ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “เครือข่ายผู้ผลิตและค้าปลีก” โอดโอยหนัก “กองทุน สสว.” ที่รัฐบาล คสช.ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือด้านเงินทุนหมุนเวียน พร้อมมอบ มทร.ธัญบุรี เป็นคีย์หลัก และ มทร.ทั่วประเทศเป็นแขนขา กลับดำเนินการไปอย่างล่าช้า เผยกว่า 9 เดือน ยังไม่เห็นช่องทางที่จะทำให้เม็ดเงินไหลออกมาได้
นายขจร มุสิกะ เลขานุการเครือข่ายผู้ผลิตและค้าปลีก ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวของผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้ขาดเงินทุนหมุนเวียนในกิจการจำนวนมาก เปิดเผยต่อ “MGR Online ภาคใต้” ว่า แม้สมาชิกเครือข่ายจะกระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่จำนวนมากอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ จากการที่รัฐบาลได้อนุมัติเงิน 3,000 ล้านบาท จัดตั้งกองทุนเพื่อให้การช่วยเหลือผ่านสำนักงานกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยได้เริ่มมาตั้งแต่เดือน มี.ค.2559 แต่จนบัดนี้ความช่วยเหลือจากกองทุน สสว.กลับเป็นไปอย่างล่าช้ามาก ไม่เท่าทันต่อความเดือดร้อนที่เป็นเหมือนไฟกำลังเผาผลาญอยู่ทุกวัน
“เมื่อความช่วยเหลือล่าช้า ผู้ผลิตและค้าปลีกก็ไม่มีเงินไปซื้อวัตถุดิบ หรือซื้อสินค้ามาขาย เกิดการค้างค่าเช่าสถานประกอบการ ค่าน้ำ หรือค่าไฟฟ้า และมีจำนวนมากที่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการหันไปใช้เงินกู้นอกระบบ ภาระที่ต้องแบกรับก็ยิ่งหนักเข้าไปอีก เวลานี้พวกเราจึงไม่รู้จะหันไปพึ่งใคร จึงอยากให้รัฐบาล คสช.หันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และสั่งการให้มีการช่วยเหลือโดยเร่งด่วน เพื่อให้คนที่ตั้งใจทำมาหากินได้มีเงินทุนในการดำเนินกิจการต่อ มีรายได้พอที่จะเลี้ยงดูครอบครัวต่อไป อีกทั้งเพื่อให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาทั้งระบบในที่สุด”
นายขจร กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ นายพงษ์อุดม จันทร์ทอง ประธานเครือข่ายผู้ผลิตและค้าปลีก ได้ทำหนังสือร้องขอความช่วยเหลือส่งไปยังหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบได้รับอนุมัติเงินช่วยเหลือจากกองทุน สสว.โดยเร่งด่วน พร้อมได้แนบบัญชีรายชื่อของผู้ที่ได้รับเดือดร้อนเพื่อเป็นการยืนยันไปแล้วด้วย เนื้อหาในหนังสือดังกล่าวมีสาระสำคัญดังนี้
สืบเนื่องจากทาง สสว.ได้จัดให้มีโครงการ Turnaround และโครงการพลิกฟื้นขึ้นในเดือน มี.ค.2559 โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เป็นแม่ข่าย และมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลในภาคต่างๆ ทำการวินิจฉัย และจัดทำรายงานของกิจการ เพื่อที่จะนำรายงานดังกล่าวไปกู้เงินจากกองทุนของ สสว. โดยทางรัฐบาลได้อนุมติเงิน จำนวน 3,000 ล้านบาท ให้ สสว.เป็นผู้ดูแลเงินจำนวนดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนตาม พ.ร.บ.สสว.ปี 2543 ซึ่งในตอนนี้ได้มีผู้ประกอบการจำนวนมากรอความช่วยเหลืออยู่อย่างเร่งด่วน
จากการทำรายงานดังกล่าว ปรากฏว่า มีปัญหามากมาย เช่น ไม่มีแบบฟอร์มให้กรอกข้อมูล ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง การทำรายงานและการตรวจรายงานล่าช้ามาก ไม่มีการประสานงานเรื่องข้อมูลที่ดี ไม่มีการตรวจสอบข้อมูลในรายงานเพื่อความถูกต้องก่อนที่จะส่ง ในการติดตามรายงานทาง มทร.ธัญบุรี บอกว่า สามารถแก้ไข และนำรายงานไปกู้ธนาคารได้ แต่พอไปติดต่อทางธนาคารกลับไม่มีที่ไหนรับ เพราะไม่มีการประสานงานที่ดี
“จากความผิดพลาด และความล่าช้าดังกล่าวยิ่งทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก” ข้อความตอนหนึ่งในหนังสือร้องขอความช่วยเหลือของเครือข่ายผู้ผลิตและค้าปลีก ระบุไว้ก่อนที่จะเสริมว่า
ท่านประธาน คสช.และท่านนายกรัฐมนตรี เคยสั่งการไว้ว่า ต้องการให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนโดยเร็วที่สุด ขณะนี้มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่เดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือด่วนมาก แต่ความช่วยเหลือผ่านกองทุน สสว.กลับล่าช้ามาก ไม่ทันต่อความเดือดร้อนที่มีอยู่ทุกวัน เพราะ สสว.มีเงื่อนไขมาก ขั้นตอนมาก และการประสานระหว่างหน่วยงานไม่ดี จึงทำให้เป็นปัญหาในการช่วยเหลืออย่างมาก
ในการช่วยเหลือนั้น ต้องเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง แล้วรีบดำเนินการช่วยเหลือไปตามความเดือดร้อนที่มีอยู่ในตอนนี้อย่างเหมาะสม ไม่ใช่ไปคิดแต่เรื่องตัวเลข ถ้าคิดแต่เรื่องตัวเลขจะทำให้ช่วยใครไม่ได้เลย ตอนนี้ผู้ประกอบการรอไม่ได้แล้ว เพราะความเดือดร้อนที่มีอยู่เหมือนไฟที่เผาผลาญอยู่ทุกวัน เช่น ขาดเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ค้างค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ สสว.ต้องลดเงื่อนไข ลดขั้นตอน และตัดสินใจเองในฐานะเจ้าของเงินเพื่อความรวดเร็ว เพื่อให้ทันต่อความเดือดร้อนที่มีอยู่ทุกขณะในตอนนี้
“เพราะผู้ประกอบการเหมือนคนป่วยที่อาการหนักมากแล้ว ต้องการการรักษาจากหมอคือ สสว.โดยด่วนที่สุด รอต่อไปไม่ได้อีกแล้ว เพราะในตอนนี้ผู้ประกอบการจำนวนมากยังมีศักยภาพ แต่ขาดเงินทุนหมุนเวียน ทำให้ได้รับความลำบากมาก จึงต้องขอให้ สสว.ช่วยเหลือโดยอนุมัติเงินจากกองทุนให้ผู้ประกอบการโดยด่วนที่สุด” ข้อความในช่วงท้ายของหนังสือร้องขอความช่วยเหลือดังกล่าวระบุไว้