xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางเพลงชีวิต ความคิด ความใฝ่ฝัน “ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์” / รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ทักษิณ สงขลา
--------------------------------------------------------------------------------
 
 
ผมได้รับชักชวนจากเพื่อนพ้องน้องพี่ในแวดวงนักพัฒนา และคนทำงานวรรณกรรม ร่วมเสวนาเปิดตัวหนังสือ “เส้นทางเพลงชีวิต ความคิด ความฝัน ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์” เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2557 นี้ เข้าใจว่าน่าจะมาจากการที่ผมมีชื่อปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้ จากการที่เขานำบทสัมภาษณ์ชิ้นหนึ่งในผู้จัดการออนไลน์เรื่อง “ข้อเสนอดีๆ ต่อมวลมิตร กป.อพช.ใต้ ในย่างก้าวผ่าน 30 ปี” ไปอภิปรายในหัวเรื่องที่ 62 นักปฏิบัติการทางสังคม
 
กับในอีกฐานะหนึ่ง ผมกับ ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ ที่ผมเรียกว่า “พี่เจี๊ยบ” ติดปากมาตั้งแต่ ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ กับพวกไม่ว่าจะเป็น สุวิทย์ วัดหนู อมร อมรรัตนานนท์ ประเสริฐ พงศ์เสนี ศินา เข้าไปทำงานในคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) อย่างขยันขันแข็ง หลังเหตุการณ์เดือน พ.ค.2535 และมักจะไปนั่ง/ตั้งวงถกกันที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ในซอยเทพลีลา 39 ย่านรามคำแหง ซึ่งผมใช้เป็นที่สิง-หลับนอน รวมไปถึงการใช้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมนักศึกษา
 
หนังสือ “เส้นทางเพลงชีวิต ความคิด ความฝัน ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์” บอกกับเราว่า ในฐานะปัจเจกบุคคลที่เขียนถึงความคิด ความฝัน และการต่อสู้เพื่อสังคมใหม่มาอย่างน้อย 40 ปี ชาญวิทย์ ได้บอกกับเราว่า ความคิด ความฝัน แรงปรารถนา และการรักษาอุดมคตินั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ หากสามารถแปลงความคิด ความฝัน แรงปรารถนา ให้เป็นพลัง ความกล้าหาญ และการลงมือปฏิบัติการอย่างจริงจัง มุ่งมั่นยืนหยัด และอุทิศตน บนเส้นทางประวัติศาสตร์และการต่อสู้ที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย “ขนาดของหัวใจ” และความเป็นคนรุ่นที่ใหม่อยู่ตลอดเวลา เป็นสิ่งที่สำคัญเอามากทีเดียว
 
ทั้งนี้ การเป็นคนรุ่นใหม่นั้นไม่ได้หมายถึงอายุ แต่คือสิ่งที่โยโกะ โอโนะ พูดไว้ก็คือ “บางคนแก่ตั้งแต่อายุ 18 แต่สำหรับบางคนแม้อายุ 90 ก็ยังเป็นวัยรุ่น มันเป็นแค่แนวคิดที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมนุษย์เท่านั้น” เขาจึงมีพลังชีวิตที่กระตือรือร้น ในการนำพาตัวเองไปเคียงบ่าเคียงไหล่กับเหล่าพี่น้องประชาชน คนเล็ก คนน้อยของเขาอย่างห้าวหาญ
 

 
เขาบอกว่า “มีช่วงวันที่ดีที่สุดในชีวิตคือ ชีวิตปฏิวัติในป่าเขา”
 
ผมอยากจะกล่าวต่อไปว่า เขามีช่วงวันหลังจากนั้นในการทำให้นักแสวงหา นักอุดมคติและนักเคลื่อนไหวยุคปัจจุบันจำนวนมากจากทั่วสารทิศ ได้เกิดแรงบันดาลใจ และวันดีๆ มาหล่อเลี้ยงความฝัน และจินตนาการได้อย่างสม่ำเสมอ และเสมอต้นเสมอปลาย จึงไม่แปลกใจที่เขาจะเป็นขวัญใจของผู้คน หลายเพศ หลายวัย และเรียกขานว่า “จัดตั้งใหญ่” อย่างชื่นชม และยินดี
 
ประการต่อมา บนเส้นทางชีวิต ความคิด ความฝันของผู้คนนั้น ไม่ได้เปล่าเปลือย ไร้ที่มาที่ไป หากทว่าสัมพันธ์เชื่อมโยงกับโครงสร้าง เครือข่าย วิวัฒนาการ ประสบการณ์ และการต่อสู้ที่ต้องปะทะประสานกับแรงเหวี่ยง และการเคลื่อนเปลี่ยนอันมหาศาล
 
ม.ร.ว.อคิน เคยกล่าวไว้ว่าอย่างน่าฟังว่า “ในชีวิตของคนคนหนึ่ง มีหลายชีวิตและหลายเวทีทางสังคม ที่เขาได้โลดแล่นแสดงตัวตนร่วมกับคนอื่นๆ ดังนั้น ในชีวิตของคนคนหนึ่งจะมีชีวิตของอีกหลายคนที่สามารถเรียนรู้ได้”
 
ในแง่นี้ชีวิต ความคิด ความฝันของชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ ซึ่งเกือบจะเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตและประวัติศาสตร์สังคม ที่ผมเรียกว่า “ประวัติศาสตร์สังคมจากข้างล่าง” ซึ่งประวัติศาสตร์แบบนี้หากเราได้ศึกษา เรียนรู้ และทำความเข้าใจกับมันอย่างลึกซึ้ง “จะเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ ทำความรู้จัก และทำให้เรารักที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้มากยิ่งขึ้น”
 
พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ ประวัติศาสตร์จากข้างล่างแบบนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างประชาธิปไตย เพราะเราจะไม่มีทางเห็นขอบฟ้าประชาธิปไตยได้ ตราบยังขาดซึ่งการเคารพและให้คุณค่าแก่คนตัวเล็ก ตัวน้อย คนธรรมดาสามัญ หรือชั้นชนล่างของสังคม
 
แม้เขาจะออกตัวอย่างกลายๆ ว่า เลิกเป็นนักปฏิวัติสังคมอย่างนานกว่า 30 ปี แล้ว แต่หนังสือเล่มนี้ได้บอกถึงตัวตน และเส้นทางของการเคลื่อนไหว ต่อสู้เรียกร้องที่เข้าร่วม มีส่วนปฏิบัติการในสนาม และพื้นที่ต่างๆ แล้ว
 
ผมคิดว่าเขาได้กลายมาเป็น “นักปฏิบัติการทางสังคม” ที่ครบเครื่องมากที่สุดคนหนึ่ง และวันนี้เขาได้มาทำงานวรรณกรรมแนวสังคม ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมาก
 
เพราะอย่างที่นักวิชาการท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า “วรรณกรรมถือเป็นวิญญาณของประเทศและสังคม” ดังนั้น วรรณกรรมกับชีวิตจึงไม่อาจแยกออกจากกัน และเป็นกลไกสำคัญในการผลักดัน/สร้างการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับงานเขียนชิ้นนี้ ในแง่นี้หากกล่าวในสำนวนของ กนกพงศ์ สงสมพันธ์ กวีซีไรต์ผู้ล่วงลับ กล่าวได้ว่า ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ จึงได้ทำหน้าที่เลขานุการทางประวัติศาสตร์ได้อย่างยอดเยี่ยม และจะเป็นหนังสือที่ทุกคนต้องอ่าน พูดในสำนวนของ วิคเตอร์ ฮูโก นักเขียนชื่อกระฉ่อนโลกก็คือ “ตราบเท่าที่โลก สังคมยังมีความทุกข์ทรมานจากการถูกกดขี่ ถูกเพิกเฉย หนังสือเล่มนี้จะไม่มีวันไร้ประโยชน์”
 
เมื่อกล่าวถึงประวัติศาสตร์ ไม่ได้หมายถึงแค่เหตุการณ์ในอดีตเท่านั้น หากเป็น “สำนึกของยุคสมัย และความฝัน และความหวังของวันพรุ่งนี้และวันต่อๆไป” ด้วย ทำไม่ถึงกล่าวเช่นนี้?
 
ผมคิดว่า อุดมคติ ความหวัง แรงปรารถนา และแรงบันดาลอันสำคัญต่อการปฏิบัติการทางสังคมของผู้คน เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และการปกป้องความเป็นสังคม ชุมชน ท้องถิ่น จากอำนาจต่างๆ อัน “อยุติธรรม” ไม่ว่าจะเป็นรัฐ ทุน หรือใดๆ ก็แล้วแต่ จะยังคงมีอยู่ต่อไป ตราบเท่าที่สังคมไม่ว่าจะเป็นไทย หรือที่ไหนๆ ยังต้องเผชิญต่อการกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ หรือแม้แต่การลิดรอน คุกคามความเป็นมนุษย์ และสิทธิพื้นฐานของการแสดงออกในสังคมอารยะ
 
แล้ว “หนังสือเล่มนี้” จะกระตุ้นเตือน และบอกแก่เราทุกคนว่า “ต้องไม่เงียบเฉย” ให้ “กล้าหาญ และกระตือรือร้นต่อการลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลง” หรืออย่างน้อยๆ ที่สุดคือ การ “ไม่หลับหูหลับตา และ/หรือสมยอมกับอำนาจนำอย่างออกหน้า เพียงเพราะความเห็นต่างกับเรา” เท่านั้น
 
ดังนั้นแล้ว การได้ร่วม และการจัดกิจกรรมจึงมากกว่าการเปิดตัวหนังสือ แต่เสมอเหมือน “การรับมรดกการร่วมกันสร้างส่ง ต่อยอดความทรงจำ สู่การปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ ในบริบทของสังคมที่แตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างในสถานการณ์และการเปลี่ยนผ่านของสังคม/การเมือง ที่ไม่ช้าไม่นาน “จะกวักมือให้เรามาหลอมรวมพลังสร้างคุณค่ากันอีก”
 

 
อะไรคือมูลเหตุที่ทำให้ทำให้เชื่อได้ว่า เราจะมารวมกับอีกครั้ง?!
 
(ก) การรวบอำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด การเป็นคนดี และการผูกขาดการสร้างชาติ สร้างประชาธิปไตย ในกรอบคิดชนชั้นนำ ความพยายามในการอนุรักษ์ รักษา สถาปนา ยื้อยุดโครงสร้างอำนาจเดิมที่เสื่อมทรุดลงทุกวันไว้
 
(ข) ชนชั้นนำ หรือแม้แต่ชนชั้นกลางเดิม ยังลุ่มหลง ยินดีอยู่ในมายาคติที่ว่านี้เต็มที่ โดยไม่ยินดียินร้าย ไม่มีพื้นที่ โครงสร้างรองรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในสังคมไทย โดยเฉพาะการเติบโตของชั้นชนระดับล่าง ที่เติบโตอย่างมหาศาลในช่วงไม่กี่ปีมานี้
 
(ค) พร้อมๆ ไปกับการปิดกั้นในทุกทาง จะทำให้เกิดความขัดแย้ง การปะทะที่เข้มข้น และรุนแรงมากกว่าเดิม แม้ว่าวันนี้อาจดูสงบเงียบ แต่เป็นความ “สงบ” และ “เงียบ” อันเกิดจากขึงตรึงด้วยอำนาจ ความกลัว และการทำให้จำนน หาใช่ความสงบอันเกิดจากดุลยภาพ และการจัดสรรปันส่วนอำนาจใหม่ของสังคมแต่อย่างใด
 
(ง) การปะทะและขัดแย้งที่ว่านี้ เป็นทั้งในเชิงโครงสร้าง กฎ กติกาใหญ่ ที่ส่งผลต่อการให้คุณค่าประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค รวมถึงระหว่างรัฐ ส่วนกลาง ที่เข้ามาแย่งชิง ผูกขาด ปิดกั้น ละเมิดชุมชน ท้องถิ่น เช่น ปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้ แผนพัฒนาภาคใต้ ฯลฯ
 
คำถามคือ เราจะฝ่าผ่านไปอย่างไร? นี่เป็นภาระหน้าที่ของ “ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์” เพื่อนพ้อง และเราทุกคน....ต้องขบคิดกันต่อด้วย ชีวิต ความคิด และความฝันครับ
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น