xs
xsm
sm
md
lg

จับตา! “ครม.ส่วนหน้า” จะเป็นแสงแห่งความหวังของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จริงหรือ!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - 12 ปีไฟใต้ เกิดเหตุความไม่สงบ 17,808 เหตุการณ์ ระเบิดกว่า 3 พันลูก ตายเฉียด 4 พันคน รวมประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขณะที่รัฐบาลละลายงบกว่า 3 แสนล้านบาท ประชาชนในพื้นที่ตั้งความหวังกับ ครม.ส่วนหน้า ขณะที่อดีตนักการเมืองคนดังชี้อย่าหวังสูงเกินไป ติงยังขาดส่วนสำคัญคือ ตัวแทนภาคประชาสังคมที่เป็นที่ยอมรับทั้งไทยพุทธ และมุสลิม

สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความสลับซับซ้อน ฝังลึกมายาวนานในทุกยุค ทุกสมัยของรัฐบาล ต่างทุ่มงบประมาณกว่า 3 แสนล้านบาท เป็นเงินจำนวนมหาศาล เพื่อแก้ปัญหาความไม่รุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จากผู้ก่อเหตุความไม่สงบที่แสดงศักยภาพต่อกรกับอำนาจรัฐไทย และผู้เห็นต่างจากรัฐ มายาวนานนับเป็นร้อยๆ ปี ในการต่อสู้ในเชิงอัตลักษณ์ ชาวมลายู และการอ้างถึงการแบ่งแยกดินแดนรัฐปัตตานี หรือ MERDEKA

ความรุนแรงไฟใต้ที่ยังคงลุกโชนอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่าระยะเวลา 12 ปี สร้างผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน จากข้อมูล 12 ปี ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต. รวบรวมสถิติเหตุรุนแรงทุกรูปแบบ พบว่า เกิดขึ้นทั้งสิ้น 17,808 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุความมั่นคง หรือการก่อเหตุที่เชื่อว่ากระทำโดยผู้ก่อความไม่สงบ จำนวน 9,407 เหตุการณ์ ระเบิดกว่า 3 พันลูก ตายเฉียด 4 พันคน รวมประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ใครจุดไฟใต้...ย้อนรอยปฐมบทความรุนแรง

เหตุความรุนแรงชายแดนใต้เมื่อ 12 ปีก่อน เหตุวันที่ 4 มกราคม 2547 ผู้ก่อความไม่สงบได้ปล้นอาวุธปืน จำนวน 413 กระบอก เฉพาะจากค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส และกลุ่มก่อความไม่สงบได้มีปฏิบัติการปล้นปืนในค่าย และฐานทหาร ในรูปแบบจูโจมตีต่างๆ ได้ปืนทางการ จำนวนทั้งสิ้น 2,076 กระบอก ติดตามคืนมาได้เพียง 804 กระบอก

ส่วนปืนที่ถูกปล้นครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในเหตุโจมตีฐานพระองค์ดำ หรือฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารราบที่ 15121 ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2554 จำนวน 65 กระบอกนั้น จนถึงปัจจุบันติดตามคืนได้ 20 กระบอก แยกเป็นปืนเอ็ม 16 จำนวน 15 กระบอก ปืนกลมืออูซี่ 4 กระบอก และปืนกลมินิมิ 1 กระบอก

ตั้งแต่ปี 2547 มีรัฐบาลมาแล้ว 8 ชุด นายกรัฐมนตรี 7 คน ใช้จ่ายงบประมาณแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ไปแล้วทั้งสิ้น 262,671 ล้านบาท โดยงบประมาณปี 2559 ตั้งไว้ที่ 30,866 ล้านบาทเศษ สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ ตัวเลขงบประมาณดังกล่าวเป็นตัวเลขเฉพาะ “งบโครงการ” หรือที่เรียกว่า “งบฟังก์ชัน” เท่านั้น ยังไม่รวมงบเงินเดือนข้าราชการ เจ้าพนักงานของรัฐ และรายจ่ายประจำปกติของหน่วยงานที่ลงไปแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

งบไฟใต้ - ความมั่นคงพุ่งยุค คสช.

ตั้งแต่ปี 2547 มีรัฐบาลมาแล้ว 8 ชุด นายกรัฐมนตรี 7 คน ใช้จ่ายงบประมาณแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้วทั้งสิ้น 264,953 ล้านบาท โดยงบประมาณปี 2559 ตั้งไว้ที่ 30,866 ล้านบาทเศษ สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา

งบดับไฟใต้ 13 ปีงบประมาณ แยกเป็น ปี 2547 จำนวน 13,450 ล้านบาท ปี 2548 จำนวน 13,674 ล้านบาท ปี 2549 จำนวน 14,207 ล้านบาท ปี 2550 จำนวน 17,526 ล้านบาท ปี 2551 จำนวน 22,988 ล้านบาท

ปี 2552 จำนวน 27,547 ล้านบาท ปี 2553 จำนวน 16,507 ล้านบาท ปี 2554 จำนวน 19,102 ล้านบาท ปี 2555 จำนวน 16,277 ล้านบาท ปี 2556 จำนวน 21,124 ล้านบาท ปี 2557 จำนวน 25,921 ล้านบาท ปี 2558 จำนวน 25,744.3 ล้านบาท และปี 2559 จำนวน 30,886.6 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 264,953 ล้านบาท!

ทั้งนี้ ตัวเลขงบประมาณดังกล่าวเป็นตัวเลขเฉพาะ “งบโครงการ” หรือที่เรียกว่า “งบฟังก์ชัน” เท่านั้น ยังไม่รวมงบเงินเดือนข้าราชการ เจ้าพนักงานของรัฐ และรายจ่ายประจำปกติของหน่วยงานที่ลงไปแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีไปแล้ว 2 ปีงบประมาณ คือ ปี 2558 และปี 2559 ปรากฏว่า งบดับไฟใต้ หรือที่อยู่ในแผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะงบของหน่วยงานด้านความมั่นคง

เริ่มจากกระทรวงกลาโหม ได้รับการจัดสรร จำนวน 207,718.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบปี 2558 จำนวน 14,769.8 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 ขณะที่งบกองทัพ ได้รับการจัดสรรงบเพิ่มขึ้นทุกเหล่าทัพ โดยเฉพาะกองทัพบกที่ได้งบเกิน 1 แสนล้านบาท

เช่นเดียวกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งมีบทบาทนำในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการจัดสรรงบถึง 10,241.2 ล้านบาท เพิ่มจากงบปี 2558 ที่ได้รับการจัดสรร 8,906.5 ล้านบาท นับเป็นปีแรกที่ กอ.รมน.ได้รับการจัดสรรงบเกิน 1 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่มีพระราชบัญญัติจัดตั้งหน่วยงานเมื่อปี 2551

ขณะที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง แต่เน้นงานด้านการพัฒนา ก็ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยได้รับการจัดสรร 3,800 ล้านบาทเศษ เพิ่มขึ้นจากงบปี 2558 ที่ได้รับ 2,742.5 ล้านบาท
 
นัจมุดดีน อูมา อดีต ส.ส.จังหวัดนราธิวาส หลายสมัย
 
“ครม.ส่วนหน้า” และองค์ประกอบสำคัญที่ถูกมองข้าม

แม้จะปรับโครงสร้างดับไฟใต้หลายครั้ง ภายใต้โครงสร้างการทำงานยุค คสช. และได้มอบหมายให้ กอ.รมน.ภาค 4 เป็นส่วนหน้า เป็นหน่วยนำหน่วยเดียวในการกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาและการใช้งบประมาณแก้เหตุความไม่สงบเพื่อดับไฟใต้ โดยแกนนำ คสช.และผู้นำทางทหารหลายคนกล่าวตรงกันว่า เพื่อความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการ แต่เหตุการณ์ความรุนแรง ยังไม่ทีท่า หรือสัญญาณความสงบเกิดขึ้นแต่อย่างใด แต่ที่ชัดเจน งบดับไฟใต้ละลายเฉียด 3 แสนล้านบาทไปแล้ว

ในส่วน ครม.ส่วนหน้า ตัวแทนรัฐบาล โครงสร้างใหม่เพื่อดับไฟใต้ ที่อยู่ภายใต้การนำของ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร หรือบิ๊กโด่ง และคณะนายทหารเกษียณราชการส่วนใหญ่ จะเคยดำรงตำแหน่ง แม่ทัพภาค 4 และรองแม่ทัพภาค 4 จะเป็นแสงแห่งความหวัง หรือดับความหวัง ของในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

นายนัจมุดดีน อูมา อดีต ส.ส.จังหวัดนราธิวาส หลายสมัย และผู้ที่เคยถูกกล่าวหาเป็นผู้ต้องหา และถูกดำเนินคดีจากการซัดทอดว่าเป็นบุคคลที่เป็นผู้สั่งการปล้นปืนทหารที่ค่ายปีเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาสเมื่อปี 47 ซึ่งถูกดำเนินคดีกระทบต่อความมั่นคง 12 ข้อหา โดยในวันที่ 15 ธันวาคม 48 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก มีคำพิพากษายกฟ้องทั้ง 12 ข้อหา

ทั้งนี้ นายนัจมุดดีน อูมา ได้กล่าวถึงการจัดตั้ง ครม.ส่วนหน้า เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ จ.ชายแดนภาคใต้ ซึ่งเห็นว่า เป็นความพยายามของรัฐบาล คสช. และจากที่เห็นรายชื่อทั้ง 13 คน ส่วนใหญ่เป็นทหาร และข้าราชการที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการ ศอ.บต.เป็นแม่ทัพภาค 4 รองแม่ทัพในพื้นที่ภาคใต้แทบทั้งสิ้น แต่ใน ครม.ชุดนี้มีสิ่งที่ขาดไป คือ ตัวแทนจากภาคประชาสังคมที่เป็นที่ยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยพุทธ หรือชาวไทยมุสลิม คสช.ก็ควรมองเห็นความสำคัญในการให้มีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหาในลักษณะบูรณาการ

เพราะคนเหล่านี้เข้าใจบริบทในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ จ.ชายแดนภาคใต้ และหากสามารถแก้ไขเพิ่มเติมในอนาคต ควรดึงร่วมในฐานะที่ปรึกษา หรือแต่งตั้งคณะทำงานเป็นการเฉพาะ ในฐานะตัวแทนจากประชาชนจะดียิ่งขึ้น

นายนัจมุดดีน ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า คณะทำงาน ครม.ส่วนหน้า ทุกคนมีประสบการณ์การทำงานในช่วงมีอำนาจก่อนเกษียณราชการ และได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำรัฐบาล คสช. ให้มาทำหน้าที่ ทุกคนรู้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น แต่ว่าจะตั้งความหวัง ครม.ส่วนหน้าดับไฟใต้ ดูแล้วตั้งความหวังสูงเกินไป

แต่จากการติดตามเป็นการใช้อำนาจในลักษณะบูรณาการ เพื่อให้การทำงานทุกกระทรวง ทบวง กรม ในพื้นที่เป็นไปแนวทางเดียวกัน เพื่อเป็นเอกภาพ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องที่ต้องให้โอกาส และรอดูต่อไปในอนาคตในการแก้ปัญหา ในส่วนกระแสสังคม ประชาชนต่างวิพากษ์วิจารณ์ปกติ แต่ทุกคนให้โอกาสทำงาน ไม่ควรจะวิจารณ์มากนัก ควรให้โอกาส ครม.ส่วนหน้าทำงานก่อน แล้วค่อยมาว่ากัน

ในมุมมอง นายมะดารี โตะลาลา ประชาชนในพื้นที่ อ.เมือง จ.นราธิวาส เห็นว่า ครม.ส่วนหน้า ที่ลงมาแก้ปัญหาความมั่งคง ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกคนล้วนเป็นข้าราชการเกษียณ หลายคนปฏิบัติงานในพื้นที่ ซึ่งประชาชนรู้ดีที่สุดว่าแก้ปัญหาเป็นอย่างไรบ้างในช่วงมีอำนาจ แต่ด้วยความที่มี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เป็นหัวหน้า ครม.ชุดนี้ ประกอบกับท่าน เป็นบุคคลที่ตรงไปตรงมา และรอบคอบ

จึงเห็นว่า ครม.ส่วนหน้ามีความน่าสนใจ และจะสามารถทำงานได้ดี เพราะยังมีอีกหลายคน เช่น พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ พล.อ.จำลอง คุณสงค์ พล.อ.ปราการ ชลยุทธ ก็เป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากประชาชาชนในพื้นที่ แต่จะทำได้ดีหรือไม่อย่างไรคงต้องให้เวลาในการพิสูจน์ ครม.ส่วนหน้าต่อไป
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น