ยะลา - กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทำนา ต.บุดี อ.เมืองยะลา เริ่มถอนกล้าลงพื้นที่ดำนาแล้ว หลังจากฝนแล้งยาวนานกว่า 5 เดือน ขณะที่ชาวนาดีใจยื่นถวายฎีกาขอระบบส่งน้ำชลประทานใกล้เสร็จสิ้น
วันนี้ (18 พ.ย.) ที่ ม.1 ต.บุดี อ.เมืองยะลา จ.ยะลา เกษตรกรชาวนาที่รวมกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทำนาตำบลบุดี ได้เริ่มถอนต้นกล้าพันธ์ข้าวเพื่อลงพื้นที่ดำนา ในจำนวน 12 ไร่ ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทำนาตำบลบุดี โดยหลังจากที่เกษตรกรชาวนาในพื้นที่จำนวนหลายรายต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เนื่องจากความแห้งแล้งที่ฝนหยุดตกทิ้งช่วงยาวนานกว่า 5 เดือน และตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาได้มีฝนตกลงมาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรชาวนาที่รอน้ำเพื่อทำนาต่างดีใจ และได้ลงมือถอนต้นกล้าพันธุ์ข้าวที่ปลูกไว้ลงพื้นที่ดำนาได้อีกครั้ง
นายการิง เย๊ะ ผู้ใหญ่บ้าน ม.1 ต.บุดี อ.เมืองยะลา เปิดเผยว่า ในปีนี้ปัญหาความแห้งแล้งยาวนานกว่าทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งที่จริงแล้วในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีชาวนาก็จะดำนาเสร็จสิ้นกันแล้ว แต่ในปีนี้ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเนื่องจากฝนหยุดตกทิ้งช่วงยาวนานกว่า 5 เดือน ทำให้ชาวนาต้องรอน้ำเพื่อจะได้ทำนา ซึ่งที่ผ่านมานั้นได้มีการยื่นถวายฎีกาเพื่อขอจัดสร้างระบบส่งน้ำคลองชลประทาน เมื่อปี 2558 ซึ่งครั้งนั้นการยื่นถวายฎีกาก็เป็นผลทำให้มีการจัดสร้างระบบคลองส่งน้ำ และใกล้จะเสร็จสิ้นในอีกไม่นานนี้ ทำให้ชาวนาในพื้นที่ ต.บุดี อ.เมืองยะลา ซึ่งมีพื้นที่ทำนาอยู่กว่า 2,000 ไร่ ดีใจที่จะมีระบบจัดส่งน้ำเพื่อทำนาในระยะยาว
“ในห้วงที่ผ่านมานั้น ชาวนาในพื้นที่ ต.บุดี ที่มีอยู่จำนวน 8 หมู่บ้าน มีพื้นที่ทำนานกว่า 2,000 ไร่ แต่ทำนาอยู่จริงเพียง 1,000 กว่าไร่เท่านั้น เนื่องจากปัญหาความแห้งแล้งขาดแคลนน้ำ และปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่หันไปทำอาชีพอย่างอื่น หรือบางรายก็ออกไปขายแรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีพื้นที่นาร้างอยู่เป็นจำนวนมาก และอยากให้ทางรัฐบาลได้เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของราคาข้าวให้สูงขึ้น เพื่อชาวนาจะได้ทำนา และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นบ้าง” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 กล่าว
ทั้งนี้ ในพื้นที่ ต.บุดี อ.เมืองยะลา มีพื้นที่ทำนาอยู่กว่า 2,000 ไร่ ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทำนาตำบลบุดี โดยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรทำนาอยู่แล้ว ได้ร่วมกลุ่มกัน จำนวน 62 ราย เพื่อสืบสานวิถีชีวิตชาวนา และรักษาไว้ซึ่งอาชีพการทำนาข้าว โดยได้มีการเช่าพื้นที่ทำนาจากเกษตรกรรายอื่นๆ ที่ทิ้งร้างพื้นที่ไป พร้อมพลิกฟื้นพื้นที่ จำนวน 12 ไร่ มาทำนาข้าว และปลูกข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองไว้ให้คู่กับจังหวัดยะลา เพื่อยกระดับพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่มีอยู่จำนวน 21 สายพันธุ์ ให้เป็นที่รู้จักในอนาคตต่อไป