การออกแบบผลิตภัณฑ์ ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่อลังการ แต่ให้เข้าถึงปัญหาที่แท้จริง แล้วเติมเต็มด้วยหลักการออกแบบ ก็สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ดี ๆ ให้เป็นที่ปรากฏแก่สังคมได้ ดังเช่นการออกแบบและพัฒนาเก้าอี้พักผ่อนจาก ‘ข้อไม้ไผ่’ ที่เหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรม
ฝีมือสร้างสรรค์ของ นายธวัชชัย ช่วงโชติ นักออกแบบรุ่นใหม่สาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์ ภาควิชาศิลปะการออกแบบและเทคโนโลยี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) โดยสร้างเก้าอี้พักผ่อนจากข้อไม้ไผ่ ด้วยแนวคิดที่ช่วยรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
“ภาคอุตสาหกรรมจะมีเศษไม้ไผ่ที่เหลือจากกระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก เพื่อรอการกำจัดทิ้งด้วยการเผาไหม้ และเมื่อไฟถูกจุดขึ้น ควัน และขี้เถ้าจากไม้ไผ่ จะลอยคละคลุ้งไปทั่ว ส่งผลต่อสภาพอากาศ ทำให้ผู้คนในชุมชนนั้นอึดอัด หายใจไม่สะดวกและทำให้ความร้อนแผ่ขยายไปทั่ว ทุกครั้งที่มีการเผาทำลาย ยิ่งไปกว่านั้นหากถึงฤดูฝน ข้อต่อไม้ไผ่ที่โดนตัดทิ้งเป็นข้อ ๆ ถ้าไม่ถูกเผาหรือนำไปใช้งานอื่น ก็จะกักเก็บน้ำฝนไว้ จนกลายเป็นแหล่งเพราะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพของคนในชุมชนได้ และจากการศึกษาข้อมูล พบว่า บริเวณข้อไม้ไผ่เป็นส่วนที่แข็งแรง และเป็นบริเวณที่หนาที่สุด สามารถรองรับน้ำหนักได้ จึงมีแนวคิดที่จะนำข้อไม้ไผ่มาเป็นวัสดุตั้งต้นในการออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นเก้าอี้พักผ่อน เพื่อช่วยลดปริมาณเศษไม้ไผ่เหลือทิ้ง ลดปัญหามลพิษและภาวะโลกร้อนจากการเผาทำลาย ทั้งยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับไม้ไผ่” ธวัชชัย อธิบายแนวคิดและที่มาเก้าอี้พักผ่อนต้นแบบตัวนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากลักษณะของ “ลูกคิด” (Abacus) ที่เป็นเครื่องมือคำนวณ ประกอบด้วย โครงสี่เหลี่ยม มีแกนร้อยตัวลูกคิดกลม ๆ ใช้นับเลข สามารถเลื่อนขึ้นลงได้ และ “รูปทรงเรขาคณิต” มาใช้ในการออกแบบ โดยคำนึงความสะดวกสบายในการใช้งาน เพราะผลิตภัณฑ์จากข้อไม้ไผ่ หากออกแบบมาไม่ดี ผู้ใช้งานอาจจะรู้สึกเจ็บและรำคาญได้ จึงมุ่งออกแบบในลักษณะที่ช่วยผ่อนคลาย
โครงสร้างของเก้าอี้ทำด้วยสแตนเลส ซึ่งให้ความแข็งแรงทนทาน และยากต่อการเกิดสนิมเมื่อเทียบกับโลหะหรือวัสดุชนิดอื่น ๆ ทั้งยังง่ายต่อการขึ้นรูปและการเชื่อมต่อ แม้จะมีราคาค่อนข้างสูงแต่คุ้มค่ายาวนานต่อการใช้งาน ส่วนบริเวณที่นั่งและพนักพิงจะนำข้อไม้ไผ่มาขัดโค้งลบมุมข้อ ซึ่งใช้จำนวนทั้งหมด 280 ลูก นำมาร้อยเป็นเส้น แล้วนำมาประกอบเข้ากับโครงสร้างของตัวเก้าอี้
ลักษณะเฉพาะของเก้าอี้ข้อไม้ไผ่จะออกแบบตามหลักมาตรฐานเกี่ยวกับการยศาสตร์ (Ergonomics) ของมนุษย์ในขณะนั่ง โดยมีขนาดความกว้าง 57 เซนติเมตร ยาว 120 เซนติเมตร สูง 75 เซนติเมตร และพนักพิงเอียงทำมุม 110 องศาในแนวระนาบ และเลือกใช้สีโทนธรรมชาติจากสีย้อมไม้ เพื่อต้องการให้ไม้ไผ่คงความเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด
ในการออกแบบนี้ นายธวัชชัย ยังได้ศึกษาด้านการออกแบบและการผลิต โดยมี อาจารย์ณัฐพล ซอฐานานุศักดิ์ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี เป็นที่ปรึกษา และเรียนรู้แนวทางการพัฒนาเก้าอี้จากกลุ่มผู้ประกอบการด้านไม้ไผ่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและการผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่มีประสบการณ์การทำงานในสายอาชีพ รวมถึงกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป เพื่อให้ได้เก้าอี้พักผ่อนที่มีรูปร่างและรูปทรงสวยงาม มีความปลอดภัย และสอดคล้องกับฟังก์ชั่นการใช้งาน ทั้งยังมีความร่วมสมัย
นายธวัชชัย ยังกล่าวอีกว่า เพราะความชอบและหลงใหลในศาสตร์การออกแบบผลิตภัณฑ์ ก็อยากจะพัฒนาต่อยอด ขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ต่อไป สำหรับเก้าอี้พักผ่อนข้อไม้ไผ่ต้นแบบตัวนี้ เกิดขึ้นและสามารถใช้งานได้จริง เป็นผลงานการออกแบบชิ้นแรกที่มีความสมบูรณ์ ถูกเติมเต็มด้วยความรู้และประสบการณ์มากมาย เพื่อออกมาเป็นศิลปะนิพนธ์
ล่าสุด ได้ร่วมออกแสดงผลงานต่อสาธารณชนในนิทรรศการ DO I-DEA 8 “ศิลป์-ปะ-กัน” ณ Zpell @ Future Park Rangsit เพื่อเผยแพร่ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์และการปฏิบัติจริงให้เกิดผลงานอย่างมืออาชีพ เป็นแรงบันดาลใจและเป็นแนวทางการต่อยอดเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งถือเป็นการเปิดตลาดอาชีพด้านศิลปะอันนำไปสู่การทำงานในอนาคต ผู้สนใจผลิตภัณฑ์หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 086 309 1935