xs
xsm
sm
md
lg

น้ำท่วมพัทลุงยังไม่พ้นวิกฤต พื้นที่ ต.ทะเลน้อย อ.ควนขนุน ฝูงควายเริ่มทยอยล้มตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
พัทลุง - สถานการณ์น้ำท่วม จ.พัทลุง ยังไม่พ้นวิกฤต ล่าสุด ในพื้นที่ ต.ทะเลน้อย อ.ควนขนุน ต้องเจอสภาพน้ำท่วมอย่างหนัก หลังจากน้ำป่าจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไหลลงมาสมทบเพิ่ม กระทบฝูงควายนับพันตัวเริ่มทยอยล้มตาย

วันนี้ (7 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดพัทลุง ว่า ชาวบ้านหัวป่าเขียว ท้องที่หมู่ที่ 7 ต.ทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ต้องเจอสภาพน้ำท่วมอย่างหนัก หลังจากน้ำป่าจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ไหลลงมาจาก อ.ศรีบรรพต และ อ.ควนขนุน ตอนบน ทำให้หมู่บ้านดังกล่าวเหมือนอยู่ในทะเล จำนวน 147 หลังคาเรือน แต่โชคดีชาวบ้านที่นี่สร้างบ้านยกพื้นสูง แต่มีชาวบ้านอีกหลายครอบครัวต้องอพยพออกมาพักที่ศูนย์ศิลปาชีพบ้านหัวป่าเขียว และอีกส่วนหนึ่งไปพักอาศัยบ้านญาติ ทำให้ชาวบ้านที่นี่ต้องลำบากหลังน้ำหลากท่วม และเอ่อล้นก่อนไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา ซึ่งสภาพน้ำท่วมที่นี่ต้องใช้เวลานานเป็นเดือนกว่าน้ำจะลดลง หากมีน้ำทะเลหนุนก็จะเพิ่มระยะการท่วมขังออกไปอีก
 

 
ซึ่งหลังจากที่น้ำป่าไหลลงมาสมทบตั้งแต่เมื่อวานนี้ และเพิ่มระดับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว นอกจากชาวบ้านจะได้รับความเดือดร้อนแล้ว สัตว์เลี้ยง วัว ควาย และม้า รวมถึงไก่ ต่างได้รับความเสียหาย ควายของชาวบ้านที่เลี้ยงไว้ในป่าพรุนับพันตัว ต้องติดอยู่กลางป่าพรุในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย โดยสามารถต้อนขึ้นมาไว้ที่สูงบนถนนได้เพียง 350 ตัวเท่านั้น และบางตัวไม่สามารถยืนต้านลอยน้ำในป่าพรุได้ไหว จึงตายลงไปแล้ว จำนวน 6 ตัว และกำลังจะตายลงไปอีกนับร้อยตัว โดยเจ้าของควายต้องนำเรือหางยาวออกไป ระยะทางยาวกว่า 4 กิโลเมตร ท่ามกลางน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตรครึ่ง เพื่อไปเอาควายตัวที่ตายมาไว้ในหมู่บ้าน ให้เพื่อนบ้านที่สนใจนำไปชำแหละทำเนื้อแดดเดียว จากตัวละ 15,000-17,000 บาท ขายได้เพียงตัวละ 1,500-2,000 บาทเท่านั้น

ด้าน นายสุทน ลอบลิบ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ต.ทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง กล่าวว่า ปีนี้ระดับน้ำท่วมสูงที่นี่จึงคล้ายกับเมื่อปี 2553 ครั้งที่เกิดพายุ น้ำท่วมหนัก ทำให้อาชีพการเลี้ยงสัตว์ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ควายจมน้ำนาน ซึ่งคาดว่าจะตายเพิ่มเป็นรายวัน เพราะเจ้าของต้อนไม่ทัน ที่ติดน้ำอยู่ในป่าพรุอีกเกือบ 1,000 ตัว หากน้ำท่วมนานคาดว่าคงจะไม่รอดแน่ และหากจะต้อนกลับตอนนี้ก็ยากลำบากเพราะระยะทางไกล น้ำก็ลึกอีกด้วย ซึ่งนอกจากควายที่ได้รับความเดือดร้อนแล้ว บ้านก็ต้องอพยพมาอาศัยที่ศูนย์ศิลปาชีพบ้านหัวป่าเขียว ซึ่งปลอดภัยกว่า จำนวนเกือบ 100 ชีวิต โดยอาหารการกิน แต่ละครอบครัวได้ตุนไว้ และทำกินกันเองไปก่อน
 

 
ขณะที่การสำรวจของผู้สื่อข่าว พบว่า ชาวบ้านได้ทำอาหารกินกันเป็นครอบครัว บางครอบครัวหุงข้าวมาจากบ้าน ก่อนที่จะคดห่อมากินด้วยกัน แล้วนอนพักค้างคืนที่ศูนย์ศิลปาชีพ บางครอบครัวไม่มีมุ้ง โดนยุงกัด บางครอบครัวมานอนพักที่นี่นอนไม่หลับเพราะห่วงบ้าน ขณะเดียวกัน ยังพบเด็กเล็กเจอสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ที่พักอยู่ที่นี่จึงป่วยไม่สบายอีกด้วย และยามค่ำบนถนนเส้นทางสายหัวป่าเขียวทะเลน้อย ระยะทางยางกว่า 5 กิโลเมตร ชาวบ้านได้นำควายที่อพยพมาไว้บนถนน ตลอดเส้นทางที่ขับผ่าน

ทาง จ.พัทลุง ยังได้รายงานสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา โดยสถานการณ์ทั่วไปฝนหยุดตก สลับตกเบาบางในบางพื้นที่ ปริมาณน้ำฝนสะสมลดลง น้ำในพื้นที่ตอนบน และตอนกลางทยอยไหลลงสู่ทะเลทางตอนล่างของจังหวัด และมีปริมาณลดลงตามลำดับ พื้นที่ทั่วไปเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ พื้นที่ต่ำทางตอนล่างริมทะเล บริเวณ อ.เมือง อ.ควนขนุน อ.เขาชัยสน อ.บางแก้ว และ อ.ปากพะยูน น้ำยังคงทรงตัว เนื่องจากยังมีน้ำทะเลหนุน ประชาชนยังคงได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำสะสมที่รอระบายลงสู่ทะเล มีความยากลำบากต่อการประกอบอาชีพ และการดำเนินชีวิตประจำวัน พื้นที่เกิดภัยปัจจุบันทาง จ.พัทลุง ได้ออกประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว จำนวน 11 อำเภอ 61 ตำบล 507 หมู่บ้าน 45 ชุมชน ผลกระทบปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิต จำนวน 2 ราย สูญหาย จำนวน 1 ราย ยังไม่พบความเสียหายที่รุนแรง
 

 
วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ ฝนจะเริ่มหยุดตก และจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายในห้วงเวลา 1-2 วัน พื้นที่ตอนล่างจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่องไปอีกระยะ และอาจต้องใช้เวลาหลายวัน หากน้ำทะเลยังหนุนสูง พืชผลทางการเกษตรจะเริ่มได้รับความเสียหาย เน่าเปื่อยจากน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะนาข้าว ประชาชนเริ่มทยอยเจ็บป่วย ด้านอ่างเก็บน้ำหลัก 3 อ่าง อ่างป่าบอน อ.ป่าบอน อ่างคลองหัวช้าง อ.ตะโหมด อ่างป่าพะยอม อ.ป่าพะยอม ยังอยู่ในระดับปกติ สามารถรองรับน้ำได้อย่างต่อเนื่องอีกประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์

การปฏิบัติ ประชาชนในพื้นที่ทางตอนกลาง และตอนล่าง โดยเฉพาะในพื้นที่ต่ำ และพื้นที่ริมทะเล ใน อ.ควนขนุน อ.เมือง อ.บางแก้ว อ.เขาชัยสน อ.ปากพะยูน ปรับตัวรองรับกับสถานการณ์น้ำท่วมขังในปัจจุบัน เตรียมอาหาร น้ำ และยารักษาโรคให้เพียงพอ และระมัดระวังโรคภัยไข้เจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ ส่วนทางราชการ ได้เฝ้าติดตาม และดูแลสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หลายหน่วยงานได้เข้าช่วยเหลือพื้นฟู แจกจ่ายน้ำ อาหาร และถุงยังชีพขั้นต้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนราชการต่างจังหวัด และมูลนิธิต่างๆ กู้ชีพ กู้ภัยจากในพื้นที่ และจากจังหวัดต่างๆ ยังคงระดมกำลังพล และเครื่องมือเครื่องใช้ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
 


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น