาพ และโครงการเคลื่อนย้ายบุคลากรที่มีความสามารถ (Talent Mobility) เพื่อให้เกิดการ สร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนใน IMT-GT โดยใช้วัฒนธรรมและการศึกษาเป็นสื่อกลาง ทั้งนี้ อินโดนีเซียรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 23 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับแผนงาน IMT-GT ณ จังหวัดบังกา-เบลิตุง ในช่วงปลายปี 2560



กำลังโหลดความคิดเห็น