xs
xsm
sm
md
lg

ฟังหลักฐานชัดๆ! “รองนายก ส.ประมงสงขลา” โชว์กร่างต่อหน้าทหารเรือ ศป.มผ. ขู่ยกพวกบุกบ้าน “บรรจง นะแส” (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสุรเดช นิลอุบล (นั่งกลางถือโทรศัพท์)
 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - รองนายกสมาคมประมง จ.สงขลา โชว์กร่างในที่ประชุมสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ขู่ยกพวกบุกบ้าน “บรรจง นะแส” นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ฐานเปิดโปงการทำประมงผิดกฎหมายชนิดกัดไม่ปล่อย ทำให้กลุ่มนายทุนประมงพาณิชย์เสียผลประโยชน์มหาศาล ด้านนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย รวบรวมพยานหลักฐานเตรียมแจ้งความดำเนินคดี พร้อมปลุกพลังสังคมร่วมปกป้องทรัพยากรทางทะเล เพราะหวังพึ่งรัฐฝ่ายเดียวคงไม่สำเร็จ

นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย และที่ปรึกษาอธิบดีกรมประมง เปิดเผยต่อ “MGR Online ภาคใต้” ว่า ตนได้รับคลิปวิดีโอบันทึกเสียงการประชุมของสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมตลาดทะเลไทย ต.มหาชัย อ.เมืองสมุทรสาคร

โดยในการประชุมครั้งนี้ มี นายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยสมาชิกชาวประมงจาก 22 จังหวัดติดชายทะเลเข้าร่วมประชุมกว่า 1,250 คน โดยวาระหลักคือ ประเด็นข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมงที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ที่จะนำเสนอขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา ได้แก่ 1.เรือประมงที่ตกสำรวจที่ไม่สามารถออกทำการประมงได้ 2.เรือที่ไม่มีใบอนุญาตทำการประมง 3.เรือที่ถูกล็อกพังงา 4.เรื่องกฎหมาย พ.ร.ก.ประมง ระเบียบ ประกาศที่เป็นปัญหาต่อการประกอบอาชีพฯ

5.เรื่องแรงงานต่างด้าวที่ไม่สามารถทำบัตรใหม่ได้ 6.เรื่อง (ร่าง) ข้อบังคับว่าด้วยการกำหนดตำแหน่งผู้ทำการในเรือ ที่ต้องมีประกาศนียบัตรรับรองความรู้ ความสามารถ สำหรับเรือประมง พ.ศ.2559 (ใบนายท้าย อินเนียร์) และ 7.เรื่องปลาเป็ด ปลาป่น อวนลาก และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์

จากการฟังคลิปเสียงดังกล่าวพบว่า ในระหว่างการประชุมมีการกล่าวหาพาดพิงถึงการทำหน้าที่ของ นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย และที่ปรึกษาอธิบดีกรมประมง โดยแกนนำสมาคมประมงประมงจังหวัดสงขลา คนหนึ่งได้ประกาศในที่ประชุมว่า เขาจะพาคนบุกไปบ้านพักของนายบรรจง นะแส ซึ่งในคลิปวิดีโอมีเสียงบันทึกในช่วงนี้ไว้อย่างชัดเจน
 

 
*** คำต่อคำรองนายกฯ ส.ประมง สงขลาขู่บุกบ้าน “บรรจง นะแส”

(เริ่มนาทีที่ 3.55 พิธีกรพูด) ก่อนอื่นเลยผมต้องขอขอบคุณผู้บริหารตลาดทะเลไทยที่เอื้อเฟื้อสถานที่ให้เราใช้ในการจัดกิจกรรมในวันนี้ สิ่งแรกที่ผมขออนุญาตให้พี่น้องในวันนี้ก็คือ ขอให้ทุกท่านที่มาในวันนี้ยืนไว้อาลัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใน 1 นาที...

พ่อบอกให้เรารักกัน วันนี้เราก็คงจะรักกัน และพ่อสอนให้เราจับปลา ไม่ให้ขอปลา แต่วันนี้ IUU มา เราถูกเลิกให้จับปลา เป็นอะไรที่พวกเราสะเทือนใจในประเด็นตรงนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วชาวประมงเราไม่เคยคิดที่จะขอความช่วยเหลือจากรัฐเลย เราอยู่ด้วยตนเราเองมาโดยตลอด โดยการประกอบอาชีพสุจริตของเรา สุดท้ายแล้ว ไอ้อียูนี่ก็มาทำให้เราเจ็บปวด เสียหาย ก่อนอื่นขอขอบคุณท่านผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเสียสละมารับฟังปัญหา

และขอให้พี่น้องชาวประมงร่วมสะท้อนปัญหาด้วยข้อเท็จจริงด้วยเหตุด้วยผล อย่าใช้อารมณ์ เพื่อจะได้ร่วมกันแก้ปัญหาต่อไป เพราะว่าที่มาในวันนี้ไม่ได้เป็นบุคคลที่ทำให้เราเสียหาย เดี๋ยวผมจะบอกว่าบุคคลที่ทำให้เราเสียหายคือใคร

วันนี้เราต้องมาช่วยกันแล้วหาแนวทางแก้ปัญหา เพราะปัญหามันผูกไว้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเฉพาะที่พวกเราโชคดีเราได้ผู้จัดการทหารเรือ (พลเรือเอก ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย หรือ ศปมผ.) ท่านเข้าใจปัญหาพวกเรา พยายามช่วยปลดแก้ไขปัญหาให้แก่พวกเรา รวมทั้งท่านนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี โดยผ่านพี่เขาไปถึงทางรัฐบาล ให้เข้าใจมากขึ้น ในการที่เราเกิดปัญหาที่เกิดขึ้นมา เพราะก่อนนั้นกว่าจะผ่านถึงมันยาก ในส่วนของไอ้โม่งที่มันทำให้เราพินาศฉิบหายอยู่จนถึงทุกวันนี้

วันนี้เนื่องจากสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ได้ประชุมกันเมื่อวานนี้ และได้เห็นถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวนา สมาคมประมงแห่งประเทศไทย ก็เลยมีแนวคิดว่า เราชาวประมงทั้งประเทศ ซึ่งมีแรงงานเป็นแสนๆ คน และก็บริโภคข้าวกันทุกวัน เรามีแนวทางคิดว่าเราจะทำยังไงช่วยชาวนา เพราะเรารู้ว่าความเดือดร้อนเนี่ย อาชีพชาวประมงเราก็เดือดร้อน แต่ชาวนาก็เดือดร้อนในฐานะที่เป็นเกษตรกรด้วยกัน

ตรงนี้ในที่ประชุมสมาคมประมงแห่งประเทศไทย เมื่อวานนี้ก็เห็นดีด้วยว่า จะให้สมาคมประมงแห่งประเทศไทย เชื่อมกับท่านที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าเราจะรับซื้อข้าวจากชาวนาผ่านแต่ละสมาคม ให้ยิงตรงมาที่สมาคมประมงแห่งประเทศไทย เราจะช่วยในเรื่องของการซื้อข้าวจากชาวนา อย่างน้อยเราก็เป็นส่วนหนึ่งของพี่น้องประชาชนคนไทยด้วยกันที่ได้รับความเดือดร้อน ตรงนี้ก็ฝากเรียนท่านที่ปรึกษารัฐมนตรี ฝากเรียนท่านด้วยว่า เราชาวประมงทั้งประเทศยินดีให้ความร่วมมือตรงนี้ครับ
 

 
ขออนุญาตเข้าสู่วาระที่เกริ่นไว้เมื่อกี๊ ก็คือ การแก้ปัญหา IUU นั้นเนี่ยที่เราเดือดร้อนกันอยู่ทุกวันนี้มันมีไอ้โม่ง และไอ้โม่งตัวนี้มันโผล่หน้ามาแล้วให้เห็น จากการที่ไอ้โม่งตัวนี้มันเสนอยกเลิกโรงงานปลาป่นครึ่งหนึ่ง โรงงานอวนลากอีกครึ่งหนึ่ง แล้วก็ยกเลิกเรือปั่นไฟทั้งหมด ผมขอเปิดไอ้โม่งเลยนะครับ เพราะไอ้โม่งตัวนี้มันไปพูด 3 เวทีหลักๆ เวทีเสวนาวิชาการ 1 ที่ โดยมีท่านวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ เข้าเสวนาด้วย เวทีที่ 2 ก็คือ เวทีปฏิรูปประมง 4.00 ที่ทางกรมประมงกระทรวงเกษตรฯ เป็นคนจัด

และเวทีสุดท้ายที่ผมทนไม่ได้ที่จะต้องมาบอกให้พี่น้องเราในวันนี้ได้รับรู้ก็คือ เวทีที่พูดกับ EU เมื่อวันที่ 3 พ.ย. นี้ ไอ้โม่งตัวนี้ก็คือ นายกสมาคมประมงปลาทูน่าแห่งประเทศไทย ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ (มีเสียงปรบมือ) โห่สิ ไม่ใช่ปรบมือให้มัน โห่ (เสียงโห่) ร่วมกับบรรจง นะแส นี่คือที่มาที่ไป แล้วปัญหาที่เราไม่ได้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวต่อมันก็พูดอีกว่าเสนออียูว่าให้เราลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในอาชีพประมง นี่แหละคือไอ้โม่งแหละ เราสงสัยว่าทำไมกระทรวงแรงงาน ถึงไม่ต่อจดทะเบียนแรงงานให้เรา ไอ้โม่งอยู่นี่เอง

วันนี้เราคงต้องมีมาตรการที่ตอบโต้ไอ้โม่งสักหน่อย โดยเฉพาะไอ้โม่งปลาทูน่า ที่ทำให้เราเดือดร้อนตั้งแต่ ศป.มผ.ชุดแรก เราก็สงสัยว่าทำไม ศป.มผ.ชุดแรกไม่ฟังเราเลย ในส่วนที่ราชการเข้าไปดูแล ตรงนี้ถึงว่ามีปัญหาเราจึงเดือดร้อนมาจนถึงทุกวันนี้ ก็ขออนุญาตให้พี่น้องเราแสดงความคิดเห็นสัก 15 นาที เชิญครับใครจะพูดถึงไอ้โม่งบ้างเชิญครับ ท่านรองนายกฯ (สมาคมประมงสงขลา) เชิญ อันนี้จะนอกเหนือวาระกันสักนิดนึงนะ
 
 

 
ผมสุรเดช นิลอุบล รองนายกสมาคมประมงจังหวัดสงขลา ปฏิบัติหน้าที่นายกสมาคมประมงจังหวัดสงขลา และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิประจำจังหวัดสงขลา วันนี้ก่อนที่ผมจะมาในวันนี้ เราได้มีฉันทมติในประมงจังหวัดสงขลา ไม่ว่าจะเป็นประมงพื้นบ้าน หรือประมงพาณิชย์ เราบอกว่าหลังจากที่ผมกลับไป วันที่ 17 เราจะไปปิดบ้านนายบรรจง นะแส (เสียงโห่, เสียงปรบมือ) (พิธีกรพูดแทรกว่า ไปอย่างสุภาพนะครับ ไปอย่างสุภาพ)

(นายสุรเดช นิลอุบล พูดต่อ) ซึ่ง ณ ที่มาในวันนี้ผมมี 400 คน ทั้งประมงพาณิชย์ และพื้นบ้าน ได้ไปที่กองทัพเรือภาคที่ 2 จังหวัดสงขลา ไปยื่นหนังสือ เพราะตอนแรกผมบอกว่าพวกเราจะไม่ขึ้นมา ผมจะเล่นสนามเล็กดีกว่ามันเจ็บปวดดี เพราะเรามีความทุกข์บนสนามเล็ก ทั้งประมงพื้นบ้านที่อยู่รอบบ้านคุณบรรจง นะแส ไม่ว่าจะใส่ผ้าถุง ไม่ว่าจะใส่กางเกงชาวเล ทุกวันนี้แต่ละคนไม่มีอนาคต ในหัวข้อหนึ่งที่ยื่นผ่านกองทัพเรือภาคที่ 2 ก็คือ การที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของ นายบรรจง นะแส ซึ่งบิดเบือนข้อเท็จจริง ทำให้เราสูญเสียซึ่งวิถีชีวิตแห่งความเป็นไทยเพราะฉะนั้นถ้าใครล้อมบ้านนายบรรจง นะแส ผมในนามสมาคมจังหวัดสงขลา ผมขออาสาแทน 22 จังหวัดทั่วประเทศว่างานนี้ผมรับผิดชอบเองข้อที่ 1 (เสียงปรบมือ)

ข้อที่ 2 เรามีฉันทมติว่าวันใดวันหนึ่งถ้าปลาทูน่าเข้าท่าเทียบเรือประมงจังหวัดสงขลาเมื่อไหร่ เราจะปิดล้อมมัน ด้วยฉันทมติของชาวประมงว่าทำไมเรามีเรือที่สามารถทำการประมงจับปลาทูน่าก็คือ ปลาโอได้ แต่วันนี้คุณห้ามไม่ให้เราจับ แล้วคุณนำเข้ามา ผมถามว่ามันบ้ารึปล่าว ก็ขอแค่น้ำจิ้มเท่านี้ก่อนนะครับ
 

 
(พิธีกรพูดต่อ) ครับก็ใครต่อครับปลาทูน่าในประเด็นก็คือ ปลาทูน่ามีประโยชน์อะไรสำหรับประเทศไทยไหม เชิญครับ ใครพูดครับ จริงๆ วันนี้อยากจะให้พูดเยอะๆ เพราะวันนี้เนี่ยรัฐบาลเขาเข้าใจว่าแก้ปัญหา IUU เนี่ยที่แก้ทุกวันนี้ แก้เพื่อพวกเรา แต่ลงไปลึกๆ จริงๆ ปัญหาก็คือว่าพวกผู้ส่งออกที่มันเดือดร้อน และมันบีบ แล้วมันไปบอกท่านนายกฯ ว่า ถ้าไม่แก้การส่งออกของเราจะเสียหายอีก 2-3 แสนล้าน ข้อเท็จจริงก็คือ ปลาทูน่า แล้วปลาทูน่าอยากจะให้ข้อมูลเลยว่า ปลาทูน่า 1 แสนล้าน ประเทศไทยได้อะไรบ้าง คุณศราวุฒิ เชิญ

(ผู้แสดงความคิดเห็น) ครับก็ขอบคุณนะครับ ผมศราวุธ โถวสกุล นะครับ รองประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ก็ดีใจนะครับที่พี่น้องมากันเต็มที่ก็อย่างที่นายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทย บอกนะครับว่า ขอให้มาประชุมกันด้วยความสงบนะครับ เรื่องปลาทูน่าคือเบื้องต้นเนี่ย ปลาทูน่าเนี่ยนำเข้ามาในประเทศ 99 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 7 แสนตันต่อหนึ่งปี ใช้แรงงานต่างด้าวนะครับในโรงงานอุตสาหกรรมปลาทูน่าเนี่ยประมาณ 1 แสนคน อยู่ในมือของเจ้าของไม่เกิน 20 ตระกูล

แต่สิ่งที่สำคัญคือว่า วันนี้ที่พวกเราร่วมจับมือ และร่วมกันทำงานมาเพื่อให้ประเทศชาติสามารถส่งออก ที่บอกว่าสามารถไป EU ไปอเมริกา ที่บอกว่า ได้เป็นแสนๆ ล้านสำหรับทูน่านะครับ เราร่วมกันทำให้ประเทศชาติส่งออกได้ ร่วมกันทำทุกอย่าง ศป.มผ. ทุกอย่างทำหมดเกี่ยวกับ IUU แต่ทำไปทำมาเขามาหักหลังเรา มาถล่มเราตลอด เล่นเกมมาตลอด อย่างที่ท่านประธานบอกว่า เราต้องงัดไอ้โม่งตัวจริงออกมา

ในทูน่าทั้งหมดเนี่ย เป็นบริษัทจำกัดมหาชน อีกหลายสิบบริษัท ผมถามว่าในการใช้แรงงานเนี่ย เป็นแรงงานต่างด้าว 1 แสนคน ต่างด้าวล้วนๆ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์เป็นแรงงานต่างด้าวล้วนๆ ผมถามว่าเอามาพัฒนาประเทศตรงไหน ที่เราแก้ IUU ที่เราเสียหายไป สามถึงแสนล้านห้าแสนล้านเนี่ยเพื่อใคร มันเทียบกับพี่น้องชาวประมงที่มีอยู่ทั่วเนี่ยทั้งประเทศเนี่ย หลายแสนครอบครัวเป็นล้านๆ คนเนี่ย ที่เราจะต้องเดือดร้อนกับคนแค่ 20 ตระกูลเนี่ย เพราะอะไร ทำไมพวกเราอยากให้ภาครัฐกลับมามองพวกเราเป็นแสนๆ คน ล้านๆ คนว่า จะหาวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไร ให้พวกเราเดินหน้าไปให้ได้ และพวกเราก็พร้อมที่จะช่วยประเทศชาติเดินไปข้างหน้าให้ได้เช่นกันครับ

(พิธีกรพูดต่อ) ในส่วนของปลาทูน่า ในฐานะเจ้าของพื้นที่ปลาทูน่านะครับ เชิญนายกสมาคมประมงสมุทรสาคร
 

 
(นายกสมาคมประมง จ.สมุทรสาคร พูด) ขอบคุณทุกคนที่มานะครับ จริงๆ แล้วก็เสียใจนะครับ ที่สมาชิกมีความเดือดร้อน ก็อยากจะบอกชาวประมงทุกคนนะครับว่า ทุกวันนี้ที่เดือดร้อนเพราะใคร ปลาทูน่ารึเปล่า ตั้งแต่ คสช.เข้ามานะครับ ปลาทูน่าเข้ามาได้อย่างไรนะครับ ก็เอาชาวประมงเข้ามาเป็นเครื่องมือ...

ผมก็ยังสงสัยว่า ตอนเขาตรวจเนี่ยเขาคิดบ้างรึเปล่า ว่าเรือลำนึงเขาคิดเท่าไหร่ ผมก็ยังสงสัยว่า ขนาดบริษัทใหญ่ๆ มีเลขา มีนักวิชาการเยอะแยะทำไมเขาคิดไม่ได้ ข้อมูลตรงนี้ ทำไมเขาคิดไม่ได้สงสัยนะครับ แรงงานเอามาเท่าไหร่ก็ไม่พอใช้ เสร็จแล้วก็บริษัทใหญ่ๆ ก็เอาไปใช้หมด เอาไปเข้าโรงงานเยอะแยะ ออกไปดูได้นะครับ กล้ารับเลยครับว่าไม่ใช้แรงงานประมง คน 8 พันคน ว่าถูกหมดรึเปล่า

(พิธีกรพูดตัดบท) ขอบคุณมากครับท่านนายกฯ ก็คือว่า ปลาทูน่า 1 แสนล้าน ส่งออกไปเศษสตางค์ในประเทศไทยได้นิดเดียว จ่ายค่าปลาไป 9 หมื่นกว่าล้าน นี่แหละคือเราในส่วนของราชการ โดยเฉพาะหลายส่วนที่ผมเจอ ผู้ใหญ่หลายคนที่พูด เข้าใจอย่างนั้นว่า การแก้ไขปัญหา IUU แก้เพื่อพวกเรา แต่ข้อเท็จจริงแล้วนั้นท่านไม่รู้ว่าในเบื้องลึก ไอ้คนที่ได้ประโยชน์ คือ ปลาทูน่า และก็เป็นเรือต่างประเทศเกือบ 99% ที่จับแล้วก็ส่งเข้ามา

วันนี้ก็ขอเสนอท่านอธิบดีกรมประมง นะครับ ตรวจสอบการนำเข้าปลาทูน่า 100% ตรวจสอบแรงงานโรงงานปลาทูน่า 100% ทำให้เหมือนกับตรวจพวกเรา แล้ววันดีคืนดีเราอาจจะไปเยี่ยมเยือนหน้าโรงงานเขาบ้าง ที่คุณมีสิทธิอะไรมาเสนอยกเลิกอาชีพพวกเรา คุณมีสิทธิอะไร

วันนี้เรามาให้รู้ว่าไอ้โม่งมันมาจากไหน แล้ววันนี้ที่มาให้รู้ว่าราชการที่ท่านแก้ ท่านเอาเป็นเอาตายกับพวกเราทั้งหลาย ไอ้นี่ก็ไม่ได้ ไอ้นู่นก็ไม่ได้ ไอ้นั่นก็ไม่ได้ โดยเฉพาะท่านวรรณพงศ์ วันนี้ต้องรับเยอะหน่อยนะครับ เรามาแบบพี่น้อง วันนี้ไม่มีอะไร มารับฟังมาระบายความรู้สึกกัน ว่าพวกเราเดือดร้อนอย่างไร พี่วิชาญ จะพูดถึงปลาทูน่ามั้ยครับ เอามั้ย นิดนึงนะ

(วิชาญ พูด) ครับขอบคุณครับคือ ประเด็นปัญหาปลาทูน่าผมว่า มันเป็นโจทย์ผิดมาตั้งแต่ต้น เวลาเราพูดถึงเรื่องประมงเนี่ย คือ ถามว่ามีใครแยกประเด็นปัญหาไหมครับว่าประมงเนี่ย มันมีอะไรบ้าง เพราะว่าโครงสร้างของปัญหาเนี่ยมันไม่เหมือนกันเลยโดยสิ้นเชิง ประมงประเทศไทยเนี่ยถ้าเราพูดถึงการส่งออก แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.ปลาทูน่า 2.กุ้ง และ 3.ปลาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทูน่า และกุ้ง พอตัวทูน่าเนี่ยเกิดจากการที่เราตั้งโรงงานแล้วก็นำเข้าปลาทูน่าจากต่างประเทศมากกว่าร้อยละ 90 นำมาแปรรูป ถามว่าตรงนี้มันเกี่ยวข้องต่อประมงไทยตรงไหน คำตอบคือแทบจะไม่ได้เกี่ยวข้องเลย

ฉะนั้นโจทย์ของท่านเนี่ย ต้องมองประมงทูน่าเป็นอุตสาหกรรมไม่ใช่มองเรื่องประมงเพียงแต่ว่ามันเกี่ยวกับวัตถุดิบที่มาจากทะเล ที่มาจากการประมง ฉะนั้นในเรื่องของการตรวจสอบเนี่ยก็ต้องตั้งโจทย์แบบหนึ่ง แต่วันนี้ประเด็นปัญหาก็คือว่า วันนี้ยังไม่ได้ทำอะไรเลย สิ่งที่ทำอยู่และที่ผ่านมาก็หลอกเขา ทำผิดทำถูก ทำบนความไม่เข้าใจ ฉะนั้น ตัวนี้คือตัวที่เป็นปัญหาที่ต้องมอง

ส่วนที่สองก็คือ กุ้ง มาจากการเพาะเลี้ยง มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับประมงโดยตรงแต่จะเกี่ยวเพราะว่ามีการใช้ปลาป่นไปทำเป็นอาหารสัตว์ มันก็จะเกี่ยวพันกันนิดหน่อย ส่วนที่เหลือก็เป็นประมงทะเล ที่พวกเรามานั่งกันอยู่ตรงนี้ ปัญหาก็คือว่า ตั้งโจทย์ก็ตั้งผิด แก้ก็แก้ผิดมาโดยตลอดมาจนถึงวันนี้นะครับ ผมถามว่าปัญหาประมงในวันนี้ไม่มีใครไม่รู้หรอก รู้แล้ว แต่ไม่แก้ เพราะการแก้เนี่ยจะต้องปลดกระดุมเม็ดแรกก่อน นั่นหมายความว่าไง หมายความว่าท่านต้องยอมรับว่ามันผิด แล้วมาแก้ใหม่ แต่ทุกวันนี้พยายามไปปลดกระดุมเม็ดท้ายๆ ก่อนโดยไม่ปลดเม็ดแรก ท่านก็แก้ไปเถอะครับ มันไม่มีทางสำเร็จ อันนี้คือปัญหา

เรื่องทูน่านะครับ คือวันนี้เนี่ยกับเมื่อ 30 ปีที่แล้วมันมีความต่าง 30 ปีที่แล้วเนี่ย เราตั้งโจทย์ไว้ว่าการส่งเสริมอุตสาหกรรมลักษณะนี้เนี่ยมันเป็นการส่งเสริมการลงทุน มีการจ้างงานในประเทศ มีผลประโยชน์เข้าประเทศ แต่วันนี้เนี่ย ผมถามว่าวันนี้เนี่ยมันมีการจ้างงานรึเปล่า วันนี้นะครับถ้าท่านลองมองทูน่าเราแทบจะไม่มีอะไรเลย นอกจากผู้ประกอบการมาใช้ผืนแผ่นดินไทยแล้วก็ตั้งโรงงานผลิต ได้สิทธิประโยชน์สารพัดต่างๆ จากรัฐ แต่ถามว่าสุดท้ายแล้วเราประเทศไทยได้ประโยชน์อะไร เพราะว่าแต่เดิมเราเคยบอกว่าเป็นการจ้างงาน จ้างคนไทยแต่วันนี้ไม่ใช่ครับ วันนี้เป็นการจ้างงานแรงงานต่างด้าว

เพราะ BOI ส่งเสริมการลงทุนให้ไปก็ให้แก่ผู้ที่ตั้งโรงงาน จ้างแรงงานต่างด้าวได้ ฉะนั้นเมื่อเป็นอุตสาหกรรมเราก็ไม่ว่ากันนะครับ แต่ประเด็นคือ การมาโจมตีกันโดยไม่มีข้อมูลข้อเท็จจริง อันนี้มีปัญหา แล้วคนที่ไปนั่งศูนย์อำนาจทั้งหลาย คนที่สื่อสารอำนาจได้ คนเหล่านี้พูด ศูนย์อำนาจก็เชื่อ พอเชื่อก็เชื่อผิดๆ เพราะฉะนั้นคือตัวปัญหาที่จะมาสู่การแก้จนไม่สิ้นสุด

ประเด็นปัญหาโดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าผมไม่เห็นด้วยกับทูน่าตั้งแต่ต้น เพราะคิดว่าเราเสียเงินไปกับค่าทูน่ากี่พันล้านแล้ว มีการต่อเรือ สำรวจประมงทูน่า มีการส่งเสริมมีอะไรทั้งหลาย ถามว่าสำเร็จไหม เพราะอะไร เพราะว่าโจทย์มันผิด ผิดมาแต่ต้น วันนี้ก็เช่นเดียวกัน ผมคิดว่าการที่ชาวประมงมาอยู่ตรงนี้เนี่ย ผมคิดว่าดีเป็นการมาแสดงพลังว่าเราเดือดร้อนต้องการให้ท่านช่วยเหลือเรา แก้ปัญหา

แต่ประเด็นปัญหาก็คือว่า ถ้าท่านแก้ประเด็นปัญหาโดยไม่ฟัง แก้ประเด็นปัญหาโดนไม่รู้ ปัญหาไม่มีทางแก้ได้ ท่านทั้งหลายอยู่ตรงนี้เนี่ย ผมก็ฟังท่านมาหลายรอบ แต่ประเด็นก็คือท่านยังไม่ได้แก้ ในส่วนของทูน่าเนี่ยมันยังมีอะไรลึกซึ้ง แต่อยากให้ท่านมอง อย่าเอามารวมกับประมงเวลาท่านแก้ปัญหา แล้วผู้นำขององค์กรส่วนหนึ่งผมคิดว่าเป็นความคิดเห็นส่วนตัวมันไม่ใช่ของส่วนอุตสาหกรรมทั้งหมด

ฉะนั้น ผมคิดว่าเราน่าจะได้แยกสองส่วน ส่วนหนึ่งคือ ผู้นำทั้งหลาย โดยผู้ที่ให้ข้อมูลผิดๆ แก่สังคมแก่สาธารณะนั้น ทางสมาคมฯ น่าจะมีวิธีการดำเนินการต่อคนแบบนี้ ส่วนในเรื่องของอุตสาหกรรม วันนี้ในเรื่องของทูน่า โดยที่เราคิดว่าเป็นเรื่องของอุตสาหกรรม วันนี้มันเป็นอยู่แล้ว มันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยรึเปล่า ถ้าไม่เป็นประโยชน์ผมคิดว่าทางรัฐบาลควรเปลี่ยนนโยบายใหม่ในเรื่องนี้ครับ

(พิธีกรพูดต่อ) ครับขอบคุณครับ จริงๆ ข้อมูลพวกนี้เราก็รู้กันนานแล้วแต่กรรมาธิการอียูก็พูดถึงเรื่องการที่เรือปลาทูน่า สวมธง เอาเรือเถื่อนมาสวม เราก็ฟังเราก็อุตส่าห์ปกป้องให้ สุดท้ายกลับมาเล่นงานเรา โดยเฉพาะอะไรรู้ไหม ไปจับมือกับบรรจง นะแส เล่นงานพวกเรานะครับ ตรงนี้ก็ขออนุญาตนำเสนอที่ประชุมอย่างนี้นะครับว่า ที่ประชุมเห็นด้วยไหมครับว่า ควรเสนอรัฐบาลไม่ให้มีโรงงานปลาทูน่าในประเทศไทย เพราะมันไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรให้แก่ประเทศไทยเลย แล้วที่เราเดือดร้อนจาก IUU ในทุกวันนี้ อียูมันไม่ได้กินปลาไทยหรอกครับ มันกินปลาทูน่า

แล้วก็ปลาทูน่ามันก็ไปทำลายอุตสาหกรรมปลาทูน่าของเขา เขาถึงมาเล่นงานเรา แต่เขาเล่นงานเราไม่ได้ เขาเล่นงานปลาทูน่าไม่ได้ เลยเล่นงานพากเราถึงคราวซวย 2.เสนอให้ทางกรมประมงตรวจสอบปลาทูน่า 100% การนำเข้า 3.ตรวจแรงงานโรงงานปลาทูน่า 100% ตรวจแบบพวกเรานี่แหละที่โดนตรวจกันทุกวันนี้ สุดท้ายขอให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีปลาทูน่านำเข้า ผมเสนอไว้ 10% ท่านเห็นว่าอย่างไร

ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยอย่างที่ท่าน ส.ว.วิชาญ ว่า มันไม่ก่อเกิดประโยชน์ แรงงานก็ไม่ได้ใช้แรงงานไทย ภาษีก็ไม่ต้องเสียเพราะ BOI แล้วถามว่าเราได้อะไรจากการส่งออก 1 แสนล้านจากปลาทูน่า ไม่ได้เลย นี่แหละครับคือที่มาที่ไป อยากจะสื่อสารไปให้ท่านส่วนราชการที่อยู่ตรงนี้รับรู้ด้วยว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร...
 

 
*** นายกฯ ส.รักษ์ทะเลไทย เผยรวบรวมหลักฐานเตรียมแจ้งความ

ด้าน นายบรรจง นะแส เปิดเผยต่อ “MGR Online ภาคใต้” ว่า ตอนนี้ได้รวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งคลิปเสียง และวิดีโอ ตลอดจนคนที่อยู่ในเหตุการณ์ที่พร้อมจะเป็นพยานให้ เพื่อให้ทนายความดูว่าจะฟ้องร้องในข้อหาอะไรได้บ้าง

นายบรรจง กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นตนอยากตั้งข้อสังเกตว่า ในที่ประชุมมีข้าราชการผู้ใหญ่จากหลายหน่วยงาน ทั้งจากกองทัพเรือ นักวิชาการที่มีชื่อเสียงในสังคม อธิบดีกรมประมง และหน่วยงานอื่นอีกจำนวนมาก แต่คนพวกนี้ก็หาได้เกรงใจ และแปลกตรงที่ข้าราชการ หรือนักวิชาการเหล่านั้นก็ไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาห้ามปราม คงกลัวเหล่าประมงพาณิชย์พวกนั้นกัน โดยเฉพาะทหารเรือที่อยู่ในเวที ทำตัวเสมือนสนับสนุนด้วยซ้ำ

“มิน่าปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเลของไทยจึงแก้ไขยาก มีทางเดียวเท่านั้นคือ คนกินปลา หรือผู้คนในสังคม จะต้องหันมาสนใจปัญหาทรัพยากรในทะเลให้มากกว่านี้ เพราะทะเลคือแหล่งอาหารโปรตีนที่ดีที่สุดของลูกหลานในอนาคต หากแต่ละคนละเลย ก็เสร็จกลุ่มธุรกิจพวกนี้ ที่มองทรัพยากรในทะเลเป็นแค่แหล่งวัตถุดิบของพวกเขา ทั้งๆ ที่ทรัพยากรในทะเลเป็นของคนไทยทุกๆ คน” นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ นายสุรเดช นิลอุบล รองนายกสมาคมประมง จ.สงขลา ปฏิบัติหน้าที่นายกสมาคมประมง จ.สงขลา นั้น พบว่าเป็นผู้หนึ่งที่มีรายชื่อเป็นเจ้าของเรือประมงในบัญชีเรือประมงพาณิชย์ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการประมง ซึ่งเป็นผลมาจากการบังคับใช้กฎหมายของศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศป.มผ.) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมจาก http://www.md.go.th/ship-no-fishing/ship-detail.php?id=1380
 

 

กำลังโหลดความคิดเห็น