เรื่อง/ภาพ : รัฐฐา บริสุทธิ์, รจน์ ไชยรักษ์ และ เพ็ญพิชชา กลึงวงศ์
--------------------------------------------------------------------------------
เวทีเสวนาท้องถิ่นใต้ : วิทยาลัยวันศุกร์สัญจร ครั้งที่ 2 กรณี “สิทธิชุมชนสองฝั่งทะเล (แลนด์บริดจ์ สงขลา-สตูล) : การพัฒนา ความขัดแย้ง และทางออก” ที่จัดขึ้น ณ ห้องประชุม FMS ชั้น 2 อาคารวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการจัดการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.หาดใหญ่) เมื่อวันจันทร์ที่ 19 ก.ย.2559 ต้องนับเป็นปรากฏการณ์แปลกใหม่สำหรับสังคมภาคใต้เลยทีเดียว
โดยเฉพาะในเรื่องราวที่มีการเรียกร้องอย่างเข้มข้นต่อเนื่องมา ชนิดที่สังคมคนใต้อยากเห็นปรากฏการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว กล่าวคือ การนำเอา “แกนนำคู่ขัดแย้ง” เกี่ยวกับการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในภาคใต้ ประกอบด้วย แกนนำฝ่ายที่เห็นด้วยกับโครงการ กับ แกนนำฝ่ายที่คัดค้านโครงการ ให้มาขึ้นเวทีดีเบตพร้อมกัน แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน
ทว่า กับเวทีเสวนาท้องถิ่น : วิทยาลัยวันศุกร์สัญจรครานี้ สถาบันสันติศึกษา ที่จับมือกับ คณะวิทยาการจัดการ ม.อ. กลับสามารถทำได้อย่างประสบผลสำเร็จดียิ่ง ไม่เพียงแต่แกนนำคู่ขัดแย้งเท่านั้นที่มาขึ้นเวทีชี้แจงแสดงเหตุผล องค์กรและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องก็พร้อมใจมาร่วมกันให้ข้อมูลในครั้งนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสนับสนุนคือ ตัวแทนกรมเจ้าท่าฯ หรือจากบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งทำหน้าที่ให้การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน (EHIA) ขณะที่ฝ่ายค้านคือประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ
ต่อไปนี้คือการถอดความเชิงสรุปผลเวทีเสวนาท้องถิ่นใต้ : วิทยาลัยวันศุกร์สัญจร ครั้งที่ 2 กรณี “สิทธิชุมชนสองฝั่งทะเล (แลนด์บริดจ์ สงขลา-สตูล) : การพัฒนา ความขัดแย้ง และทางออก” ในครั้งนั้น
--------------------------------------------------------------------------------
รศ.ดร.วิชัย กาญจนสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวต้อนรับ แนะนำวัตถุประสงค์ และรูปแบบการเสวนา
คลิปที่ 1
ก็ถือโอกาสเรียนท่านพิธีกร และตัวแทนหน่วยราชการ พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะจากจังหวัดสตูล และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน กระผมอาจารย์พิชัย กาญจนสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา รู้สึกเป็นเกียรติมากครับที่ได้มาเป็นประธานในการเปิดโครงการเสวนาท้องถิ่นใต้ ครั้งที่ 4 ในหัวข้อเรื่อง “สิทธิชุมชน 2 ฝั่งทะเล การพัฒนาความขัดแย้ง และทางออก” จัดโดยสถาบันสันติศึกษา และ คณะวิทยาการการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมด้วย สภาพัฒนาการเมือง ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม รวมกันทั้งหมด 5 หน่วยงานนะครับที่จัดขึ้นในวันนี้
ต้องพูดกันแบบนี้นะครับว่า รัฐบาลเองก็มีนโยบายที่จะพัฒนาประเทศ รายการแข่งขันกับประเทศต่างๆ และเพื่อให้ประเทศมีความก้าวหน้า ตามแนวคิดของผู้ที่นำเสนอโครงการนี้ขึ้นมา แต่การทำโครงการใหญ่ๆ ที่จะพัฒนาประเทศ อย่างเช่นโครงการแลนด์บริดจ์ แน่นอนว่าอาจจะมีผู้ที่ไม่เห็นด้วย เพราะ เห็นว่าโครงการนี้ส่งผลกระทบต่อชุมชน ต่อสังคม ทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวนั้นอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้ง เวลาพูดถึงความขัดแย้ง ถ้าคนที่เดินทางสันติศึกษา เขาบอกว่าเป็นเรื่องธรรมดา
ผมขอทำความเข้าใจนิดนึงครับ เขาบอกว่าตัวเราเองบางทีก็ยังขัดแย้งตัวเราเอง เพราะเวทีนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยน ผมจึงจะขอชี้แจงนะครับ เหมือนพี่น้องที่มาจากจังหวัดสตูลบอกผมว่า วันนี้มาดี หรือไม่มาดี มาแล้วจะได้อะไรบ้าง ไม่กล้ามาวันนี้ เราต้องมาตัดสินใจว่าจะทำอย่างหนึ่ง หรือไม่ทำอย่างหนึ่ง เขาเรียกภาวะขัดแย้งจากปัจเจกบุคคล แต่ขณะเดียวกันที่เราอยู่เป็นกลุ่มก้อน เป็นสังคมมันก็มีความขัดแย้งที่เห็นต่างกัน ในสังคมประชาธิปไตยส่วนใหญ่ ส่วนใหญ่เค้าก็ใช้วิธีรับฟังความคิดเห็น ลงประชามติ หรือโหวต เหมือนอย่างเรื่องรัฐธรรมนูญ นึกออกไหมครับ เราก็ได้ออกเสียงลงประชามติไป ซึ่งเราก็ต้องยอมรับในกติกาที่ตกลงกัน
ในโครงการใหญ่ๆ ของรัฐมีระเบียบสำนักนายกฯ ว่า ในการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งก็มีขั้นตอน มีกระบวนการ เพื่อให้มีการรับฟังความคิดเห็นนั้นได้ข้อมูลที่ถูกต้อง กระทำการโดยที่เรียกว่าจะได้รู้ข้อมูลทุกด้าน ทำให้พี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ได้รู้ผลกระทบจากโครงการ นอกจากนั้นรัฐบาลก็มักจะมี หรืออาจจะได้ทำ เมื่อก่อนเรียก EIA กันนะครับ ต่อมามีมาเพิ่มคือ EHIA เพราะเราไปเรียนแบบฝรั่ง ในเมื่อก่อนเรามี ครม. ประชาพิจารณ์ ซึ่งเราเลียนแบบฝั่ง เป็นเครื่องมือที่ทำให้สังคมสันติได้ เพราะถ้าเราฟังกันด้วยเหตุ ด้วยผลนะครับ บางทีก็เอาไปใช้ไม่ได้ เพราะผลกระทบบางครั้งมันเสียเปรียบนะครับ ต้องเสียสละเพื่อชาติมากเกินไป บางครั้งก็ต้องมีการเยียวยา
มีโครงการใหญ่ๆ หลายโครงการที่รัฐบาลได้ทำแล้ว ก็ที่มีการรับฟังความคิดเห็น จังหวัดสงขลาเมื่อก่อนมีโครงการอุโมงค์ลอดใต้ทะเลสาบ ไม่ทราบว่าเคยได้ยินหรือเปล่าที่เขาจะทำอุโมงค์ลอดใต้ทะเลสาบที่หัวเขาแดงกับแหลมสนอ่อนนะครับ ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ร่วมทำประชามติรับฟังทุกความคิดเห็นทุกๆ คน ทำประชาวิจารณ์ ผมจำได้บรรยากาศในวันนั้น ผมไปเข้าร่วมด้วยนานมากกว่า 10 ปี คนมากันเต็มเลยนะครับ เพราะเขาเข้าใจว่าจะมาโหวตกัน
แต่ท่านประธานดำเนินการในที่ประชุม ท่านเป็นชาวจังหวัดสตูล ท่านบอกว่าไม่ได้ โครงการนี้ต้องชี้แจงก่อน ไม่ใช่อยู่อยู่จะมาโหวตกัน เรามาฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ว่าด้วยเหตุ ด้วยผล มีกรรมการผู้ที่เป็นศึกษาโครงการ ก็นำเสนออาจารย์มหาวิทยาสงขลานครินทร์ มีความชำนาญเฉพาะทาง ก็มาช่วยด้วย
อาจารย์คนหนึ่งก็ถามว่า รถมอเตอร์ไซค์ผ่านได้หรือเปล่า ปรากฏว่าพี่น้องประชาชนหลายคนก็คัดค้าน ไอ้คนที่เชียร์ก็ชักเอะใจว่า เราวิจารณ์ถูกหรือเปล่า ไอ้คนที่คัดค้านก็เริ่มเอะใจ เราคัดค้าน เพราะเราเข้าใจผิดหรือเปล่า เพราะบางทีผู้นำอาจจะบอกมาแล้ว เราก็ไม่ทันคิด โดยการฟังอย่างตั้งใจอย่างรอบด้านทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะแนวคิดในการรับฟังความคิดเห็นก็ดี แนวคิดเรื่องประชามติก็ดี คือวันนี้โชคดีมาก ผมทราบข่าวมาว่า คุณอภินันท์ ที่ได้มาเป็นวิทยากร ท่านมีประสบการณ์ที่ดี โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไปเวทีมาทั่วประเทศ
วันนี้ผมเองในฐานะตัวแทนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็อยากเปิดเวทีเป็นพื้นที่กลาง ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมเสวนารับฟังความรู้ ความคิดเห็น คือผมไม่อยากให้จัดเวทีที่แบบมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ซึ่งบางครั้งก็ได้ข้อมูลเพียงฝ่ายเดียว ทางมหาวิทยาลัยก็เลยพยายามเป็นพื้นที่กลาง จะได้เปิดให้พี่น้องประชาชนทั้งสองฝ่าย ทั้งที่เห็นด้วยกับโครงการ และไม่เห็นด้วยกับโครงการ ได้มานั่งพูดคุย และรับฟังสองฝ่ายอย่างตั้งใจ แล้วก็พยายามทำความเข้าใจกับมัน และอาจจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ที่ก่อให้เกิดสันติในพื้นที่
โดยประเด็นการนำเสนอในช่วงแรก เดี๋ยวผมจะคิดเองนะครับ ไปเรียนแบบของฝรั่งมาก็คือ การ take off ก็คือการให้แต่ละฝ่ายเสนอ 15 นาทีนะครับ การที่มีความคิดเห็นต่างกัน ก็อาจจะพูดคุยกันได้ และเป็นแนวทางออกที่ดี และนำไปสู่สันติภาพของสังคม ทางสถาบันสันติศึกษา คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็มีความยินดีที่ได้เปิดพื้นที่กลางให้พูดคุย
ภาคดีเบต : นำเสนอมุมมอง และความคิดเห็นต่อโครงการพัฒนา “โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย (แลนด์บริดจ์ สงขลา-สตูล) โดย นาวี พรหมทรัพย์ กลุ่มรู้ทันท่าเรือน้ำลึกปากบารา กับ สมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ดำเนินการโดย ดร.นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์ จากสถาบันสันติศึกษา ม.อ. (นำเสนอแบบแท็จทอล์ค คนละ 15 นาที แบ่งเป็นสองรอบ โดยสลับก่อนหลัง)
คลิปที่ 2
คลิปที่ 3
นาวี พรหมทรัพย์ : ผมจะขอนุญาติลำเลียงเรื่องเก่าให้ฟังสักนิดนึงนะครับ เมื่อปี 2545 ช่วงนั้นผมเป็น สจ.อยู่ จ.สตูล ถือเป็น จ.เล็กๆ ที่มีท่านผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนจังหวัดมาบรรจุ มาทำงาน 2 ปี หรือปีครึ่งก็ย้ายออกไปหมด แล้วมีโครงการใหญ่ๆ ที่คาไว้เยอะ เช่น โครงการท่าเรื่องน้ำลึก โครงการถนน โครงการสตูล-เปอร์ลิส (มาเลเซีย) โครงการคลองแงะ-ทุ่งตำเสา เป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ของ จ.สตูลที่ได้ทำขึ้นมา
เราในฐานะคนสตูลก็คิดว่า ทำไมต้องให้หน่วยงานราชการเข้ามาชี้นำ เราคนพื้นที่ทำไมไม่เจาะไปรู้เรื่องในรายละเอียดพวกนั้น ก็เลยมีการจัดประชุมกัน 10 คน เพื่อพิจารณาว่าจะหยิบโครงการไหนขึ้นมา ปรากฏว่า โครงการสตูล-เปอร์ลิส ถือเป็นโครงการที่ยังไม่ทำผลกระทบมากด้านการศึกษา มีปัญหาเรื่องป่าชายเลน โครงการคลองแงะ-ทุ่งตำเสา ก็มีปัญหาเรื่องพื้นที่ของป่าเศรษฐกิจ
ก็มีโครงการท่าเรือน้ำลึกที่กรมเจ้าท่ากำลังศึกษาอยู่ และได้เขียนคอมเมนต์สั้นๆ ไว้ 4 ประโยคว่า ประโยคแรก ท่าเรือที่ควรจะสร้างที่ฝั่งอันดามัน คือที่หัวเขาใหญ่ ปุโบย ท่าเสะ สุกำ และตั้งธงไว้แบบนี้ ถ้าเราจึงมีความคิดว่า ถ้าเราหยิบเรื่องท่าเรือปากปารามาศึกษา คงเป็นประโยชน์กับคนสตูลมากที่สุด เพราะในขณะนั้นสินค้ายางพาราตกต่ำที่สุด
ขณะเดียวกันด่านสะเดา ปาดังเบซาร์ ด่านชายแดนไทย-มาเลเซียนั้น มีสินค้าเข้า-ออกด่านอยู่ปีหนึ่งๆ ประมาณ 150,000 ล้าน เราจึงมามองว่า ถ้าหยิบตัวนี้ขึ้นมาจะทำให้พี่น้องยางพารามีราคาที่ดีขึ้น ลดต้นทุนการส่งยาง โดยกลุ่มกองทุนสวนยาง เมื่อทำการศึกษาเสร็จแล้ว จึงไปพบท่านอธิบดี และได้อธิบายว่า ท่านอย่าทำเลยท่าเรือน้ำลึกที่ปุโบย เพราะถ้าท่านขุดร่องน้ำ 15 เมตร ความกว้าง 500 เมตร ความยาว 10 กิโลเมตร ไม่สามารถชนะธรรมชาติได้ เพราะจะมีน้ำขึ้นลงทางฝั่งทะเลอันดามัน จนทำให้รับไม่ไหว
และได้มีการเสนอโครงการใหม่คือ โครงการที่หัวเขาใหญ่ เพราะจากการศึกษาพบว่า ที่หัวเขาใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีจุดลึกสุดถึง 14 เมตร จึงเหมาะสมที่จะทำท่าเรือน้ำลึก จึงได้มีการทำโครงการมาเสนอ รองอธิบดี ถวัลรัตน์ เลยตอบตกลง และให้เจ้าท่าออกงบมา เพื่อใช้ศึกษาเพิ่มเติมที่ท่าเรือน้ำลึกปากบาราในทุกวันนี้
พอช่วงซักประมาณปี 2552 จึงมีการทำการศึกษาผลกระทบ EIA ในช่วงนั้นจึงมี ท่านพระนาย สุวรรณรัฐ ผอ.ศอ.บต. ผู้ว่าฯ ขวัญชัย จึงมีความคิดว่า เจ้าท่าต้องมีความจริงใจก่อน เราคนสตูลต้องมีการต่อรอง ท่าเรือสร้าง ไม่สร้าง ไม่เป็นไร เราต่อรอง ต่อรองว่าคุณต้องมีความจริงใจ ถ้าคุณคิดจะมาพัฒนาจังหวัดสตูล คุณต้องสร้างท่าเรือท่องเที่ยวให้เราก่อน ก็ตอนนั้นท่าเรือท่องเที่ยวเป็นท่าเรือปูน ใครที่จะไปตะรุเตา หลีเป๊ะ ก็จะต้องข้ามเรือ 56 ลำกว่าจะถึงเรือลำสุดท้าย ปรากฏว่าได้รับการอนุมัติ จึงทำให้มีท่าเรือท่องเที่ยว 300 กว่าล้านในทุกวันนี้
เมื่อสร้างเสร็จเราก็ต่อรองอีก เพราะในการสร้างพื้นที่นี้ทำให้ชาวบ้านได้รับความเสียหาย คือมันรื้อพื้นที่ อบต.ของชาวบ้านไปด้วย เพราะฉะนั้นเจ้าท่าฯ ควรจะสร้าง อบต.ให้ชาวบ้าน ทางเจ้าท่าฯ ก็ได้สร้าง อบต.ให้ 20 ล้านจนทุกวันนี้ รวมถึงสร้างหน่วยงานราชการ เช่น ศูนย์ตะรุเต่า ศูนย์อุทยานให้อีกด้วย นี่คือการต่อรอง
และครั้งหลังสุดเมื่อปีที่แล้ว เรามีโอกาสได้ไปพบอธิบดีและ ส.ส. จึงได้มีการปรึกษากันว่า หากท่านจะมาสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารา ท่านต้องเห็นความสำคัญของคนในพื้นที่ปากน้ำก่อน สิ่งที่อยากให้เจ้าท่าฯ ช่วยคือ อยากให้เด็กในพื้นที่ได้เรียนโรงเรียนพาณิชย์นาวี จรกตำบลปากน้ำ ตำบลละงู ตำบลแหลมสน ตำบลที่มีผลกระทบเท่านั้น ตำบลอื่นๆ เราขอสงวนสิทธิ์เอาไว้ ทีแรกขอไว้ 5 คน แต่ต่อรองได้ 4 คน ทุกวันนี้เด็ก 4 คนนี้ได้ไปเรียนที่พานิชนาวีแล้ว กำลังจะตั้งกรรมการคัดเลือกอีก 4 คน สิ่งเหล่านี้คือต่อรองผลประโยชน์ให้กับคนท้องถิ่น
และสิ่งที่กำลังต่อรองอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องจังหวัดปัตตานีไม่เอาโครงการอาหารฮาลาล ถ้าไม่ทำที่ปัตตานี ทำที่ใหม่ได้ไหม ให้มาที่จังหวัดสตูล ตอนนี้กำลังร่างหนังสือ ล่าลายเซ็น เพื่อส่งผู้ว่าการอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ขอว่าถ้าปัตตานีทำไม่สำเร็จ ไม่ต้องไปที่ไหน ให้มาจังหวัดสตูลทำเท่านั้น แล้วเราจึงทำการต่อรองเจ้ากรมเจ้าท่าฯ อีก ถ้าท่านสังเกตจะเห็นยุทธศาสตร์ว่า จะมีท่าเรือทั้งหมด 3 ท่า จึงทำการต่อรองกับกรมเจ้าท่าฯ ว่า ไม่ต้องหวังถึง 3 ท่าเรือ คนสตูลหวังเพียงท่าเรือเดียว ที่จะทำให้เกิดโครงการ ณ วันนี้
และยังต่อรองอีกว่า ถ้าที่จะเกิดขึ้นนี้จะต้องไม่มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ต้องเป็นท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์เท่านั้น
ก่อนอื่นที่จะทำโครงการนี้ จึงมีการจัดทำเอกสารขึ้นคือ เอกสารที่มีชื่อว่า “คนสตูลคิด เจ้าท่าฯ ทำ” เพื่อให้ชาวบ้านได้รับรู้ ตลอดจนมีการเปิดประชุมชาวบ้านกว่า 6,000 คนขึ้น และได้สรุปจัดทำหนังสือคนสตูลรู้ทันท่าเรือน้ำลึก เรารู้ว่าอะไรจะเอาอะไร ไม่เอาอะไร ที่ไม่เอาเราก็จะเขียนลงในหนังสือ ผลกระทบต่างๆ ก็จะเขียนลงหนังสือ แต่ในการเขียนหนังสือ การเขียนให้ครอบคลุมจักรวาลก็ไม่ได้ เพราะเราไม่มีความรู้โดยสมบูรณ์ แต่เจตนารมณ์ที่สำคัญคือ ทำเพื่อคนสตูล
เราก็บอกแล้วว่า ถ้าสร้างท่าเรือน้ำลึกจะมีผลกระทบ ข้อเสียมากกว่าข้อดี แต่เราก็ต้องต่อรองให้ได้มากที่สุด เพื่อผลประโยชน์ของคนสตูล หลังจากนั้นเราก็ไม่ไว้ใจกรมเจ้าท่าฯ ได้ไปประชุมอยู่หลายครั้ง เราก็บอกกรมเจ้าท่าฯ ช่วยแสดงความจริงใจ ทำวารสารให้เราหน่อย นี่คือวารสารของกรมเท่าฯ ถ้ามีตราสัญลักษณ์เป็นของกรมเจ้าท่าฯ ที่จะยืนยันได้ว่า ท่าเรือนี้เป็นท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์เท่านั้น ไม่มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ไม่มีการขุดดินชายหาด ไม่มีการเกิดระเบิดภูเขาสาธารณะ เพื่อเป็นการยืนยันให้คนสตูลได้รับรู้สิ่งเหล่านี้
ครับเราในฐานะคนจังหวัดสตูล จึงมีความแตกต่าง ความแตกต่างเป็นเรื่องของสังคมทั่วไป แต่ความแตกต่างนั้นอยู่บนพื้นฐานของความแตกแยกไม่ได้ ท่านมีอะไรที่ท่านบอกว่าไม่ถูก ไม่ควร ท่านเสนอมา เราควรจะมาร่วมกัน มาจับมือกัน ในการที่จะทำโครงการต่างๆ
ประเด็นที่ 3 ที่ผมเป็นห่วงมากที่สุดนั่นก็คือ ท่าเรือน้ำลึกปากบารา มันเป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลในอดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้นความรับผิดชอบของเมกะโปรเจกต์มันจะไม่ตกอยู่ที่รัฐบาล หรือกรมเจ้าท่าฯ อย่างเดียว มันมีหน่วยงานที่มาเกี่ยวข้องอีกเยอะแยะ เช่น สนข. การรถไฟฯ ถนน ที่ทำกินของชาวบ้าน ทำกันยังไง
เราก็ได้ไปต่อรองว่า ถ้าคุณจะมาตัดจากถนนจาก อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ไป จ.สตูล จาก 4 เลนเป็น 6 เลน เราขอบคุณคุณมาก แต่เราไม่เอา เพราะถ้าคุณตัดแบบนี้ มัสยิดหรือวัดข้างทางก็จะไปหมด เราไม่เอา เราไม่ต้องการแบบนี้ เขาจึงถามว่า แล้วคุณต้องการอะไร เราอยากได้ถนนละงู-พนัง-ปากบอน ที่มันทะลุที่ปากบอน คนสตูลอยากได้ นี่คือการเสนอของเราในการเข้าทำแผนยุทธศาสตร์
หลังจากนั้นเราก็เสนออีก เราพาคนไปดูท่าเรือน้ำลึกสงขลา ท่าเรือน้ำลึกกรุงเทพ ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ที่สงขลานี่มีรายได้ประมาณ 2 พันล้าน ท่าเรือน้ำลึกกรุงเทพมีรายได้ประมาณ 6 พันล้าน ท่าเรือที่แหลมฉบังมีรายได้อยู่หมื่นกว่าล้าน เราก็ต่อรองว่า ถ้าคุณจะสร้างท่าเรือที่บ้านผม คุณจะต้องให้เงินเยียวยาประชาชนในพื้นที่ปีละ 300 ล้าน ให้ตัวแทนผู้สูงอายุ ตัวแทน อสม.ส่งคนมาบริหารจัดการ นักการเมืองไม่เกี่ยว ไม่สามารถเอาไปทำในเรื่องสาธารณูปโภคได้ ช่วยเหลือเรื่องการศึกษา คุณภาพชีวิต และการมีงานทำ แค่นี้เราขอเขา นี่คือการต่อรอง
สมบูรณ์ คำแหง : ผมอยากให้ผู้เข้ารับฟังทุกคนเข้าใจก่อนนะครับว่า ผมพูดกับคุณนาวีเสมอว่า เรามาพูดแค่เรื่องท่าเรือน้ำลึกปากบารา ผมก็สื่อสารกับทุกช่องทางที่ผมสื่อสารได้ คือเราต้องตั้งสติกันนะครับ ในเรื่องนี้รัฐบาลและสภาพัฒน์มีการวางแผนการพัฒนาและการจัดวางยุทธศาสตร์เรื่องนี้ว่า เป็นโครงการที่ต้องการเชื่อมสองฝั่งทะเลแน่นอน เรียกว่า “แลนด์บริดจ์ สงขลา-สตูล” ซึ่งการเชื่อมก็จะมีแค่องค์ประกอบที่คุณนาวีพูดแค่ 1 เรื่อง แต่มันจะมีตามมาจากนั้นอีก 5-6 เรื่อง ซึ่งพี่น้องก็จะรู้ดีว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
ท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารา และรถไฟรางคู่ ที่กำลังเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อขออนุมัติการจัดสร้างต่อไป เหล่านี้เป็นตัวเชื่อม 2 ท่าเรือแน่นอน และเรื่องของพื้นที่ลงทุนของเขตอุตสาหกรรมของทั้ง 2 จังหวัดมีแน่นอน และเรื่องของการจัดหาสาธารณูปโภค แหล่งน้ำ สร้างเขื่อนใน 2 พื้นที่มีแน่นอน เรื่องของนิคมอุตสาหกรรม คือเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ มันต้องยืนอยู่ในฐานนั้น ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันไม่จบ
วันนี้ผมเสียดายอย่างหนึ่งคือ กรมเจ้าท่าฯ ไม่ได้มา ที่จริงเราอยากคุยกับรัฐบาลด้วยซ้ำ ผมว่าการคุยที่คุยกับคุณนาวี คุณวิรัช เราอาจจะได้แค่เรื่องท่าเรือปากบารา จริงๆ เราต้องมาทบทวนอีกหลายๆ เรื่องนะครับ ผมมี 3 ประเด็นที่จะคุยในวันนี้
ประการที่หนึ่งนั่นก็คือถ้าเป็น “แลนด์บริดจ์ สงขลา-สตูล” สิ่งที่จะเกิดผลกระทบแน่นอนนั่นก็คือ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต วัฒนธรรม นี่คือการเชื่อมของ 2 พื้นที่ ยืนยันได้ว่านี่คือการเปิดประตูเพื่อการลงทุนอย่างเต็มรูปแบบของภาคใต้ ต้องกลับไปดูในแผนสภาพัฒน์ ผมอยากให้พี่น้องสตูลที่มาในวันนี้ไปศึกษาข้อมูลกันให้ดี เรื่องนี้ไม่ได้เกิดภายใน 2 วันนี้ เรื่องนี้ไม่ได้เกิดภายใน 4-5 ปีนี้ คือเฉพาะท่าเรือปากบาราใช้เวลาสร้างประมาณ 4-5 ปี
แต่เรื่องที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น มีใครเอาอะไรเป็นหลักประกันได้บ้างว่า สิ่งที่คุณนาวีบอกกับรัฐบาลว่าเขาจะให้ วันนี้แค่ท่าเรือน้ำลึกที่ปากปาราที่สร้างเสร็จ คนที่จะบริหารจัดการก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นใคร ซึ่งผมเชื่อว่าไม่ใช่กรมเจ้าท่าฯ เพราะกรมเจ้าท่าฯ เป็นเพียงแค่คนจัดหา เพื่อให้คนมาจัดการ บริษัทที่มาจัดการก็จะเป็นบริษัทเอกชนทั่วไป ที่จะมาประมูลหรือรับสัมปทาน และนโยบายในยุครัฐบาลยุคนั้น หลังจากนี้ไป 5 ปีหรือ 10 ปี ผมไม่รู้ว่าพวกเราจะมีชีวิตกันอยู่อีกไหม
นั่นหมายถึงว่ามีการเปลี่ยนวัตถุประสงค์ในการใช้ท่าเรือเพิ่ม การใช้ท่าเรือเพื่อการ “อุตสาหกรรม” ซึ่ง “อุตสาหกรรมปิโตรเคมี” ที่คุณนาวีพูดถึง ก็ไม่มีใครเอาอะไรเป็นหลักประกันได้ว่ามันจะไม่มี เพราะมันเชื่อมโยงกับสังคมโลก ณ ปัจจุบันนี้ ซึ่งก็จะเห็นว่ากระแสทุน กระแสพัฒนากันไปถึงไหน ซึ่งทำให้เห็นว่าสิ่งนี้ที่จะเกิดขึ้น จะทำให้เกิดการเสียหายในด้านทรัพยากรธรรมชาติที่มหาศาล ซึ่งผมจดเอาไว้เยอะเลยว่า เราจะสูญเสียอะไรบ้าง
และในการที่เขาบอกว่าเขาไม่ถมทะเล ไม่ระเบิดภูเขาสาธารณะ ผมคิดว่ามันเป็นการเล่นคำมากกว่า เพราะในความเป็นจริงในวันนี้เราต้องถมทะเลเบื้องต้น 292 ไร่แน่นอน ผมคิดว่าเราต้องใช้ทั้งภูเขา ทั้งทรายมหาศาล ซึ่งทรายและหินหลักหลักๆ แล้วก็เอามาจากในพื้นที่จังหวัดสตูล
ประเด็นใหญ่ก็คือว่า สิ่งแวดล้อมในสตูลเสียหายแน่นอน ซึ่งเราก็ต้องเลือกนะครับว่า เราจะให้จังหวัดเราเป็นอะไรกันแน่ ว่าจะให้เป็นท่องเที่ยว หรืออุตสาหกรรม ผมคิดว่าทิศทางที่จะนำไปสู่อนาคตแบบนั้น เป็นการลงทุนเพื่ออุตสาหกรรมแน่นอน ท่าเรือน้ำลึกปากบาราสร้างขึ้นไม่ใช่อย่างเดียวแน่นอน
ประการที่สองก็คือ ในเรื่องของแนวคิด “แลนด์บริดจ์ สงขลา-สตูล” ได้มีนักธุรกิจ 2-3 ท่านได้ออกมาพูดในที่สาธารณะว่า มีการยืนยันชัดเจนว่า วิธีการเชื่อมแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูลคือ การสร้างรถไฟเชื่อมท่าเรือสองฝั่ง เพื่อขนตู้คอนเทนเนอร์ผ่านทางรถไฟ นึกออกใช่ไหมครับ เรือลำใหญ่ๆ ที่สามารถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ได้ ซึ่งปกติจะต้องข้ามไปทางช่องแคบมะละกาที่สิงคโปร์ ซึ่งรัฐไทยคิดว่าเราน่าจะตัดตอนจากการข้ามไปทางช่องแคบมะละกาที่สิงคโปร์ได้บ้าง เส้นทางนี้นักธุรกิจก็ยืนอย่างชัดเจนว่า เขาไม่เชื่อมั่นวิธีการนี้
และยังมีอีกท่านหนึ่งที่ได้พูดอย่างชัดเจนว่า โครงการนี้สร้างไปก็ไม่คุ้ม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องหาข้อมูลมาว่า ทำไมถึงยังจะสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ปากปารา และในส่วนของการประเมินเศรษฐกิจเบื้องต้น ซึ่งอยู่ใน EIA ซึ่งจะมีประเด็นในเรื่องการประเมินความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งวิธีการแค่นี้ก็ยังไม่พอ ยังจะต้องหาให้ได้ว่า ข้อสังเกตที่เราตั้งไว้มันใช่หรือไม่ใช่ รัฐบาลก็ต้องออกมาตอบ
และประการที่สาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับเลยว่า ในการเคลื่อนไหวของการสนับสนุนท่าเรือน้ำลึกปากปาราเพราะมันมีงบประมาณถึง 120 ล้าน ซึ่งผมคิดว่าถ้าเงิน 120 ล้านบาทนี้หมดก็จบ ซึ่งเราก็จะเสียเงินภาษีของเราไปแล้ว 120 ล้าน ซึ่งเสียไปแล้วก่อนหน้านี้ร้อยกว่าล้านบาท วันนี้แนวทางของประเทศก็จะเป็นแบบนี้นะครับ ซึ่งผมเข้าใจว่าทั้งหมดนี้เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นนับแสนล้านบาท ซึ่งมีประเทศที่เขาสนใจเรื่องนี้มีจริงๆ ตอนนี้ก็คือ ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเคยเดินทางมาดูแล้ว แต่ก็ถอดถอยไป
ส่วนจีนนั้นก็เคยสนใจ แต่ตอนนี้ไปทบทวนดูจีนก็เปลี่ยนไปเป็นสนใจเรื่องเส้นทางสายไหมเส้นใหม่ ซึ่งตอนนี้จีนก็ไม่สนใจแลนด์บริจด์ เพราะจากที่ประเมินแล้วไม่ใช่ทางออกแน่นอน แต่จีนสนใจ “โครงการขุดคลองไทย” จีนอยากให้ประเทศไทยทบทวนเส้นทางการขุดคลอง เพราะตอนนี้จีนก็ได้เข้ามาศึกษาเส้นทางแล้ว
เพราะฉะนั้น ผมก็คิดว่าในอนาคตรัฐบาลเองก็จะไม่สนใจเรื่องนี้ แค่ใช้เงิน 120 ล้านบาทให้จบก็จบ แล้วพี่น้องก็มาติดตามกันนะครับว่า จะเป็นอย่างที่ผมพูดไว้ไหม ผมเชื่อว่าวันนี้เรื่องท่าเรือน้ำลึกปากบาราเกิดยากครับ พี่น้องก็ต้องติดตามครับ เพราะผมก็เชื่อว่าหลังจากนี้ก็จะมีการติดตามกันต่อไป บริษัทก็จะต้องทำหน้าที่เดินหน้าศึกษากันต่อไป ซึ่งนี่ก็คือพันธะนะครับ ซึ่งถามโดยส่วนตัวผม ผมก็ไม่กลัวครับ
ดร.นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์ : ก่อนอื่นผมขอสรุปเลยนะครับว่า มีประเด็นที่เราพูดตรงกัน 2 เรื่องด้วยกันคือ การพัฒนาที่พูดถึงกันทั้ง 2 ฝังเลย นั่นก็คือ เรื่องยุทธศาสตร์ว่าเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนา อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญที่พูดคือ เรื่องผลประโยชน์ของคนสตูล คนสงขลา และประเทศชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่พูดตรงกัน และในอีกประเด็นต่อมาคือ ในเรื่องของบทบาทของภาคประชาชน หรือคนที่เกี่ยวข้องก็ควรจะมีการเข้าร่วมและติดตาม
และอาจจะมีมุมที่ต่างกันนั่นก็คือ ประเด็นแรก จุดในพื้นที่พัฒนาเป็นพื้นที่เฉพาะโครงการ อีกส่วนก็มองว่าในพื้นที่นี้เป็นพื้นที่จะเชื่อมโยงกับพื้นที่อื่นๆ เพราะฉะนั้นในทางเทคนิคของแต่ละบุคคล จึงอยากจะให้สรุปในแต่ละประเด็นว่า ถ้าหากเกิดปัญหาจริงๆ เราจะมองกันอย่างไร คือถ้าเกิดปัญหาจริงๆ จะร่วมกันยังไง ถ้าไม่เกิดปัญหาจริงๆ จะร่วมกันยังไง
นาวี พรหมทรัพย์ : เรื่องรถไฟจริงๆ มันมาเชื่อมโยงกับโครงการที่ สนข.ได้ประชุมกันที่โรงแรมวังใหม่ โดยผมเป็นคนที่ลุกขึ้นค้านว่า รถไฟที่จะมาสตูลใช้วิธีขีดเส้นแบบนี้ คุณจะนำหายนะให้เกิดขึ้นกับท้องถิ่น ฉะนั้นคุณตอบผมได้หรือไม่ ว่ารถไฟสตูลจะไปในทิศทางยังไง มีการเวนคืนที่ดินชาวบ้านไหม เขายืนยันว่าไม่มี ฉะนั้นถ้าไม่มีจริงคุณก็ต้องลงมาทำยืนยันประชาคมกับชาวบ้าน ต้องมาพบชาวบ้านแต่ละหมู่บ้าน ผมจึงจะยอมรับ
เพราะประเด็นของผมจริงๆ นั้น พูดถึงเรื่องท่าเรือน้ำลึกปากบารา เรื่องอุตสาหกรรมก็เช่นกัน ถ้าสร้างถ้าเรื่องท่าเรือน้ำลึกจะมีอุตสาหกรรมไหม มีครับ แต่อุตสาหกรรมหนักๆ ทั้งหมดนั้น อยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาแล้ว เมื่อเกิดการพัฒนาในท่าเรือปากบารา มันมีความเจริญแน่ ชาวบ้านที่อยู่ในสมัยก่อนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงปากบารา รัฐบาลจะต้องออกโฉนดที่ดินให้กับเขา ไม่ใช่มาใช้วิธีในการขับไล่คนแบบนี้ไม่เอา เราพยายามตีกรอบให้คนสตูลทั้งหมด
อย่างที่คุณสมบูรณ์บอกว่า แล้วจะเชื่อได้ยังไง เราต้องเชื่อมั่นว่าท่าเรือน้ำลึกปากบารา คนสตูลคิด เพราะฉะนั้นคนสตูลต้องทำต่อ ทำเป็นข้อตกลงเป็นเล่มส่งให้รัฐเขียนเป็น MOU ใน EHIA ซึ่งใครก็ตามแต่ที่จะมาสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราจะต้องทำตามข้อตกลงนี้ หากไม่ทำตามเราก็จะไม่ยอมให้สร้าง
เราเลือกนะครับ ตรงไหนประโยชน์ของชาวบ้าน เราก็จะเลือก เช่น หากคนจะมาทำธุรกิจจังหวัดสตูล คุณต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และต้องมาจ้างคนสตูลทำงาน 80% ฉะนั้นการที่จะมาใช้ทรัพยากรท้องถิ่นเรา หากไม่ให้อะไรเราเลย เราไม่เอา
รวมถึงคนสตูลก็ต้องช่วยกันต่อรองให้ได้มากที่สุด สร้างท่าเรือน้ำลึก หรือไม่สร้าง ไม่ใช่เรื่องของเรา รัฐบาลตัดสิ้นใจเอง แต่ถ้าจะสร้างต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อตกลงคนสตูล ถ้าทำไม่ได้ ก็จะไม่รับ และในการสร้างท่าเรือตรงนี้ คนสตูลจะต้องมีอาชีพ มีรายได้ มีงานทำ และได้รับผลประโยชน์จากตรงนี้ด้วย ประเทศก็ต้องได้ และหากเรายึดถือสิ่งเหล่านี้เป็นหลัก เราจะสามารถคุยกับเขาได้
หรือไม่ก็จัดการประชุมสัก 2 วัน ให้ ม.อ.จัดให้ก็ได้ หยิบมาแต่ละประเด็น มาพูดกันที่ละเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องท่าเรือ รถไฟ เช่น ถ้าหากวันหนึ่งสมมุติรถไฟมันมาจริงๆ มีผลประโยชน์จริง เราก็ไม่ขัดข้อง แต่ถ้าทำแล้วมีผลกระทบข้อเสียมากกว่าข้อดี เราก็ไม่เอา เพราะถ้าเรือหลายๆ ท่าที่มีรถไฟ บางท่าก็มี บางท่าก็ไม่มี ผมอยากให้พวกเรามาตีแผ่โครงการกัน ในจังหวะที่มีการทำ EHIA เราในฐานะคนสตูลก็จะต้องไปร่วมกับเขา ไปบอกเขา ไปตะโกนให้ดังๆ ให้รัฐบาลได้ยินว่า คนสตูลต้องการแบบนี้นะ เราอย่านั่งเฉยๆ รอเจ้าท่าฯ รอท่าเรือ
ผมอยากเห็นความแตกต่างในสังคม ความแตกต่างในสังคมที่ไม่อยู่บนพื้นฐานความแตกแยก เราคนสตูลด้วยกันทั้งนั้น ทุกคนที่มาในวันนี้ก็มีความแตกต่าง แต่ท่านก็รักประเทศ รักบ้าน รักเมือง ผมก็รักบ้านรักเมือง ในเมื่อเรามีหัวใจ มีอุดมการณ์เดียวกัน แล้วทำไมเราถึงมาหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวไม่ได้ อะไรที่เอาก็บอกเขา อะไรที่ไม่เอาก็บอกเขา ถ้าสมมุติไม่สะดวกจะจัดอีกสักครั้งก็ยินดี และทำมาเลยครับเป็นรูปเล่ม เพื่อเสนอเจ้าท่าฯ เสนอภาครัฐ ทำได้ ไม่ได้อย่าพึ่งคิด ลองคิด ลองทำก่อน ถ้าไม่ได้ เราไม่ยอมครับ ขอบคุณมากครับ
สมบูรณ์ คำแหง : วันนี้นะครับ หน่วยงาน สผ.ได้ไปศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์นะครับ โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลที่ได้อนุมัติงบไป 50 ล้าน และได้ให้ไปศึกษาถึงจุดที่เหมาะสมที่จะเชื่อมสองฝั่งทะเล รวมถึงเรื่องโครงการขนาดใหญ่ในภาคใต้ มันควรจะเป็นยังไง จึงมีเอกสารนี้มาอ่านให้พี่น้องฟังนะครับ
คือให้บทสรุปของ SEA ได้บอกว่า อาจจะไม่มีความจำเป็นที่ต้องพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบารา เนื่องจากเป็นโครงการที่ต้องใช้เวลาศึกษา ต้องมีเหตุผลในการตัดสินใจหลายเรื่อง และยังระบุอีกด้วยว่า ท่าเรือน้ำลึกปากบารามีผลกระทบแน่นอน และอาจจะเกิดปัญหาสังคมที่จัดการได้ยาก ซึ่งต้องมีการย้ายถิ่นฐาน ทั้งนี้ยังมีการกระทบรายได้ และกระทบการท่องเที่ยว ผมจึงเชื่อว่า หากรัฐบาลได้รับรายงานชุดนี้ รัฐบาลอาจจะต้องคิดใหม่
สำหรับผมทางออกของเรื่องนี้ ผมเชื่อนะครับว่า วันนี้คุณนาวีเจตนาดี ที่มาวันนี้ทุกคนเจตนาดี วันนี้เราจึงควรจะมายอมรับความจริงกันว่า เรานั้นมีศักยภาพที่ดีอยู่แล้ว อย่างสตูลเรามีทะเล มีการประมง มีวิถีชีวิต มีการเกษตร ที่ผ่านมารัฐก็ยังไม่ได้จัดการกับสิ่งที่มีอยู่ให้มันดี เงินที่คุณนาวีจะพัฒนาการท่าเรือหมื่นกว่าล้าน เอามาพัฒนาเรื่องท่องเที่ยวสตูลสัก 5000 ล้านได้ไหมครับ เราควรเสนอให้รัฐทำให้สิ่งที่คิดว่า เราจะมีอนาคตจริงๆ อยู่ได้กับเราจริงๆ ยั่งยืนจริงๆ
ซึ่งผมก็ไม่เชื่อครับว่า เราจะไม่สามารถที่จะบอกว่าไม่เอาโครงการก็ได้ เพราะในสักวันหนึ่งหากคุณนาวีไม่อยู่ ผมไม่อยู่ โครงการต่างๆ ก็ต้องเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นนี่คือข้อเท็จจริงที่มีอยู่ คนสงขลา คนสตูล ควรตั้งสติอยู่บนฐานความจริง อย่าเพ้อ อย่าฝัน
พี่น้องทุกคนอยากได้โรงไฟฟ้า แต่ไม่ต้องการถ่านหิน ผมว่าหากพี่ๆ น้องๆ ยังไม่เคยเห็นท่าเรือน้ำลึกปากบารา อยากให้ลองไปดูครับว่า ถ้าเกิดขึ้นจริงๆ บรรยากาศการท่องเที่ยวคงจะหมดไป การใช้พื้นที่หลังท่าเรือคงจะเปลี่ยนไปแน่นอน แต่คงไม่ใช่ที่ท่าเรืออย่างเดียว ที่มาบตาพุดก็เกิดความเปลี่ยนแปลง อนาคตสตูลจะเป็นแบบนั้นไหม ใครจะสามารถรับประกันได้
เราก็พูดตามความจริงได้เลยนะครับว่า อนาคตข้างหน้านั้น เราไม่รู้เลยว่ารัฐบาลจะเอายังไงกับเรื่องนี้ การเปลี่ยนเจตนารมณ์ เปลี่ยนวัตถุประสงค์ ก็จะสามารถเปลี่ยนไปได้ทั้งหมด และต้องยอมรับนะครับว่า ตอนนี้ ปตท.ได้ลงพื้นที่เพื่อเดินหน้า “อุตสาหกรรมปิโตรเคมี” แล้ว นั่นก็คือที่ อ.ละงู ซึ่งผมสรุปสั้นๆ นะครับว่า สตูลมีทางออกแน่นอนครับ คุณนาวี เรายืนอยู่บนสิ่งที่เรามี เกษตร ประมง การท่องเที่ยว
ดร.นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์ : ก็เป็นประเด็นที่สำคัญนะครับ ก็คือเรื่องแรกเลยครับ คือเรื่องที่ทั้ง 2 ท่านกล่าวมานี้อยู่บนพื้นฐานของความปารถนาดีกับชุมชน เพราะทั้งสองก็ได้ทำงานมาเพื่อชุมชนและสังคม อันที่ 2 ก็เชื่อว่าทั้ง 2 ฝ่ายก็มีทางออกที่สำคัญที่เหมือนกันก็คือ ไม่เอาสิ่งที่กระทบกับปัญหาของคนสตูล เพียงแต่ว่าต่างกันในด้านเทคนิค
ด้านเทคนิคของคุณนาวีนั่นก็คือ เทคนิคของการต่อรอง คือต่อรองกับสิ่งที่มีปัญหาที่มันเกิดขึ้น ส่วนวิทยากรอีกท่านหนึ่งนั้นก็จะเป็นในเชิงตั้งคำถาม ตั้งคำถามกับคนสตูล คนสงขลา กับคนทั่วไปว่า สิ่งที่ปรากฏในข้อมูลนั้น เป็นสิ่งที่เชื่อได้หรือไม่ หรือน่าติดตามอย่างไร มองในมุมของแผนพัฒนา เพราะฉะนั้นคือกำลังนึกว่า จะร่วมมือกันยังไง ซึ่งยังไม่มีคำตอบ
แต่ทั้งสองฝ่ายก็มีคำตอบเดียวกันคือ ความปรารถนาดี บนมิติที่ต่างกัน แต่ว่าคุยกันตั้งแต่ต้นเลยว่า เราไม่แตกแยกกัน ในการพูดในครั้งนี้ก็คือ พูดเพื่ออุ่นเครื่อง และเพื่อให้เห็นมิติที่แตกต่างในแต่ละคน บางคนอาจจะนึกมากไป นึกน้อยไป จึงขอฝากไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อนครับ
ภาคอภิปราย : วงเสวนาท้องถิ่นใต้ “สิทธิชุมชนสองฝั่งทะเล (แลนด์บริดจ์ สงขลา-สตูล) การพัฒนา ความขัดแย้ง และทางออก” โดย วิรัช องค์ประเสริฐ ผู้จัดการโครงการทบทวนและสำรวจท่าเรือน้ำลึก สตูล-ปากบารา ดร.อาภา หวังเกียรติ นักวิชาการจากวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หุดดีน อุสมา คณะทำงานขับเคลื่อนปากน้ำน่าอยู่ (คคปน.) และ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ โดยมี บัญชร วิเชียรศรี จากวิทยุ มอ.88 เป็นผู้ดำเนินรายการ
คลิปที่ 4
คลิปที่ 5
บัญชร วิเชียรศรี : ขอสวัสดีทุกท่านนะครับ ทั้งที่ ม.อ.เอง และที่มาจากพื้นที่ชุมชนต่างๆ วันนี้ที่ได้ฟังช่วงแรกแล้ว ผมคิดว่าช่วงนี้คงจะมีอะไรให้คุยไม่น้อยเลย เพราะว่าความเปลี่ยนแปลงสารพัดอย่างที่เกิดขึ้นในชุมชน ไม่ว่าใครจะมาจากไหนก็ตาม มีอำนาจจากที่ไหนก็ตาม ไม่ว่าจะในระดับรัฐบาล หรือในระดับผู้ปฏิบัติการ หรือแม้แต่ภาคเอกชนที่จะเข้ามาเกี่ยวข้อง เขามาแล้วเขาก็ไป คนที่จะอยู่แล้วตายมีลูกต่อมา แล้วตาย แล้วมีลูกคือ พวกเราเอง ปรากฏการณ์แบบนี้ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนก็ตาม จะเกิดที่จะนะ จะเกิดที่ปากบารา หรือจะเกิดที่มาบตาพุด มันเป็นเรื่องของเราทั้งนั้นนะครับ
ขอเริ่มต้นอย่างนี้ก็แล้วกัน ถ้าเกิดคิดว่ามันเป็นเรื่องของเราจริงๆ และทุกคนต้องมาหาทางออกกัน เราช่วยกันปรบมือหน่อยครับ ขอบคุณมาก แสดงว่าทุกคนอยากให้หาทางออก ไม่ใช่แค่อยากรบอย่างเดียว และประเด็นวันนี้ที่เราจะคุยกันเป็นเรื่องของสิทธิชุมชน 2 ฝั่งทะเล อย่างที่รู้กันอยู่ เรามากันก็เพราะเรื่องนี้ แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล การพัฒนา ความขัดแย้ง และทางออก การเสวนาเขาตั้งชื่อไว้ย๊าวยาวเหลือเกิน แต่ว่าจริงๆ มันก็ต้องยาว และเรื่องมันยาวอยู่แล้ว
คนที่จะมาคุยวันนี้มี 5 คนนะครับ ขอเชิญท่านแรกครับ ผู้จัดการทบทวนและสำรวจท่าเรือน้ำลึก สตูล ปากปารา ถือว่าเป็นผู้แทนรองอธิบดีกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม คุณนายวิรัช องค์ประเสริฐ ผู้จัดการโครงการ ครับ ท่านถัดไปครับอดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ท่านนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ต่อไปครับคณะทำงานขับเคลื่อนปากน้ำน่าอยู่ อ.หุดดีน อุสมา แล้วผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ และ ดร.อาภา หวังเกียรติ
ขอเริ่มต้นอย่างนี้ก็แล้วกัน ในวันนี้เรื่องที่เราจะคุยกัน เป็นเรื่องของในประเด็นของความขัดแย้ง เรื่องของการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ด้วย ซึ่งหลายๆ เรื่องก็เป็นปัญหาที่กระทบความรู้สึกของผู้คน และอะไรหลายๆ อย่างที่มันกำลังจะเกิดขึ้นต่อสังคม เอามุมมองจากในพื้นที่ก่อนก็แล้วกัน ที่เราจะเริ่มคุยกันในเบื้องต้น
อ.หุดดีน มองเรื่องปรากฏการณ์ที่เกิดในพื้นที่ เชื่อมโยง จริงๆ แล้วพูดเรื่องใหญ่มากเลยนะครับ เป็นเรื่องของการเชื่อมโยงของสองฝั่งทะเล ระหว่างฝั่งมหาสมุทรอินเดียและฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้โลกใบนี้แคบลง ถ้าเกิดมองในแง่บวกคือ มันจะดีมากเลย ท่าเรือน้ำลึก การลดระยะทาง และเพิ่มโอกาสให้ทุกๆ คน แต่สำหรับคนในพื้นที่มองยังไง เชิญอาจารย์ครับ
หุดดีน อุสมา : ในฐานะที่เป็นประธานคณะทำงานขับเคลื่อนปากน้ำน่าอยู่ ซึ่งเป็นภาคประชาชนที่ต้องการเห็นพื้นที่ปากน้ำพัฒนาไปในทิศทางที่ยังยืน โดยที่ให้คนมีความสุข และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เราต้องการเห็นภาพสีขาว หรือว่า ไวต์ กรีน บลู รวม 3 อย่างก็คือ ไวต์คือ พื้นที่ตรงนี้จะต้องเป็นพื้นที่สีขาวสะอาดบริสุทธิ์ บลูก็คือ ความเป็นธรรมชาติ การดูแลทะเล กรีนก็คือ การอนุรักษ์
พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่เราอยู่มานาน แต่อยู่ๆ ก็ปรากฏว่า ท่าเรือน้ำลึก หรือว่า แลนด์บริดจ์ เป็นนโยบายของรัฐบาลมาส่งผลกระทบกับพวกเราอย่างมหาศาล ที่นี้ผมพูดง่ายๆ ก็แล้วกัน ผมรู้จักกับคุณนาวีมาก่อน ในฐานะเคยเป็นเพื่อนกัน เคยกินข้าวหม้อเดียวกัน นอนห้องเดียวกัน เรียนด้วยกันครับ แต่พอโครงการนี้เข้ามาส่งผลกระทบจนผมโดนฟ้อง แสดงว่าเรื่องเล็กๆ ยังจะส่งผลกระทบที่ใหญ่มาก แม้กระทั่งความเป็นเพื่อน ตรงนี้แหละครับตรงนี้ทำให้เห็นว่า เราควรทำอย่างไรให้มองให้เห็นว่า คนในพื้นที่ คนจังหวัดสตูลอยู่ได้โดยที่ไปด้วยกันได้ พัฒนาไปในทางที่ถูกต้อง ถ้าหากว่าสองอย่างนี้มาแล้วส่งผลกระทบ
ผมดูวิธีการต่างๆ ที่ทางรัฐ หรือที่ทางคุณนาวีเสนอมา หรือกรมเจ้าท่าฯ ที่เป็นผู้สนับสนุน สิ่งที่เป็นปัญหามากคือ ชีวิตที่อยู่วันนี้บางทีไม่เป็นความจริง คุณนาวีพูดให้ดูดี เราไม่ต้องพูดถึงคน 2 ฝั่ง หรือพูดเฉพาะคนที่ปกป้องและคนที่สนับสนุน เพราะฉะนั้นถ้าเป็นอย่างนี้ความขัดแย้งก็จะเพิ่มขึ้น
บัญชร วิเชียรศรี : ความเข้าใจที่ไม่ตรงกันของคนสนับสนุน และคนคัดค้านนี่ มันต่างกันเยอะไหมครับ
หุดดีน อุสมา : ต่างครับ ที่จริง 4-5 ปีที่ผ่านมา เราก็เคลื่อนมาได้เรื่อยๆ แต่พอมีงบ 120 ล้าน คุณนาวีก็รับตรงนั้นกับบริษัทที่ปรึกษา ข้อมูลคุณนาวีได้ให้ไว้เป็นข้อมูลที่ไม่รอบด้าน ข้อมูลที่ฟังแล้วดูเหมือนว่าผลกระทบเกิดน้อยเหลือเกิน ซึ่งมีจริงๆ มีมาก ซึ่งมันเป็นเรื่องอนาคตที่ไกลมาก พอพูดถึงเราจะได้เรื่องของทุนการศึกษา ให้ทุนถึง 4 คน กับโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่ใหญ่มากแล้ว แล้วมันได้คุ้มเสียไหม
บัญชร วิเชียรศรี : ส่วนที่มีผลกระทบมันรุนแรงมากเหมือนกับว่าได้ไม่คุ้มเสีย
หุดดีน อุสมา : ยุทธศาสตร์ “สตูลสะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์” เรายืนกันอยู่นานมาก ถ้าจะเอาให้เปลี่ยนเป็นท่าเรือ เป็นอะไรๆ ก็ต้องบอกว่าจะคนจะตื่น แต่คุณนาวีมาอ้างว่าคนสตูลคิดถามว่าคิดเป็นกี่คน คนๆ หนึ่งไม่ใช่คนสตูลคิดก็ต้องมีกันทั้งหมด เท่าที่ผมทราบคุณนาวีไม่ได้มีเชื้อสายสตูลโดยตรง
บัญชร วิเชียรศรี : ถ้ามีการพาดพิงเยอะ ก็จะต้องมีการอธิบายเยอะ เอาตัวตรงประเด็นของมันเลยดีกว่า
หุดดีน อุสมา : ชาวบ้านกังวลมาก หนึ่งไม่ชัดเจนเรื่องเป้าหมาย มาสร้างท่าเรือน้ำลึกที่อยู่ๆ มาเกิดแรงบิดเบือน ทำเวทีท่าเรือน้ำลึก แต่กลับมีเวทีท่าเรือครูซ และก็มีประชุมป่าอนุรักษ์ในวันเดียวกัน แสดงว่าสิ่งที่พูดในวันนี้มันต้องมีอะไรข้างหลัง
ที่ทำให้เราได้กังวลอีกอย่างหนึ่ง ในเรื่องของกระบวนการการมีส่วนร่วมของเรากับประชาชนจำนวนมาก โดนกีดกัน เพราะเราไม่มีอำนาจ พอพวกเราไปร่วมกลับกลายเป็นว่า เอาตำรวจและทหารมากัน อีกอย่างหนึ่งก็คือ ความเชื่อถือกลุ่มที่สนับสนุนในพื้นที่ ขาดความเชื่อถือมาก แม้แต่กรมเจ้าท่าฯ เอง คนสตูลยังไม่ให้ความเชื่อถือ ทราบว่าที่ผ่านมาศาลตัดสินให้กรมเจ้าท่าฯ ติดคุก 2 หรือ 3 ปีรวมประมาณ 6-7 คนไปแล้ว ทำให้ภาพของกรมเจ้าท่าฯ เปื้อน คนไม่เชื่อใจ คนสงสัยกับการทำงานของกรมเจ้าท่าฯ
ในที่สุดก็คือว่า เราต้องการพัฒนาที่ยั่งยืน และคำถามอีกอันหนึ่งของชาวบ้านก็คือ ถ้าเป็นท่าเรือน้ำลึกระดับนั้น มันก็ต้องอพยพคนผู้คน จะต้องสูญเสียพื้นที่แน่ๆ รัฐบาลบางคนก็ต้องบอกว่า เราก็ต้องอพยพ การบอกว่าพื้นที่ตรงนี้มีท่าเรืออย่างเดียว ไม่มีอย่างอื่น อาจจะมีแรงบิดเบือนด้วย แต่ต่อไปถ้ามีผลกระทบของมัน คนจะอยู่ไม่ได้ ไม่ได้เตรียมรับมือ
ผมยกตัวอย่างประเทศจีน เขาทำเขื่อน ไปสร้างบ้านให้คนอยู่ในแผ่นดินใหม่เลย เขาชื่นชมว่าประชาชนนี่เสียสละ เขาได้ทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม แต่ของเราไม่ได้เป็นแบบนั้น พูดง่ายๆ ก็คือ สนองต่อนายทุนมากเกินไป จนไม่ได้ดูแลประชาชน ในส่วนนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนและเป็นห่วงมาก
นาวี พรหมทรัพย์ : นิดเดียวครับ ผมกับคุณดีนเป็นเพื่อนกันมา ก่อนที่ผมจะเดินหน้าให้ทำท่าเรือน้ำลึกปากบารา ผมไม่อาจเข้าถึงเขาเลยตอนนี้ ประเด็นที่สำคัญที่สุดที่ผมฟ้องเขาคือ เขาเขียนด่าผมทางเฟซบุ๊ก ทางไลน์ แต่กลับคุณสมบูรณ์ ผมไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลยกลับไม่เคยด่าผม ไม่ได้ด่าผมแม้แต่คำเดียว แต่นี่ดีนมันกินนอนกับผมมา แต่ด่าผมลงเฟซบุ๊ก ลงไลน์ ผมใช้เงินส่วนตัวผมทำโครงการต่างๆ ความคิดเห็นต่างได้ แต่อย่าแตกแยก อย่าประณาม ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้ผมต้องการ ผมต้องการตรงนี้ครับ
หุดดีน อุสมา : ที่ผมโพสต์สมควรให้เขาฟ้อง
บัญชร วิเชียรศรี : ผมว่ามันเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่ทำให้มองเห็น ไม่ว่าผลมันจะลงมาที่ไหนก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้ จากสื่อสังคมสื่อมวลชน มันทำให้เกิดความขัดแย้งกัน แม้แต่คนที่เคยรักเคยผูกพัน ก็เปลี่ยนไปเป็นอีกอย่างนึงแต่เราก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง ที่นี้ผมขอกลับมาที่คุณวิรัชบ้าง
วิรัช องค์ประเสริฐ : ต่อไปโครงการต้องศึกษา ไม่ใช่แค่ผลกระทบของสิ่งแวดล้อม แต่ต้องศึกษาทั้งผลรวมของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ของเดิมมีแค่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA แต่ต่อไปทำโครงการขนาดใหญ่ต้องศึกษาทางบกกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือ EHIA รัฐบาลประกาศมาตอนหลังว่า โครงการขนาดใหญ่
กรมเจ้าท่าฯ ต้องมาทำการดูแลตั้งแต่ปี 2552 ตอนนี้ได้มาศึกษาทบทวนใหม่ และศึกษาทุกกระบวนการ ตอนนี้ก็เริ่มงานมาแล้วประมาณ 6 เดือน ทั้งหมด 20 เดือน ก็จะเหลือ 14 เดือน เราก็พยายามการเขียนว่า โครงการมันใหญ่มันก็มีผลกระทบ เราก็พยามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ถ้าลดไม่หมด เราก็ต้องใช้มาตรการเสริม เพื่อให้เกิดการยอมรับกันได้
เรื่องการใช้หิน ใช้ทรายถมทะเล งานสร้างท่าเรือน้ำลึกที่สตูลก็มีลายสัมปทาน เราไปอยู่ตรงนั้นคือ เราไม่ได้ไประเบิดหินเอง ตอนนี้เราก็ไปศึกษาว่าจะเอาท่าเรือ แต่ละที่เขาก็ไปขุดลอก คุณประโยชน์มาก ซึ่งแผนที่จะขุดแล้วไปทิ้ง ตัวแปลเราก็เอาตรงนี้ไปถมทะเล
อีกประการหนึ่งก็คือ ถ้ามองในแง่ยุทธศาสตร์ ถ้าไปดูที่ด่านสะเดา และคอนเทนเนอร์วิ่งกันเยอะมาก ไปที่ปาดังเบซาร์ก็เยอะ ถ้าไปลงเรือที่ปีนังที่มาเลเซีย ยุทธศาสตร์ศาสตร์รัฐบาลก็คือว่า ทำไมเราต้องมายืมจมูกเพื่อนบ้านหายใจ ท่าเรือน้ำลึกปากบาราทำเพื่อรับตู้คอนเทนเนอร์พวกนี้ได้ แทนที่จะไปที่ด่านสะเดา อันนี้ไม่ต้องพูดถึงอุตสาหกรรมที่จะตามมานะ เป็นเรื่องของอนาคต
ถ้าเราไม่ทำแล้วก็ต้องเสียเงินค่าขนส่งที่ไกล แล้วก็เปลืองเป็นอย่างมาก จึงออกแบบมาเพื่อท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์ ไม่ใช้ท่าเรือน้ำมัน ท่าเรือนี้ไม่มีเรื่องอุตสาหกรรม
ดร.อาภา หวังเกียรติ : คุณนาวีโชว์สัญญาขึ้นมาปุ๊บ ดิฉันก็สงสัยว่า ใครเป็นคนเซ็นสัญญา เพราะว่าในอดีตที่มาบตาพุด ตอนขยายนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ชาวบ้านชุมชน ที่มาบตาพุดชาวบ้านประชุมร่วมกับหน่วยงานรัฐตอนนั้นปี 2542 มีผังเมืองจังหวัด มีบริษัทนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ประชุมกันแล้วทำข้อตกลงกัน
มีการเขียนจดหมายส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งในข้อตกลงบอกว่า การทำผังเมืองบริเวณพื้นที่บ้านฉางจะเป็นสีขาวคาดม่วง ก็คือให้มีเฉพาะอุตสาหกรรมเคมีขั้นปลายเท่านั้น อย่างเช่นโรงฟอกหนัง แต่พอถึงเวลาจริงๆ เราจะแก้ไขผังเมืองเมื่อปี 2546 ตัวนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นเอกชนเอง กลับไปที่ผังเมืองแล้วยื่นว่าขอให้นิคมอุตสาหกรรมเอเชียมีโรงกลั่นน้ำมัน ก็คือทำอุตสาหกรรมขั้นต้นได้ แล้วผังเมืองก็เปลี่ยนให้ แล้วชาวบ้านฟ้องก็แพ้
เพราะฉะนั้นการบอกว่า จดหมายที่เป็นข้อตกลงฉบับนั้นที่ส่งให้ผู้ว่าฯ นั้น ไม่มีผลทางกฎหมาย อันนั้นคือเรื่องจริงนะคะ เกิดขึ้นแล้ว เป็นที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะเป็นสัญญาเป็นกระดาษ คือมันต้องดูว่ามันมีความถูกต้องทางกฎหมาย แล้วอ้างเรื่องนิติทางกฎหมายได้ ชาวบ้านฟ้องแพ้จริงค่ะ ฟ้องศาลปกครองด้วย สัญญาลมปากที่มาบตาพุดมีเยอะเลยค่ะ
ดิฉันยกตัวอย่างไปแค่อันเดียวว่า ชาวบ้านจะมีน้ำใช้ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดสร้างตั้งแต่ปี 2525 แต่ชาวบ้านพึ่งมีน้ำใช้ มีน้ำประปาชุมชน และชุมชนที่อยู่รอบพื้นที่มาบตาพุดพึ่งมีน้ำประปาชุมชนใช้ปี 2552 หรือ 33 ปีหลังจากมีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ทั้งๆ ที่นิคมนั้นไม่เคยขาดน้ำเลย เพราะว่ารัฐบาลไปให้เอกชนตั้งบริษัทอีสต์วอเตอร์ ทำท่อน้ำขนาดใหญ่ผ่านบ้านชาวบ้าน แต่ชาวบ้านไม่สามารถเอาน้ำมาจากนิคมอุตสาหกรรม หรือบริษัทอีสต์วอเตอร์มาใช้เลย ชาวบ้านใช้น้ำบ่อตื้น
ประมาณ 2548 ไปเก็บตัวอย่างน้ำบ่อตื้นในพื้นที่ชุมชนรอบๆ นิคมมาบตาพุด พบว่าทุกบ่อมีการปนเปื้อน มีการเรียกร้องให้มีประปาชุมชน ซึ่งชาวบ้านเขาขอ ตอนนั้นสัญญาลมปากพวกนี้จะมีเยอะ ต้องดูว่ามันจะเป็นจริงหรือเปล่า นี้คือยกตัวอย่างแค่เรื่องเดียว
งานวิจัยระบุชัดว่า มันสัมพันธ์เกี่ยวข้องแล้วงานวิจัยนี่เราศึกษาในพื้นที่ 4 จังหวัดที่เกี่ยวข้องกับแผนพัฒนาภาคใต้ ไม่ได้ศึกษาที่สตูลที่เดียว เราศึกษาที่ประจวบคีรีขันธ์ ที่นครศรีธรรมราช ที่สงขลา แล้วก็ที่สตูล เป็นสี่จังหวัด และมีกรณีการร้องเรียนกว่า 50 กรณีต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งอันนี้พบกับชัดว่าชาวบ้านถูกละเมิดสิทธิ์ ตั้งแต่การกำหนดอนาคตตัวเองชี้ชัดว่าไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าจะมีโครงการ ชาวบ้านจะรู้ขั้นตอนท้ายๆ แล้วว่าเมื่อมี EIA แล้วช่วงหลังกฎหมายก้าวหน้าขึ้น บังคับให้จัดรับฟังความเห็นชาวบ้าน และการจัดทำ EHIA
เรื่องที่ร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิ์ฯ ที่คุณหมอจะพูดเพิ่มเติมคือ จะมีปัญหาเยอะมาก ไม่แน่ใจว่าอันนี้คือบริษัทเดียวที่เคยร้องเรียนกรณีกับคณะกรรมการสิทธ์ฯ รุ่นแรกหรือเปล่า ที่ถือว่าบริเวณตรงอ่าวปากบารามีเรือประมงอยู่ไม่ถึง 10 ลำ ไม่แน่ใจนะคะ แต่ว่าตอนนั้นมีกรณีร้องเรียนอย่างนั้น แต่เรื่องร้องเรียนตอนนั้นข้อมูลที่ได้มาเป็นแบบนั้น ก็ไม่รู้อันนี้มันเป็นปัญหาใหญ่ที่ตั้งท่าเรือปากบารา มันจะเหมือนแหลมฉบัง หรือมาบตาพุด
ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมท่าเรือชอบมี 3 ระยะ มนุษย์ทุกคนมี 3 ระยะที่อาจจะเป็นเหตุเป็นผล ที่แหลมฉบังก็มี 3 ระยะ ที่จริงปากบาราก็วางแผนไว้ว่าจะมี 3 ระยะเต็มพื้นที่ จะถมทะเลกันพันไร่ และเพิ่มการถอนพื้นที่อุทยานฯ 4,700 กว่าไร่ อันนี้มันตั้งคำถามให้ง่ายๆว่า ทำไมเราต้องขอพื้นที่มากกว่า 4,700 กว่าไร่จากอุทยานฯ
การศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเวลาทำระยะที่ 1 ศึกษาแค่ 292 ไร่ ซึ่งควรที่จะมีการศึกษาเต็มทั้งระบบ แหลมฉบังเองดิฉันไปตั้งแต่ชาวบ้านต่อสู้เรื่องท่าเรือแหลมฉบัง ตอนหลังก็โดนกฎหมายเวนคืนที่ดิน ชาวบ้านก็ย้ายไปอยู่ในที่ปัจจุบันที่เป็นท่าเรือแหลมฉบัง 3 แล้วกำลังจะก่อสร้างแล้ว กำลังจะถูกให้ออก ท่าเรือแหลมฉบัง ถึงแม้ว่าจะเป็นโกดังขนส่งสินค้า ต่อจากท่าเรือไปหน่อยก็จะมีโรงกลั่นไทยออยล์อยู่
ท่าเรือนี้เราไม่สามารถกำหนดว่า เราจะรับเฉพาะสินค้าเกษตรได้เท่านั้น ทำอย่างนั้นท่าเรือเจ๊งแน่นอนเลย ไม่มีทางกำหนดได้ อย่างเช่นกรณีของแหลมฉบังนี่ที่เจอก็จะมีการขนส่งสารเคมีอันตรายเป็นตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาด้วย มันมีการระเบิดและก็รั่วไหล อย่างเช่นสารที่ไว้ทำสีผม พอมันระเบิดรั่วไหลมันไปไกล เกิด 5 กิโลเมตร มันกระทบกับชุมชนอย่างน้อยเกิดขึ้น 2- 3 ครั้ง อย่างน้อยมันก็กระท้อนว่า ตู้คอนเนอร์ที่เข้ามามันได้ทุกอย่าง แล้วถ้าเกิดท่าเรือปากบาราแล้วมันจะลดภาระการขนส่งให้เร็วขึ้น ของประเทศมันก็ต้องขนส่งพวกนี้ให้เร็วขึ้นด้วย
ดิฉันมีความเชื่อว่าท่าเรือนี่มันไม่สามารถกำหนดได้หรอกว่า เราจะขนส่งอะไรเข้ามาบ้าง การกำหนดทั้งหลายทั้งปวงนี่ไม่ใช่รัฐบาล แต่เป็นเอกชนที่อยู่หลังรัฐบาล เราไม่สามารถกำหนดได้หรอกว่า เราจะเอาท่าเรือแล้วกำหนดให้ท่าเรือเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ตราบใดที่ท่าเรือสร้างแล้ว การเข้าไปสู่ท่าเรือก็จะเป็นการบุกรุกที่ของเขาทันที แล้วเราเข้าไปไม่ได้ แล้วเราก็จะย้อนกลับหรือไม่ได้ ซึ่งจะเป็นประเด็นที่สำคัญมาก ดิฉันจึงเข้าใจว่าทำไมชาวบ้านเขาจึงลุกขึ้นมาต่อสู้ หรือปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง
บัญชร วิเชียรศรี : อาจารย์อาภามองว่า ท่าเรือถึงแม้จะบอกว่าทำเพื่ออะไร หรือมีสิ่งที่ดูดีแค่ไหนก็ตาม แต่ตัวกำหนดมันก็คือ กำไรและขาดทุน ที่จะเป็นการกำหนดตัวใช้งานของมัน
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ : เวทีนี้ไม่มีผมไม่ได้นะครับ ผมไม่ยอมแน่ ผมมีคำถามที่จะถามใครก็ไม่รู้นะว่า ถ้าอนุมัติท่าเรือปากบารา แล้วไม่อนุมัติท่าเรือที่นาทับได้ไหม อนุมัติท่าเรือที่นาทับ โดยไม่อนุมัติท่าเรือปากบาราได้ไหม หรืออนุมัติทั้งสองท่าเรือ โดยไม่อนุมัติระบบรถไฟอุตสาหกรรมรางคู่ได้ไหม คือถ้ามันอนุมัติอันใดอันหนึ่งได้ อันนี้มันคือคนละโครงการ
แต่ถ้ามันอนุมัติคนละเดียว แต่เป็นโครงการเชื่อต่อกัน อันนี้ก็แสดงว่าไม่อยากใช้คำหยาบนะครับ เกรงใจสถาบันสันติศึกษา อันนี้มันก็โกหกหลอกลวงต่อประชาชน มันเป็นการแยกส่วนการศึกษา แต่อำพรางอะไรไว้
อยู่ๆ มีท่าเรือปากบาราที่เดียว มันก็พอจะขนส่งคอนเทนเนอร์ได้แล้ว แต่มันไม่เจริญรุ่งเรืองพอ ความเจริญรุ่งเรืองมันต้องคู่กับท่าเรือที่จะนะด้วยครับ และรถไฟอุตสาหกรรมรางคู่ นี่จึงจริญจริงๆ เพราะมีโรงไฟฟ้าจะนะ ที่จะนะมีโรงแยกก๊าซจะนะที่มีศักยภาพสูง มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซึ่งมีศักยภาพสูงกว่า ถ้ามีแบบนี้เราจะเจริญจริง มีแต่ท่าเรือปากบารามันไม่ได้เป็นความฝันของนักอุตสาหกรรม ไม่ใช่ความฝันของนักลงทุน มีความจำเป็นต้องศึกษาแยกกัน ผมอยากทราบคำตอบ
วิรัช องค์ประเสริฐ : ท่าเรือปากบรา ท่าเรือจะนะ รถไฟรางคู่ เอาท่าเรือปากบารากับท่าเรือจะนะก่อน ไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน
คือรัฐบาลตั้งเป้าว่าท่าเรือปากบาราจะเป็นท่าเรือน้ำลึก เป็นประตูของฝั่งตะวันตกของประเทศไทย เพื่อการค้าขายกับอินเดีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป สินค้าที่มาใช้ท่าเรือคือ สินค้าที่เรานำเข้าและส่งออก ที่เพื่อส่งไปขายทั้งจากภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ก็ขนส่งมาโดยทางรถไฟ ตอนนี้มันมาแค่หาดใหญ่ อาจจะต้องต่อรถไฟไปที่ควนเนียง ไปถึงปากบารา สินค้าจากเชียงใหม่จะขึ้นรถไฟที่เชียงใหม่ แล้วก็มาคันเดียว แล้วก็วิ่งต่อไปลงปากบารา และส่งต่อไปทางตะวันตกได้เลย
ลองปรับเวลารถไฟที่เชื่อมเส้นหลักของประเทศไทยยังมีความจำเป็น ถ้าไม่มีรถไฟเส้นนี้ สินค้าจากเชียงใหม่ ประมาณว่ามาแค่ควนเนียง แล้วลงเอารถยนต์ต่อ อย่างนี้ค่าขนส่งมันจะแพง มันสู้ไปขึ้นรถไฟที่แหลมฉบังที่อ้อมไปส่งต่อสิงคโปร์ไม่ได้ มันถูกกว่า อันนี้รถไฟกับท่าเรือปากบารามาสัมพันธ์กัน ต้องส่งเสริมกัน แต่ถ้าไม่มีรถไฟเชื่อมท่าเรือปากบารา ก็จะเป็นท่าเรือที่จะมีสินค้าที่ภาคใต้ สินค้าภาคใต้ก็ไม่เยอะ ไม่ค่อยพอ ก็ทำให้ท่าเรือปากบาราแล้วจะเป็นท่าเรือเล็กๆ
บัญชร วิเชียรศรี : ท่าเรือปากบารากับท่าเรือจะนะไม่ใช่โครงการหลัก แต่ว่าจะต้องมีทางรถไฟเชื่อมกัน แล้วต่อเชื่อมจากทางรถไฟหลักสายใต้ จะมีชุมทางควนเนียงในอนาคต แล้วก็มาลงที่ปากบารา อะไร ยังไงๆ ต้องมีแน่ ถ้าเกิดท่าเรืออย่างนั้นเหรอครับ
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ : นี่พูดในนามรัฐบาล หรือพูดในนามของบริษัทที่ปรึกษา ประโยคนี้สำคัญนะครับ คือเวลาเราฝันถึงการพัฒนา ต้องฝันให้มันเป็นจริง ไม่มีหรอกครับสินค้าจากกรุงเทพฯ มาลงปากบารา ในโลกนี้ไม่มีหรอกครับ ผู้ประกอบการของสงขลาเค้าไม่ได้เดือดร้อนที่ต้องส่งท่าเรือปีนังนะครับ ที่จริงแล้วมันก็มีความลงตัวของมัน
นี่คือข้อเท็จจริงที่สำคัญนะครับว่า ทั้งหมดนี้มันคือ แพ็กเก็ต หรือมันคือ โดดเดี่ยว หรือมันคือ แพ็คเก็ต แล้วมาโกหกประชาชนว่า มันไม่เกี่ยวกัน ผมว่ามันไม่แฟร์ ไม่ยุติธรรม ผมคิดว่าคนสงขลาและคนสตูลต้องลุกขึ้นค้าน แต่ถ้ามันโดดเดี่ยว เราก็ยอมรับได้พอสมควรว่า มันเป็นคนละโครงการ แต่ความรู้สึกของผมคือ ยังไงมันก็คงเป็นแพ็กเก็ตอยู่ดี ท่าเรือจะนะของผมก็ไม่ใช่เล็กๆ นะ 600 ไร่บนฝั่ง ยื่นไปในทะเลเหมือนกัน กรมเจ้าท่าเป็นเจ้าของเหมือนกัน
วิรัช องค์ประเสริฐ : กรมเจ้าท่าฯ ก็เป็นรัฐบาลหน่วยเดียวที่ส่งเสริม พัฒนา เป็นหน้าที่เป็นภารกิจที่ต้องทำ คือหาว่าประเทศเรามีช่องว่างตรงไหน ที่นี้ก็บอกว่าภาคใต้ตอนล่าง ฝั่งตะวันออก ก็ควรจะต้องมีท่าเรือเพื่อเสริม และท่าเรือสงขลาปัจจุบันอยู่ตรงปากทะเลสาบ ตะกอนมันเยอะ ขุดลอกไม่ค่อยไหว ขยายไม่ออก ก็เลยต้องหาที่ใหม่ที่น้ำลึกๆ ขุดง่ายๆ ดีกว่า
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ : ก็ยังยืนยันไม่ได้
วิรัช องค์ประเสริฐ : ผมว่ารัฐมนตรีก็ยืนยันไม่ได้ ตำแหน่งสูงๆ ก็ยังโดนปลดออก มาที่คุณหมอนิรันดร์ดีกว่า
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ : ทั้งหมดนี้จึงทำให้เห็นว่า มันต้องมองดูทั้งแผน ทั้งระบบของภาคใต้ทั้งหมด เพราะอุตสาหกรรมที่อีสเทิร์นซีบอร์ดมีมาเกือบ 20 ปีแล้ว และตอนนี้ประชาชนก็เริ่มมีการตื่นตัวมากขึ้น เริ่มลุกขึ้นมาไล่ เพราะตอนนี้ชาวบ้านเริ่มทนไม่ได้ รวมถึงสถิติคนเป็นมะเร็งที่มาบตาพุดก็มีเพิ่มมากขึ้น เพราะคนในพื้นที่นั้นเป็นทั้งมะเร็งที่หลอดเลือด ที่กระเพราะอาหาร ปอด ลำไส้ ทั้งหมดนี่คือทำให้คนที่มาบตาพุดนั้นถือว่ารอความตาย ไม่พูดถึงมลพิษอย่างอื่นอีกมากมาย เพราะสุดท้ายการที่ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้าน ต่อมาก็จะต้องมีการอพยพพื้นที่
และโชคดีว่าในปี 2552 สำนักงานสุขภาพแห่งชาติได้มาทำการศึกษาแผนพัฒนาภาคใต้ และเห็นว่าแผนพัฒนาภาคใต้นั้นไม่สอดคล้องกับการพัฒนาที่มั่นคง ก็ได้เสนอในขณะนั้นในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพ เพราะคำว่าสุขภาพคือ ไม่ได้มองแค่คนเจ็บคนป่วย แต่หากถ้าชุมชนป่วย มาบตาพุดนี่รัฐบาล หรือประชาชน คนกรุงเทพฯ ก็ลำบาก
ฉะนั้นจึงมีการสั่งการว่า ให้ชะลอแผนพัฒนานี้ไว้ก่อน และให้สภาพัฒน์กลับมาทบทวนร่วมกับหลายๆ หน่วยงาน และมีการติดตามมาถึงปี 2553 แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ประเทศไทยเกิดวิกฤตการณ์ทางด้านการเงิน จึงทำให้รัฐบาลแต่ละรัฐบาลไม่ได้เข้ามาสนใจ จึงได้ปล่อยไปตามการทำงานของหน่วยงาน จนกระทั่งมี คสช. และมีนายยกฯ ประยุทธ์
ประเด็นที่จะพูดมีอยู่ 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ เกี่ยวกับสิทธิชุมชน ที่ผมจะต้องการย้ำให้เห็นว่า ทำไมเราถึงต้องใช้หลักการสิทธิมนุษยชนในการพิจารณาโครงการของภาคใต้ทั้งหมด เพราะทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เป็นตัวที่ทำให้เกิดการมั่นใจในการพัฒนาโครงการภาคใต้
การทำงานของรัฐต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชน เพราะทั้งหมดที่เราพูดนั้น เราเป็นคนที่ตกในระบบ คนที่คุมนั่นก็คือ นายทุน นักธุรกิจ ซึ่งเป็นนักธุรกิจข้ามชาติ ที่สามารถใช้อำนาจอธิปไตย อำนาจรัฐมาคุมประชาชนได้ มาทำร้ายประชาชนได้ด้วยนโยบายในกฎหมาย และทุกโครงการที่เกิดขึ้นได้นั้น เพราะรัฐบาลอนุญาตให้เขาตั้ง
ด้วยสิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงทำให้รู้ว่า ขณะนี้ระบบทุนนิยมใหม่ที่มันข้ามชาติ เป็นตัวแทนของการสร้างปัญหาให้ไทย 2 อย่าง อย่างแรกคือ เกิดอคติทั้งแต่ในครอบครัว ชุมชน สังคม เพราะสิ่งที่เป็นปัญหามากในขณะนี้คือ คนในชุมชนที่กระบี่ไม่มองหน้ากัน เป็นศัตรูกัน สิ่งที่เดือดร้อนมากขณะนี้คือ คนในชุมชนเริ่มเกลียดกัน เพราะคนในชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นนายหน้าขายที่ดิน ตรงนี้คือสิ่งที่เราต้องเจอ อคติของการที่เราต้องตกอยู่ในกับดัก คนสตูล คนภาคใต้ยังตกเป็นกับดักของพวกนายทุนที่เรียกว่า “ทุนสามานย์” ที่เข้ามาปั่นหัวเราให้เราไม่พอใจกัน
และอย่างที่สอง คือเรื่องมายาคติ เพราะทั่วโลกเขารู้กันหมดแล้วว่า การพัฒนาแบบนี้คนที่ได้คือ คนรวย คนไทยเราสรุปแล้วเราไม่ได้โง่ เขาเรียกว่า รวยกระจุก จนกระจาย มหาเศรษฐีที่ดินอันดับ 1 ของประเทศไทยมีที่ดินประมาณ 6 แสนไร่ ขณะที่ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ประมาณ 2 ล้านครอบครัว ครอบครัวละประมาณ 4 คน ไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีก็มีไม่เพียงพอ
ฉะนั้นรัฐบาลจึงต้องมีนโยบายไปสกัดกั้นไม่ให้เขาตักตวงผลประโยชน์ที่มากเกินไป จนเมื่อวานที่ผมได้เจอเพื่อนนักธุรกิจ เขาบอกว่า หมอ ตอนนี้มหาเศรษฐีเป็นเจ้าของประเทศไทยแล้วนะ เพราะฉะนั้นการทำงานที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชน จึงมีความจำเป็นมาก เพราะการทำการแบบนี้เราเรียกหลักนิติรัฐ นิติธรรม กฎหมายในขณะนี้คือ ยึดหลักความเป็นธรรม และต้องยึดหลักสิทธิ เพราะสิทธิคือ ประโยชน์และความถูกต้องของประชาชน
ถ้าคุณประยุทธ์เห็นประโยชน์ของประชาชน ทำไมมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวใช้มา 2 ปี ที่บอกว่า อำนาจเป็นของประชาชน มาตรา 4 สิทธิเสรีภาพและสิทธิชุมชนต้องได้รับการคุ้มครองโดยรัฐ เพราะฉะนั้นผมจึงขอสรุปข้อแรกว่า ยังไงก็ตามหน่วยงานของรัฐก็ต้องทำงานโดยยึดหลักสิทธิชุมชน ประการที่สอง สิทธิชุมชนมีเงื่อนไขในการพัฒนา และแก้ไขความขัดแย้งอย่างไร แต่ก็เกิดการล้มเหลว เพราะไม่มีการยอมรับความเห็นของประชาชน แต่ไม่ยอมทำ
ตรงนี้จึงเป็นประเด็นว่า ถ้าเราจะทำงานตรงนี้ หลักสิทธิมนุษยชนมีอยู่ 2 เรื่องคือ 1.กระบวนวิธีการของหน่วยงานของรัฐต้องยึดหลักที่เรียกว่า สิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนมีปัญหา เพราะหน่วยงานรัฐมักจะคิดว่า การมีส่วนร่วมคือ ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ดังนั้นท่านจึงต้องทำกิจกรรม 5 อย่าง หนึ่งคือให้ข้อมูลกับประชาชน ทั้งข้อดีและข้อเสีย ประเด็นเรื่องท่าเรือปากปารา ข้อมูลตอนแรกที่ออกมามันเท็จ
ฉะนั้นการรับรู้ข้อมูลจึงเป็นประเด็นแรก อย่างเช่นการจัดเวที จะจัดเป็นเป็นเวทีเป็นสองฝ่ายให้ถกเถียงกัน แบบนั้นจะล่ม เมื่อคนที่ต้องการให้โครงการนี้ผ่าน จึงคนที่คัดค้านจะถูกมองว่าเป็นผู้ก่อกวน ตรงนี้ต้องระวังมาก เพราะหน่วยงานรัฐไม่เข้าใจเรื่องการมีส่วนร่วมว่า ต้องมีทั้งส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และสุดท้ายคือ ส่วนร่วมในการตัดสินใจ ตรงนี้อาจจะเป็นการนำมาซึ่งประชามติ สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ การทำให้เกิดความเข้าใจ รับฟัง และขณะนี้คนไทยกำลังมีปัญหาในด้านความเป็นอัมพาตในการจัดการ แม้กระทั่งองค์ความรู้ยังถูกตี
อันที่ 2 คือ เป้าหมาย ถ้าพูดถึงการพัฒนาที่มั่นคง ตรงนี้สำคัญมาก เพราะคำว่าสิทธิชุมชนคือ สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ และยิ่งกว่านั้นคือ สิทธิที่ใช้ในการตัดสินใจว่าอยากเป็นเกษตรกร หรือคนงาน ท่านไปถามคนมาบตาพุดสิครับว่า ขณะเขาทนทุกข์ทรมานแค่ไหน เขาอยู่ที่นั่นไม่ได้ ฉะนั้นนี่คือประเด็นว่า สิทธิชุมชนคือ ต้องทำให้ประชาชนหาอยู่หากิน
บางคนว่าหมอนิรันดร์หัวโบราณ อยากให้เหลือแต่การประมงพื้นบ้าน ทำนาเดี๋ยวนี้เค้าไม่ได้ไถ่นาแบบใช้ควายนะครับ เขาใช้รถเกี่ยวข้าว ใช้เทคโนโลยี แต่ปัญหาตอนนี้คือ เรื่องการประกันราคาข้าวต่างหาก ทำนาเขาเจริญครับ เพราะฉะนั้นระบบอย่างนี้คือระบบที่เรายืนยันว่า ระบบที่เราไม่เกิดความสมดุล
ทั้งหมดนี้เป็นชีวิตของคนภาคใต้ ถ้าท่านไม่รักษาไว้ ลูกหลานท่านจะไม่มีกิน แต่คนอีสานนี่ถูกทำลายตั้งแต่แผนพัฒนาฉบับแรกของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คนอีสานจึงต้องดิ้นรนต่อสู้ คนอีสานจึงต้องไปทำงานที่กรุงเทพฯ ทำงานที่ภาคใต้
ประเด็นคือ ถ้าท่านต้องการให้ลุกหลานมีที่ดิน มีที่ทำกินต่อ ท่านต้องรักษาผืนแผนดินและท้องทะเลนี้ไว้ครับ ตรงนี้แหละครับที่เราเรียกว่า การพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน ทำมาหากินต่อได้
สุดท้ายอีกอันคือ การพัฒนาให้เกิดความเป็นธรรม เงินทองที่ไม่เข้าใครออกใคร อำนาจเยอะแค่ไหน ยิ่งโกงมาก และขณะนี้ที่สำคัญคือว่า ผมไม่ได้นินทาท่านนายกฯ ขณะนี้ท่านมีอาวุธพิเศษคือ มาตรา 44 สิ่งที่ต้องระวังคือว่า คนรอบข้าง หน่วยงานของรัฐเชียร์ให้ท่านใช้มาตรา 44 เพราะตรงนี้จึงต้องระวังมาก คำสั่ง คสช.ที่ 3, 4 และ 9 ทั้ง 3 คือในเรื่องของเหตุการณ์ยกเว้น พ.ร.บ.ผังเมือง พื้นที่ไหนที่เป็นเกษตรกรรมเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมได้ เชียร์ให้ใช้มาตรา 44 ซึ่งท่านต้องระวังมาก
การสร้างความเป็นธรรม UN ยังประกาศว่า หลังปี 2015 ต้องเป็นพัฒนาที่มั่นคงที่ยั่งยืนและเป็นธรรม มองให้ไกล ใฝ่ให้สูง
บัญชร วิเชียรศรี : ประเทศนี้จะทำอะไรได้บ้าง เพราะโรงเผาขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาลไม่มีใครยอมรับเลย ทั้งๆ ที่มีความจำเป็น แต่ไม่มีใครต้องการ
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ : ไม่ใช่หรอกครับ ทุกคนเห็นด้วยว่าต้องมี เพราะรู้ว่าขยะมันสามารถให้พลังงานได้ ทุกคนรู้ว่ามันเป็นประโยชน์ เขาคำนวณดูแล้วกระบี่ต้องการพลังงานไฟฟ้า แต่ถ้าเอาต้นปาล์มที่แก่แล้วเอามาเป็นเชื้อจะผลิตพลังงานได้มากกว่า 200 เมกะวัตต์ อย่างนี้โรงไฟฟ้าถ่านหินจำเป็นไหม ไม่จำเป็นครับ แล้วจะมาฆ่ากันทำไม ถ้าเราไม่ ทำญี่ปุ่นเข้ามาติดต่อนะครับ
นี่คือประเด็นสำคัญ ต้องยึดถือทุนทางสังคม ทุนสังคมมันต้องดูว่าจังหวัดไหนมีของอะไรอยู่ แล้วเอาของเหลือนั้นมาปรับให้เป็นมูลค่าในทางธุรกิจ นี่คือสิทธิชุมชน สิ่งที่เป็นทุนของแต่ละแห่งเอามาปรับเป็นมูลค่า กระบี่มีการท่องเที่ยว กระบี่มีต้นปาล์ม ฉะนั้นสามารถทำได้ จัดการสิครับ ทำไมต้องไปซื้อถ่านหินจากอินโดนีเซียมา มีตัวอย่างให้เห็นชัดชัดที่อยู่ใกล้บ้านเรา
สตูลและจังหวัดภาคใต้ก็เหมือนกัน มีสิ่งที่เป็นทางทุนสังคมของเราที่หล่อเลี้ยงเรามา เพราะฉะนั้นแผนพัฒนา การพัฒนาบนฐานของทางเลือกที่เป็นทางออกไม่ใช่ทางตัน ยิ่งมี ยิ่งอยากเอา ยิ่งอยากได้ เปิดเผย โปร่งใส เน้นการมีส่วนร่วม พวกเราจะต้องแท็กทีมกัน ประชาชนสตูล คนกระบี่ทุกคน อย่างที่คุณนาวีพูดมีส่วนจริงอยู่ข้อหนึ่งคือ ท่านบอกต้องเข้าไปดูโครงการ แต่อย่าพึ่งตกลงก่อน การเจรจาต้องอยู่บนพื้นฐานความโปร่งใส
บัญชร วิเชียรศรี : คุณหมอนิรันดร์ท่านมีประสบการณ์เยอะ จริงๆ ก็คือเรื่องนี้ เรื่องของการที่ประชาชน รวมกลุ่มกัน มีส่วนได้ ส่วนเสีย มีโอกาสที่จะได้รับโอกาส
หุดดีน อุสมา : ผมคิดว่าเรามีบทเรียนที่จะนะ ที่เทพา คือผมคิดว่าเข้าใจนะ เขาต้องสร้าง ส่วนเราเป็นประชาชนก็มีสิทธิที่จะทำได้เช่นกัน ผมว่านะต้องประชาสัมพันธ์โครงการให้ประชาชนทราบถึงข้อเสีย ข้อดี ให้ประชาชนทราบ และประชาชนก็ไปดูว่า ไม่มีผลเสียจริงไหม ผมว่าเราต้องถกแต่ละประเด็นมันถึงจะแฟร์ แล้วให้สร้างได้ จึงจะไม่มีบาดแผลตกค้าง เราควรทำวิจัยเป็นปีๆ อย่าง 2 ปี หรือ 3 ปี
บัญชร วิเชียรศรี : จริงๆ แล้วเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ จริงๆ แล้วมันอะไรกันแน่
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ : มันคือความเข้าใจผิด อย่าง ค.1 เวทีเริ่มต้นฟังเสียงจากประชาชน ให้เขาได้รับรู้ รัฐบาลก็ควรเก็บที่ประชาชนพูดมาคิดและจัดการให้เขา เวที ค.1 ไม่ใช่จะจบภายใน 1 ชั่วโมง มันจะจบได้ไง
ผมพนันได้เลยว่า คนไทยตื่นตัวเรื่องนี้เยอะ และหน่วยงานรัฐยังมองว่า ประชาชนโง่อยู่ ทั้งๆ ที่เขารู้กันหมดแล้ว นักลงทุนต้องประเมินว่า ถ้าการท่องเที่ยวเขาเสียหายคุณชดใช้ได้ไหม คุณต้องรับผิดชอบ รับผิดชอบได้หรือ มันมีค่าที่ชาวบ้านต้องสูญเสีย เหมือนญี่ปุ่นไม่มีปัญหา ฉะนั้นแล้วต้องมีการมีส่วนร่วม
และสิ่งที่ผมกลัวมมากคือ เราคิดว่า เราหยุดความขัดแย้งแล้ว แต่จริงๆ มันไม่ใช่ ประเทศไทยคือ เกษตรกรรม เป็นความมั่นคงทางอาหาร คุณไม่สามารถทำให้เหมือนสิงคโปร์ได้เด็ดขาด
ดร.อาภา หวังเกียรติ : จริงๆ แล้วกรณีนี้ ควรทำเวทีการมีส่วนร่วม ควรจะนั่งคุยในแต่ละชุมชนเลยว่า จะให้ผ่าน หรือไม่ให้ผ่าน ซึ่งปัญหาที่สำคัญของบ้านเราคือ กฎหมายมันรับใช้ทุน มันไม่ได้รับใช้ประชาชน
เมื่อกี้มีคำถามว่า ทำไมเตาเผาขยะติดเชื้อ เพราะพวกนี้มันไม่มีข้อห้าม เพราะฉะนั่นชาวบ้านเป็นสิ่งที่ได้รับผลกระทบ และถ้าพูดถึงในเวที ค.1 ค.2 และ ค.3 มาจากไหน เกิดขึ้นเพราะว่าเครื่องข่ายประชาชนภาคตะวันออกไปฟ้องศาลปกครองให้ยุติ 76 โครงการ ในโครงการขยายอุตสหกรรมปิโตรเลียมระยะที่ 3 ว่าไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 รัฐบาลก็ตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายขึ้นมา โดยมี คุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักธุรกิจ
แล้วมันก็มีโจทย์ขึ้นมาว่า ทำไงก็ได้ให้เสร็จภายใน 1 ปี มันมีทุนผลักดันอยู่ด้านหลัง เรามีความคิ้ดว่าควรทำให้ครบ มีสื่อมวลชล มีคนเห็นด้วย ต้องมีครบแล้วในเชิงกฎหมาย EIA แก้ใหม่จนผ่าน ชาวบ้านมาดตาพุดไม่เชื่อแล้ว เพราะเขาได้รับผลกระทบโดยตรง